ฤดูกาลแห่งการประกาศรายชื่อภาพยนตร์และเหล่าบุคลากรแห่งวงการภาพยนตร์ไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้มาบรรจบอีกครั้ง กับการประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 จัดโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และทรูโฟร์ยู ในค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2567 ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ สยามพารากอน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘แสงแห่งกันและกัน’ เปรียบเสมือนความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อก้าวไปสู่ยุคทองครั้งใหม่ของหนังไทย

ตาต้าร์ ชาติชาย ชินศรี สัปเหร่อ

โดยในปีนี้ มีการมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์และบุคลากรที่มีความเป็นเลิศในวงการหนังไทยในรอบปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 17 สาขา โดยในปีนี้ หนังวัยรุ่นน่ารักจากค่าย GDH ‘เธอกับฉันกับฉัน’ และหนังปิดไตรภาคแอ็กชันไทย ‘ขุนพันธ์ 3’ เป็นหนังไทยที่มีชื่อเข้าชิงมากที่สุดถึง 10 สาขา มีหนังไทย 3 เรื่องที่มีชื่อเข้าชิงเท่ากันที่ 7 สาขา ได้แก่ ‘ธี่หยด’, ‘บ้านเช่า..บูชายัญ’ และ ‘เพื่อน(ไม่)สนิท’ ส่วน ‘4 Kings 2’ และ ‘ลอง ลีฟ เลิฟว์’ เข้าชิง 6 สาขา และหนังตัวเก็งของปีนี้อย่าง ‘สัปเหร่อ’ มีชื่อเข้าชิง 5 สาขา

นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลพิเศษอีก 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ, รางวัลภาพยนตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยม รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดนิยม ซึ่งในปีนี้ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมโหวตภาพยนตร์ที่เป็นชื่นชอบของมหาชนได้เป็นครั้งแรก และรางวัลใหม่อย่าง รางวัลภาพยนตร์ไทยรายได้สูงสุด ที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่สามารถทำรายได้สูงสุดประจำปี

ใบปอ ธิติยา จิระพรศิลป์ เธอกับฉันกับฉัน You and Me

ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลที่น่าสนใจในปีนี้ หนังไทยที่กวาดรางวัลจากเวทีนี้ไปมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘สัปเหร่อ’ หนังมาแรงแห่งปี 2556 ที่กวาดไปมากที่สุดถึง 7 รางวัล ตั้งแต่รางวัลใหญ่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมทั้งนักแสดงนำ ตาต้าร์ ชาติชาย ชินศรี สามารถคว้ารางวัลรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และ ต้องเต ธิติ ศรีนวล สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองได้เช่นกัน รวมทั้งรางวัลพิเศษอาทิ รางวัลภาพยนตร์ไทยรายได้สูงสุดประจำปี 2566 และรางวัลภาพยนตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยม

ส่วนค่ายใหญ่อย่าง GDH ปีนี้ก็ยังคงมีรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านเช่นเคย ได้แก่ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ ที่สามารถคว้าไปได้ 2 รางวัล ตั้งแต่รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากการแสดงของ ใบปอ ธิติยา จิระพรศิลป์ รวมทั้ง ‘เพื่อน(ไม่)สนิท’ ที่คว้ารางวัลรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม และรางวัลสมทบชายยอดเยี่ยม โดย จั๊มพ์ พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ

อินทิรา เจริญปุระ 4 Kings 2

อีก 1 สาขารางวัลที่เก็งกันมาตั้งแต่หนังเข้าฉาย นั่นก็คือรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของ อินทิรา เจริญปุระ จากหนัง ‘4 Kings 2’ ที่คว้ารางวัลนี้ไปได้แบบไม่พลิกโผ ส่วนรางวัลตัวเก็งในปีนี้ทั้ง ‘ขุนพันธ์ 3’ สามารถคว้ารางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม รวมทั้ง ‘ธี่หยด’ คว้ารางวัลด้านเบื้องหลัง ทั้งรางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม และรางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม และ ‘ลอง ลีฟ เลิฟว์’ เป็นหนังไทยที่ได้รับคะแนนเสียงโหวตจากมหาชนมากที่สุด ได้รับรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดนิยมประจำปี 2566 ไปครอง


รายชื่อผู้ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32

รางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ
รศ. บรรจง โกศัลวัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์)

รางวัลภาพยนตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยม
‘สัปเหร่อ’

รางวัลภาพยนตร์ไทยรายได้สูงสุดประจำปี 2566
‘สัปเหร่อ’

รางวัลภาพยนตร์ไทยยอดนิยมประจำปี 2566
‘ลอง ลีฟ เลิฟว์’

รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
‘สัปเหร่อ’

รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor)
ชาติชาย ชินศรี (‘สัปเหร่อ’)

รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress)
ธิติยา จิระพรศิลป์ (‘เธอกับฉันกับฉัน’)

ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Director)
ธิติ ศรีนวล (‘สัปเหร่อ’)

รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress)
อินทิรา เจริญปุระ (‘4 Kings 2’)

รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor)
พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ (‘เพื่อน(ไม่)สนิท’)

รางวัลเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects)
‘ขุนพันธ์ 3’

รางวัลเทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม (Best Make Up Effects)
‘ธี่หยด’

รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Best Costume Design)
‘แมนสรวง’

รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (Best Art Direction)
‘แมนสรวง’

รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (Best Original Score)
‘เธอกับฉันกับฉัน’

รางวัลเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song)
“ยื้อ” โดย ปรีชา ปัดภัย จาก ‘สัปเหร่อ’

รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound)
‘ธี่หยด’

รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม (Best Film Editing)
‘เพื่อน(ไม่)สนิท’

รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography)
‘เรดไลฟ์ (RedLife)’

รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary)
‘The Last Breath of Sam Yan’

รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Screenplay)
‘สัปเหร่อ’