Release Date
01/08/2024
ความยาวหนัง
106 นาที
แนวหนัง
ระทึกขวัญ
ผู้กำกับ
เอ็ม ไนต์ ชามาลาน (M. Night Shyamalan)
นักแสดง
จอช ฮาร์ตเนตต์ ( Josh Hartnett) แอเรียล โดโนฮิว (Ariel Donoghue) ซาเลกา ชามาลาน (Saleka Shyamalan)
Our score
6.3[รีวิว] Trap – กับดักหนูกาวเสื่อมของ M. Night Shyamalan
กับดักหนูกาวเสื่อมของ M. Night Shyamalan
สิ่งที่ขาดไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือความระทึกขวัญและมันก็โยนความผิดไปที่ใครไม่ได้นอกจากตัวชามาลานที่รับหน้าที่เขียนบทเองคูเปอร์ ถูกนำเสนอกับผู้ชมในสองบุคลิกสุดขั้วคือการเป็นคุณพ่อแสนดีและฆาตกรโดยแทรกซับพลอตที่แทบไม่สำคัญอะไรกับเรื่องและบทก็บอกความฉลาดของคูเปอร์แบบทื่อ ๆ แต่ที่ถือว่าชามาลานเองยังคงมีของอยู่คือการที่เขาเริ่มพาสถานการณ์ออกมาจากคอนเสิร์ตและสานต่อปมต่าง ๆ หลอกล่อผู้ชมให้เดาทางไม่ถูกจนไป ๆ มา ๆ เหตุการณ์หลังคอนเสิร์ตกลับกลายเป็นไฮไลต์สำคัญที่สร้างความระทึกได้มากกว่าจุดขายของหนังว่าด้วยการล่าฆาตกรในคอนเสิร์ตเสียอีกจอช ฮาร์ตเนตต์ มาให้การแสดงที่มีเสน่ห์และน่าสะพรึงดีทีเดียวซึ่งหากบทหนังให้มิติกับตัวละครมากกว่านี้รับรองว่าหลายคนต้องอยากรู้เรื่องราวของคูเปอร์แน่นอน ส่วนภาพโคลสอัปหรือการเฟรมภาพที่เป็นลายเซ็นต์เฉพาะของสยมภู มุกดีพร้อมถูกนำเสนอแบบไร้ทิศทางในการกำกับ หลายหนที่มันพาผู้ชม "หลุด" จากเรื่องราว
จุดเด่น
- สร้างเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องได้น่าสนใจ
- กล้าพาเรื่องราวออกจากกรอบที่วางไว้และสร้างความระทึกใจได้ดี
- การแสดงของจอช ฮาร์ตเนตต์ น่าสะพรึงและมีเสน่ห์
- งานกำกับภาพของสยมภู มุกดีพร้อม ถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครได้ดีมาก
จุดสังเกต
- ความระทึกในช่วงแรกหายไปอย่างเห็นได้ชัด
- การนำเสนอตัวละคร คูเปอร์ มีมิติน้อยไปหน่อย
- แม้ได้นักแสดงที่เก่งแต่พอนำเสนอในสถานการณ์ที่ไม่ส่งเสริมเลยกลายเป็นไม่น่าจดจำ
- งานภาพของหนังหลายครั้งผลักคนดูออกจากเรื่องราว
-
บทภาพยนตร์
5.5
-
โปรดักชัน
7.0
-
การแสดง
6.0
-
ความบันเทิง
7.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
6.0
นับจาก ‘The Sixth Sense’ ผลงานแจ้งเกิดปี 2000 ชื่อของ เอ็ม ไนต์ ชามาลาน (M. Night Shyamalan) แทบจะไม่เคยหายไปจากโปรแกรมหนังหรือซีรีส์ ไม่ว่าจะผลงานกำกับที่ทิ้งช่วงห่างไม่เกิน 3 ปี ไปจนถึงงานโปรดิวเซอร์ที่ปั้นหน้าหนังและโปรแกรมสตรีมมิงน่าสนใจป้อนค่ายต่าง ๆ เลยเป็นหลักฐานชั้นดีว่าชามาลานเองไม่เคยขาดไอเดียในการขายหนังของเขาให้สตูดิโอ แถมยังกล้าทดลองพาตัวเองไปสู่หนังแนวใหม่ไม่ว่าจะเป็นหนังดัดแปลงจากคอมิกอย่าง ‘Avatar The Last Airbender’ หรือหนังไซไฟอย่าง ‘After Earth’ แม้ผลตอบรับจะเข้าขั้นวินาศจนต้องกลับมาสู่แนวถนัดอย่างทริลเลอร์เหมือนเดิมก็ตาม
ไอเดียการสร้างเรื่องใน ‘Trap’ มีเค้าโครงจากเรื่องจริงในปี 1985 ที่ถูกเรียกว่า ‘Operation Flagship’ ที่ทางการตั้งบริษัทปลอมชื่อ สถานีโทรทัศน์กีฬานานาชาติแฟล็กชิป (Flagship International Sports TV) ส่งตั๋วแข่งซูเปอร์โบวล์ฟรีไปให้นักโทษหลบหนีกว่า 3,000 ใบ พร้อมสิทธิชิงโชคดูซูเปอร์โบวล์ฟรีเพื่อล่อหนูมาติดกับ แน่นอนว่าได้วัตถุดิบชั้นดีขนาดนี้ก็เข้ามือชามาลานจนเกิดหนังทริลเลอร์ที่เหมือนลูกผสมของหนังเกมล่าฆาตกรฉลาดในคอนเสิร์ตนักร้องเพลงป็อป
โดยเหตุการณ์ของหนังจะเริ่มที่งานคอนเสิร์ตของ เลดี้เรเว่น นักร้องเพลงป็อปซูเปอร์สตาร์ที่จัดคอนเสิร์ตใหญ่และหนึ่งในแฟนเพลงที่คลั่งไคล้เธอมากก็คือ ไรลีย์ (แอเรียล โดโนฮิว, Ariel Donoghue) เด็กสาวมัธยมที่มีปมเรื่องการคบเพื่อน นั่นเป็นสาเหตุที่ในวันนี้เธอเลือกมาชมคอนเสิร์ตนักร้องคนโปรดกับ คูเปอร์ (จอช ฮาร์ตเนตต์, Josh Hartnett) คุณพ่อนักดับเพลิง โดยไม่รู้เลยว่างานนี้เป็นปฏิบัติการกับดักเพื่อจับฆาตกรนามว่าเดอะบุตเชอร์ซึ่งก็คืออีกตัวตนของ คูเปอร์ และเขาต้องหาทางหนีจากงานคอนเสิร์ตที่รายล้อมด้วยบรรดาเจ้าหน้าที่ที่หมายหัวของเขาออกไปให้ได้
หากพูดถึงไอเดียในการดำเนินเรื่องก็ยังต้องยอมรับการวางหมากวางปม และการกล้าที่จะตีฝ่ากรอบของพล็อตที่วางไว้ของชามาลานได้อย่างชาญฉลาด เมื่อพิจารณาร่วมกับความจริงที่ว่าเทรลเลอร์หนังแทบจะบอกเรื่องราวของพล็อตไปเกือบจะครึ่งเรื่องแล้ว แต่ชามาลานก็เชี่ยวมือพอที่จะหาทางพาเราวนรอบคอนเสิร์ตเหมือนหนูติดจั่นไปกับคูเปอร์ แถมยังมีเรื่องราวที่ออกจากเงื่อนไขของคอนเสิร์ต ด้วยการพาเราเปลี่ยนสถานที่และพลิกปมในการเล่าเรื่องเพื่อเซอร์วิสความทริลเลอร์ให้คนดูได้เป็นอย่างดี
แต่กระนั้นก็อาจถือเป็นบุญบาปของการเป็นตัวท็อปวงการหนังหักมุมของชามาลานมาก่อนเหมือนกัน เพราะพอเคยมีงานขึ้นหิ้งที่นอกจาก ‘The Sixth Sense’ แล้วเขายังพาเราอกสั่นสุดขีดไปกับ ‘Sign’ และยังเคยหักมุมแบบหักศอกจนหงายหลังไปกับ ‘The Village’ หรือกระทั่งเคยทำหนังแนวใกล้เคียงกันอย่าง ‘Split’ ที่เคยพาคนดูไปติดขอบกระทบไหล่กับฆาตกรหลายบุคลิกมาก่อน แต่กับ ‘Trap’ สิ่งที่ขาดไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือความระทึกขวัญนี่แหละ และมันก็โยนความผิดไปที่ใครไม่ได้นอกจากตัวชามาลานที่รับหน้าที่เขียนบทเองด้วย
เพราะ คูเปอร์ ถูกนำเสนอกับผู้ชมในสองบุคลิกสุดขั้ว คือการเป็นคุณพ่อแสนดีและฆาตกร โดยแทรกซับพล็อตที่แทบไม่สำคัญอะไรกับเรื่องคือการที่เขากำลังขังชายหนุ่มชาวเอเชียไว้ในบ้านหลังหนึ่ง และดูไลฟ์สดผ่านมือถือของเขาได้ และแน่นอนล่ะว่ามันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสานต่อเรื่องราวในภายหลัง แต่มันก็มีหน้าที่แค่นั้นจริง ๆ และบทก็บอกความฉลาดของคูเปอร์แบบทื่อ ๆ จนช่วงเวลาในพาร์ตคอนเสิร์ตที่ผู้ชมคาดหวังมากว่ามันจะต้องระทึกหรือเจอความอำมหิตที่คูเปอร์ซ่อนไว้ค่อย ๆ เผยออกมา ผลลัพธ์กลับออกมาธรรมดาและวนไปเวียนมาพร้อมกับปมอะไรก็ไม่รู้ที่ขยันใส่มาเหลือเกิน ทั้งปมแม่เพื่อนของไรลีย์หรือใส่ฉากที่คูเปอร์เบี่ยงเบนความสนใจผู้คนเพื่อหาทางรอด ที่ถึงแม้จะไม่น่าเบื่อแต่ก็รู้สึกได้ว่าผิดฟอร์มงานกำกับของชามาลานไปหน่อย
และเมื่อได้รู้ว่านักแสดงที่มารับบท เลดี้เรเว่น คือ ซาเลกา ชามาลาน (Saleka Shyamalan) ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนที่เป็นนักร้องอยู่แล้ว ก็ยิ่งถึงบางอ้อแหละ ว่านี่คือภารกิจคุณพ่อที่แสนดีอย่างต่อเนื่อง หลังดัน อิชานา ไนต์ ชามาลาน (Ishana Night Shyamalan) ลูกสาวอีกคนกำกับ ‘The Watchers’ ซึ่งหนังฉายไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งบทเลดี้เรเว่นของซาเลกาก็ไม่ได้มาแค่เป็นตัวประกอบที่มอบเสียงสวย ๆ ในคอนเสิร์ตเท่านั้น เพราะบทของเธอมีบทบาทสำคัญกับเรื่องในตอนท้ายด้วย แต่น่าเสียดายเช่นกันที่บทหนังให้เธอมีบทบาทในเวลาสั้น ๆ และมีความไม่สมเหตุสมผลอยู่เยอะพอสมควร แม้ซาเลกาจะมีเสน่ห์บนจอแค่ไหนก็ตาม
แต่ที่ถือว่าชามาลานเองยังคงมีของอยู่ คือการที่เขาเริ่มพาสถานการณ์ออกมาจากคอนเสิร์ตและสานต่อปมต่าง ๆ หลอกล่อผู้ชมให้เดาทางไม่ถูกจนไป ๆ มา ๆ เหตุการณ์หลังคอนเสิร์ตกลับกลายเป็นไฮไลต์สำคัญที่สร้างความระทึกได้มากกว่าจุดขายของหนังที่ว่าด้วยการตามจับฆาตกรในคอนเสิร์ตเสียอีก เพราะเมื่อไร้กรอบเรื่องการหาทางออกจากคอนเสิร์ตเลยทำให้เห็นว่าเรื่องราวมันมีตื้นลึกหนาบางอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือยิ่งทำให้เห็นเลยว่าชามาลานเองหมายมั่นปั้นมือกับการสร้างคาแรกเตอร์ คูเปอร์ เผื่อใช้ในการสานต่อสร้างคอนเทนต์เพิ่มเติมได้อีก ยิ่งได้จอช ฮาร์ตเนตต์ มาให้การแสดงที่มีเสน่ห์และน่าสะพรึงดีทีเดียว ซึ่งหากบทหนังให้มิติกับตัวละครมากกว่านี้รับรองว่าหลายคนต้องอยากรู้เรื่องราวของคูเปอร์แน่นอน
งานกำกับภาพของสยมภู มุกดีพร้อม นับเป็นอีกจุดที่โดดเด่นมากสำหรับ ‘Trap’ เราจะเห็นการกล้าทดลองถ่ายโคลสอัปเพื่อให้คนดูรู้สึกเหมือนคุยกับคูเปอร์เวลาที่เล่าเรื่องในมุมมองของเขาเป็นหลัก ซึ่งมันทั้งเน้นย้ำการแสดงของ จอช ฮาร์ตเนตต์ ที่ทำได้ดีมาก ความโรคจิตภายใต้หน้ากากของคนปกติถูกผู้ชมจับจ้อง และในขณะเดียวกันผู้ชมก็จะรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามอยู่ในทีเหมือนกัน หรือกระทั่งภาพโคลสอัปตัวละครอื่นอย่าง เลดี้เรเว่น หรือ เรเชล (อลิสัน พิลล์, Alison Pill) ภรรยาของคูเปอร์ ก็ช่วยให้ผู้ชมลุ้นระทึกและเห็นอารมณ์อันซับซ้อนที่นักแสดงถ่ายทอดมาได้อย่างดี
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อภาพโคลสอัปหรือการเฟรมภาพที่เป็นลายเซ็นเฉพาะของสยมภู ถูกนำเสนอแบบไร้ทิศทางในการกำกับ หลายหนที่มันพาผู้ชม “หลุด” จากเรื่องราวจนไม่แน่ใจว่าตอนถ่ายทำชามาลานได้มองจอมอนิเตอร์และ “กำกับ” ทิศทางของงานภาพบ้างไหม เพราะในขณะที่การเฟรมภาพมีความโดดเด่นมาก ตัวผู้กำกับเองนี่แหละที่ “ติดกับ” กับงานภาพจนไม่ได้คำนึงถึงภาพรวม และมันก็ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกห่างจากเรื่องราวในหนังไปอย่างน่าเสียดาย