อเล็กซ์ โพรยาส (Alex Proyas) ผู้กำกับภาพยนตร์ไซไฟบล็อกบัสเตอร์ ‘I, Robot’ (2004) ได้โพสต์บน X (Twitter ในอดีต) ระบุข้อความว่า
เฮ้ อีลอน ! ผมของานออกแบบของผมคืนได้ไหมครับ
โพสต์ดังกล่าวเป็นการตัดพ้อว่า อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ขโมยดีไซน์หุ่นยนต์และยานยนต์ในภาพยนตร์ ‘I, Robot’ ของเขาไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Tesla ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงาน We, Robot (แม้แต่ชื่ออีเวนต์ยังมีความใกล้เคียงกัน) ดังนี้
- Tesla Optimus : หุ่นยนต์ที่ความใกล้เคียงมนุษย์มาก ซึ่งขับเคลื่อนด้วย AI จากการประมวลผลบนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM (Large Language Model)
- Tesla Robovan : รถโดยสารไร้คนขับ ซึ่งทำงานผ่านเครือข่าย Tesla Network และรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 20 คน
- Tesla Robotaxi : รถแท็กซี่ไร้คนขับ ซึ่งทำงานผ่านเครือข่าย Tesla Network เช่นกัน โดยคาดจะผลิตในปี 2016
นอกจากนี้ โพรยาสยังได้โพสต์ภาพดีไซน์ต้นฉบับของ ‘I, Robot’ เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ใหม่ 3 ตัวของ Tesla ดังที่ปรากฏในโพสต์ด้านล่างนี้ ซึ่งต้องบอกว่ามีดีไซน์ไปในทิศทางเดียวกัน แต่มีรายละเอียดที่ต่างออกไปเล็กน้อย
‘I, Robot’ นำแสดงโดย วิลล์ สมิธ (Will Smith) ในบทนายตำรวจที่เข้ามาสืบคดีฆาตกรรมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงหุ่นยนต์อัจฉริยะรุ่นต้นแบบที่เขาสร้างขึ้น และภัยคุกคามจากเทคโนโลยีสุดล้ำที่กำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์
‘I, Robot’ ได้รับคำชื่นชมในประเด็นปรัชญาการพัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ และทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 350 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 120 ล้านเหรียญ จนมีการเรียกร้องให้สร้างภาคต่อ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไซไฟในอดีตสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตบนพื้นฐานความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผล และมีความแม่นยำ
ในอดีต นักประดิษฐ์หลายคนได้ใช้วรรณกรรมไซไฟคลาสสิกเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบนวัตกรรมใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ไซมอน เลค (Simon Lake) วิศวกรเครื่องกลชาวอเมริกันที่ออกแบบเรือดำน้ำยุคแรกที่มีชื่อว่า อาร์โกนอต จูเนียร์ (Argonaut Junior) เมื่อปี 1894 โดยได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรม “ใต้ทะเล 20,000 โยชน์” (Twenty Thousand Leagues Under the Sea) ของ ฌูล แวร์น (Jules Verne)