Release Date
14/11/2024
ตวามยาวหนัง
148 นาที
ผู้กำกับ
ริดลีย์ สกอต
นักแสดง
พอล เมสคาล, เปโดร ปาสคาล, เดนเซล วอชิงตัน
ผลงานเด่นผู้กำกับ
Gladiator, Alien, Blade Runner, Kingdom of Heaven, Black Hawk Down, House of Gucci, The Martian
Our score
8.1[รีวิว] Gladiator II – ทำถึงในความเล่นใหญ่ แม้ทำหัวใจ(จากต้นฉบับ)ตกหล่น
ทำถึงในความเล่นใหญ่ แม้ทำหัวใจ(จากต้นฉบับ)ตกหล่น
บทหนังใช้เวลากว่าร้อยละ 60 ในการพยายามเน้นย้ำว่าลูเชียสคือลูกของแม็กซิมัสบทหนังโดยทีมบทใหม่ยังคงอุตส่าห์เดินตามแพตเทิร์นหนังภาคแรกแต่สิ่งที่ 'Gladiator II' ปรุงเพิ่มและทำให้มันซับซ้อนกว่าเดิมคือการเพิ่มปมขัดแย้งให้ตัวละครลูเชียส แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คงเป็น "ท่าบังคับ" ที่หนังต้องเดินตามแต่ตัวละครเอกที่ควรจะเด่นในหนังภาคนี้ดูแบน ๆ เป้าหมายเป็นเส้นตรงและไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรยิ่งใหญ่แบบเดียวกับแม็กซิมัสในหนังภาคแรกแต่เกมอำนาจการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบท มาครีนัส ของเดนเซล วอชิงตัน กลับมีสีสันและตรึงผู้ชมไว้ได้ตลอดเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่งของหนังและยังมีฉากแอ็กชันอีพิคสุดอลังการที่น่าจะถูกใจผู้ชมได้ไม่ยาก
จุดเด่น
- หนังเต็มไปด้วยฉากแอ็กชัน อีพิคตระการตา
- งานบันทึกเสียงทำให้การชมในระบบ IMAX With Laser กระหึ่มสะใจมาก
- การแสดงของ เดนเซล วอชิงตัน โดดเด่นและเปี่ยมสีสันมาก
จุดสังเกต
- บทภาพยนตร์ยังให้สมดุลระหว่างเรื่องราวพลอตหลักกับบริบทของเรื่องราวได้ไม่สมดุลเท่าไหร่
- เสียดายนักแสดงรุ่นใหม่ น่าจะได้โอกาสเฉิดฉายมากกว่านี้
-
บทภาพยนตร์
6.0
-
โปรดักชัน
9.0
-
การแสดง
7.5
-
ความบันเทิง
9.0
-
ตวามคุ้มค่าในการรับชม
9.0
ย้อนกลับไป 24 ปีก่อน ‘Gladiator’ หนังโรมันอีพิคที่กลายเป็นของเชยของฮอลลีวูดประสบความสำเร็จอย่างงดงามแม้ออกฉายในปี ค.ศ. 2000 ที่ผู้คนกำลังตื่นตัวกับเรื่องเทคโนโลยีและได้จารึกประวัติศาสตร์ในฐานะหนังที่ครองรางวัลออสการ์ทั้งสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปจนถึงสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายและรางวัลด้านเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมและบันทึกเสียงยอดเยี่ยมรวม 5 สาขา เหลือไว้เพียงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมที่ริดลีย์ สกอต (Ridley Scott) ยังคงเป็นแค่แขกรับเชิญอยู่ดี
และอีก 2 ทศวรรษต่อมาแม้ริดลีย์ สกอต จะยังคงมีงานกำกับต่อเนื่องและเปลี่ยนแนวหนังไปแบบไม่เกรงใจอายุตัวเองทั้งแนวไซไฟอย่าง ‘The Martian’ ที่เขาได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและอกหักเป็นรอบที่ 4 หรือจะเป็นแนวอัตชีวประวัติก็มีหนังออกมาต่อเนื่องทั้ง ‘All the money in the world’ หรือ ‘House of Gucci’ ไปจนถึงการกลับไปปูพื้นหนังชุดเอเลียนทั้ง ‘Prometheus’ และ ‘Alien Covenant’ แต่ก็ยังไม่ทิ้งหนังพีเรียดย้อนยุคทั้ง ‘Kingdom of Heaven’ ‘Exodus Gods and King’ หรือ ‘The Duel’ แต่ความสำเร็จก็ยังเทียบไม่ได้เลยกับ ‘Gladiator’ และในวันนี้ก็ได้เวลาที่สกอตกลับมาสานต่อตำนานสะเทือนโคลอสเซียมกับวีรกรรมก้องแผ่นดินของ แม็กซิมัส นักสู้แกลดิเอเตอร์ผู้กล้า
สำหรับ ‘Gladiator II’ จะหันไปโฟกัสกับ โรม ในช่วงเวลาร่วมสองทศวรรษต่อมาหลังบุกไปยึดเมืองทางแอฟริกาภายใต้การนำของ นายพลมาร์คัส อาแคเซียส (รับบทโดยเปโดร ปาสคาล, Pedro Pascal) และมันได้สุมไฟแค้นให้กับ ฮานโน (รับบทโดยพอล เมสคาล, Paul Mescal) นักรบผู้กล้าที่ถูกจับเป็นเชลยและกลายเป็นนักสู้แกลดิเอเตอร์ให้กับ มาครีนัส (รับบทโดย เดนเซล วอชิงตัน, Denzel Washington) นายหน้าจัดหานักสู้เพื่อความบันเทิง แต่การมาถึงโรมของฮานโนครั้งนี้ทำให้เขาได้รู้ชาติกำเนิดที่แท้จริงว่าตนคือ ลูเชียส หน่อเนื้อแท้จริงที่รอวันพิสูจน์หัวใจเพื่อปลดแอกเขาสู่อิสรภาพจากซีซาร์ฝาแฝดโฉดชั่วที่ทำให้บ้านเมืองเสื่อมทราม
ก่อนที่จะไปวิเคราะห์อะไรลึกซึ้งเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนจากการโปรโมทหนังผ่านเทรลเลอร์คือการพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวหนังกับตัวหนังภาคแรกทั้งการออกมาบอกกันโต้ง ๆ เลยว่าพระเอกคือลูกชายของ แม็กซิมัส พระเอกหนังภาคแรก ซึ่งในตัวหนังจริงบทหนังก็ใช้เวลากว่าร้อยละ 60 ในการพยายามเน้นย้ำว่าลูเชียสคือลูกของแม็กซิมัส ทั้งแฟลชแบ็ค ทั้งอาการงอนเมื่อ ลูซิลลา (รับบทโดย คอนนี เนลเสน, Connie Nielsen) แม่ของเขาพยายามมาเน้นย้ำว่าเขาคือลูกชายของเธอ หรือกระทั่งให้ส่งตัวละครหมอประจำโคลอสเซียมมาเน้นย้ำวรรคทองของหนังภาคแรกที่ว่า “What we do in life, echoes in eternity” มาย้ำเพื่อเชื่อมโยงหนังและทำให้คนดูเห็นว่า เฮ้ย บทหนังตั้งใจเขียนให้เชื่อมกับภาคแรกนะเว้ย
ยังไม่พอบทหนังโดยทีมบทใหม่ยังคงอุตส่าห์เดินตามแพตเทิร์นหนังภาคแรก เริ่มจากความแค้นของตัวเอกไปเจอกับความฉ้อฉลของผู้ปกครองจนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญและความฝันถึงเสรีของชาวโรม แต่สิ่งที่ ‘Gladiator II’ ปรุงเพิ่มและทำให้มันซับซ้อนกว่าเดิมคือการเพิ่มปมขัดแย้งให้ตัวละครลูเชียส หรือที่เราจะได้ยินชื่อ ฮานโน ในช่วง 20-30 นาทีแรกของหนัง ฮานโน ใช้ชีวิตตามครรลองของชนพื้นเมืองในแอฟริกาแต่งเมียและใช้ชีวิตแบบนับถือผีตามที่เราได้เห็นในช่วงองก์แรก และต่อมาก็ได้สร้างจุดกระตุ้นเรื่องแรกหลังโรมบุกมายังบ้าน (หลังใหม่) ของเขาและสร้างปมแค้นด้วยความตายของเมียรัก
ตรงนี้ยอมรับเลยว่ามันทำให้ ‘Gladiator II’ มีจุดเริ่มที่น่าสนใจไม่น้อยเลยนะครับ เพราะเรากำลังจะได้ดูเรื่องราวของนักรบที่สุมไฟแค้นมาเต็มอกเพื่อไปเอาคืนเมืองล่าอาณานิคมอย่าง โรม แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คงเป็น “ท่าบังคับ” ที่หนังต้องเดินตามนี่แหละครับ เพราะเรื่องราวมันถูกเซ็ตไว้แล้วว่า ฮานโน จะต้องไปเป็นทาส เป็นแกลดิเอเตอร์ และจะต้องไปรู้ว่าตัวเองคือ ลูเชียส ที่สำคัญคือเป้าหมายชีวิตของ ลูเชียส เองก็ดันไม่ได้มีอะไรใหญ่ไปกว่าการแก้แค้น นายพลมาร์คัส ที่ฆ่าเมียตัวเอง มันเลยทำให้ตัวละครเอกที่ควรจะเด่นในหนังภาคนี้ดูแบน ๆ เป้าหมายเป็นเส้นตรงและไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรยิ่งใหญ่แบบเดียวกับแม็กซิมัสในหนังภาคแรก
แต่ในขณะเดียวกันเรื่องราวที่ซับซ้อนกว่ากลับอยู่นอกวงโคจรชีวิตของลูเชียส เพราะบทหนังก็ใส่เรื่องราวการเมืองที่ซับซ้อนทั้งแผนการยึดอำนาจของ นายพลมาร์คัส จากซีซาร์แฝดที่บริหารบ้านเมืองแบบปล่อยเบลอ หรือจะเป็นเกมอำนาจของ มาครีนัส นายหน้าค้าทาสแกลดิเอเตอร์ที่พยายามกรุยทางตัวเองสู่อำนาจแม้จะต้องสังหารหมู่ใครก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่เข้มข้นกว่าการต่อสู้ของลูเชียส และมีสีสันพอจะดึงความสนใจของผู้ชมไว้ตลอดเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่งของหนังได้ ซึ่งทำให้เห็นเลยว่าบทหนังเหมือนจะเล่าเรื่องราวในเชิงบริบทได้สนุกสนานมากกว่า เมนพลอต (main plot) ที่เป็นการต่อสู้ของลูเชียสเสียอีก
แต่กระนั้นก็เหมือนทีมบทจะรู้ว่าจุดที่ทำให้หนังอย่าง ‘Gladiator II’ ขายได้ก็คือการใส่ฉากแอ็กชันสุดอีพิคเข้าไป ดังนั้นสิ่งที่ผู้ชมที่ตีตั๋วเข้าโรงดูจอใหญ่จะได้กำไรแน่ ๆ คือการได้ชมฉากแอ็กชันสุดอลังการทั้งฉากรบตอนเปิดเรื่อง การต่อสู้ระหว่างมนุษย์ในโคลอสเซียม หรือ จะเป็นฉากขายของหนังภาคนี้อย่างการทำยุทธนาวีในโคลอสเซียมที่มาเต็มทั้งฉากยิงเรือรบและปลาฉลาม ! ใช่ครับคือฉากแอ็กชันหนังภาคนี้ไปเบอร์นั้นเลย ยังไม่รวมฉากแอ็กชันย่อย ๆ ที่แทรกอยู่ในหนังแบบกลัวคนดูจะเบื่อการดูหนังที่มีฉากสนทนา ซึ่งผลลัพธ์มันก็ทำให้ผู้ชมเอ็นจอยกับหนังได้ไม่ยากจริง ๆ แม้จะต้องแลกมากับการยอมทิ้งหัวใจของความเป็นดราม่าแบบเดียวกับที่หนังภาคแรกเป็น
ในส่วนของนักแสดงต้องบอกว่าน่าเสียดายสำหรับการแคสนักแสดงหน้าใหม่ทั้ง พอล เมสคาล ในบท ลูเชียส ที่จริง ๆ คือหน่วยก้านดีมากนะครับ แต่บทลูเชียสไม่ใช่บทที่ส่งเสริมนักแสดงเหมือนคราวที่บท แม็กซิมัส ส่ง รัสเซล โครว (Russell Crowe) ให้เจิดจรัสและได้ครองออสการ์ ส่วนบทซีซาร์ฝาแฝดที่อุตส่าห์ได้ โจเซฟ ควินน์ (Joseph Quinn) หนึ่งในนักแสดงดาวรุ่งมารับบทจักรพรรดิ์เกต้ามารับบทหนึ่งในฝาแฝดก็ดันไม่ได้มีพื้นทื่ในการปล่อยของทั้งที่มีร่องรอยของการพยายามสานต่อคาแรกเตอร์ตัวร้ายต่อจาก ฮวาคีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) ที่ทำให้หนังภาคแรกน่าจดจำมาแล้ว
และกลับกลายเป็น เดนเซล วอชิงตัน เสียอีกที่เคลมความโดดเด่นของหนังทั้งเรื่องได้อย่างแท้จริงเพราะบท มาครีนัส คือสีสันที่มีหลายเฉดทั้งความเมตตาแบบแฝงผลประโยชน์ที่เริ่มจากการเป็นคนส่งเสริมให้ ลูเชียส ได้กลายเป็นฮีโร่ในลานประลองจนไปสู่การเล่นเกมการเมืองที่สกปรกมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้บท มาครีนัส ของวอชิงตันเข้าไปนั่งในใจผู้ชมได้ไม่ยาก ส่วนการปรากฎตัวของคอนนี เนลสัน (Connie Nielsen) ที่กลับมารับบท ลูซิลลา ภรรยาของนายพลมาร์คัสและเป็นแม่ของ ลูเชียส ก็ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างหนังสองภาคได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด ส่วนเปโดร ปาสคาล ก็ให้การแสดงที่น่าพอใจในบทนายพล มาร์คัส แม้ส่วนตัวจะเสียดายบทบาทของเขาในหนังที่ดูลดทอนความสำคัญลงเรื่อย ๆ เมื่อเรื่องราวดำเนินไปสู่บทสรุป
โดยรวมแล้ว ‘Gladiator II’ ยังคงให้ความบันเทิงผู้ชมด้วยภาพฉากรบอันตระการตา ผ่านเลนส์ของ จอห์น แมธีสัน (โดยรวมแล้ว ‘Gladiator II’ ยังคงให้ความบันเทิงผู้ชมด้วยภาพฉากรบอันตระการตา ผ่านเลนส์ของ จอห์น แมธีสัน (John Mathieson) ที่กลับมากำกับภาพให้หนังภาคนี้ งานเทคนิคบันทึกเสียงที่ทำได้ยอดเยี่ยมไปจนถึงงานสกอร์ที่ภาคนี้ได้ แฮรี เกร็กสัน วิลเลียมส์ (Harry Gregson Williams) ยิ่งดูในระบบไอแมกซ์ วิธ เลเซอร์ (IMAX With Laser) ยิ่งให้ประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียวครับ