การได้เห็น ฮิว แจ็กแมน (Hugh Jackman) ที่เคยประกาศเลิกรับบทตัวละครวูล์ฟเวอรีนไปแล้วใน ‘Logan’ (2017) ยอมกลับมารับบทนี้อีกครั้งใน ‘Deadpool & Wolverine’ ก็นับว่าเป็นไฮไลต์สำคัญที่หลายคนรอชมอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้แฟน ๆ X-Men ตื่นเต้นยิ่งกว่าก็คือ การได้เห็นแจ็กแมนสวมชุดวูล์ฟเวอรีนสีเหลือง-น้ำเงินที่ถอดแบบมาจากคอมิก Incredible Hulk ฉบับที่ 180 ที่วางแผงในปี 1974 ซึ่งแม้ว่าในรายละเอียดจะต่างกันเล็กน้อย (ชุดของวูล์ฟเวอรีนในคอมิกเป็นชุดแขนสั้น แต่ชุดของแจ็กแมนเป็นชุดแขนยาว และไม่มีหน้ากาก) แต่แค่นี้ก็ทำให้แฟน ๆ ตื่นเต้นไม่น้อย

แต่หากย้อนกลับไป อย่างที่ทราบกันดีว่า ในแฟรนไชส์ X-Men ของ 20th Century Fox (หรือ 20th Century Studios ในปัจจุบัน) นับตั้งแต่ภาคแรก ‘X-Men’ (2000) สมาชิก X-Men นั้นปรากฏตัวในภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป จากชุดสีสันสดใสแฟนตาซีแบบในคอมิก สู่ชุดหนังสีดำสุดเข้มและสมจริง และชุดที่ลำลองขึ้น (รวมทั้งชุดในรูปแบบอื่น ๆ ที่สอดคล้องตามธีมของแต่ละภาค)

Hugh Jackman X-Men 2

แบรนดอน เดวิส (Brandon Davis) นักเขียนของเว็บไซต์ ComicBook ได้เปิดเผยส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ เควิน ไฟกี (Kevin Feige) ประธานของ Marvel Studios ตอนที่เขามีโอกาสได้ทำงานในฐานะผู้ช่วยโปรดิวเซอร์หนัง ‘X-Men’ ภาคแรก และเป็นผู้ที่มีส่วนชักชวนให้แจ็กแมนรับบทวูล์ฟเวอรีนเป็นครั้งแรก ได้ให้สัมภาษณ์ในระหว่างงานแถลงข่าวเปิดตัวหนัง ‘Deadpool & Wolverine’ เป็นครั้งแรกถึงแรงบันดาลใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนคอสตูมแบบยกเครื่อง ที่ได้แรงบันดาลใจสำคัญมาจากหนังไซไฟดิสโทเปียเรื่องดังของยุคนั้นอย่าง ‘The Matrix’ (1999)

"มีผู้บริหารสตูดิโอบางคนรู้ว่า 'The Matrix' ได้รับความนิยมอย่างมาก และตัวละครในหนังก็สวมชุดหนังสีดำกัน พวกเขาเลยบอกว่า 'ให้พวกเขาใส่ชุดหนังสีดำซะ!'"

‘The Matrix’ นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านรายได้และคำวิจารณ์อย่างท่วมท้น และกลายเป็นไอคอนระดับตำนานของหนังไซไฟฮอลลีวูดที่สร้างปรากฏการณ์เอาไว้มากมาย ส่วนหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ส่งอิทธิพลอย่างมากก็คือ วิชวลของตัวหนังที่แตกต่างและแปลกตาที่กลายมาเป็น 1 ในวิชวลของยุคปลาย 90s ถึงต้นปี 2000 โดยเฉพาะเทรนด์แนวไซเบอร์พังก์ รวมทั้งชุดหนังและแว่นตาดำที่นักแสดงนำสวมใส่ ทั้ง คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves), แคร์รี-แอนน์ มอสส์ (Carrie-Anne Moss) และลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne) ก็ยังกลายมาเป็น Iconic ด้านแฟชั่นที่โดดเด่นในเวลานั้นอย่างมาก

นอกจากเหตุผลการหยิบยืมสไตล์การแต่งตัวจากหนังดังระดับปรากฏการณ์ในเวลานั้นแล้ว เหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการพยายามปรับโทนของหนังซูเปอร์ฮีโรที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยภาพลักษณ์สุดแฟนตาซี และมักมีกลุ่มเป้าหมายจำกัด ให้ดูมีความร่วมสมัย สมจริง และดูมืดหม่นกว่าในคอมิกต้นฉบับ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้ในวงกว้างมากขึ้น และเป็นการตอบรับค่านิยมในสมัยนั้นที่มองว่าคอสตูมที่เหมือนต้นฉบับดูเหมือนเป็นการล้อเลียนมากกว่าเคารพต้นฉบับ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะตอบรับในการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะแฟน ๆ คอมิก หรือแม้แต่ในแอนิเมชัน ‘X-Men: The Animated Series’ (1992-1997) ที่ผูกพันกับภาพลักษณ์ดั้งเดิม และวิจารณ์การปรับเปลี่ยนชุดที่ไม่ตรงตามคาแรกเตอร์ต้นฉบับ เสียงวิจารณ์นี้สะท้อนผ่านมุกหนึ่งที่ปรากฏในแอนิเมชันภาคต่อ ‘X-Men’97’ ของ Marvel Studios Animation ในช็อตที่เคเบิล (Cable) ถามเกี่ยวกับชุดยูนิฟอร์มสีสันสดใสของเขา จนทำให้ไซคลอปส์ (Cyclops) ตอบออกไปว่า “นายคาดหวังอะไร ชุดหนังสีดำงั้นเหรอ ?”

Hugh Jackman X-Men 2

จริง ๆ แล้วเราเกือบจะได้เห็นวูล์ฟเวอรีนสวมชุดตามแบบคอมิกในจักรวาล X-Men ของ 20th Century Fox แล้วด้วยเหมือนกัน ในฉากที่ถูกตัดออกไปจากหนัง ‘The Wolverine’ (2013) จะมีฉากที่โลแกน ได้รับชุดสูทและหน้ากากสีเหลือง-น้ำตาล ใกล้เคียงกับวูล์ฟเวอรีนในฉบับคอมิก ที่ผู้สร้างตั้งใจจะใส่เอาไว้เพื่อเป็นการปูเรื่องไปสู่ภาคอื่น ๆ แต่น่าเสียดาย สุดท้ายวูล์ฟเวอรีนก็ไม่มีโอกาสได้ใส่ชุดนี้อีกเลย เพราะในภาคต่อไป ‘X-Men: Days of Future Past’ (2014) วูล์ฟเวอรีนจะได้ใส่ชุดแบบใหม่ที่มีความ Futuristic ที่ตรงตามธีมเรื่องราวเกี่ยวกับทีม X-Men ในยุคอนาคตแทน

จนกระทั่งเมื่อ X-Men ได้เข้ามาอยู่ MCU จากการที่ Disney เข้าซื้อกิจการ 20th Century Fox เราจึงได้เห็นทิศทางของการนำตัวละครจากจักรวาล X-Men มาปรากฏตัวใน MCU มากขึ้น (เหมือนที่ไฟกีแถลงล่าสุดว่า) เส้นเรื่องของมิวแทนต์จะเข้ามามีบทบาทในมหากาพย์ Multiverse Saga มากขึ้น)

และด้วยนโยบายที่ต้องการนำเสนอตัวละครในหนังให้มีความคล้ายกับคอมิก เราจึงได้เห็นตัวละครคลาสสิกมาปรากฏตัวในรูปลักษณ์ที่คุ้นเคยกัน ตั้งแต่การปรากฏตัวของ โปรเฟสเซอร์เอ็กซ์ หรือชาร์ลส์ เซเวียร์ (Charles Xavier) ที่ปรากฏตัวพร้อมกับเก้าอี้ Hoverchair แบบเดียวกับคอมิกใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ (2022) หรือตัวละคร บีสต์ (Beast) และไบนารี (Binary) จากต่างมิติในฉาก ฉาก Mid-Credit ของหนัง ‘The Marvels’ (2023)

ชอว์น เลวี (Shawn Levy) ผู้กำกับ ‘Deadpool & Wolverine’ เคยเปิดเงื่อนไขที่ไฟกียอมให้แจ็กแมนกลับมารับบทวูล์ฟเวอรีนอีกครั้ง นั่นก็คือต้องให้แจ็กแมนสวมชุดวูล์ฟเวอรีนสีเหลือง-น้ำเงินตามต้นฉบับ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของการทำให้ภาพลักษณ์ของคาแรกเตอร์ใกล้เคียงกับฉบับคอมิกมากที่สุดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อบ่งบอกว่า โลแกนในหนัง ‘Logan’ และวูล์ฟเวอรีนใน ‘Deadpool & Wolverine’ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน

ไฟกีเคยกล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การที่ฮิว แจ็กแมน ไม่เคยได้สวมชุดที่เป็น Iconic ของตัวละครตัวนี้เลย มันก็คงเหมือนกับการที่ Superman มีหนังมาแล้ว 10 เรื่อง แต่ไม่เคยได้สวมชุด Superman เลยสักครั้ง มันเป็นตัวพิสูจน์ถึงตัวละครวูล์ฟเวอรีนว่า ชุดมันไม่ได้มีความสำคัญเสมอไป ตัวละครต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่าชุดที่ใส่”