ก่อนที่เราจะได้มีโอกาสชม ‘Deadpool & Wolverine’ หนัง MCU เรื่องแรกและเรื่องเดียวของปีที่หลายคนรอคอยมากที่สุด แต่หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ ๆ 10 ปี ก่อนที่โลกจะได้รู้จักกับแอนตี้ฮีโรอมตะชุดสีดำ-แดงสุดเกรียนที่เต็มไปด้วยความโหดแบบเพี้ยน ๆ ‘Deadpool’ เคยเป็นโปรเจกต์ที่ 20th Century Fox ไม่มีความเชื่อมั่นว่าหนังแอนตี้ฮีโรเรต R สุดห่ามเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
หากใครที่พอรู้เบื้องหลังมาบ้าง จะพอทราบว่า นี่คือโปรเจกต์ที่นักแสดงหนุ่มชาวแคนาดา ไรอัน เรย์โนลส์ (Ryan Reynolds) ทุ่มสุดชีวิตสุดตัวมาตั้งแต่เริ่มต้น เหตุผลหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็เพราะความล้มเหลวของ Deadpool เวอร์ชันไร้ปากที่เขาแสดงใน ‘X-Men Origins: Wolverine’ (2009) และล้มเหลวซ้ำอีกรอบตอนที่เขาตกปากรับคำไปแสดงหนัง ‘Green Lantern’ (2011) ของฝั่ง DC ที่โดนวิจารณ์ยับเยินและเจ๊งสนิทด้านรายได้ (ก่อนที่เขาจะเคลียร์ทุกอย่างเรียบร้อยใน ‘Deadpool 2’)
จนกระทั่งเมื่อ 20th Century Fox ตัดสินใจให้ไฟเขียวลุยสร้าง ‘Deadpool’ ทุกอย่างก็ยังดูไม่ง่ายอีกเช่นกัน เพราะด้วยงบประมาณ 58 ล้านเหรียญ ทำให้ทุนสร้างจึงเป็นไปแบบค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย จนถึงขนาดที่ไม่มีงบจ้างให้นักเขียนบท พอล เวอร์นิก (Paul Wernick) และเร็ตต์ รีส (Rhett Reese) ไปประจำการในกองถ่ายเพื่อคอยดูแลปรับแก้ไขบทหน้ากอง
เรย์โนลส์จึงใช้วิธียอมสละเงินจากค่าตัวที่ตัวเองควรจะได้ เพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างให้ทั้ง 2 คนได้มีโอกาสมาทำงานในกองถ่ายได้ในที่สุด ซึ่งเขาได้มีโอกาสเปิดเผยเรื่องนี้ในบทสัมภาษณ์ของ The New York Times ร่วมกับฮิว แจ็กแมน (Hugh Jackman)
“ผมเองไม่เคยคิดเลยครับว่า ตอนที่ ‘Deadpool’ ได้รับการอนุมัติให้สร้างแล้วมันจะประสบความสำเร็จ ผมถึงกับต้องยอมไม่รับค่าตัวในการทำหนัง เพื่อจะได้ชัวร์ว่าหนังจะได้มีโอกาสฉายในโรงจริง ๆ พวกเขาไม่ยอมให้คนเขียนบทของผม พอล เวอร์นิก กับเร็ตต์ รีส ได้เข้าไปทำงานในกองถ่ายด้วย ผมเลยเอาค่าตัวของผมที่เหลืออยู่นิดหน่อยมาจ่ายให้พวกเขา เพื่อให้พวกเขาได้อยู่ในกองถ่ายกับผม เราจึงสามารถสร้างกลุ่มนักเขียนบทลำลองในกองถ่ายขึ้นมาได้สำเร็จ”
เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง เวอร์นิกกับรีส ผู้เขียนบท ‘Deadpool’ (2016) และ ‘Deadpool 2’ (2018) ที่ยังคงกลับมาร่วมงานในการเขียนบท ‘Deadpool & Wolverine’ ร่วมกับเรย์โนลส์ ผู้กำกับ ชอว์น เลวี (Shawn Levy) และเซ็บ เวลส์ (Zeb Wells) ผู้เขียนบทซีรีส์ ‘She-Hulk: Attorney at Law’ (2022) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Geeking Out ของช่อง AMC เพื่อยืนยันว่า สตูดิโอไม่ได้เตรียมค่าจ้างสำหรับให้นักเขียนบทมาอยู่ในกองถ่าย แต่เป็นเรย์โนลส์ที่ยอมควักเงินส่วนตัวให้แทน
“พวกเราไปอยู่ในกองถ่ายทุกวัน ที่น่าสนใจก็คือ ไรอันต้องการให้พวกเราอยู่ที่นั่น เพราะพวกเราอยู่ในโปรเจกต์นี้มานานถึง 6 ปีแล้ว จริง ๆ แล้วพวกเราคือทีมงานสร้างสรรค์หลัก ๆ ของหนัง รวมทั้งไรอัน และผู้กำกับ ทิม มิลเลอร์ (Tim Miller) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Fox ไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อให้พวกเราทำงานในกองถ่าย ไรอัน เรย์โนลส์ เลยควักเงินจ่ายจากกระเป๋าของเขาเอง”
เรย์โนลส์ได้มีโอกาสรู้จักกับ ‘Deadpool’ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 เมื่อเขาได้มีโอกาสอ่าน เขาก็มองเห็นลู่ทางของการพัฒนาหนังฮีโรเกรียน ๆ ที่จัดเต็มเนื้อหาแบบเรต R รวมทั้งไอเดียของการทลายกำแพงที่ 4 ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของคาแรกเตอร์ ‘Deadpool’ ในคอมิก รวมทั้งเป็นการล้างความรู้สึกขมขื่น ตอนที่เขายอมแสดงเป็น Deadpool เวอร์ชัน Weapon XI รูปลักษณ์สุดเถื่อนที่ถูกวิจารณ์ถล่มยับใน ‘X-Men Origins: Wolverine’ แบบกลาย ๆ
“ช่วงนั้นผมได้พบกับ เอวี อาราด (Avi Arad) ตอนที่เขายังบริหาร Marvel ตอนนั้นเรากำลังพัฒนาหนังเรื่องนี้ร่วมกับ เดวิด เอส. โกเยอร์ (David S. Goyer, ผู้เขียนบทไตรภาค ‘The Dark Knight’) มีคนอื่นเข้ามาอีก 2-3 คนแล้วก็ออกไป จากนั้น Fox ก็เริ่มเข้ามาจัดการทุกอย่างตั้งแต่นั้น ทำให้พวกเราต้องพบเจอกับวังวนแห่งความน่าเบื่อหน่ายอย่างแท้จริง”
“(โปรเจกต์) มันจะหายไป แล้วหลังจากนั้นมันก็จะกลับมาอีก เป็นอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ผมมักจะชอบเปรียบเทียบอันนี้กับความสัมพันธ์ที่แย่ที่สุดในชีวิตของผม มีทั้งตอนคบกันและเลิกกัน มีหลับนอนด้วยกันบ้างเป็นครั้งราว ซึ่งมันทำให้เจ็บปวดยิ่งกว่าเดิม ก่อนจะจบลงด้วยงานแต่งงานแสนน่ารัก”
ในระหว่างถ่ายทำ เรย์โนลส์ รีส เวอร์นิก และมิลเลอร์ พัฒนาบทในฝันของเขาและทำงานกันไป แม้ตอนนั้นสตูดิโอจะยังไม่ได้ให้ไฟเขียว จนกระทั่งเมื่อคลิป Screen Test ของตัวหนังหลุดออกไปสู่สาธารณะ ปลุกกระแสให้แฟน ๆ ตื่นเต้นกับโปรเจกต์นี้อย่างมาก จนทำให้โปรเจกต์นี้ได้สร้างในที่สุด
แต่อุปสรรคก็ยังไม่หมด เพราะตอนที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ สตูดิโอตัดสินใจตัดลดงบประมาณลง 7 ล้านเหรียญ ทำให้ไม่สามารถถ่ายฉากแอ็กชันจำนวน 9 หน้าของบทหนังได้ และเป็นที่มาของมุกในหนังที่พูดถึงงบประมาณที่ไม่เพียงพอจะใส่ตัวละครจากจักรวาล X-Men ลงไปในหนังได้ แถมสตูดิโอยังพยายามปรับลดเรต R ที่พวกเขาตั้งใจไว้ให้เหลือเพียงเรต PG-13
แต่สุดท้าย เรย์โนลส์ก็ยังคงยืนหยัดที่จะเล่าเรื่องของหนังให้เป็นเรต R โดยไม่สนกระแส จนทำให้ตัวหนังทำรายได้สูงถึง 782 ล้านเหรียญ ติดอันดับที่ 4 ของตารางหนังเรต R ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล (ส่วน ‘Deadpool 2’ ติดอยู่ที่อันดับ 3 ด้วยรายได้ 785 ล้านเหรียญ)
เรย์โนลส์กล่าวเพิ่มเติมถึงการผลักดันความคิดสร้างสรรค์ ที่บางครั้งก็เกิดขึ้นจากการขาดแคลนทุนสร้าง
“มันก่อให้เกิดบทเรียนใน 2-3 เรื่อง ผมคิดว่า หนึ่งในศัตรูใหญ่ของความคิดสร้างสรรค์ก็คือการมีทั้งเวลาและเงินที่มากเกินไป แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีทั้งเวลาและเงิน มันเลยทำให้เราต้องเน้นไปที่ตัวละครมากกว่าการแสดงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ยากกว่านิดหน่อยในการทำหนังจากการ์ตูน ผมทุ่มเทในทุก ๆ รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และก็ไม่ได้รู้สึกแบบนี้มานานมากแล้ว ผมจำได้ว่าผมอยากจะรู้สึกแบบนี้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ใน ‘Deadpool’ แต่กับทุก ๆ เรื่อง”
นอกจากนี้ เรย์โนลส์ และเลวี เคยมีโอกาสพูดถึงเกี่ยวกับงบประมาณของการทำหนังที่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์กับ Variety
เรย์โนลส์: “ความจำเป็นคือบ่อเกิดของการประดิษฐ์คิดค้นครับ ยิ่งคุณจำกัดกระบวนการในการสร้างสรรค์มากเท่าไร คุณก็ยิ่งต้องคิดให้ออกนอกกรอบมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นโดยส่วนตัว ผมไม่ได้ต้องการเงินไปมากกว่าที่เราต้องการ เราต้องการเงินเพียงพอที่จะทำในสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ แต่ก็ต้องหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ไปด้วย”
เลวี: “ดาราหรือผู้กำกับบางคนเกิดความมั่นใจจากงบประมาณมหาศาลที่เขาได้รับจากสตูดิโอ ส่วนเราต้องการทำหนังเพื่อสิ่งที่พวกเราต้องการ และไม่ได้ต้องการเงินมากเกินไปกว่าแม้แต่สลึงเดียว”