เรียกว่ายังคงมีดราม่าให้ตามไม่จบไม่สิ้น สำหรับ ‘Megalopolis’ ภาพยนตร์มหากาพย์ไซไฟ ผลงานโปรเจกต์ในฝันที่รอคอยมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี กับการเดิมพันทุนสร้าง 120 ล้านเหรียญ โดยไม่ผ่านระบบสตูดิโอของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ที่รับหน้าที่ทั้งเป็นโปรดิวเซอร์ กำกับ เขียนบทด้วยตัวเอง แต่กลับไม่มีสตูดิโอไหนที่กล้ายอมซื้อมาจัดจำหน่าย แม้สุดท้าย สตูดิโอไลออนส์เกต (Lionsgate) จะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยทุ่มทุนซื้อหนังเพื่อจัดจำหน่ายทั่วโลก (รวมทั้งในประเทศไทย) โดยจะเข้าฉายในวันที่ 26 กันยายนที่จะถึงนี้
แต่ด้วยข่าวที่เกิดขึ้นก็ดูจะทำให้ข่าวดราม่าของหนังเรื่องนี้แอบดังแซงตัวหนังไปหนึ่งก้าว ตั้งแต่คำวิจารณ์ของนักวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ที่ได้คะแนนระดับกลาง ๆ ที่ 53% รวมทั้งได้คำวิจารณ์เสียงแตกหลังเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รวมไปถึงรายงานเกี่ยวกับสารพัดพฤติกรรมของคอปโปลาในกองถ่าย ตั้งแต่การถ่ายทำหนังแบบ Old School อันยุ่งยากเกินเหตุ หรือพฤติกรรมที่เขาพยายามเดินเข้าไปกอดจูบนักแสดงตัวประกอบหญิงที่นุ่งน้อยห่มน้อยในระหว่างถ่ายทำ ลุกลามจนกระทั่งมีสื่อที่นำคลิปพฤติกรรมของเขามาแฉแบบคาหนังคาเขา
ปัญหาดราม่าของหนังเรื่องนี้ยังลามไปจนถึงคลิปตัวอย่างหนังด้วย หลังจากที่คลิปตัวอย่างหนังตัวที่ 2 ได้ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยตัวอย่างนี้ นอกจากจะมีเสียงของลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne) ที่กล่าวประโยคว่า “อัจฉริยะที่แท้จริงมักถูกเข้าใจผิด” แล้ว
สิ่งที่เป็นประเด็นก็คือการที่ตัวหนังได้หยิบยกคำวิจารณ์ผลงานหนังระดับคลาสสิกของคอปโปลามากล่าวถึงในหนัง แต่แทนที่จะเป็นประโยคชื่นชมหนังแบบเวอร์ ๆ เหมือนตัวอย่างหนังทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้กลับแหวกแนวด้วยการหยิบเอาคำวิจารณ์แง่ลบที่มีต่อหนังระดับคลาสสิก 3 เรื่องของคอปโปลามาขึ้น Quote ตัวเป้ง ๆ เช่น
‘The Godfather’ (1972)
“ไม่รู้หนังเรื่องนี้ต้องการอยากเป็นอะไรกันแน่” – แอนดรูว์ แซร์ริส (Andrew Sarris) จาก The Village Voice
“หนังเอาแต่ใจตัวเองที่แสนจะเลอะเทอะ” – แอนดรูว์ แซร์ริส (Andrew Sarris) จาก The Village Voice
“คุณค่าที่ด้อยลงเพราะศิลปะที่มากเกิน” – พอลลีน แคล (Pauline Kael) จาก The New Yorker
‘Apocalypse Now’ (1979)
“ขยะระดับมหากาพย์” – เร็กซ์ รีด (Rex Reed) จาก Daily News
“กลวงจนถึงแก่น” – วินเซนต์ แคนบี (Vincent Canby) จาก The New York Times
‘Bram Stoker’s Dracula’ (1992)
“ความมีชัยของสไตล์ที่อยู่เหนือเนื้อหา” – โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) จาก Chicago Sun-Times
“ความยุ่งเหยิงอันแสนงดงาม” – โอเวน เกลเบอร์แมน (Owen Gleiberman) จาก Entertainment Weekly
แนวคิดการนำเอาคำวิจารณ์งานในอดีตของคอปโปลามาใช้เหมือนเป็นตัวสื่อแบบกลาย ๆ ว่า แม้ผลงานของเขาจะโดนวิจารณ์ถล่มตอนที่ออกฉาย แต่สุดท้ายตัวหนังก็ผ่านกาลเวลา พิสูจน์ตัวเองจนกลายเป็นผลงานระดับตำนานอันทรงคุณค่า เช่นเดียวกับ ‘Megalopolis’ ที่อาจจะกลายมาเป็นอีก 1 ผลงานตำนานขึ้นหิ้งของฮอลลีวูด และของคอปโปลาก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน และให้ผู้ชมเข้าไปพิสูจน์ด้วยตาของตัวเอง
แต่กลายเป็นว่าหลังจากที่ปล่อยตัวอย่างออกไปเพียงวันเดียว บิลจ์ เอบิรี (Bilge Ebiri) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ได้เขียนบทความใน Vulture ว่า บรรดาวลีคำวิจารณ์ที่นำมาอ้างอิงในตัวอย่างเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นวลีที่ไม่มีอยู่จริง หรือไม่ตรงกับสิ่งที่นักวิจารณ์เขียนถึงแต่อย่างใด โดยเอบิรีกล่าวในบทความว่า แคลเคยเขียนบทวิจารณ์หนัง ‘The Godfather’ และ ‘The Godfather Part II’ (1974) ในเชิงบวก แม้ว่าเธอจะไม่ชอบ ‘The Godfather Part III’ (1990) แต่ข้อเท็จจริงก็คือ แคลไม่เคยกล่าวประโยค “คุณค่าที่ด้อยลงเพราะศิลปะที่มากเกิน” ในบทวิจารณ์หนังภาคไหนเลยด้วยซ้ำ
เอบิรีได้กล่าวอ้างว่า เขาไม่พบวลีคำวิจารณ์หนังของคอปโปลาที่อยู่ในตัวอย่าง ในบทวิจารณ์หนังของนักวิจารณ์คนอื่น ๆ เลย แม้นักวิจารณ์บางคนจะเคยวิจารณ์หนังของคอปโปลาในแง่ลบบ้าง แต่ก็ไม่มีบทวิจารณ์ใดที่มีคำพูดดังกล่าว แม้ว่าอีเบิร์ตจะเคยตั้งข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับหนัง ‘Bram Stoker’s Dracula’ แต่บทความของเขาก็ไม่มีคำพูดดังกล่าวอยู่เลยเช่นกัน ส่วนประโยค “ความมีชัยของสไตล์ที่อยู่เหนือเนื้อหา” พบว่า กร่อนมาจากประโยคจากบทวิจารณ์หนัง ‘Batman’ (1989) ของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ที่อีเบิร์ตเขียนต่างหาก

ในขณะที่เกลเบอร์แมน นักวิจารณ์ของ Entertainment Weekly ที่ปัจจุบันย้ายมาทำงานให้กับ Variety ที่แม้ว่าจะเคยเขียนบทวิจารณ์ ‘Bram Stoker’s Dracula’ ว่า “เน้นงานด้านภาพที่สะกดจิตมากเกินไป” และ “คอปโปลาล้มเหลวในความคิดสร้างสรรค์” และให้คะแนนตัวหนังที่เกรด B แต่เขาก็ไม่เคยเขียนประโยค “ความยุ่งเหยิงอันแสนงดงาม” เอาไว้ในบทความเลย เกลเบอร์แมนได้อธิบายถึงบทความของเขากับ Variety ว่า
“แม้ว่าคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบนักวิจารณ์ แต่เราก็ไม่ควรถูกใส่คำพูดที่เราไม่ได้พูดเอาไว้ เรื่องอื้อฉาวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างหนัง ‘Megalopolis’ นั้นถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวที่เป็นเท็จ นักวิจารณ์ต่างรัก ‘The Godfather’ แต่ถึงแม้ว่า ‘Apocalypse Now’ จะเป็นที่ถกเถียง แต่มันก็ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิจารณ์จำนวนมาก สำหรับเรื่องที่ว่าผมเคยเรียก ‘Bram Stoker’s Dracula’ ว่าเป็นความยุ่งเหยิงอันแสนงดงาม ผมก็ได้แต่หวังว่าจะได้พูดแบบนั้นบ้างนะ ! พอมาถึงตอนนี้มันช่างฟังดูใจดีเสียเหลือเกิน”
หลังจากปล่อยตัวอย่างคลิปไปเพียงวันเดียว ในที่สุด Lionsgate ก็ตัดสินใจถอดตัวอย่างดังกล่าวออกจาก YouTube หลังจากที่มียอดชมไปแล้วกว่า 1.3 ล้านครั้ง พร้อมกับออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสื่อเกี่ยวกับข้อผิดพลาดดังกล่าว
ล่าสุด สื่อหลายสำนักรายงานว่า Lionsgate ได้สั่งปลด เอ็ดดี อีแกน (Eddie Egan) จากการเป็นที่ปรึกษาการตลาดให้กับหนัง ‘Megalopolis’ เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า Lionsgate และอีแกนไม่ได้ตั้งใจจะสร้างถ้อยความเท็จของนักวิจารณ์ขึ้นมา แต่เป็นความผิดพลาดในการตรวจสอบและตรวจทานความถูกต้องของวลีที่เกิดขึ้นจากนักวิจารณ์ ‘ที่สร้างขึ้นด้วย AI’
โดย Variety ได้ทดลอง Prompt เพื่อสร้างบทวิจารณ์เชิงลบของนักวิจารณ์ที่มีต่อหนัง ‘The Godfather’ และ ‘Apocalypse Now’ บนแชตบอต AI ชื่อดังอย่าง ChatGPT ผลปรากฏว่า AI สามารถ Generate บทวิจารณ์หนังในแง่ลบของนักวิจารณ์ชื่อดัง ออกมาได้ใกล้เคียงกับข้อความที่อยู่ในคลิปตัวอย่าง
อีแกนทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดภาพยนตร์อิสระ หลังจากลาออกจากการเป็นประธานฝ่ายการตลาดของสตูดิโอ STX film ในปี 2019 โดยยังไม่ชัดเจนว่าอีแกนจะยังคงกลับมาทำงานด้านการตลาดให้กับ Lionsgate อีกครั้งหลังจากสิ้นสุดการโปรโมต ‘Megalopolis’ หรือไม่