วงการบันเทิงไทยต้องพบความสูญเสียอีกครั้ง ฉลอง ภักดีวิจิตร หรือที่เรียกกันว่า อาหลอง ผู้กำกับระดับตำนานผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิงไทยมาอย่างยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ เป็นผู้บุกเบิกหนังแอ็กชันไทยให้โด่งดังด้วยวิชวลเอฟเฟกต์ ‘ระเบิดภูเขาเผากระท่อม’ เจ้าของผลงานหนังแอ็กชันในตำนาน ‘ทอง’ เป็นผู้บุกเบิกการนำนักแสดงจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานในหนังไทย และเป็นผู้บุกเบิกละครแอ็กชันสไตล์ไทย ๆ จนได้รับฉายาให้เป็น ‘เจ้าพ่อหนังแอ็กชัน’ เป็นผู้กำกับชายที่มีอายุมากที่สุดในโลก และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ได้จากไปอย่างสงบ สิริอายุได้ 93 ปี
เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ได้รับการประสานงานจากคุณบุญจิรา ตรีริยะ (ภักดีวิจิตร) บุตรสาวของ นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับ – ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พ.ศ. 2556 ว่า ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. ที่ผ่านมา
ฉลอง ภักดีวิจิตร มีชื่อจริงว่า นายบุญฉลอง ภักดีวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2474 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนที่ 2 จากทั้งหมด 4 คนของนายพุฒ ภักดีวิจิตร อาชีพรับราชการ และนางลิ้นจี่ ภักดีวิจิตร อาชีพแม่บ้าน
ฉลองเข้าสู่วงการบันเทิงโดยได้แรงบันดาลใจจากบิดาผู้ทำงานเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และผู้ก่อตั้งศรีบูรพาภาพยนตร์บริษัทผลิตภาพยนตร์แห่งแรก ๆ ของไทย ตั้งแต่วัยเยาว์ ฉลองได้เข้ามาช่วยงานบิดาในกองถ่ายอยู่เป็นประจำ ทั้งฝึกการหมุนกล้องถ่ายทำ ตัดต่อ ล้างฟิล์ม ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 6 ณ โรงเรียนอำนวยศิลป์ ฉลองในวัย 19 ปี ได้เข้ามาทำงานเป็นช่างภาพแบบเต็มตัวครั้งแรกในกองถ่ายหนังเรื่อง ‘แสนแสบ’ (2493)
ฉลองพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพด้วยตนเองจากการขวนขวายอ่านหนังสือคู่มือจากต่างประเทศ จนสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน พระสุรัสวดี ได้ 2 ปีซ้อน จากผลงานการถ่ายหนังเรื่อง ‘ผู้พิชิตมัจจุราช’ (2506) และ ‘ละอองดาว’ (2507) เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในกองถ่ายมานานหลายปี จนกระทั่งได้เริ่มผันตัวมาเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ จากผลงานการกำกับหนังเรื่องแรก ‘จ้าวอินทรี’ (2511) หนังฟิล์ม 16 มิลลิเมตร จากบทประพันธ์เรื่องอินทรีแดง ของ เศก ดุสิต นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา พิศมัย วิไลศักดิ์ โดยในเวลานั้นเขาใช้ชื่อ ดรรชนี ในการกำกับ เขียนบท และถ่ายภาพ
ฉลองมีผลงานการกำกับออกมาอีกมากมายหลากหลายแนว ทั้งหนังโรแมนติก หนังตลก หนังดราม่า หนังมิวสิคัล แต่กลายเป็นว่าผลตอบรับกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับหนังแอ็กชัน เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่กล้าบุกเบิกในการสร้างสรรค์ และกล้าลงทุนสร้างฉากแอ็กชันที่มีความสมจริง และอลังการตื่นตาตื่นใจ จนได้รับการขนานนามให้เป็นผู้กำกับสายหนังแอ็กชัน หรือที่เรียกกันว่า ผู้กำกับระเบิดภูเขาเผากระท่อม และทำให้เขามีผลงานหนังแอ็กชัน และหนังที่ผสมแนวแอ็กชันเป็นตัวชูโรงออกมาอีกมากมาย อาทิ ‘ทอง’ (2516), ‘ตัดเหลี่ยมเพชร’ (2518), ‘ตามฆ่า 20000 ไมล์’ (2520), ‘ทอง 2’ (2525), ‘สงครามเพลง’ (2526), ‘ผ่าโลกบันเทิง’ (2527) ฯลฯ
นอกจากนี้ ฉลองยังเป็นผู้บุกเบิกในการนำหนังไทยเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์นานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม ฉลองได้ลงมือมือกับ ชาญ ทองมั่น หรือ ชาน ทุง มัน อดีตหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของ Shaw Brothers Studio จากฮ่องกง ร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ ‘2 สิงห์ 2 แผ่นดิน’ (2515) หรือ ‘The Brother’ ที่มีนักแสดงจากฝั่งไทย สมบัติ เมทะนี และอโนมา ผลารักษ์ และนักแสดงจากฝั่งฮ่องกงทั้ง เกาหย่วน, หยีห้วย, เฉินเชิง และเถียนฟง มาร่วมแสดงนำ โดยตัวหนังได้ออกฉายไปทั่วเอเชีย และข้ามฝั่งไปฉายในสหรัฐอเมริกา ทั้งในนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ชิคาโก และลอสแองเจลิส
หนังที่นับเป็นผลงานสร้างชื่อของฉลองก็คือ ‘ทอง’ (2516) หรือ ‘S.T.A.B.’ (Gold) หนังแอ็กชันจารกรรมที่เล่าเรื่องของการไล่ล่าติดตามทองในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งมีการนำเอานักแสดงต่างประเทศมาร่วมแสดงด้วย อาทิ เกร็ก มอร์ริส (Greg Morris) และเถิ่ม ถุย หั่ง (Thuy Hang Tham) นางเอกจากเวียดนาม มาประกบดาราไทย อาทิ สมบัติ เมทะนี, กรุง ศรีวิไล, อโนมา ผลารักษ์, ดามพ์ ดัสกร, ดลนภา โสภี และกฤษณะ อำนวยพร ตัวหนังได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน พระสุรัสวดีไปถึง 3 รางวัล และได้เข้าสู่ทำเนียบผู้กำกับภาพยนตร์นานาชาติในนามของ P.Chalong
ในยุคสมัยละครโทรทัศน์ ฉลองได้ก่อตั้งบริษัท บริษัท บางกอก ออดิโอ วิชั่น จำกัด เพื่อบุกเบิกการผลิตละครโทรทัศน์ เขายังเป็นผู้บุกเบิกละครแนวแอ็กชัน ที่ยังคงยึดแนวทางระเบิดภูเขาเผากระท่อม จนสร้างชื่อเสียงให้กับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มาโดยตลอด ผลงานละครเรื่องแรกของเขาคือ ‘ระย้า’ (2541) และ ‘อังกอร์’ (2543) ที่แสดงโดย พีท ทองเจือ, วรรัตน์ สุวรรณรัตน์ และกัญจน์ ภักดีวิจิตร ลูกชายของฉลอง นอกจากนี้ยังมีผลงานละครอีกมากมาย อาทิ ‘ทอง 5’ (2544), ‘เหล็กไหล’ (2549), ‘ชุมแพ’ (2550), ‘ทอง 9’ (2551), ‘เสาร์ 5’ (2552), ‘นักฆ่าขนตางอน’ (2553) เป็นต้น
ซึ่งทำให้ตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษเขาได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จมากมาย อาทิ รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ จากงานประกาศผลรางวัลสตันท์แมนยอดเยี่ยมครั้งที่ 1, รางวัลมณีเมขลาเกียรติยศ บุคคลดีเด่นผู้ทรงคุณค่าในวงการโทรทัศน์ จากงานรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 ในปี 2554 และในปี 2556 ฉลองได้รับการยกย่องจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
นอกจากนี้ในปี 2566 Guinness World Records ยังได้บันทึกชื่อของฉลอง ในฐานะผู้ทำลายสถิติเป็นผู้กำกับการแสดง (ผู้กำกับโทรทัศน์) ที่มีอายุมากที่สุดในโลก โดยอายุที่ได้รับการจดในสถิติคือ 90 ปี 297 วัน
ฉลองมีผลงานการกำกับเรื่องสุดท้ายคือละคร ‘แคนสองแผ่นดิน’ (2566) ที่ออกอากาศทางช่อง 7HD ภายใต้บริษัทบริษัท โกลด์ ซี พี จี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ที่เขาและภรรยาคนที่ 2 พิมพ์สุภัค อินทรีย์ เป็นผู้ก่อตั้ง จนกระทั่งในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ฉลองได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการปอดติดเชื้อ จนอาการดีขึ้นตามลำดับ ก่อนจะตัดสินใจหยุดทำงานกำกับละครในเวลาต่อมา
ด้านชีวิตส่วนตัว ฉลองแต่งงานกับภรรยาคนแรก สุมน ภักดีวิจิตร ก่อนจะเสียชีวิตลงในปี 2557 และแต่งงานใหม่อีกครั้งกับภรรยาคนที่ 2 พิมพ์สุภัค อินทรีย์ ในปี 2557 โดยมีบุตรและธิดารวม 3 คน ได้แก่ กัญจน์ ภักดีวิจิตร, เฉิด ภักดีวิจิตร และบุญจิรา ภักดีวิจิตร โดยในปัจจุบัน ทั้ง 3 คนได้เดินตามรอยบิดาในการทำงานในวงการบันเทิง ทั้งการร่วมแสดงและกำกับละครโทรทัศน์ในเวลาต่อมา