แม้จะเป็นประเด็นที่ยังคงมีการถกเถียงของฮอลลีวูดถึงความเหมาะสม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบันเทิงที่อาจส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงในหลาย ๆ ด้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ได้เข้ามาแทรกซึมและเป็นตัวช่วยให้กับงานในอุตสาหกรรมมากขึ้น ตั้งแต่การเขียนบท จนไปถึงการ Generate ภาพยนตร์ด้วย AI ซึ่งในเวลานี้มีแพลตฟอร์ม AI หลายเจ้าได้พัฒนาโมเดลสำหรับการ Generate ภาพยนตร์ด้วยการ Prompt คำสั่ง ทั้งโมเดล Lumiere ของ Google และ Sora ของ OpenAI

ซึ่งในแง่หนึ่ง แรงงานและกระบวนการเหล่านี้อาจถูกแทนที่ด้วย AI ที่ใช้ต้นทุนและเวลาต่ำกว่า แต่หลาย ๆ ส่วนในอุตสาหกรรมต่างบอกว่า AI จะเข้ามาปฏิวัติการสร้างภาพยนตร์ เหมือนดังเช่นที่ แอชตัน คุตเชอร์ (Ashton Kutcher) อดีตนักแสดงฮอลลีวูดและนักธุรกิจ เคยให้สัมภาษณ์ว่า AI จะเข้ามาช่วยลดงบประมาณในการสร้างภาพยนตร์ จนถึงขนาดที่ผู้คนสามารถคิดและสร้างหนังขึ้นมาดูเองได้ภายในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องออกกองถ่ายทำอีกต่อไป

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญสำหรับวงการภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจาก AI ก็คือ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดเวทีการประกวดภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ นั่นก็คือ ‘Reply AI Film Festival‘ เวทีการประกวดเล็ก ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม Excelsior Hotel ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 81 (81st Venice International Film Festival) ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี จัดขึ้นโดย Reply กลุ่มที่ปรึกษาด้านสื่อดิจิทัลและ AI ระดับนานาชาติของอิตาลี

The short film One Way by Egor Kharlamov

ในการจัดการประกวดครั้งแรกนี้ คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI และบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชัน ได้ทำการคัดเลือกหนังสั้นที่สร้างขึ้นจาก AI เข้าร่วมการประกวดมากกว่า 1,000 รายจาก 59 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, เยอรมนี, สเปน, ฝรั่งเศส, บราซิล, จีน, อินเดีย และเกาหลี ที่ได้ส่งหนังสั้น แอนิเมชันขนาดสั้น สารคดี ตัวอย่างทดลอง (Pilot) และภาพยนตร์แนวทดลองเข้าร่วมประกวดภายใต้ธีม ‘Synthetic Stories, Human Hearts’ ที่หมายถึงการบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ความเป็นมนุษย์’ ผ่านเครื่องมือสังเคราะห์อย่าง AI

จากสถิติของผู้ส่งผลงาน มีผู้ส่งหนังสั้นแนวเล่าเรื่องมากที่สุด 38% หนังแนวทดลอง 36% รองลงมาคือสารคดี 14% และคลิปตอนตัวอย่าง (Pilot) 12% ซึ่งคณะกรรมการได้ประเมินผลงานโดยพิจารณาจากเกณฑ์สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ บทบาทของ AI ในการสร้างภาพยนตร์, ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่อง และสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือของผู้สร้างหนังเรื่องนั้น ๆ เกณฑ์เหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกว่าแต่ละผลงานไม่ได้นำเอา AI ไปใช้แค่เพียงการเป็นลูกเล่น แต่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อยอดประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์

ผลงานทั้งหมดในเทศกาลนี้ เป็นการรวบรวมเทคนิคการเล่าเรื่อง และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างเรื่องราวขึ้นมา ตั้งแต่การสร้างภาพ รวมไปจนถึงการออกแบบเสียง ก่อนจะทำการคัดเลือกหนังสั้น 12 เรื่องเพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย และคัดเลือก 3 เรื่องสุดท้ายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ

โดยหนังสั้นที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 ได้แก่ ‘To Dear Me’ ผลงานของ จีเซล ตง (Gisele Tong) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับความทุกข์ทรมานจากการหย่าร้างของพ่อและแม่ จนทำให้เธอสูญเสียความรักและไว้วางใจ จนกระทั่งเธอได้ค้นพบหนทางการเยียวยาตนเองและก้าวเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง

ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอันดับที่ 2 คือ ‘One Way’ ผลงานโดย เอกอร์ คาร์ลามอฟ (Egor Kharlamov) เล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ได้รับมอบโอกาสให้มีชีวิตเป็นครั้งที่ 2 ก่อนที่เขาจะได้พบกับราคาที่แท้จริงของโอกาสที่ 2 นี้ ส่วนภาพยนตร์ที่ได้อันดับที่ 3 ได้แก่ ‘Jinx’ ผลงานโดย มานชา โตตลา (Mansha Totla) เล่าเรื่องราวความทรงจำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านเรื่องราวของตัวละครหลัก Jinx Akerkar ที่สะท้อนถึงความเปราะบางของชีวิต ผ่านการอุทิศเรื่องราวให้กับผู้ที่เสียชีวิต และผู้ที่ยังได้รับผลกระทบจากสงครามมาจนถึงปัจจุบัน

จุดประสงค์หลักของการจัดการประกวดในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการสำรวจวิธีการใหม่ ๆ ในการผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในขณะที่การพัฒนา AI จะเป็นไปเพื่อการนำมาใช้เป็นตัวสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความหลากหลายของเนื้อหาเข้าไปในอุตสาหกรรม ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่ และหวังว่าความสำเร็จจากการประกวดครั้งนี้จะเป็นตัวบุกเบิกให้วงการภาพยนตร์ที่สร้างด้วย AI เติบโตและคึกคักยิ่งขึ้น

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ไม่เห็นด้วยต่อความเคลื่อนไหวนี้ เหมือนดังเช่นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2023 ที่มองทั้งในแง่ของลิขสิทธิ์ คุณภาพของผลงาน รวมไปถึงการจ้างงานบุคลากรต่าง ๆ รวมทั้งนักแสดง นักพากษ์เสียง ที่อาจถูก Metahuman หรือมนุษย์เสมือนที่สร้างขึ้นจาก AI แทนที่

Winners Gisele Tong, Egor Kharlamov and Mansha Totla with jurist and firlm director Rob Minkoff. Reply

ฟิลิปโป ริซซันเต (Filippo Rizzante) CTO (Chief Technology Officer) ของ Reply ผู้จัดการประกวด และ 1 ในคณะกรรมการตัดสินผลงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า

“ที่ผ่านมา เรายังไม่ทันเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ จะสามารถสร้างเรื่องราวที่ดี หรือชิ้นงานที่มีคุณภาพได้อย่างไร ในฐานะมนุษยชาติ เรายังต้องการคนที่เป็นผู้นำ หรือเป็นฮีโรที่จะเป็นแบบอย่าง สิ่งนี้จะยังไม่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนก็คือการผลิตเนื้อหา วิธีการกระจาย และวิธีการบริโภคเนื้อหา”

ในขณะที่การประกวดครั้งนี้กำลังหาพันธมิตร พวกเขาประสบปัญหาเนื่องจากยังมีคนที่ไม่เชื่อมั่นใน AI “หลายคนปฏิเสธ พวกเขาบอกว่า ไม่ ๆ ๆ เขาไม่ต้องการจะร่วมมือกับเรา เพราะอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจทำให้หลายฝ่ายกังวล”

ในขณะที่ ร็อบ มินคอฟฟ์ (Rob Minkoff) ผู้กำกับร่วมหนังแอนิเมชัน ‘The Lion King’ (1994) และผู้กำกับ ‘Stuart Little’ 1 ในคณะกรรมการตัดสินมองว่า เทคโนโลยี AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยศิลปินทลายขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ได้ “ผมมองว่า AI จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ได้มากมาย เนื่องจากคุณสามารถทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด หรือไม่เคยทำได้มาก่อน และสิ่งนี้คือทิศทางที่จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป”

ริซซันเตกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทศกาลนี้กับ Forbes ว่า “ผู้ชนะรางวัล Reply AI Film Festival แสดงให้เห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์นั้นช่วยให้สามารถสรรค์สร้างเรื่องราวใหม่ ๆ เนื้อหาที่สร้างสรรค์ และดึงดูดสายตาผู้ชม ในขณะที่ก็ยังคงรักษาองค์ประกอบสำคัญของความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ ซึ่งนั่นคือวิสัยทัศน์ ความมีหัวใจ และจิตวิญญาณของภาพยนตร์”

“การประกวดนี้ได้กลายเป็นโอกาสสำคัญในการเน้นย้ำถึงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยมอบโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ได้ดื่มด่ำกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ฝึกฝนทักษะที่สูงขึ้น และสร้างเรื่องราวที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน”