ถ้าพูดถึงหนังสายเควียร์ (Queer) ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้กำกับสายเควียร์ ท็อดด์ เฮนย์ส (Todd Haynes) ก็คงต้องยกให้ ‘Carol’ (2015) เพราะนอกจากจะเป็นหนังที่พูดถึงความโรแมนติกของคู่เลสเบียนแล้ว ตัวหนังยังนำเสนอเรื่องราวประเด็นสังคม และเรื่องราวภายในความสัมพันธ์ของคู่รักเลสเบียน ที่ เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) และรูนีย์ มารา (Rooney Mara) ต่างโชว์พลังการแสดงออกมาผ่านงานภาพอันประณีต จนกลายเป็นหนังที่กวาดรางวัลจากหลายเวที
แต่กว่าหนังเรื่องนี้จะได้ออกสู่สายตา ก็ต้องผ่านอุปสรรคจากบรรดานายทุนยุคนั้นที่ไม่เชื่อมั่นในหนังที่มีผู้หญิงรับบทนำ แบลนเชตต์ได้เล่าถึงเรื่องนี้ในระหว่างการสนทนา ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต (Toronto International Film Festival – TIFF) ซึ่งเธอได้มีโอกาสเล่าถึงเบื้องหลังและอุปสรรคของหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่การเปลี่ยนมือผู้กำกับมากมาย การประสบปัญหาเรื่องทุนสร้างจนทำให้โปรเจกต์หยุดชะงัก เพราะนายทุนมองว่าไม่มีใครอยากดูหนังที่มีผู้หญิงเป็นตัวละครเอก และความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน
“มีช่วงหนึ่งที่เคยมีผู้กำกับอีกคนจะมากำกับเรื่องนี้ด้วย แต่เขาก็ถูกถอดออกจากโปรเจกต์ไป และนั่นก็ทำให้ฉันเองถอนตัวจากโปรเจกต์นี้ด้วย มันกินเวลายาวนานถึง 5 ปี เพราะในตอนนั้นไม่มีใครที่อยากจะให้ทุนสร้าง ไม่มีใครอยากดูหรอก ใครจะอยากไปดูหนังที่มีผู้หญิงคนหนึ่งแสดงเป็นตัวเอก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องความรักระหว่างผู้หญิง 2 คนเลย มันเป็นอะไรที่โชคร้ายมาก ถือเป็นความเสี่ยงมาก ๆ ในตอนนั้น”
‘Carol’ ดัดแปลงจากหนังสือนิยาย ‘The Price of Salt’ ที่เขียนโดย แพทริเซีย ไฮสมิธ (Patricia Highsmith) ที่วางแผงครั้งแรกในปี 1952 เล่าเรื่องของแครอล แอร์ด หญิงวัยกลางคนที่มีพร้อมทั้งครอบครัว ฐานะ หน้าที่การงาน และหน้าตาในสังคม ที่มีความสัมพันธ์กับเทเรซา บีลิเวต หญิงสาววัย 20 ปี มีอาชีพทำงานเป็นพนักงานในห้างสรรพสินค้า ท่ามกลางบรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสในมหานครนิวยอร์กช่วงปี 1952
แต่เดิมโปรเจกต์หนังเรื่องนี้มีการเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 1997 หลังจากที่ โดโรธี เบอร์วิน (Dorothy Berwin) โปรดิวเซอร์ได้ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้มาไว้ในครอบครองตั้งแต่ปี 1996 ก่อนที่จะมอบหมายให้ ฟิลลิส นากี (Phyllis Nagy) นักเขียนบทผู้เป็นเพื่อนของไฮสมิธดัดแปลงบทร่างแรกขึ้นมา
แต่อุปสรรคที่หนังเรื่องนี้ต้องเจอก็คือการหาสตูดิโอที่จะเป็นผู้สนับสนุนทุนสร้าง เพราะสตูดิโอในเวลานั้นยังไม่ยอมรับเนื้อหาแนวเลสเบียน ในขณะที่นักแสดงดัง ๆ หลายคนก็ไม่อยากรับบทแนวนี้ และรับบทที่มีฉากเลิฟซีนเรต R เพราะมองว่าอาจจะทำให้ชื่อเสียงด่างพร้อย
บทหนังถูกนำเสนอผ่านนายทุนหลายราย ผ่านการแก้ไขบท และมีผู้กำกับเข้ามาดูแลโปรเจกต์มากมายหลายคนอยู่นานนับทศวรรษ แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาความกังวลแบบเดิม ๆ มีช่วงที่โปรเจกต์หยุดชะงักลงไป จนกระทั่งปี 2012 หนังจึงเพิ่งจะได้ทุนสร้าง และได้ จอห์น ครอว์ลีย์ (John Crowley) มากำกับ พร้อมกับได้แบลนเชตต์มาร่วมแสดงนำ และรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์
แต่ในปีถัดมา ครอว์ลีย์ก็ถอนตัวออกไปด้วยปัญหาเกี่ยวกับตารางงาน ทำให้แบลนเชตต์เองก็ตัดสินใจถอนตัวจากโปรเจกต์ด้วยเช่นกัน จนในเวลาต่อมา เฮนย์สจึงได้ตัดสินใจตกลงมากำกับหนังเรื่องนี้หลังจากที่ได้อ่านสำเนาบทหนังไปเพียงแค่ 2 วัน
ตัวหนังประสบความสำเร็จในแง่ของคำวิจารณ์อย่างมาก ได้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ได้รับการยืนปรบมือ (Standing Ovation) 10 นาที และได้รับรางวัลจากเทศกาลนี้ 2 สาขา ทั้งสาขานักแสดงนำหญิงที่มาราได้รับ รวมทั้งรางวัล Queer Palm หรือหนังสาย LGBTQIA+ ของเทศกาล
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าชิงรางวัลอีกมากมาย ทั้งเวทีลูกโลกทองคำ 4 สาขา และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา ซึ่งรวมทั้งสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่แบลนเชตต์ได้เข้าชิง และสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมที่มาราได้เข้าชิงเช่นเดียวกัน
ในการสนทนาเดียวกัน แบลนเชตต์ยังได้เล่าถึงการจัดการเกี่ยวกับความขัดแย้งในความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแม้ตลอดเวลาในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ เธอจะไม่เคยมีความขัดแย้งกับเฮนย์ส แต่เธอก็เล่าเหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำให้เธอตัดสินใจมอบพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้กำกับ แบบเดียวกับที่ผู้กำกับมักจะมอบพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้นักแสดงได้เปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานด้วยตัวเองโดยไม่พยายามตีกรอบจนมากเกินไป
“คืนหนึ่ง เรากำลังถ่ายทำฉากหนึ่งในหนัง บ้านที่ใช้ถ่ายทำเป็นบ้านร้างแปลก ๆ ซึ่งทำให้ เอ็ด ลาคแมน (Ed Lachman) ผู้กำกับภาพจัดแสงให้ฉากนั้นออกมาดูดีได้ยากมาก มันซับซ้อนมาก และตอนนั้นท็อดด์เองก็กำลังลำบากเหมือนกัน”
“คุณคงคาดหวังว่าผู้กำกับจะสามารถจัดการทุกอย่างได้ตลอดเวลา แต่บางครั้งพวกเขาก็เป็นฝ่ายที่ต้องการการปลอบโยนเหมือนกันนะ ฉันเลยบอกว่า ‘ทำไมคุณไม่ลองไปพักก่อนแป๊บหนึ่ง ทำหัวโล่ง ๆ สักหน่อยล่ะ ?’ เราสร้างพื้นที่ให้กับเขา เหมือนกับที่เขาก็สร้างพื้นที่ให้กับนักแสดงเหมือนกัน”
“มันเป็นการทำงานที่ค่อนข้างจะลื่นไหลนะคะ ฉันไม่เคยมีความขัดแย้งอะไรกับเขา เขาเป็นคนที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะต้องเห็นด้วยเสมอไป มีสิ่งที่เข้าใจผิดกันว่า การทำหนังที่ดีเหมือนการเข้าค่ายฤดูร้อน ฉันเคยอยู่ในกองถ่ายแบบนั้นมาบ้าง และสุดท้ายหนังที่ออกมาพวกนั้นแ-่งแย่มาก”
“การไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพ และเคารพซึ่งกันและกัน สำคัญมากในกระบวนการสร้างสรรค์ และคุณจะรู้ได้ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อคุณสามารถต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างได้ แต่ก็ยังยอมให้ตัวเองเปลี่ยนใจได้ด้วย”