คงมีน้อยคนนักที่จะปฏิเสธความเป็นตำนานของ ‘The Godfather’ (1972) หนังมาเฟียอิตาลีคลาสสิกขึ้นหิ้งที่ดัดแปลงจากนิยายของ มาริโอ พูโซ (Mario Puzo) และยังเป็น 1 ในผลงานการกำกับหนังที่ดีที่สุดของผู้กำกับชั้นครู ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ที่ยังคงได้รับการกล่าวขานในฐานะต้นแบบของหนังมาเฟียที่ทรงพลังในทุกองค์ประกอบ ที่พิสูจน์ได้จากรางวัลมากมาย และรายได้มหาศาล เป็น Godfather ทรงอิทธิพลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับหนังมาเฟียยุคหลัง ๆ และยังเป็นหนังชั้นดีที่มีนักแสดงระดับคุณภาพร่วมงานจากทั้ง 3 ภาคอย่างคับคั่ง
1 ในนักแสดงที่ขับเคลื่อนเรื่องราวของหนังชุดนี้ก็คงหนีไม่พ้น อัล ปาชิโน (Al Pacino) นักแสดงหนุ่มผู้รับบท ไมเคิล คอร์เลโอเน ผู้รับช่วงและสานต่ออิทธิพลจากพ่อ ล่าสุด ปาชิโนในวัย 84 กะรัตได้เปิดตัวหนังสือบันทึกความทรงจำเล่มใหม่ของเขาที่ใช้ชื่อว่า ‘Sonny Boy’ ปาชิโนยังได้เล่าเรื่องเบื้องหลังการทำงานของเขา รวมทั้งบทความที่เขาเขียนให้กับ The Guardian เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของปฐมบท ‘The Godfather’ ตั้งแต่การต่อสู้ของคอปโปลากับสตูดิโอที่ไม่อยากได้เขามารับบทนี้ รวมทั้งเหตุการณ์ผิดคิวที่ทำให้บาดเจ็บ แต่ทำให้เขากลับรู้สึกโล่งใจที่จะถูกไล่ออกจากหนังที่เต็มไปด้วยความกดดันเรื่องนี้
หลังจากที่มีโปรเจกต์ ‘The Godfather’ เกิดขึ้น สตูดิโออย่าง Paramount Pictures เองดูจะไม่ค่อยแยแสโปรเจกต์นี้เท่าที่ควร ตั้งแต่การลงทุนสร้างโปรดักชันให้ได้บรรยากาศชุมชนชาวอิตาเลียน-อเมริกันช่วงทศวรรษ 1950 รวมทั้งการเลือก มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ที่มีปัญหานอกกองถ่ายสารพัด รวมทั้งการมอบบทไมเคิลให้กับนักแสดงหน้าใหม่ที่เพิ่งจะข้ามฝั่งจากละครเวทีมาสู่ภาพยนตร์อย่างปาชิโน ทั้งที่สตูดิโอได้เล็งนักแสดงเบอร์ใหญ่ ๆ เอาไว้หลายคน ทำให้หนังเรื่องนี้อยู่ในภาวะคลางแคลงของสตูดิโอ
คอปโปลาพบกับปาชิโนครั้งแรกในฐานะผู้ชมละครเวทีเรื่อง ‘The Indian Wants the Bronx’ ในปี 1968 คอปโปลาประทับใจนักแสดงเชื้อสายอิตาเลียนที่โดดเด่น แต่ด้วยความที่เขาเองยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก รวมทั้งการที่เขาเป็นคนเลือกงานการแสดงอย่างพิถีพิถัน ทำให้ปาชิโนเพิ่งมีผลงานการแสดงในหนัง ‘Me, Natalie’ (1969) เพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น ยิ่งทำให้สตูดิโอและผู้ที่เกี่ยวข้องแทบไม่มีชื่อเสียงของเขาอยู่ในใจ แต่หลังจากผลงานหนังเรื่องที่ 2 อย่าง ‘The Panic in Needle Park’ (1971) สตูดิโอก็ยอมเชื่อตามวิสัยทัศน์ของคอปโปลาอย่างเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
“แต่ Paramount ไม่ต้องการให้ผมรับบทเป็น ไมเคิล คอร์เลโอเน พวกเขาต้องการ แจ็ก นิโคลสัน (Jack Nicholson), โรเบิร์ต เรดฟอร์ด (Robert Redford), วอร์เรน เบตตี (Warren Beatty) หรือไรอัน โอนีล (Ryan O’Neal) ในหนังสือของพูโซ ไมเคิลเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ลูกชายที่อ่อนแอที่สุดของครอบครัวคอร์เลโอเน’ เขาควรจะมีรูปร่างเล็ก ผมสีเข้ม หน้าตาหล่อดูบอบบาง ไม่เป็นพิษภัยกับใคร ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของคนที่สตูดิโอต้องการเลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลือกผมด้วย”
“Paramount เริ่มตรวจสอบหนังที่ฟรานซิสถ่ายทำ และพวกเขาก็เริ่มสงสัยอีกครั้งว่าผมเหมาะสมกับบทบาทนี้หรือไม่ ข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดไปทั่วกองถ่ายว่าผมกำลังจะถูกปลดออกจากหนัง คุณจะสัมผัสได้ถึงการขาดแรงผลักดันตอนที่เราถ่ายทำหนัง ทุกคนแม้แต่ทีมงานต่างรู้สึกอึดอัดเมื่อทำงานกับผม ผมรับรู้สิ่งนั้นเป็นอย่างดี มีข่าวลือว่าผมกำลังจะถูกไล่ออก และอาจจะรวมถึงผู้กำกับด้วย ไม่ใช่เพราะว่าฟรานซิสทำงานไม่ได้ แต่เพราะเป็นผมต่างหากที่ไม่ผ่าน แต่เขาคือผู้รับผิดชอบในการพาผมเข้ามาแสดงในหนังเรื่องนี้”
หลังจากการถ่ายทำมาเป็นเวลาสัปดาห์ครึ่ง คอปโปลาได้นัดเขาไปรับประทานอาหาร ก่อนที่คอปโปลาจะสารภาพกับเขาตรง ๆ ว่า เขาไม่เหมาะกับบทบาทนี้จริง ๆ และเมื่อปาชิโนเดินทางไปดูฟุตเทจที่ถ่ายไว้ในวันรุ่งขึ้น แม้ว่าตอนแรกเขาจะไม่ได้อยากดู แต่หลังจากนั้นเขาก็พบว่า การแสดงของเขาช่างไม่เหมาะกับตัวหนังและไม่มีพลังการแสดงที่จะทำให้คนเชื่อว่านี่คือไมเคิล คอร์เลโอเนจริง ๆ แต่นับว่าโชคยังดีที่กองถ่ายตัดสินใจสลับการถ่ายทำฉากสำคัญฉากหนึ่งในหนังขึ้นมาถ่ายทำก่อน ราวกับว่าฉากนี้ถูกส่งมาให้ปาชิโนได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง
ในฉากนี้เป็นฉากที่ไมเคิล คอร์เลโอเน แสร้งเดินทางไปยังร้านอาหารอเมริกัน-อิตาลีเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับศัตรูเก่าทั้งเวอร์จิล โซลลอซโซ เจ้าพ่อยาเสพติดที่พยายามจะกดดันผู้เป็นพ่อ วีโต คอร์เลโอเน เข้าสู่ธุรกิจยาเสพติด และสารวัตรแม็กคลัสกี เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทุจริตที่เคยทำร้ายไมเคิลมาก่อน แต่หารู้ไม่ว่า ไมเคิลได้วางแผนล้างแค้นด้วยการแอบซ่อนอาวุธปืนในชักโครกห้องน้ำเอาไว้แล้ว หลังจากการเจรจาเริ่มขึ้นได้ไม่นาน ไมเคิลได้ใช้อาวุธปืนสังหารทั้งคู่อย่างโหดเหี้ยมคาร้านอาหาร ก่อนจะทิ้งอาวุธปืน กระโดดขึ้นรถ และเดินทางไปยังเมืองซิซิลี ประเทศอิตาลีเพื่อหลบหนีคดี
ปาชิโนมีโอกาสเล่าถึงฉากนี้เพิ่มเติมในพอดแคสต์ Conan O’Brien Needs a Friend ถึงบรรยากาศการถ่ายทำฉากสำคัญที่เต็มไปด้วยความกดดัน ซึ่งใช้เวลามากกว่า 15 ชั่วโมงในร้านอาหารเล็ก ๆ ที่เงียบสงัด ร้อนอบอ้าว และไม่มีรถเทรลเลอร์ให้พักผ่อน ไม่มีแม้แต่คนเสิร์ฟน้ำด้วยซ้ำ
“หลังจากที่ผมยิงสองคนนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นนักแสดงที่ผมรักพวกเขามาก ๆ นะ ผมยิงพวกเขาแล้วก็วิ่ง ผมโยนปืนทิ้งแล้วก็วิ่งออกไปที่ถนน และกระโดดขึ้นรถที่กำลังเคลื่อนที่ แล้วพวกเขาก็ไม่มีสตันต์แมนสำหรับผมในกองถ่ายด้วย พวกเขาอาจจะอยากให้ผมกระโดดแล้วได้รับบาดเจ็บ แล้วจะได้ออกจากหนังเรื่องนี้ไปหรือเปล่าก็ไม่รู้”
แต่หลังจากที่เขากระโดดขึ้นรถ แทนที่จะก้าวกระโดดขึ้นรถ เขากลับก้าวพลาดจนทำให้ตัวของเขาลื่นล้ม ร่างกายของเขาทรุดลงที่พื้นถนน ทำให้ข้อเท้าของเขาได้รับบาดเจ็บจนลุกขึ้นยืนไม่ไหว แต่ในเวลานั้น เขากลับรู้สึกโล่งใจที่จะได้ออกจากหนังที่เต็มไปด้วยความกดดันนี้เสียที
“รถคันนั้นมีส่วนที่ให้ผมเกาะและกระโดดเพื่อจะก้าวเข้าไปในรถได้ แต่คงเป็นเพราะว่ามันลื่น ผมเลยล้ม ข้อเท้าของผมเจ็บมาก ผมมองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วพูดว่า ‘ขอบคุณพระเจ้า’ นี่คือความคิดของผม ผมพูดจริง ๆ นะว่า ‘ขอบคุณพระเจ้า ในที่สุดก็พาผมออกไปจากหนังเรื่องนี้ได้ซะที’ นั่นคือความรู้สึกของผมที่อยากจะออกจากหนังเรื่องนี้มากขนาดไหน ผมคิดว่านี่คงเป็นสิ่งที่สวรรค์ประทานมาให้”
ปาชิโนเล่าว่า หลังจากนั้นทีมงานก็เข้ามาดูอาการของเขา พยายามพยุงเขาขึ้น แต่แทนที่ปาชิโนจะโดนไล่ออกจากหนังและไม่ได้แสดงในหนังเรื่องนี้อีกต่อไปอย่างที่เขาตั้งใจ กลับกลายเป็นว่ากลับมีสตันต์แมนมาถ่ายทำฉากนั้นแทน และฉีดคอร์ติโซน (สารจำพวกสเตียรอยด์) เข้าที่ข้อเท้าของเขา จนทำให้อาการเริ่มดีขึ้น
“แล้วคนก็เข้ามาล้อมรอบผมแล้วพูดว่า ‘เขาบาดเจ็บ…’ หลังจากนั้นพวกเขาก็เอาเข็มใหญ่ ๆ แทงเข้าไปที่ข้อเท้าผม เพื่อให้ผมสามารถถ่ายทำต่อได้ในวันนั้น และพวกเขาก็ให้ผมได้อยู่ต่อ”
แต่สิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าก็คือ คอปโปลาได้นำฟุตเทจฉากนี้ไปให้สตูดิโอได้ชม แต่กลายเป็นว่าการแสดงของปาชิโนในครั้งนี้กลับส่งพลังจนทำให้ผู้บริหารของสตูดิโอยอมให้เขาแสดงในหนังเรื่องนี้ต่อไปได้
และอย่างที่ทราบกันดีว่า ที่เหลือก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ หนังเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์รายได้ถล่มทลาย เป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดของปี 1972 และยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 9 รางวัล สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของปีนั้นมาครอง
การรับบทบาทลูกชายคนเล็กของ วีโต คอร์เลโอเนในไตรภาคนี้ ส่งให้นักแสดงหนุ่มโนเนมอย่างปาชิโน แจ้งเกิดในฐานะนักแสดงแถวหน้าที่มีผลงานคุณภาพอีกมากมาย ทั้งการขึ้นมารับบทบาทนำใน 2 ภาคต่อมาทั้ง ‘The Godfather Part II’ (1974) และ ‘The Godfather Part III’ (1990) รวมทั้งการแสดงในหนังคุณภาพอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่ ‘Serpico’ (1973), ‘Dog Day Afternoon’ (1975), ‘Scarface’ (1983) และคว้ารางวัลออสการ์ตัวแรกได้จากการรับบทนำใน ‘Scent of a Woman’ (1992) และอีกมากมาย