ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘Dune’ มหากาพย์ภาพยนตร์ไซไฟแฟนตาซีจากฝีมือของผู้กำกับวิสัยทัศน์เข้มข้น เดอนี วีลเนิฟ (Denis Villeneuve) คือผลงานหนังมหากาพย์ที่ทะเยอทะยานมากที่สุดยุคนี้ ผลงานทั้ง ‘Dune: Part One’ (2021) และ ‘Dune: Part Two’ กลายเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่งของยุคนี้ไปแล้วก็ว่าได้
และความสำเร็จนี้ก็กำลังถูกต่อยอดออกมาเป็นจักรวาล ทั้งในหนังภาคที่ 3 ‘Dune: Messiah’ ที่มีโปรแกรมเข้าฉาย 18 ธันวาคม ปี 2026 รวมทั้งซีรีส์สปินออฟ ‘Dune: Prophecy’ ของ HBO ที่เล่าเรื่องราวของการก่อกำเนิดนิกาย Bene Gesserit ในช่วงระยะเวลาประมาณ 10,000 ปีก่อนหนังภาคแรก ที่จะเข้าฉายต้อนรับการมาของแพลตฟอร์ม Max ในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ในระหว่างที่แฟน ๆ หนังมหากาพย์ ‘Dune’ ของวีลเนิฟต่างก็ประทับใจในความยิ่งใหญ่ของหนัง 2 ภาคแรก และกำลังตั้งตารอผลงานใหม่ ๆ ในอนาคต จะมีก็แต่ เควนทิน ทารันทิโน (Quentin Tarantino) ผู้กำกับจอมระห่ำเจ้าเก่าหน้าเดิม กลับไม่ได้ใยดีในปรากฏการณ์ความสำเร็จของมหากาพย์ชุดนี้มากนัก
ทารันทิโนได้เปิดเผยกับพอดแคสต์ The Bret Easton Ellis Podcast ว่า แม้เขาเองจะเป็นคอหนัง และเขาเองไม่ได้มีประเด็นอะไรกับวีลเนิฟทั้งสิ้น แต่เขากลับไม่สนใจอยากจะดูมหากาพย์ ‘Dune’ สักเท่าไหร่ เพราะมองว่านี่คืองานหนังรีเมกที่ไม่ได้น่าจะมีอะไรแปลกใหม่ไปกว่าเวอร์ชันก่อนหน้าที่เขาเคยดู
“ผมดู ‘Dune’ ของ เดวิด ลินช์ มา 2-3 ครั้งแล้ว เลยไม่ได้จำเป็นต้องดูเรื่องนั้นอีก ผมไม่จำเป็นต้องกลับไปดูไอ้หนอนทราย ไม่จำเป็นต้องดูหนังที่เอาแต่พล่ามคำว่าสไปซ์ (Spice) กันเป็นคุ้งเป็นแคว มันก็แค่เป็นหนังรีเมกที่รีเมกมาจากหนังเรื่องนั้นแล้วก็เรื่องแล้วเรื่องเล่าเท่านั้นเอง”
“มีคนถามผมว่า ‘คุณได้ดู ‘Dune’ หรือยัง ? ได้ดู ‘Ripley’ แล้วหรือยัง ? คุณได้ดู ‘Shōgun’ แล้วหรือยัง ?’ ผมก็เลยตอบไปว่า ไม่ ๆ ๆ ๆ ‘Ripley’ มีหนังสือนิยายอยู่ 6-7 เล่ม แล้วถ้าจะทำอีกภาค ทำไมต้องไปทำซ้ำเรื่องเดิมกับที่เขาเคยทำมาแล้ว 2 ครั้งด้วยวะ ? ผมเคยดูเรื่องนั้นมา 2 ภาคแล้ว แล้วก็ไม่ชอบมันทั้ง 2 เวอร์ชันด้วย ผมเลยไม่สนใจอยากจะดูเป็นครั้งที่ 3 อีก เว้นว่าถ้าทำเรื่องอื่น มันอาจจะน่าสนใจ และผมอาจจะลองดูก็ได้”
“ผมเคยดู (มินิซีรีส์) ‘Shōgun’ เวอร์ชันยุค 80s ครบทั้ง 13 ชั่วโมง และผมก็พอแล้ว ผมไม่จำเป็นต้องไปหาดูเรื่องนั้นอีก ไม่ว่าเขาจะทำกันออกมาเป็นยังไง ผมไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าพวกเขาจะพาผมย้อนเวลากลับไปยุคโบราณของญี่ปุ่น ผมไม่ได้สนใจเลย เพราะว่าผมเคยดูไปแล้ว”
นับตั้งแต่ที่หนังสือนิยาย ‘Dune’ จากบทประพันธ์ของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 ตัวหนังสือก็สร้างปรากฏการณ์เป็นนิยายไซไฟที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความซับซ้อนของเรื่องราวที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบเกี่ยวกับอารยธรรม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ปรัชญา การเมือง ระบบดวงดาวและจักรวาล เรื่อยจนไปถึงประเด็นเกี่ยวกับทุนนิยม การล่าอาณานิคม ความรัก และการก้าวผ่านวัย ทำให้นิยายชุดนี้ขึ้นชื่อเรื่องความละเอียดยิบจนไม่สามารถดัดแปลงเป็นหนังได้โดยง่าย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เคยมีคนทำหนังทะเยอทะยานที่จะหยิบ ‘Dune’ มาดัดแปลงเป็นหนังตั้งแต่ 1971 แต่ก็ล้มเหลว จนกระทั่งผู้กำกับหนังสุดเซอร์เรียลชาวชิลี-ฝรั่งเศส อเลฮานโดร โจโดโรว์สกี (Alejandro Jodorowsky) ได้รับสิทธิ์ในการดัดแปลงเป็นหนังที่คับคั่งไปด้วยทีมงานระดับตัวเป้งของวงการ ตั้งแต่นักแสดงอาทิ ออร์สัน เวลส์ (Orson Welles), ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí), มิก แจ็กเกอร์ (Mick Jagger), เดวิด คาร์ราดีน (David Carradine) รวมทั้งยังได้ลูกชายของโจโดโรว์สกีมารับบทเป็นเจ้าชายพอล อะเทรดีส แถมยังได้วงดนตรีโปรเกรสซีฟร็อก Pink Floyd มาทำเพลงประกอบให้อีกต่างหาก
แต่สุดท้ายด้วยความทะเยอทะยานขั้นสุด เพราะโจโดโรว์สกียืนยันว่าต้องการจะทำ ‘Dune’ ความยาว 12 ชั่วโมง (ขนาดเฮอร์เบิร์ตเองยังอึ้งกับบทหนังที่หนาอย่างกับสมุดหน้าเหลือง) จนสุดท้ายโปรเจกต์นี้ก็ไม่ได้ไปต่อด้วยปัญหาด้านงบประมาณ และภายหลังก็มีการบันทึกเบื้องหลังหนังที่ไม่ได้สร้างฉบับนี้ไว้ในหนังสารคดี ‘Jodorowsky’s Dune’ (2013)
ปี 1976 ดิโน เดอ ลอเรนทิส (Dino De Laurentiis) โปรดิวเซอร์ชาวอิตาลีได้ว่าจ้างให้ ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) มาเป็นผู้เขียนบทที่ถูกแบ่งเป็น 2 ภาค แต่สุดท้าย สก็อตต์ก็ตัดสินใจถอนตัวและหันไปทำงานออริจินัลของตัวเองอย่าง ‘Blade Runner’ (1982) จนประสบความสำเร็จ
หนังเวอร์ชันแรกที่สร้างขึ้นได้สำเร็จก็คือ ‘Dune’ (1984) ฉบับของ เดวิด ลินช์ (David Lynch) ที่กว่าจะเคี่ยวเข็ญจนได้ออกฉาย ก็ต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากเยอะสิ่งตามประสากองถ่ายหนังฟอร์มยักษ์ และความขัดแย้งระหว่างเดอ ลอเรนทิส ก็ทำให้ตัวหนังไม่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของลินช์ พอเข้าฉาย ตัวหนังก็ล้มเหลวทั้งรายได้และคำวิจารณ์อย่างหนัก กลายเป็นหนังเกลียดหนังชังของลินช์มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนโปรเจกต์หนัง ‘Dune’ ของวีลเนิฟเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2016 เขาได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในระหว่างฉายหนังเรื่อง ‘Arrival’ (2016) ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิสถึงความปรารถนาในการกำกับหนัง ‘Dune’ ซึ่งเป็นนิยายเรื่องโปรดของเขา ในขณะที่สตูดิโอ Legendary Pictures สามารถปิดการเจรจาลิขสิทธิ์ดัดแปลง ‘Dune’ ได้ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน
แมรี แพเรนต์ (Mary Parent) รองประธานของ Legendary เองได้อ่านบทสัมภาษณ์ของวีลเนิฟถึงความต้องการกำกับหนัง ‘Dune’ ประจวบเหมาะกับที่ผู้บริหารเองก็เล็งให้เขามากำกับหนังอยู่แล้ว วีลเนิฟจึงเสมือนเป็น ‘ลีซาน อัล-ไกอีบ’ ที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
หลังจากที่ทารันทิโนให้สัมภาษณ์ไม่นาน ผู้กำกับชาวแคนาดาได้มีโอกาสโต้ตอบคอมเมนต์ของผู้กำกับรุ่นพี่ ในในระหว่างการบรรยายพิเศษให้แก่นักศึกษาของ Mel Hoppenheim School of Cinema แห่งมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย (Concordia University) เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ที่แค่ 4 ประโยคแรกก็เรียกเสียงหัวเราะลั่นจากนักศึกษาที่เข้าร่วมรับฟัง ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยประโยคเด็ดที่ชวนให้คิดตาม
“ผมไม่แคร์ครับ…คือก็จริงอยู่ ผมเห็นด้วยกับเขานะที่ไม่ชอบไอเดียการเอาของเก่ามาใช้ซ้ำ ๆ หรือการนำเอาไอเดียเก่า ๆ กลับมาใช้อีกครั้งวนไป แต่สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยก็คือ สิ่งที่ผมทำมันไม่ใช่การรีเมก มันคือการดัดแปลงจากหนังสือ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นผลงานต้นฉบับมากกว่าน่ะ”
“…แต่ว่าเราทั้ง 2 คนก็มีอะไรที่แตกต่างกันมากอยู่นะครับ”