นอกจากเราจะรู้จัก อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในฐานะนักธุรกิจและนักลงทุนที่มีธุรกิจอยู่ในมือมากมาย ตั้งแต่กิจการด้านอวกาศ SpaceX, บริษัทผลิตรถยนต์ Tesla รวมทั้งการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X จนทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีก 1 ภาพลักษณ์ที่หลายคนจดจำเขาก็คงหนีไม่พ้นการเป็นมหาเศรษฐีในมาดเพลย์บอย ที่ทำให้หลายคนนำไปเปรียบเทียบกับตัวละครมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และเพลย์บอยเจ้าเสน่ห์กรุ้มกริ่มของจักรวาล MCU อย่าง Tony Stark
แต่แน่นอนว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราไม่เคยรู้เลยว่าคนที่เคยเป็นเจ้าของบทบาท Tony Stark หรือ Iron Man ตัวจริงเสียงจริง และผู้นำของทีม Avengers มานานนับทศวรรษอย่าง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) จะคิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร เมื่อตัวละครซูเปอร์ฮีโรของเขา ถูกนำไปเปรียบเทียบกับนักธุรกิจที่มักจะตกเป็นข่าวเกี่ยวกับแนวคิดการบริหารธุรกิจ การเมือง การเงิน และอีกมากมายที่สร้างประเด็นถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ในการสัมภาษณ์ล่าสุดกับพอดแคสต์ On with Kara Swisher นี่คือครั้งแรกที่นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ถูกยิงคำถามแบบตรง ๆ ถึง โทนี สตาร์ก ในโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งความคิดเห็นของเขาต่อแนวคิดของมัสก์และ SpaceX ในการสร้างอาณานิคมอวกาศบนดาวอังคารในอนาคต
“ผมเองเคยเจอเขาแค่ไม่กี่ครั้ง ในฐานะชายอเมริกันผิวขาววัยเกือบ 60 ปีที่มีชีวิตปกติสุข ผมก็แค่อยากจะให้เขาควบคุมพฤติกรรมของตัวเองให้มากขึ้น แต่เรื่องนั้นมันไม่ใช่หน้าที่ของผมน่ะ ผมรู้ว่าความคิดที่ว่า ‘พวกเราทุกคนจะสามารถไปอยู่บนดาวอังคารได้’ มันไม่ค่อยน่าเชื่อสำหรับผมเลย แต่ถึงแบบนั้น คุณก็ยังต้องมองทุกสิ่งที่เขาทำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีคุณค่าอย่างไรบ้าง”
ที่ผ่านมา มัสก์ไม่ใช่คนแปลกหน้าของดาวนีย์ จูเนียร์ และ MCU เพราะนอกจากมัสก์จะเคยไปเป็น Cameo ปรากฏตัว ในฉากที่โทนี สตาร์ก และ เปปเปอร์ พอตส์ แฟนสาวเดินทางไปยังโมนาโกเพื่อเข้าร่วมในการแข่งขันรถยนต์กรังด์ปรี ใน ‘Iron Man 2’ (2010) แล้ว
ครั้งหนึ่ง มาร์ก เฟอร์กัส (Mark Fergus) 1 ในทีมผู้เขียนบทหนังแฟรนไชส์ ‘Iron Man’ ได้เปิดเผยกับ New York Magazine เขาได้แรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างคาแรกเตอร์ โทนี สตาร์ก จากนักธุรกิจทรงอิทธิพลของยุค เฟอร์กัสเล่าว่า แต่เดิมเขามีภาพลักษณ์ของ ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ (Howard Hughes) มหาเศรษฐีอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดช่วงทศวรรษ 1940 อยู่ในใจ เพราะเป็นมหาเศรษฐีหนุ่มผู้มีภาพลักษณ์เพลย์บอย เคยมีข่าวคบหากับนักแสดงหญิงในฮอลลีวูดมากหน้าหลายตา แต่เฟอร์กัสกลับรู้สึกว่าผู้คนสมัยนี้น่าจะไม่คุ้นเคยกับฮิวจ์อีกต่อไป
เขาจึงเลือกมหาเศรษฐีและคนดังรุ่นใหม่หลายคนในยุคนี้มาผสมผสาน ทั้งภาพลักษณ์ความสนุกสนานของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในมาดมหาเศรษฐีก่อนที่จะกลายเป็นประธานาธิบดี, ความเป็นอัจฉริยะและความซีเรียสของ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) และมัสก์ที่เป็นการผสมผสานแนวทางของทั้งคู่ จนได้ออกมาเป็น CEO ที่มีความจริงจังในฐานะนักธุรกิจ แต่ก็มีภาพของความเป็นคนดังเจือปนอยู่ด้วย
ในขณะที่ จอน ฟาฟโรว์ (Jon Favreau) ผู้กำกับ ‘Iron Man’ (2008), ‘Iron Man 2’ (2010) เคยเปิดเผยในพอดแคสต์ Recode Decode ว่า ตอนช่วงการถ่ายทำภาคแรก ดาวนีย์ จูเนียร์เคยใช้ชีวิตอยู่กับมัสก์ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อซึมซับความเป็นมหาเศรษฐีในแบบ โทนี สตาร์ก รวมทั้งยังเปิดเผยว่า มีการใช้พื้นที่สำนักงาน SpaceX ของมัสก์ในการถ่ายทำ ‘Iron Man 2’ อีกด้วย
ในหนังสือชีวประวัติ ‘Elon Musk: Tesla, SpaceX, and the Quest for a Fantastic Future’ เขียนโดย แอชลี แวนซ์ (Aslee Vance) ที่ตีพิมพ์ในปี 2015 มีส่วนหนึ่งที่เล่าถึงเบื้องหลังของการพบปะกันระหว่างมัสก์และดาวนีย์ จูเนียร์ โดยในปี 2007 ในระหว่างเตรียมการถ่ายทำภาคแรก ฟาฟโรว์ได้เช่าพื้นที่ว่างและอาคารในลอสแองเจลิส ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งสำนักงานและโรงเก็บเครื่องบินของบริษัท Hughes Aircraft บริษัทด้านการบินของฮิวจ์ สำหรับใช้เป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์
ดาวนีย์ จูเนียร์ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้บ่อยครั้ง และกำลังค้นหาคาแรกเตอร์ให้กับ โทนี สตาร์ก ที่เขาต้องการให้เป็นมหาเศรษฐีอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ได้ดูรวยแบบอลังการ ซึ่งตัวเลือกแรกที่เขานึกถึงก็คือมัสก์
ดาวนีย์ จูเนียร์จึงได้ขอเข้าไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ในเดือนมีนาคม 2007 โดยมีมัสก์เป็นผู้พาเยี่ยมชมด้วยตัวเอง นอกจากนี้ทั้งคู่ยังมีโอกาสเดินเล่น พูดคุยในออฟฟิศ และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน นอกจากนี้ มัสก์ยังได้อนุญาตให้ยืมรถยนต์ Tesla Roadster สีเทามาเข้าฉากใน ‘Iron Man 2’ ก่อนที่จะออกวางจำหน่ายจริงอีกด้วย
ชื่อเสียงและทรรศนะของมัสก์เริ่มกลายเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเองก็ส่งผลต่อดาวนีย์ จูเนียร์ ที่เคยรู้จักกับเขาด้วยเช่นกัน หลังจากที่เขาได้ยกย่องฟาฟโรว์ในพอดแคสต์ Awards Chatter ของ The Hollywood Reporter ว่าเป็น ‘อีลอน มัสก์ แห่งวงการภาพยนตร์’ ซึ่งเขามีความตั้งใจจะชื่นชมผู้กำกับเพื่อนซี้ในฐานะที่มีความสนใจในเทคโนโลยี แต่กลายเป็นว่าเขากลับถูกชาวเน็ตวิจารณ์ที่เอาฟาฟโรว์ไปเปรียบเทียบกับมัสก์
แต่ไม่ว่ามัสก์จะมีชื่อเสียงหรือชื่อเสียจากมุมมองของใครก็ตาม แต่ดาวนีย์ จูเนียร์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธในสิ่งที่มัสก์ได้ทำเอาไว้มากมาย
“ทุกวันนี้ การแยกบุคคลออกจากพฤติกรรมของใครก็ตามมันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่า ‘นรกก็คือคนอื่น’ น่ะนะครับ และสิ่งนี้ก็ถูกนำไปใช้ในยุคของข้อมูลข่าวสาร เพื่อที่จะแบ่งแยกเรา มากกว่าที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการสนทนา การโต้แย้ง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”