คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ‘The Platform’ (2019) และ ‘The Platform 2’
หลังจากสร้างปรากฏการณ์ฮิตใน Netflix เมื่อ 4 ปีก่อน ในที่สุด ‘The Platform’ (2019) หรือ ‘El Hoyo’ (The Hole) ภาคต่อหนังแอ็กชันไซไฟดิสโทเปียพล็อตแปลกล้ำจากสเปน ผลงานการกำกับและเขียนบทของ กัลเดอร์ กัซเตลู-อูร์รูเดีย (Galder Gaztelu-Urrutia) กลับมาเล่าความโหดร้ายของคุกแนวตั้งต่อใน ‘The Platform 2’ ซึ่งยังคงใช้ทีมงานเดิม พร้อมกับนักแสดงและเรื่องราวใหม่ทั้งหมด
จริงอยู่ที่เหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นในคุกแนวตั้งสุดล้ำแสนน่ากลัวและขยะแขยงแห่งนี้ แต่ด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าภาคแรกอยู่พอสมควร แถมตอนองก์สุดท้ายของหนังยังมีการเชื่อมโยงธีมและจักรวาลเดียวกันกับภาคแรกที่เล่นเอาคนดูถึงกับมึนจนตามไม่ทัน ถึงกับต้องกลับไปดูซ้ำ และย้อนกลับไปดูภาคแรกใหม่เพื่อเก็บตก (สามารถอ่านบทความที่ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญได้ที่นี่)
บทความนี้เป็นการพยายามอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคนี้ (รวมทั้งจากบางส่วนในภาคแรก) รวมทั้งการพยายามตีความสัญญะ อธิบายแนวคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเพื่อให้สามารถรับชมหนังเรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง 100% แต่เป็นการอธิบายแนวคิดที่น่าจะพอเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนจะถูกหรือผิด เชื่อหรือไม่เชื่อ เห็นด้วยหรือเห็นต่าง คงต้องเป็นเรื่องของผู้ชมที่จะตีความและเข้าใจด้วยตัวเอง
อธิบายกลไกของคุกแนวตั้งแบบคร่าว ๆ
เรื่องราวของ ‘The Platform’ ทั้ง 2 ภาคเกิดขึ้นในสถานที่ปิดตายที่ถูกเรียกว่า ศูนย์จัดการตนเองแนวตั้ง (Vertical Self-Management Center) ซึ่งจะเรียกว่าเป็นสถานกักกัน, คุก หรือเรือนจำก็ไม่ผิด โดยคุกแนวตั้งนี้จะมีลักษณะเป็นอาคารทรงยาวที่ถูกแบ่งเป็นชั้น ๆ จำนวนทั้งหมด 333 ชั้น โดยในคุกแนวตั้งแต่ละชั้น จะมีนักโทษอยู่รวมกันเพียงชั้นละ 2 คนเท่านั้น หากรวมจำนวนนักโทษทั้งหมดก็จะเท่ากับตัวเลข 666 ซึ่งสื่อไปถึงตัวเลขของสัตว์ร้าย (Number of the Beast) ที่ระบุไว้ในวิวรณ์ 13:18 ของหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) ในคัมภีร์ไบเบิล
ก่อนจะเข้ามาอยู่ในคุกนี้ นักโทษจะได้รับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการเข้ามาอยู่ภายใน จะได้รับอนุญาตให้นำสิ่งของใดก็ได้ติดตัวเข้าไปได้เพียงคนละ 1 ชิ้น และจะมีการสอบถามเมนูที่ต้องการรับประทานเมื่อเข้าไปอยู่ภายใน (ในฉากเปิดภาค 2) นักโทษจะเข้าไปอยู่ในชั้นที่มีเพียงเตียงนอน ที่นอน หมอน อ่างล้างหน้า กระจก และชักโครกเท่านั้น โดยไม่มีการกั้นบริเวณใด ๆ และสิ่งที่มีเหมือนกันในทุกชั้นก็คือ หลุมสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นทางสัญจรของแพลตฟอร์ม โดยในเวลาเที่ยงคืนของทุกวัน แพลตฟอร์มจะดีดตัวกลับขึ้นไปที่ชั้น 0 ด้วยความเร็วสูง
โดยแพลตฟอร์มนี้ใช้สำหรับเสิร์ฟอาหารที่ปรุงโดยวัตถุดิบและเชฟมืออาชีพจากชั้น 0 และเคลื่อนย้ายผ่านชั้นต่าง ๆ ลงมาเรื่อย ๆ เพียงวันละ 1 ครั้ง นักโทษแต่ละคนจะมีเวลารับประทานอาหารจำกัดก่อนที่แท่นจะเคลื่อนตัวลงไป และหากมีการกักตุนอาหารเอาไว้ในห้อง หรือมีอาหารหล่นอยู่ในห้อง อุณหภูมิห้องจะเปลี่ยนเป็นร้อนจัดหรือเย็นจัดเพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนทันที และในทุก ๆ เดือน นักโทษแต่ละคนจะถูกสลับเปลี่ยนห้องกันไปเรื่อย ๆ อาจจะอยู่สูงหรือต่ำกว่าเดิมก็ได้ ซึ่งก็หมายถึงโอกาสในการเข้าถึงอาหารด้วย
ส่วนชั้นที่อยู่ด้านล่างที่สุดนี้ เป็นชั้นลึกลับที่อยู่ถัดลงไปจากชั้นที่ 333 เป็นชั้นที่มีแต่เพียงความมืดมิด เป็นสถานที่ที่อยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์และการควบคุมของคุกแนวตั้ง
เกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนท้ายของ ‘The Platform’ ภาคแรก ?
หลังจากที่โกเรง (อีวาน มัสซาเก – Ivan Massagué) และบาฮารัต (เอมิลิโอ บูอาเล – Emilio Buale) ได้ตัดสินใจร่วมกันทำภารกิจเพื่อแจกจ่ายอาหารอย่างเท่าเทียม และพยายายามปกป้องพานาคอตตาเพื่อใช้เป็นช้อความเชิงสัญลักษณ์เพื่อส่ง ‘สาร’ บางประการไปถึงคนชั้นบนสุด โกเรงที่เหลืออยู่ตามลำพังพบว่ามีเด็กหญิงที่แอบซ่อนอยู่ที่ชั้น 333 เธอจึงช่วยเหลือและต้องการให้เด็กหญิงเป็นสารที่ส่งขึ้นไปยังชั้น 0
แต่หลังจากที่แพลตฟอร์มลงมาจนถึงชั้นล่างสุด วิญญาณของตรีมากาซี (โซริออน เอกิเลออร์ – Zorion Eguileor) อดีตเพื่อนร่วมชั้นคนแรกของโกเรงได้เดินมาบอกเขาว่า “การเดินทางจบลงแล้ว เจ้าหอยทาก…” และ “สารไม่จำเป็นต้องมีผู้ส่งสารหรอก…” โกเรงจึงตัดสินใจเดินออกมา ปล่อยให้แพลตฟอร์มพาเด็กหญิงขึ้นไปตามลำพัง เสมือนเป็นสารที่โกเรงหวังไว้ว่าเธอจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการโค่นล้มระบบของคุกแนวตั้งอันโหดร้ายนี้ให้ได้ และบางทีการยอมเสียสละครั้งนี้ของโกเรง อาจเป็นไปเพื่อการไถ่บาปและชำระล้างความรู้สึกภายในของตัวเขาเอง
ซามิอาติน และ เปเรมปวน
ในภาคนี้ ซามิอาติน (โฮวิก คุชเคเรียน – Hovik Keuchkerian) อาจารย์มหาวิทยาลัยร่างใหญ่ และศิลปินสาว เปเรมปวน (มิเลนา สมิต – Milena Smit) เป็นนักโทษใหม่ที่เข้ามาอยู่ในชั้น 24 ในเดือนแรก แต่แทนที่ซามิอาตินจะได้กินพิซซาอย่างที่เขาต้องการ เขากลับพบว่าหน้าเนื้อของพิซซาถูกนักโทษในชั้นก่อนหน้าแอบกินไปแล้ว ทั้งคู่จึงได้รับการอธิบายจากนักโทษชั้น 23 ว่า ในคุกแนวตั้งนี้มีกฏระเบียบว่าให้กินเฉพาะอาหารของตัวเองเท่านั้น ห้ามแตะอาหารของคนที่ตายไปแล้ว และหากมีการกินอาหารของผู้อื่น ต้องยอมเสียสละอาหารของตัวเองเป็นการแลกเปลี่ยน
แต่แทนที่ซามิอาตินและเปเรมปวนจะได้กินพิซซาตามปกติ กลับมีผู้ที่ฝ่าฝืนกินเนื้อบนหน้าพิซซาของเขาจนหมด นักโทษชั้น 23 อธิบายให้พวกเขาฟังถึงกฏที่ ‘พระอาจารย์’ เป็นผู้สถาปนา และมี ‘ผู้ที่ถูกเจิม’ เป็นผู้ควบคุมกฏ กฏที่ว่านี้ก็คือการแบ่งปันอาหารให้ทั่วถึงให้ได้มากที่สุดด้วยการกินเฉพาะอาหารของตัวเองเท่านั้น เพื่อให้อาหารเหลือไปถึงนักโทษชั้นล่าง ๆ นอกจากนี้ ทุกชั้นที่สมัครใจเป็นสาวก ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับชั้นอื่น ๆ โดยตลอดโดยไม่ให้ห่วงโซ่ขาด รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวโทษและปราบปรามผู้ที่มีแนวคิดต่อต้าน หรือไม่ยอมปฏิบัติตามกฏระเบียบเหมือนกับสาวกคนอื่น ๆ ซึ่งมีโทษตั้งแต่การทำร้ายร่างกายและการประหารชีวิต
ดากิน บาบี ผู้ที่ถูกเจิม
เปเรมปวนและซามิอาตินได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมของคุกใต้ดิน จากการบอกเล่าของนักโทษชั้น 23 ว่า ในคุกแนวตั้งนี้มีกฏระเบียบที่ทุกคนปฏิบัติร่วมกันอยู่ นั่นก็คือกฏการแบ่งปันอาหาร โดยอ้างว่ากฏนี้สถาปนาขึ้นจากวจนะของผู้ที่เป็นดัง ‘พระอาจารย์’ ผู้ที่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า เพื่อรักษาอาหารให้ไปถึงนักโทษชั้นล่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด นักโทษชั้น 23 เล่าตำนานของพระอาจารย์ว่า เป็นผู้ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดทั้งเดือนโดยไม่กินอาหารใด ๆ และยังเป็นผู้ที่เสียสละแล่เนื้อต้นขาของตนเองเพื่อสละเป็นอาหารให้แก่ผู้ยากไร้ ซึ่งตัวหนังไม่ได้บอกเอาไว้ว่าพระอาจารย์คนนี้หมายถึงใคร หรือมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่
ปัจจุบัน ผู้ทึ่ควบคุมกฏนี้ คือผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้ที่นำสารแห่งการเสียสละมาจากพระอาจารย์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ผู้ที่ถูกเจิม’ ที่ออกกฏให้นักโทษทุกคนกินอาหารเฉพาะเมนูที่ตัวเองเลือกเอาไว้ตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์เท่านั้น ห้ามกินเมนูที่ไม่ใช่ของตัวเอง ห้ามกินอาหารของนักโทษที่เสียชีวิตไปแล้ว และหากต้องการกินอาหารเมนูของคนอื่น จะต้องนำอาหารของตัวเองไปแลกเปลี่ยน รวมทั้งยังออกกฏห้ามกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง (ส่วนในชั้นล่างสุดที่มีมนุษย์กินคน เพราะเป็นเขตที่อยู่นอกเหนือกฏระเบียบทั้งมวล)
นอกจากนี้ นักโทษ ‘สาวก’ ที่ติดกระดุมปกเสื้อเป็นสัญลักษณ์ จะต้องทำหน้าที่สื่อสารกับคนชั้นอื่น ๆ ผ่านหลุมอยู่เป็นประจำเพื่อไม่ให้ห่วงโซ่ขาดตอน หากมีผู้ที่ฝ่าฝืน เช่น ลักลอบกินอาหารของผู้อื่น ทำให้ห่วงโซ่การสื่อสารขาดช่วง ไม่ยอมทำตามกฏที่ผู้ที่ถูกเจิมบัญญัติไว้ หรือจับได้ว่ามีแนวคิดต่อต้านหรือคิดล้มล้างผู้ที่ถูกเจิม สาวกที่อยู่ถัดขึ้นไป 4 ชั้น (8 คน) จากชั้นที่ ‘กบฏ’ หรือผู้ที่ฝ่าฝืนอาศัยอยู่ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ลงโทษหรือสังหารกบฏตามคำพิพากษาของผู้ที่ถูกเจิม (เปเรมปวนและหญิงแขนเดียวฝ่าฝืนกฏนี้ตอนที่อยู่ชั้น 51 แต่ลงมาจัดการกบฏที่ชั้น 55 ด้วย ทำให้เปเรมปวนโดนลงโทษด้วยการถูกแพลตฟอร์มตัดแขน ส่วนหญิงแขนเดียวโดนเนรเทศลงไปชั้นล่างสุด)
การไถ่บาปของเปเรมปวน
หลังจากที่เปเรมปวนจัดการกับทรราชย์อย่างดากิน บาบี (ออสการ์ แจนาดา – Óscar Jaenada) หรือ ‘ผู้ที่ถูกเจิม’ ได้แล้ว เธอตั้งใจจะหลบหนีตามแผนของหญิงแขนเดียว (นาตาเลีย ทีนา – Natalia Tena) ที่เล่าแผนการให้เธอฟัง แผนที่ว่าคือ ในทุก ๆ สิ้นเดือน ผู้คุมจะทำการสลับชั้นของนักโทษด้วยการปล่อยแก๊สยาสลบซีโวฟลูเรน (Sevoflurane) เธอจึงทำการกลืนชิ้นส่วนภาพวาดสุนัขที่กำลังจมน้ำลงไป จนทำให้เธอสำลักเพื่อไม่ให้สลบ
จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาสลับเปลี่ยนนักโทษ เธอตื่นขึ้นมาและพบว่าตัวเองถูกผูกติดอยู่กับกองศพจำนวนมากที่ลอยอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงอยู่ที่กลางหลุม ซึ่งเป็นศพที่ผู้คุมกำลังขนลงไปทิ้งที่ก้นหลุม เธอจึงอาศัยจังหวะที่ถูกมัดติดกับศพ หนีออกมาหลบอยู่ที่ชั้น 333 ก่อนที่เธอจะพบเห็นผู้พาเด็กชายผิวดำมานอนบนเตียง
เปเรมปวนต้องการจะช่วยเด็กชายกลับขึ้นไปด้วยกัน แต่สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงทำให้ศีรษะและร่างกายของเธอปลิวไปกระแทกกำแพงคุกหลายครั้งจนเลือดไหล เธอสลบและตื่นลงมา ก่อนจะพบว่าเธอและเด็กชายอยู่บนแพลตฟอร์มของชั้นล่างสุดที่มีคนกินมนุษย์อาศัยอยู่ หญิงสาวคนหนึ่งบอกกับเปเรมปวนว่า “หมดเวลาของเธอแล้ว แต่เขาจะยังมีโอกาส” เธอจึงยอมลงมาจากแพลตฟอร์ม และปล่อยให้เด็กชายกลับขึ้นไปชั้น 0 แต่เพียงลำพัง
ในฉากท้ายเครดิตเราจะได้ทราบคำตอบว่าสิ่งที่เปเรมปวนทำนั้นเหมือนกับสิ่งที๋โกเรงทำในภาคแรกเช่นกัน ส่วนคำถามที่ว่าตัวเธอ รวมทั้งโกเรง ตรีมากาซี และคนอื่น ๆ ที่เธอได้เจอในชั้นล่างสุดตายแล้วหรือไม่ คำตอบก็คือน่าจะ ‘ตาย’ เช่นเดียวกับมนุษย์กินคนที่อาศัยอยู่ในชั้นล่าง ตามที่กัซเตลู-อูร์รูเดียตั้งข้อสังเกตว่า “สำหรับผม ชั้นที่ต่ำที่สุดนั้นไม่มีอยู่จริง โกเรงได้ตายไปแล้วก่อนที่เขาจะมาถึง และนั่นเป็นเพียงการตีความของเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคิดว่าเขาต้องทำ”
การหลุดพ้นของซามิอาติน
แม้นักโทษชายร่างยักษ์อย่างซามิอาตินจะปรากฏตัวเพียงช่วงครึ่งแรกของตัวหนัง แต่ก็นับว่าเป็นตัวละครที่เข้ามาเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดของเปเรมปวนอย่างมหาศาล ซามิอาตินเล่าในตอนสัมภาษณ์กับอิโมกิริ (แอนโตเนีย ซาน ฮวน – Antonia San Juan) เจ้าหน้าที่หญิงว่า เขาทิ้งภรรยาและลูก ๆ เอาไว้ ก่อนจะก่อเหตุเผาบ้านที่มีพ่อและแม่อาศัยอยู่
แต่หลังจากที่เขากระทำผิดกฏของผู้ที่ถูกเจิมด้วยการกินอาหารของคนที่ตายไปแล้ว การไม่มีอาหารบนแพลตฟอร์มเหลือมาถึงเขาอีก รวมทั้งอาการล้มป่วยของเขาที่เริ่มหนักขึ้น ทำให้เขาเริ่มเกรงกลัวกฏของผู้ที่ถูกเจิม และอ่อนแอเกินกว่าจะโกหกตัวเองและคนอื่น ๆ ต่อไป
ซามิอาตินสารภาพว่าตัวเขาเองพยายามทำตัวให้ดูน่าเกรงขาม แต่แท้ที่จริงแล้วเขาคืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่ลาออก เขาถูกภรรยาทิ้ง ก่อนที่พ่อแม่จะส่งเขามาอยู่ในคุกแนวตั้งเพื่อดัดนิสัย ทำให้ซามิอาตินที่พยายามจะมีชีวิตอยู่ในจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นมาปลอบใจตัวเอง และในที่สุด หลังจากที่เขายอมรับความผิด และยอมรับความเป็นจริง ซามิอาตินตัดสินใจจุดไฟเผาร่างของตัวเอง และกระโดดลงไปในหลุมเพื่อไถ่บาปเป็นครั้งสุดท้าย
ภาพวาดสุนัขจมดิ่ง
หลังจากที่เปเรมปวนและพรรคพวกสามารถเอาชนะดากิน บาบี ลงได้สำเร็จ เธอกลายเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวที่เหลืออยู่ เธอจึงได้เริ่มต้นแผนการหลบหนีออกจากคุกแนวตั้งตามแผนที่หญิงแขนเดียวได้เล่าให้เธอฟัง โดยใช้จังหวะช่วงสิ้นเดือนที่จะมีการเคลื่อนย้ายนักโทษเพื่อเปลี่ยนชั้นไปเรื่อย ๆ โดยการเคลื่อนย้ายนักโทษ ผู้คุมจะปล่อยแก๊สยาสลบซีโวฟลูเรน (Sevoflurane) เพื่อทำให้นักโทษทั้งหมดสลบ เปเรมปวนใช้วิธีการกินชิ้นส่วนงานศิลปะรูปสุนัขที่กำลังจะจมน้ำจนเกิดอาการน้ำลายฟูมปากและหายใจติดขัด ก่อนที่เธอจะตื่นขึ้นมาและพบว่าคุกแนวตั้งถูกเปลี่ยนเป็นสภาวะไร้น้ำหนัก ตัวเธอถูกผูกติดกับกองศพที่ถูกขนลงไปทิ้งยังชั้นล่าง
งานศิลปะที่เปเรมปวนกินเข้าไป มาจากชิ้นส่วนภาพวาดจิตรกรรมสีน้ำมันที่มีชื่อว่า ‘The Dog’ (El Perro) โดยฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) จิตรกรชาวสเปน โกยาวาดภาพของสุนัขสีดำที่กำลังเอาตัวรอดจากการจมดิ่งด้วยการพยายามหนีขึ้นที่สูง ความหมายของสุนัขที่กำลังจะจมดิ่งนี้ ตีความได้ถึงการต่อสู้อันไร้ผลของมนุษย์ที่มีต่อระบบ (หรือระบอบ) อันชั่วร้าย ซึ่งคำว่า ‘กินหมา’ ที่นักโทษดาวน์ซินโดรม (กอร์กา ซูเฟียร์ – Gorka Zufiaurre) บอกกับดากิน บาบี ก็น่าจะสื่อถึงภาพสุนัขที่อยู่ในงานศิลปะชิ้นนี้นั่นเอง
การกลืนชิ้นส่วนภาพวาดสุนัขจมน้ำของเปเรมปวน จึงเปรียบได้กับความรู้สึกของเธอ ที่ในที่สุดเธอก็ยอมรับการกระทำในอดีตของตัวเอง เพื่อนำเธอไปสู่เส้นทางแห่งความสงบจากการไถ่บาปและให้อภัยตนเอง ในขณะเดียวกัน เธอก็ยอมจำนนในความล้มเหลว และยอมรับความทุกข์ทรมานและอุปสรรคที่ไร้จุดสิ้นสุดในนรกขุมสุดท้าย หลังจากที่เธอเคยปฏิเสธที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของเธอเองในโลกแห่งความเป็นจริง เช่นเดียวกับทุกคนที่พยายามไถ่บาปในคุกแนวตั้งด้วยการเสียสละตนเอง
ในฉากกลางเครดิตที่ปรากฏภาพของเหล่าผู้ไถ่บาปที่ช่วยเหลือคนในอดีต อาจสื่อไปถึงว่า ที่คุกแนวตั้งแห่งนี้เคยมีคนที่กระทำการไถ่บาปมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ใช่แค่โกเรงหรือเปเรมปวน และดูเหมือนว่าคุกแนวตั้งแห่งนี้อาจจะไม่ได้มีแค่ที่เดียวด้วย กัซเตลู-อูร์รูเดียได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คุกแนวตั้งนี้ยังมีอยู่อีกหลายแห่งทั่วโลก และมีวิธีการควบคุม รวมทั้งการใช้นักโทษเป็นหนูทดลองที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจหมายรวมถึงวัฏจักรอันน่าหดหู่ที่เกิดขึ้นจากการทดลองทางสังคมที่คุกแนวตั้งแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเช่นกัน
เปเรมปวนไถ่บาปไปทำไม ?
ในซีนการสัมภาษณ์ เปเรมปวนเล่าว่า ก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในคุกแนวตั้ง เธอเป็นศิลปินที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง ในครั้งหนึ่ง เธอเล่าว่าเคยสร้างประติมากรรมรูปสุนัขที่มีกรงเล็บแหลมคมอยู่ด้านหน้า หลายคนพยายามเตือนเธอให้กั้นประติมากรรม เพราะกรงเล็บที่แหลมคมอาจทำอันตรายกับผู้ที่เข้าชมได้ แต่เธอกลับไม่ยอมฟัง จนกระทั่งเมื่อแฟนหนุ่มของเธอมาเยี่ยมเยือนที่บ้านพร้อมกับลูกชาย ทันใดนั้น ลูกชายของเขาลื่นล้มจนถูกกรงเล็บทิ่มทะลุดวงตาจนเสียชีวิต
แต่แทนที่เธอจะยอมรับผิด เปเรมปวนกลับใช้วิธีการทุ่มเงินจ้างทนายความที่ดีที่สุดเพื่อว่าความปกป้องไม่ให้ตัวเธอเองติดคุก เธอรอดพ้นคดียังได้รับเงินประกัน แถมยังได้เงินและชื่อเสียงจากการขายประติมากรรมไปอย่างมหาศาล จนเมื่อเธอตัดสินใจเข้ามาอยู่ในคุกแนวตั้ง เธอจึงตระหนักได้ว่า แม้จะหลีกเลี่ยงความผิดตามกฏหมายได้ แต่เธอก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง ‘นรก’ ที่อยู่ภายในใจของเธอเอง
สิ่งสุดท้ายที่เธอจะทำได้คือการพยายามช่วยเหลือเด็กชายที่ชั้น 333 ก่อนที่เธอจะตัดสินใจขังตัวเองไว้ที่ชั้นล่างสุด ซึ่งเปรียบเหมือนกับ ‘นรก’ ของคุกแนวตั้งแห่งนี้ และส่งเด็กชายกลับไปยังชั้น 0 แทนเพื่อเป็นการไถ่บาป และเชื่อว่าการหยุดตนเองจากการดิ้นรน และส่งเด็กที่เชื่อว่าจะเป็นความหวังแห่งอนาคตกลับขึ้นไปแทน จะเป็นลบล้างความรู้สึกผิดบาปในอดีต และช่วยให้พวกเขาสามารถยอมรับความผิดพลาดและให้อภัยตัวเองในอดีตได้
ความเชื่อมโยงเรื่องราวจากทั้ง 2 ภาค
ความเชื่อมโยงระหว่างภาคแรกกับภาค 2 นั้นมีจุดสังเกตให้เห็นชัด ๆ อยู่ 2 จุด นั่นก็คือการปรากฏตัวของตรีมากาซี ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนร่วมชั้นคนใหม่ของเปเรมปวนในชั้นที่ 72 หลังจากที่เธอถูกสาวกของดากิน บาบีใช้แพลตฟอร์มตัดแขน ส่วนหญิงแขนเดียวที่เป็นอดีตเพื่อนร่วมกบฏของเธอถูกจับมัดติดกับแพลตฟอร์ม
ซึ่งในภาคแรก ตรีมากาซีได้บอกกับโกเรงว่าเขาเริ่มต้นถูกคุมขังมาแล้ว 9 เดือน โดยเริ่มต้นที่ชั้น 72 เป็นขั้นแรก และในการปรากฏครั้งนี้ ตรีมากาซียังคงมีชีวิตอยู่ นั่นจึงทำให้เรื่องราวทั้งหมดใน ‘The Platform 2’ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ‘ก่อน’ เหตุการณ์ในภาคแรกประมาณ 1 ปี
นอกจากนี้ ในฉากเครดิตท้ายสุด จะปรากฏภาพที่เปเรมปวนและโกเรงได้เจอกัน โกเรงหันหน้าตามเสียงเรียกของหญิงสาวที่เดินออกมาจากความมืดมิดของชั้นที่ 333 เปเรมปวนถามเขาว่า “คุณ… คุณมาทำอะไรที่นี่” ก่อนที่ทั้งคู่จะร้องไห้และสวมกอดกัน ซึ่งอาจตีความได้ว่าทั้งคู่อาจมีเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อนหน้าที่จะเข้ามาอยู่ในคุกแนวตั้ง หรืออาจตีความได้ว่า โกเรงอาจเคยเป็นคู่รักของเปเรมปวน และพ่อของเด็กชายที่เสียชีวิตจากงานประติมากรรมที่เปเรมปวนพูดถึงตอนสัมภาษณ์ก็เป็นไปได้
เด็กกับพีระมิด การทดลองสังคมแสนโหดร้าย ?
ในหนังมีการตัดให้เห็นภาพของบรรดาเด็ก ๆ ที่เดินเรียงแถวเป็นวงกลมล้อมรอบแท่นหินที่คล้ายกับพีระมิด ก่อนจะค่อย ๆ ทยอยเดินขึ้นบันได และสไลเดอร์ลงมา ก่อนจะเดินวนกลับเข้าแถวเดิมอย่างเป็นระเบียบ จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง ความปั่นป่วนก็เริ่มเกิดขึ้น เด็ก ๆ เริ่มแก่งแย่งและต่อสู้เพื่อปีนขึ้นบันไดไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุด ก่อนจะปรากฏภาพของเด็กชายผิวดำคนหนึ่งที่สามารถเอาชนะเด็กทุกคนและยืนขึ้นบนจุดสูงสุดของพีระมิดได้สำเร็จ
หลังจากนั้น ปรากฏภาพของผู้ใหญ่ชายและหญิงที่เดินเข้ามาในห้อง (ที่คาดว่าน่าจะอยู่ชั้น 0) พร้อม ๆ กัน ผู้ชายคือบาฮารัต ส่วนผู้หญิงคือมิฮารุ (อเล็กซานดร้า มาซางเกย์ – Alexandra Masangkay) หญิงสาวลึกลับที่เคยออกอาละวาดไล่สังหารคนเพื่อตามหาลูกในภาคแรก มิฮารุเดินผ่านมาลิ (ซิฮารา ลานา – Zihara Llana) ที่โกเรงเคยใช้เป็นสาร (และเคยถูกสงสัยว่าอาจเป็นลูกของมิฮารุ) ก่อนที่เธอจะกระซิบกับเด็กชาย และพาเขาออกไปจากห้อง จนภายหลังเราจะได้เห็นว่า เด็กชายคนนี้ถูกนำพาไปไว้ที่ชั้น 333 ของคุกแนวตั้ง ซึ่งเป็นการย้ำว่า มิฮารุในภาคแรกอาจไม่ใช่แค่นักโทษ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ของคุกแนวตั้งเช่นเดียวกับอิโมกิริ และมิฮารุไม่ใช่แม่ของมาลิอย่างที่โกเรงเข้าใจ
ในส่วนนี้เป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถอธิบายเชิงประจักษ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความ การตีความที่น่าจะพออธิบายได้มากที่สุดก็คือ การที่พีระมิดเป็นตัวแทนขนาดย่อของคุกแนวตั้ง และคุกแนวตั้งก็เป็นตัวแทนของระบบสังคมของมนุษย์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อโลกมีสังคมเกิดขึ้น โครงสร้างอำนาจทางสังคมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และตัวมันเองก็ส่งผลเสียหายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามจัดระเบียบสังคมและความคิดด้วยชุดทฤษฏี กฏหมาย หรือการปราบปรามควบคุมใด ๆ โดยอ้างความยุธิธรรม ความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียม แต่ท้ายที่สุดสังคมก็จะนำพาไปสู่ความโกลาหลอยู่เสมอ และการพยายามปีนขึ้นจุดที่สูงที่สุดของพีระมิด ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นจุดที่สูงที่สุดของห่วงโซ่ เพราะสุดท้ายแล้ว ณ จุดที่สูงที่สุดอาจไม่มีรางวัลหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ รอพวกเขาอยู่เลย เช่นเดียวกับที่โกเรงที่เคยเสียสละจากการน้อมนำความยุติธรรมมาสู่คุกแนวตั้ง และดากิน บาบีที่ใช้ความชอบธรรมของตัวเองในการบังคับผู้คน และเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่ถูกเจิมกลายเป็นผู้นำทรราชย์
ในหนังไม่ได้บอกไว้แน่ชัดว่า การจับเอาเด็กไปไว้ที่ชั้น 333 ชั้นที่แทบไม่มีโอกาสรอดชีวิต และรอให้ผู้คนมาช่วยออกไปนั้นคือกระบวนการอะไร หรือมีจุดประสงค์เพราะอะไรกันแน่ มันอาจเป็นเพียงภาพหลอนของโกเรงและเปเรมปวนในยามที่บาดเจ็บสาหัสและจิตใจอ่อนไหวจนถึงที่สุด หรือมันอาจเป็นการจัดฉากอันน่าหดหู่ที่ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการทดลองทางสังคมของคุกแนวตั้ง
หรือนี่อาจเป็นเพียงกลอุบายของผู้มีอำนาจที่พยายามจะใช้นักโทษเป็นหนูทดลองด้วยการนำเด็กที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดนำไปไว้ที่ชั้น 333 ในขณะที่ไม่เคยมีนักโทษคนใดล่วงรู้มาก่อนว่า นี่คือกลอุบายของผู้มีอำนาจที่อาจต้องการทดลองหรือลงโทษผู้ที่พยายามจะหลบหนี ด้วยการเสนอทางเลือกในการช่วยเหลือชีวิตบริสุทธิ์ให้ได้มีโอกาสรอดพ้น และปล่อยให้นักโทษสละชีวิต ทิ้งวิญญาณของตนเอาไว้ที่ชั้นล่าง (ที่อาจเปรียบเปรยได้กับขุมนรก) เพื่อเป็นการไถ่บาปทั้งปวงของตัวพวกเขาเอง