Arrival คือหนังไซไฟที่ก่อกระแสล่ารางวัลช่วงปลายปีที่แล้วยาวมาถึงต้นปีนี้ โดยมีความหวังจะเข้าไปถึงออสการ์รอบท้ายๆ และเป็นผลงานกำกับของ เดนนิส วิลเลเนิฟ ที่สร้างชื่อจากหลากหนังดราม่าซับซ้อนด้วยพลอตน่าสนใจอย่าง Prisoners กับ Enemy (2013) และ Sicario (2015) ซึ่งในปีนี้เขายังจะมีหนังภาคต่อในตำนานอย่าง Blade Runner 2049 มาให้ชมอีกเรื่อง นับเป็นปีที่เขารุ่งสุดๆกับแนวไซไฟทีเดียว
สำหรับเรื่องนี้มือเขียนบท อีริค ไฮซ์เซเรอร์ ที่เคยมีผลงานในแนวแฟนตาซีสยองขวัญทั้งหนังรีเมคอย่าง A Nightmare on Elm Street (2010) The Thing (2011) และล่าสุดกับ Lights Out (2016) ก็ได้นำนิยายแนวไซไฟของ เท็ด เจียง เรื่อง Story of Your Life and Others มาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์อันเป็นแนวถนัดของเขา ชื่อเดิมของนิยายเคยถูกจะนำมาใช้เป็นชื่อหนังเช่นกัน ทว่าคนที่ได้ดูรอบทดลองต่างเห็นว่ามันสปอยล์และไม่น่าสนใจพอจึงกลายมาเป็นชื่อหนังในปัจจุบัน
“นี่คือเรื่องราวของลูกนะ ชีวิตที่ไม่ผูกติดอยู่กับกรอบ หรือลำดับ” – หลุยส์ แบงค์
หนังเล่าเรื่องของ ดร.หลุยส์ แบงค์ (เอมี่ อดัม) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ที่ถูกดึงตัวเข้าร่วมทีมของกองทัพสหรัฐในการตีความภาษาต่างดาว เพื่อทำการสื่อสารหาจุดประสงค์ของยานอวกาศลึกลับที่มายังรัฐมอนทาน่าซึ่งเป็น 1 ใน 12 จุดทั่วโลกที่ยานอวกาศได้มาเยือน เธอต้องร่วมมือกับนักฟิสิกส์อย่าง เอียน ดอนเนลลี่ (เจเรมี่ เรนเนอร์) ในฐานะทีมวิเคราะห์ประจำสหรัฐ โดยยังมีการประสานกับทีมนักวิทยาศาสตร์ของประเทศอื่นๆที่ยานอวกาศได้ไปจอด เช่น จีน รัสเซีย เป็นต้น
ท่ามกลางความไม่รู้เหนือรู้ใต้ในท่าทีของยานอวกาศ เพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ด้านนอกสังคมก็เกิดความวุ่นวาย ประชาชนบางส่วนเริ่มก่อจลาจลและลุกฮือ ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและรัสเซียเริ่มสิ้นสุดความอดทนในการรักษาท่าที และจะทำการทำลายยานอวกาศเพื่อความปลอดภัยแบบแน่นอน หลุยส์และเอียน ที่ได้เข้าไปในตัวยานและพบกับมนุษย์ต่างดาวสองตน จึงต้องเร่งมือเพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริงของภาษาสัญลักษณ์ที่มนุษย์ต่างดาวกำลังสื่อสาร ก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างดวงดาว
ตรงนี้เป็นพลอตที่ทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง Babel (2006) ที่นำเสนอความไม่เข้าใจกันของมนุษย์ต่างชาติพันธุ์กันเองนี่ล่ะที่เป็นปัญหาใหญ่ยิ่งเสียกว่าการสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวเสียอีก อย่างที่ในตัวอย่างหนังตอนหนึ่งนางเอกถึงกับสบถออกมาว่า (ก่อนจะไปเข้าใจมนุษย์ต่างดาว) มนุษย์เราหาทางคุยกันเองก่อนไม่ได้หรือไง!
ในอีกด้าน หลุยส์ ก็ตกอยู่ในความขัดแย้งภายในจากภาพความทรงจำอันแสนทรมานถึง ฮันนาห์ (Hunnah) ลูกสาวของเธอที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังวัยรุ่น ระหว่างที่ค้นหาความหมายของภาษาต่างดาวเธอมักจะเห็นภาพฝันถึงความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อต่างๆ ซึ่งทั้งสร้างความทุกข์และบางครั้งก็ช่วยให้เธอค้นพบคำตอบของคำถามที่เธอกำลังศึกษาอยู่ ตรงนี้เองที่เป็นจุดขายสำคัญของเรื่องซึ่งมันยากที่จะเล่าครับ เพราะสปอยล์แน่ๆ ดังนั้นก็ขอกล่าวกว้างๆว่าหนังมีพลอตและคอนเซปต์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ หลายทฤษฎีถูกนำมาอธิบายผ่านบทสนทนาต่างๆ ถึงสิ่งที่เราจะรู้คำตอบในช่วงเฉลยของหนัง อย่างช่วงหนึ่งที่เอียนพูดถึงทฤษฎีว่าการใช้ภาษาเป็นตัวกำหนดรูปแบบความคิดของเรา ตรงนี้ถ้าตั้งใจดูตั้งใจฟังดีๆแล้ว จะเดาเรื่องถูกตั้งแต่กลางๆเรื่องเลยครับ เพราะหนังให้คำใบ้ต่างๆมาตลอดเรื่องทีเดียว
ก็นับว่าเป็นหนังที่หักมุมแต่ก็ไม่ได้เหวอนักสำหรับคอไซไฟหรือคอหนังครับ ซึ่งการหักมุมมันก็ไม่ใช่จุดขายล่ะนะ เพราะตัวคอนเซปต์นั้นต่างหากที่เป็นจุดขายแท้จริง และเป็นทฤษฎีด้านภาษาที่ยังไม่มีหนังไซไฟเรื่องไหนนำมาใช้นัก ตรงนี้เลยเป็นเรื่องน่าสนุกทีเดียว
หนังมีข้อเสียหนักๆเลยที่การเล่าเรื่อง เพราะเอาจริงเนื้อหามันไม่ได้ยืดเยื้อได้ขนาดสองชั่วโมง สไตล์การทิ้งภาพและเคลื่อนภาพอ้อยอิ่ง รวมถึงบทคะนึงในห้วงความคิดต่างๆถูกนำมาใช้เพื่อขยายส่วนภาพฝันของนางเอก ทำให้หนังทั้งเรื่องดูคล้ายจะเป็น The Tree of Life (2011) ของ เทอร์เรนส์ มาลิค ฉบับอวกาศอยู่ไม่ปาน ซึ่งเป็นอะไรที่ทรมานคนดูยามเหนื่อยอ่อนมากๆ ยากต้านทานครับ โอกาสหลับกลางเรื่องสูงมากๆจริงๆ ใครจะดูควรเตรียมกำลังจิตไปให้พอเพียงครับ
สรุป
หนังมีองค์ประกอบหลายๆอย่างที่ทำให้เข้าใกล้คุณงามความดีของหนังตระกูลเดียวกันอย่างพวก Contact (1997) รวมถึงงานศิลป์ที่เรียบหรูลึกลับสไตล์ สแตนลี่ย์ คูบริก และพวกหนังรางวัลต่างๆที่ได้พูดถึงไปข้างต้น และสำหรับคอหนังไซไฟหนังเรื่องนี้ก็นำพาไปสู่ความครุ่นคิดใหม่ๆได้ แม้ว่าหนังจะมีสไตล์ทิ้งดิ่งที่ไม่ถูกโฉลกกับนักดูหนังทั่วๆไปนักแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังเรื่องนี้ทิ้งก้อนความคิดถึงการมีชีวิตในฐานะประชากรโลกและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวเราได้อย่างมีรสนิยมทีเดียว
หนังเข้าฉายรอบพิเศษตั้งแต่วันนี้ถึง 11 มกราคม ก่อนจะเข้าฉายปกติในวันที่ 12 มกราคมนี้ครับ ไปดูหนังเต็งออสการ์อีกเรื่องหนึ่งกัน