หนังไซไฟไทยเรื่องใหม่ ‘Taklee Genesis’ ผลงานการกำกับของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในช่วงนี้ ตั้งแต่หนังยังไม่ทันได้เข้าฉาย จนล่าสุดผู้ชมหลาย ๆ คนก็อาจมีโอกาสได้ไปพิสูจน์หนังเรื่องนี้มาแล้วด้วยตาของตัวเอง หลังจากหนังเข้าฉายวันแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน คงนับได้ว่าเป็นความปกติที่หนังแต่ละเรื่องจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่กว่าจะเป็นหนังแต่ละเรื่องนั้นต่างต้องผ่านกระบวนการทำมาอย่างมากมาย
BT BUZZ มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้กำกับ ‘Taklee Genesis’ อย่าง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และนักแสดงนำอย่าง พอลล่า เทย์เลอร์ (รับบท สเตลล่า), นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน (รับบท วาเลน), นารา เทพนุภา, พีค-ภูษิตา วัฒนากรแก้ว และทราย-อินทิรา เจริญปุระ ที่จะมาพูดถึงเบื้องหลังการทำงานใน ‘Taklee Genesis’ ความท้าทายของนักแสดง และความท้าทายในการกำกับหนังเรื่องนี้
รีวิวนักแสดง ‘Taklee Genesis’ แต่ละคน โดย มะเดี่ยว
มะเดี่ยว: น้องนีน่า (ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) เจอมาจากการที่ทีมงานเคยไปทําหนังเรื่อง ‘Cracked’ แล้วก็แนะนําน้องเขามาด้วยบทที่เป็นลูกครึ่ง แล้วก็เป็นลูกพี่พอลล่า (พอลล่า เทย์เลอร์) ทํางานกับน้องคือน้องเป็นเด็กที่เก่งมาก เป็นเด็กที่เหมือนผู้ใหญ่ในร่างเด็ก แต่ก็ยังมีความเป็นเด็ก น้องต้องเล่นหลายบท แล้วแต่ละอันก็มีความพิเศษในตัวของคาแรกเตอร์นั้น ๆ คือข้อดีของความเป็นเด็กของน้องคือเขาใส แล้วเขามีจินตนาการที่ยังบริสุทธิ์มาก ๆ โดยเฉพาะการเห็นสัตว์ประหลาด การเห็น CG เห็นอะไรมากมาย คือเขาจะเชื่อแบบเด็ก ๆ มันจะเหมือนว่าเราชวนเด็กมาเล่นกัน ตัวอะไรก็ไม่รู้ น้องก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ
พี่พอลล่า เคยร่วมงานกันมาจากซีรีส์เมื่อ 5-6 ปีก่อน ทั้งพี่พอลล่า และพี่ปีเตอร์ (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) เราเคยเล่นด้วยกันแล้วเราเคยบอกพอลล่าว่า ถ้าเรามีหนังเราจะเอาพอลล่ามาเล่นนะ เพราะพอลล่าลุก Cinematic มากเลย แล้วเราก็หาโปรเจกต์ที่จะร่วมงานกันมาสักพักแล้ว จนกระทั่งมาเรื่องนี้ ทํางานกับพอลล่าเราจะได้ความเป็นแม่ที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ จากตัวเขา เพราะเขาเป็นแม่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งจะไม่เหมือนตอนที่เคยเห็นเขาใน ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ หรือ ‘รักจัง’ ซึ่งก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วมันมีความสดใหม่ คือการเป็นแม่แบบปัจจุบัน แม่แบบคนรุ่นเดียวกับเรา เวลาเขาเล่นกับลูกมันดูเป็นธรรมชาติมาก แล้วก็ดูน่ารัก ตามเรื่องเขาต้องรักกันมาก แล้วพอมีเหตุอะไร เราจะรู้สึกเอาใจช่วย ซึ่งพอลล่าก็ทําตรงนี้ออกมาได้ดีมาก ๆ
น้องพีค (ภูษิตา วัฒนากรแก้ว) ในเรื่องเขาเป็นบุคคลในอนาคต น้องพีคเคยเจอกันตอน BNK ตอนนั้นนางเพิ่งเปิดตัวใหม่เลย ตอนนั้นลุกของเขาจะมีความเป็นสาวห้าว สาวเก๋ แล้วด้วยความที่เขาจะเล่นเป็นคนในอนาคต ยุคอีก 200 ปีข้างหน้า เขาจะมีลุกของความล้ำ (Futuristic) อยู่
น้องนารา (นารา เทพนุภา) ร่วมงานกันมาหลายรอบแล้ว เล่นหนังประหลาด ๆ ของพี่มาเยอะ เคยร่วมงานกันมา ก็ถามนาราว่ามาเล่นหนังให้พี่หน่อย นาราก็แบบได้เลยค่ะ พี่ก็บอก “เดี๋ยวสิ ยังไม่รู้เลยว่าเล่นเป็นอะไร เล่นใช่ไหม โอเค เอาบทไปดูนะ” คือตัวละครของนาราจะเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งในยุคที่ทุกอย่างล่มสลาย ในหนังคือสิ่งที่นางทํามันซับซ้อน แต่ก็ขอบคุณมากที่เล่นจนจบ
พี่ทราย (อินทิรา เจริญปุระ) เป็นนักแสดงที่ร่วมงานกับเรามาเยอะมาก แล้วรับบทแปลกประหลาดที่เราทําขึ้นมาโดยไม่เกิดคําถามอะไร ฟังดูเหมือนจะไม่ดี คืออย่างที่บอกกับทุกคนที่ร่วมโปรเจกต์นี้ว่า “เชื่อกู เชื่อกู เดี๋ยวมันจะดี เดี๋ยวมันจะดี เชื่อกู เชื่อกู” พออธิบายนาน ๆ เข้าไป คําถามก็จะเริ่มเกิดขึ้นในแววตา แล้วก็รู้สึกเหมือนเป็นคนบ้า เลยเป็นพี่ทรายครับที่จะมารับบทที่อาจจะไม่มีใครเล่นได้ในประเทศนี้ทั้งหมด กับบทที่ย้อนไปถึงยุค 5,000 ปีก่อนคริสตกาล
นักแสดงรีวิวผู้กำกับ (มะเดี่ยว) ในหนัง ‘Taklee Genesis’ และผลงานอื่น ๆ ที่ชื่นชอบ
นีน่า: พี่มะเดี่ยวที่เจอในกองน่ารักมาก ๆ เลยค่ะ
พอลล่า: พอลล่าเคยดู ‘รักแห่งสยาม’ มา แล้วก็จริง ๆ เราเคยร่วมโปรเจกต์ด้วยกันในซีรีส์ที่ถ่ายกับ วุ้นเส้น (วิริฒิพา ภักดีประสงค์) แล้วก็ชอบโปรเจกต์นั้น ชอบอันนั้นมาก พอพี่ (มะเดี่ยว) ติดต่อมา เขาก็โทรมาแล้วคุยกัน ตอนพี่มะเดี่ยวเล่าเรื่องนี้เขาอินมาก ฟังแล้วก็อินไปด้วย แต่ถามเราว่าเข้าใจมากไหมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือทําอะไรกันไม่รู้ ความยากของการถ่ายหนังเรื่องนี้คือภาพต่าง ๆ มันอยู่ในหัวพี่มะเดี่ยว เพราะฉะนั้นทุกวันเราต้องพร้อมเพื่อไปให้พี่มะเดี่ยวทาสี อธิบายว่าจะเป็นแบบนี้นะ เป็นแบบนี้
พีค: หนูชอบ ‘รักแห่งสยาม’ เหมือนกันค่ะ แล้วก็ ‘แสงกระสือ’ ทํางานกับพี่มะเดี่ยว จริง ๆ เคยทําไปตอนมิวสิกวิดีโอรอบหนึ่งแล้ว แล้วตอนนั้นก็ได้ความรู้เยอะมาก พอได้ลองมาทําเรื่องนี้ พี่มะเดี่ยวก็ให้คำแนะนําหลายเรื่องมากเลยค่ะ ตอนแสดงก็มีเสียงมีอะไรให้เราจินตนาการไปด้วยค่ะ
นารา: ของหนูที่ชอบคือ ‘ขวัญผวา’ เป็นเรื่องที่พูดทีไรก็มีความสุขทุกครั้ง มันอยู่ในใจแล้วก็เหมือนย้อนไปวันแรกที่พี่มะเดี่ยวโทรมา คือดีใจมาก เพราะว่าเฝ้ารอการทํางานกับพี่มะเดี่ยวอีกครั้งแบบสุด ๆ เพราะหนูชอบการทํางานแบบนี้มาก ๆ ค่ะ หนูรู้สึกว่าพี่มะเดี่ยวให้ความสําคัญกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะว่าหนูคือคนหนึ่งที่ไปทํางานเหนื่อย ๆ ก็อยากกินของอร่อย พี่มะเดี่ยวบอกว่าคนทํางานเหนื่อยจะให้กินของไม่อร่อยได้ยังไง คนอาจจะพูดถึงพี่มะเดี่ยวเรื่องการกํากับเรื่องนี้ไปเยอะแล้ว ของหนูคือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หนูได้รับ จากวันนั้นที่หนูอายุประมาณ 16-17 ปี หนูอยู่ ม. ปลาย มันเป็นเหมือนอีกผลงานหนึ่งที่อยู่ในใจหนู แล้วทําให้วันนั้นหนูกล้าบอกตัวเองว่า หนูอยากเป็นนักแสดงแบบจริง ๆ ขอบคุณค่ะ
ทราย: ต้องบอกว่าพี่มะเดี่ยว จริง ๆ รุ่น ๆ เดียวกัน เกิดปีติด ๆ กันเลยค่ะ มันค่อนข้างน่าตื่นเต้น สําหรับเรานะ ที่เห็นผู้กํากับในตอนนั้นที่มะเดี่ยวเดบิวต์ตั้งแต่ตอนอายุ 22 ปี ซึ่งอายุ 22 ปี ก็เท่าเราตอนนั้น เราก็ยังถือว่าค่อนข้างเป็นเด็กในวงการนะคะ แต่มันมีผู้กํากับที่ได้ทำโปรเจกต์หนังใหญ่แล้วอะ เราก็แบบแจ๋วว่ะ เราได้ดู ‘รักแห่งสยาม’ ซึ่งเรารู้สึกว่าคนที่อายุเท่า ๆ กันในเชิงผู้กํากับ เราไม่ค่อยเห็นใครที่ให้โมเมนต์ในการแสดงกับนักแสดงในแบบที่มันเป็นมนุษย์ค่ะ เป็นคนที่ให้พื้นที่กับการแสดงอย่างยิ่ง แล้วเรารู้สึกว่าถ้าได้ทํางานด้วยก็น่าจะสนุก เราเจอกันตอน ‘ขวัญผวา’ แล้วมะเดี่ยวเขาจะมีภาพที่เขาอยากให้ตัวละครของเขาเป็นอยู่ในหัว ซึ่งพอเราเข้าใจแล้ว หลาย ๆ ครั้งมันเลยเป็นความสนุกไปเลย แบบมะเดี่ยวบอกว่าเดี๋ยวกูจะเล่นให้ดู เล่นอย่างนี้ แล้วเราก็เลยเป็นความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นผู้กํากับกับนักแสดง และความเป็นเพื่อนกับเพื่อน เราก็เลยมีความเชื่อลึก ๆ ด้วยว่า จริง ๆ แล้วหลายครั้งมะเดี่ยวอาจอยากเอาวิกเราไปใส่แล้วก็เล่นเอง เรารักความเป็นเขา (มะเดี่ยว) นิด ๆ ความแปลกหน่อย ๆ เราหลงรักความพังของคาแรกเตอร์ในตัวละครที่มะเดี่ยวรังสรรค์ขึ้นมา
พอลล่ามีการเตรียมตัวอย่างไรในการรับบทเป็น ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ ?
พอลล่า: ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากเลยค่ะ เพราะเป็น (แม่เลี้ยงเดี่ยว) อยู่แล้ว แล้วพอมาเจอนีน่าเราก็มีเคมีที่จูนเข้ากันได้ มันเป็นธรรมชาติมาก ๆ เลยค่ะ แล้วมันก็ไปด้วยกันได้ง่ายค่ะ
การเลี้ยงลูกสไตล์พอลล่าเป็นอย่างไร ?
พอลล่า: เราว่า…เราก็ดุอยู่ตลอดเวลานะ แต่คนอื่นบอกว่าไม่ดุ สําหรับพอลล่า พอลล่าก็อาจจะมีแนะนําบ้าง แต่จะพยายามไม่ค่อยบอกเขาว่าต้องทําอะไร สุดท้ายก็ต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วเราก็เหมือนคอยบอกเขาเฉย ๆ ว่าเดี๋ยวมันก็ดี เหมือนช่วยเขาเฉย ๆ
ทราย พัฒนาการแสดงของตนเองอย่างไร นับจากหนังเรื่อง ‘นางนาก’ มาจนถึงปัจจุบัน ?
ทราย: คือมันต้องไปเรื่อย ๆ นะคะ แต่ว่าเราเครียดน้อยลง ต้องบอกแบบนี้ดีกว่า คือแต่ก่อนมันจะเหมือนเครียดอยู่ตลอดเวลาว่ากลัวจะทําไม่ได้ กลัวจะทําไม่ได้แบบที่เขาต้องการ กลัวคนดูจะไม่เข้าใจ กลัวผู้กํากับจะไม่ผ่าน เดี๋ยวจะนั่น เดี๋ยวจะนี่ แต่ว่าพอเลยมาถึงจุดหนึ่งมันเหมือนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของหนัง แต่เราไม่ใช่หนังทั้งเรื่อง คือหนังเรื่องหนึ่งมันมีคนอีกเยอะมาก ๆ เราแค่เป็นพาร์ตหนึ่ง แล้วเรารู้สึกว่ามันสบายขึ้น มันง่ายขึ้น แล้วยิ่งมาอยู่ในตำแหน่งที่เราไม่ต้องแบกหนังทั้งเรื่อง อย่างเรื่องนี้ คุณพอลล่าก็คือ แบกหนังทั้งเรื่อง ส่วนฉันจะรังสรรค์ความพิสดารพิลึกอะไรยังไงออกมาก็ได้ ถ้ามากไปเดี๋ยวมะเดี่ยวก็ด่าเอง มันเลยเป็นความสบายในแบบนั้นค่ะ แล้วยิ่งเราอยู่ในกองที่เราสบายใจ อยู่ในมือของคนที่เราไว้ใจได้ เราจะรู้สึกโอเคมาก ๆ แล้ว ถามว่าพัฒนาได้ไหม มันคงเพราะว่าเดี๋ยวนี้บีตของหนังต่าง ๆ บีตที่เราคุ้นเคยในยุค 90 วิธีเล่าหนังมันไม่ได้เล่าอย่างนั้นแล้ว วิธีเล่นมันก็ต้องเปลี่ยน แต่ไม่ได้หมายความว่าอินเนอร์ข้างในหรือว่าวิธีเข้าสู่ตัวละครมันจะเปลี่ยนไป คําว่า ‘Method Acting’ เดี๋ยวนี้ก็มีความเข้าใจที่โดนแตกออกไปอีก มีการเช็กกลับมาว่าจริง ๆ แล้วมันคือวิธีที่ดีจริงหรือเปล่า หรือมันยังมีวิธีอื่น หรือเราจะต้องไปสายยุโรป หรือเราจะต้องไปอันนั้น เราจะต้องมีคําจํากัดความเยอะมากเลย แต่ว่าสุดท้ายแล้วแกนของการแสดงก็ยังเป็นเรื่องเดิมอยู่เสมอ ก็คือว่าคุณเชื่อในมัน แล้วก็คุณสามารถทํางานร่วมกับคนอื่นได้ เพราะว่ากองถ่ายคือมนุษย์ กองถ่ายมันคือผู้คน สมมติว่าแบบ ‘Method Acting’ มาก ฉันจะไม่พูดภาษาไทยกับใครเลย เพราะว่ามะเดี่ยวบรีฟว่าฉันจะต้องพูดภาษาบ้านเชียง สมมติแล้วยังไงวะ เราจะต่อบท ต่อคิว แล้วตากล้องจะรู้ไหมว่ากูจะเดินไปทางไหน คือถ้ามันจะสุดโต่งไปขนาดนั้น แล้วทํางานกับใครไม่ได้เลย เราว่ามันจะทําให้บรรยากาศไม่สนุก การไปกองคือการประคับประคอง แล้วไปด้วยกันทั้งแผง
การถ่ายหนังแบบไม่มีฉากจริง เป็นอย่างไร ?
พอลล่า: มันยากมากค่ะ เอาจริง ๆ ตอนที่เราถ่ายกันคือแค่มอง แล้วก็แค่รู้ว่าเดี๋ยวจะมีอะไรเกิดขึ้น มันยากกับความที่ไม่รู้ แต่ว่าก็เชื่อใจพี่มะเดี่ยว พี่ก็จะบอกว่าเล่นใหญ่อีก ๆ อะไรอย่างนี้
พีค: ของเราเขียวล้วนเลยค่ะ เขียวล้วนสุด ๆ เลย แล้วเราต้องมองไม้ด้วย แต่ว่าต้องมองให้ไม้มันสามารถขยับตัวได้ แล้วก็ตกใจ คือหนูกลัวค่ะ ด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกของหนู แล้วได้เล่นกับ CG เลยรู้สึกท้าทายมาก ๆ แต่ว่าดีใจที่ได้เล่นกับพี่นารา พี่นาราก็คอยรับส่งอย่างดีมาก ๆ ค่ะ
นารา: พี่ก็ดีใจที่ได้เล่นกับน้องพีค หนูรู้สึกว่าหนูสนุกมาก แล้วมันอยากตื่นมาทํางานมากกว่า อยากรู้ว่าวันนี้เราจะได้เจออะไรบ้าง เราจะไปวิ่งที่ไหน ออกทางไหน คือเราถ่ายในโรงเหล็กค่ะ ก็รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุก ถึงจะมีไม่กี่คิวแต่หนูรู้สึกว่ามันเต็มที่มาก ๆ ชอบซีน ชอบคิวสุดท้ายที่สุดที่ไปถ่าย เดือดจริง ๆ คือพวกเอฟเฟกต์ ปุ้งปั้ง เหมือนเราจะต้องรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ต่อให้เหนื่อยแค่ไหน ร้อนแค่ไหน
ทราย: ของเราถือว่าโชคดีที่อยู่ในที่จริง ได้จับ ได้เห็นอะไรที่เป็นของจริงบ้าง คนเป็นนักแสดงเราว่าทุกคนนะ จะรู้สึกเหมือนกันว่ากลัวอยู่เสมอ ว่าสิ่งที่เล่นกับสิ่งที่มันจะขึ้นมาในทีหลังมันไม่บาลานซ์กัน คือแบบ (แสดง) กลัวซะใหญ่เลย มาดูทีหลังตัว (CG) แค่นี้อะ เราก็จะกลัว เพราะว่าเราจะไม่มั่นใจว่าที่เราเห็นเราคิดกับที่เขา (มะเดี่ยว) เห็นในหัวเขา มันเหมือนกันหรือเปล่า แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วทรายว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณของคน เพราะว่าที่นั่งอยู่ทั้งหมดเนี่ยไม่มีใครเคยเห็น (CG) หรอก สิ่งที่มันเกิดขึ้นในหนัง ต้องบอกว่ามันไม่มีใครเคยเห็นหรอก คนเดียวที่จะมีภาพชัดที่สุดคือมะเดี่ยว ก็เชื่อว่ามะเดี่ยวบรีฟทุกคนเหมือนกัน เรื่องความใหญ่โตก็อาจจะแล้วแต่ความสาหัสของแต่ละคน แต่ละสถานการณ์ที่ต้องเจอ ซึ่งพอเห็นภาพในหนังแล้วมันแบบโชคดีนะเนี่ยที่กูเล่นเท่าที่มึงบอก คือทุกคนที่เล่นอะยากกว่าเราอีก คือเรายังได้อยู่ในโลกจริง ยังมีของจริง อันอื่นคือเขียวล้วน ๆ อะไรก็ไม่รู้ ต้องหยิบ ต้องชี้ ชี้อะไรวะ มันว่างเปล่ามากค่ะ แล้วก็พูดอะไรก็ไม่รู้ยาวมาก น้อง ๆ เก่งมาก ดังนั้นมันไม่ได้ลดทอนความเป็นนักแสดงลงค่ะ มันเสริม มันทําให้สิ่งที่เราตกใจเฉย ๆ เห็นว่าเขาตกใจเพราะอะไร
เบื้องหลังการทำ CG ของหนังเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ?
มะเดี่ยว: มันยากอยู่แล้วเรื่องนี้ ตั้งแต่วิธีคิด พอเรารู้ว่าเราสร้างโลกของ จ. อุดรธานี ทั้งแบบ 5,000 ปีก่อน ปัจจุบัน สงครามเวียดนาม แล้วก็อนาคต คือมันต้องคิดมาหลายระดับ วิชวลมันจะถูกคิดมาหลายระดับ วิชวลมันถูกคิดมาก่อนแล้ว แต่ไม่ให้ใคร (นักแสดงและคนอื่น ๆ) ดู ดูกวนเนาะ คือดีไซน์พวกนี้เราจะให้พวกทีมงานเบื้องหลังดู พวกทีมอาร์ต ซึ่งพวก CG และสัตว์ประหลาดก็ดีไซน์มาแล้ว แต่ ณ ตอนนั้นมันอาจจะยังไม่ 100% ซึ่งทางพี่เต้ย (ชาลิต ไกรเลิศมงคล) เขาก็บอกว่า “เอาเลยครับ เอาที่พี่มะเดี่ยวอยากทำไปเลย” สมมติเราถ่ายแค่ฉากเขียว เราก็ไม่ต้องมาคิดว่าอย่าขยับกล้องเยอะนะเว้ย เดี๋ยวมันจะไปทำต่อไม่ได้ ก็ทําทุกอย่างเหมือนปกติไปเลย ซึ่งเราต้องคิดภาพสัตว์ประหลาดในหัวเราก่อน ว่านักแสดงกําลังเล่นกับอะไรอยู่ แล้วเราก็จะพากย์เสียงแบบว่า “มาแล้ว แควก ๆ ๆ ไปทางซ้าย ไปทางขวา วิ่ง ตาย” อะไรอย่างนี้ แล้วทุกคนก็เล่นไปตามที่เราบอก คือถ้าเกิดทุกคนมาเห็นภาพ (เบื้องหลัง) มันจะตลกมาก มันจะแบบทําอะไรกันวะ ด้วยความที่มันคือสิ่งที่ไม่มีใครเคยเห็น เพราะถ้าใครเคยเห็นมาก่อน เขาจะไม่มีความพิศวงในแววตา ซึ่งเขาจะดีไซน์ออกมา ถ้าเราบอกว่ามันสูง 180 เซนติเมตร มันจะเท่านั้นเท่านี้ มันจะล็อกไว้ เราเลยบอกว่ามันเหมือนเราเห็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนว่ามันคืออะไร แล้วเราพยายามทําความเข้าใจมันอยู่ด้วยว่ามันคือตัวอะไร เวลาที่ตัวพวกนี้มันโผล่มา มันก็ต้องตกใจ สงสัย กลัว และเอาตัวรอด มันจะมีประมาณนั้น
ฝากหนัง ‘Taklee Genesis’
มะเดี่ยว: ‘Taklee Genesis’ เข้าฉาย 12 กันยายน ทุกโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศนะครับ ทั้งระบบ IMAX, Zigma CineStadium, Dolby Atmos และทุกระบบที่จะสร้างความประทับใจในประสบการณ์การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่าลืมไปดูกันนะครับ