Release Date
19/09/2024
ความยาวหนัง
122 นาที
แนวหนัง
ตลก
ผู้กำกับ
เฮอร์วิน โนว์ยันโต (Herwin Novianto)
นักแสดง
วีโน จี. บาสเตียน (Vino G Bastian) กับ มาร์ช่า ทิโมธี (Marsha Timothy)
หนังต้นฉบับ
พี่มาก...พระโขนง
Our score
7.0[รีวิว] Kang Mak from Pee Mak – พี่มาก..พระโขนงฉบับอินโดฯ แปลกลิ้น ดูเพลิน
พี่มาก...พระโขนงฉบับอินโด แปลกลิ้น ดูเพลิน
ต้องชื่นชมในส่วนของทีมครีเอทีฟที่ทำการดัดแปลงบทให้ 'Kang Mak from Pee Mak' จากข้าวปลาอาหารสำรับไทย ๆ มาสู่หมี่โกเรงที่ทั้งมันทั้งนัวได้ โดยเริ่มจากคาแรกเตอร์หลักทั้ง คังมาก ที่ได้ วีโน จี. บาสเตียน (Vino G Bastian) หนุ่มหล่อทะเล้นที่ให้เสน่ห์ได้ไม่ต่างจากมาริโอ เมาเร่อ ในพี่มากพระโขนง หรือจะเป็น มาร์ช่า ทิโมธี (Marsha Timothy) สาวสวยนัยน์ตาดุที่รับบท ซารี หรือ แม่นาค ได้อย่างมีเสน่ห์ไม่แพ้ ดาวิกา โฮร์เน่ เลย นอกจากนี้เรายังได้เห็นความพยายามที่จะดัดแปลงเรื่องราวจากไทย ๆ ไปสู่บริบทที่คนอินโดนีเซียคุ้นเคยมากขึ้น การนำมาฉายในเวอร์ชันพากย์ไทยอย่างเดียวถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และยิ่งได้ทีมพากย์พันธมิตรมาให้เสียงก็บอกเลยว่าใครที่คิดถึงหนังโจวซิงฉือ ฮา ๆ นี่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หัวเราะไปกับหนังพากย์ไทยได้ไม่แพ้วันวานเลย
จุดเด่น
- แคสติงทีมนักแสดงได้ดี มีเสน่ห์ไม่แพ้ต้นฉบับ
- มุกตลกจากหนังต้นฉบับยังทำงานได้ดีในหนังฉบับนี้
- มุกตลกใหม่ก็สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้
- งานพากย์ไทยของทีมพันธมิตร ทำให้หัวเราะไปกับหนังได้ทั้งเรื่อง
จุดสังเกต
- จุดที่เป็นมุกท้องถิ่นในอินโดนีเซีย อาจทำให้ผู้ชมในไทยไม่เข้าใจ แต่มีในปริมาณที่น้อยมาก
-
บทภาพยนตร์
7.0
-
การแสดง
7.0
-
โปรดักชัน
7.0
-
ความบันเทิง
7.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
7.0
ด้วยอานิสงจาก ‘พี่มาก..พระโขนง’ หนังไทยปี 2556 ที่ทำรายได้ทั่วประเทศไทยไปกว่า 1 พันล้านบาท ขึ้นแท่นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของไทย และขยายความสำเร็จไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนจนสามารถดันยอดขายบัตรได้รวม 16 ล้านใบ นอกจากนี้ตัวหนังยังได้ไปจัดอีเวนต์ Sentosar Spooktacular 2013 บ้านผีสิงวันฮัลโลวีนที่ประเทศสิงคโปร์ที่หนังเคยเข้าฉายอีกด้วย
ซึ่งในวันนี้ ‘พี่มาก..พระโขนง’ ก็ได้กลายมาเป็นหนังรีเมกโดยประเทศอินโดนีเซีย และใช้ชื่อว่า ‘Kang Mak from Pee Mak’ ซึ่งจะสังเกตว่าทางผู้สร้างยังคงห้อยท้ายเพื่อประกาศว่านี่คือหนังที่ดัดแปลงจากหนังไทยสุดฮิตของเรา และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ารูปแบบการเล่าเรื่องก็ยังคงเอกลักษณ์ของหนังต้นฉบับเอาไว้ ทั้งพล็อตเรื่องว่าด้วยทหารและเพื่อน 4 คนกลับมาเยี่ยมบ้านหลังจากไปออกรบมานาน และพบว่าเมียเพื่อนกลายเป็นผีตายทั้งกลม จนต้องคิดวิธีสารพัดพยายามเรียกสติพระเอกของเรากลับมา ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้รักษาเอาตัวรอดไม่ให้ตัวเองโดนเมียเพื่อนหักคอไปเสียก่อน
แน่นอนว่าความสนุกหลัก ๆ ของหนังคงหนีไม่พ้นการจับสังเกตว่าเนื้อหาที่ถูกดัดแปลงให้เข้าบริบทของอินโดนีเซียจะยังเวิร์กอยู่ไหมเมื่อหลายอย่างของหนังต้นฉบับสามารถมาทับรอยกันได้แนบสนิทถึงเพียงนี้ ซึ่งปรากฏว่ามันกลับยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของบทหนังต้นฉบับที่เขียนโดย ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, บรรจง ปิสัญธนะกูล และนนตรา คุ้มวงศ์ ที่สามารถออกแบบคาแรกเตอร์และเหตุการณ์ในหนังได้เป็นสากลมากพอซะจนเราแทบไม่ติดเลยที่ คังมาก ฉบับนี้จะมีฉากมองลอดหว่างขาทั้งในแง่ของมุกตลกและการเฉลยเรื่องราวในตอนท้าย
กระนั้นแล้วเราก็ยังต้องชื่นชมในส่วนของทีมครีเอทีฟที่ทำการดัดแปลงบทให้ ‘Kang Mak from Pee Mak’ จากข้าวปลาอาหารสำรับไทย ๆ มาสู่หมี่โกเรงที่ทั้งมันทั้งนัวได้ โดยเริ่มจากคาแรกเตอร์หลักทั้ง คังมาก ที่ได้ วีโน จี. บาสเตียน (Vino G Bastian) หนุ่มหล่อทะเล้นที่ให้เสน่ห์ได้ไม่ต่างจากมาริโอ เมาเร่อ ในพี่มากพระโขนง หรือจะเป็น มาร์ช่า ทิโมธี (Marsha Timothy) สาวสวยนัยน์ตาดุที่รับบท ซารี หรือ แม่นาค ได้อย่างมีเสน่ห์ไม่แพ้ ดาวิกา โฮร์เน่ เลย
แต่ที่ถือเป็นแคสต์ที่ทุกคนรอคอยจริง ๆ คงหนีไม่พ้นแก๊งเพื่อน 4 คน ได้แก่ สุปรา, ฟาจรุล, จากา และโซละ ที่มาแทนบทเดิมคือ บอม, เต๋อ, ชิน และเผือกในต้นฉบับนั่นเอง ซึ่งต้องยอมรับว่านักแสดงทุกคนสร้างสีสันให้หนังได้สมกับเป็นตัวละครสมทบที่มีความสำคัญกับพล็อตเรื่องได้ดีจริง ๆ โดยเฉพาะ อินดรา เจอเกล (Indra Jegel) ที่รับบท ฟาจรุล และไรเจน ราเคลนา (Rigen Rakelna) ในบท โซละ หรือ เต๋อ กับ เผือก สองสุดยอดตัวขโมยซีนที่ยังคงความฮาและปั่นป่วนให้เรื่องราวดูสนุกขึ้นในทุกซีนที่ปรากฏตัวได้ดีเลยทีเดียว
นอกจากนี้เรายังได้เห็นความพยายามที่จะดัดแปลงเรื่องราวจากไทย ๆ ไปสู่บริบทที่คนอินโดนีเซียคุ้นเคยมากขึ้น โดยเฉพาะการต้องเปลี่ยนจากศาลาวัดในตอนท้ายหนังก็จะปูไปทางคนทรงเจ้าแทน ซึ่งตัวละครใหม่อย่าง เตนตารา เบิร์นยันยี (รับบทโดย อามิง ซูกานธี Aming Sugandhi) แม่หมอคนทรงก็สร้างสีสันให้หนังได้ไม่น้อย รวมถึงการดัดแปลงมุกใหม่ ๆ ในฉากเต้นทหารตอนต้นหรือฉากซื้อของที่ตลาดที่บอกได้เลยว่า ฮาจนแทบลืมฉากต้นฉบับเลยล่ะ
และเนื่องจากบริษัท ฮอลลีวูด (ไทยแลนด์) มองขาดแล้วว่าตัวหนังเป็นเรื่องที่คุ้นเคยดีของคนไทย ส่วนตัวมองว่าการนำมาฉายในเวอร์ชันพากย์ไทยอย่างเดียวถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และยิ่งได้ทีมพากย์พันธมิตรมาให้เสียงก็บอกเลยว่าใครที่คิดถึงหนังโจวซิงฉือ ฮา ๆ นี่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หัวเราะไปกับหนังพากย์ไทยได้ไม่แพ้วันวานเลย หลายมุกนอกบทถือว่าทีมพากย์ทำการบ้านมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเพลงกองพันที่เอาเพลง น่ารักไหมไม่รู้ ของหมีเนย มาร้องแทนก็สร้างเสียงฮาครืนใหญ่ได้ดี รวมถึงการพากย์บทหื่น ๆ ของโซละ ก็เรียกเสียงหัวเราะได้ดีเลยทีเดียว
โดยสรุปแล้ว ‘Kang Mak from Pee Mak’ ถือเป็นหนังตลกที่เข้าฉายได้ถูกจังหวะเลยล่ะ หลังจากเราได้ดูหนังฟอร์มยักษ์ติดกันมาร่วม 2 เดือนและยังไม่มีหนังตลกเรื่องไหนเข้าโรงเลย ดังนั้นการได้ตีตั๋วไปดูหนังที่ทำให้หัวเราะได้หลังจากตรากตรำกับการทำงานหนักมาก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ