แม้จะไม่ใช่หนังดังที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อย ๆ แต่ ‘That Thing You Do!’ (1996) ผลงานเปิดประเดิมการกำกับหนังและเขียนบทครั้งแรกของนักแสดงสุภาพบุรุษเจ้าของฉายาคุณพ่อแห่งอเมริกา ทอม แฮงส์ (Tom Hanks) ก็ยังคงอยู่ในใจของผู้ที่เคยได้มีโอกาสรับชม ไม่ว่าจะด้วยเรื่องราวที่สนุกสนานเกี่ยวกับวงการเพลงยุค 60s และรวมไปจนถึงเพลงประกอบภาพยนตร์สุดไพเราะที่การันตีคุณภาพด้วยยอดขายถล่มทลาย
ล่าสุด ในวาระที่แฮงส์กำลังจะมีผลงานการแสดงหนังเรื่องใหม่ ‘Here’ ซึ่งเป็นการร่วมงานกันอีกครั้งของเขากับผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) เขาได้มีโอกาสไปนั่งพูดคุยกับพิธีกรชื่อดัง โคแนน โอไบรอัน (Conan O’Brien) ในรายการพอดแคสต์ ‘Conan O’Brien Needs A Friend’ เกี่ยวกับผลงานหนังของเขาที่แม้ว่าจะได้รับคำชื่นชม แต่หนังเรื่องนี้ก็เคยถูกนักวิจารณ์ถล่มยับมาก่อน
“นักวิจารณ์พากันแสดงความคิดเห็น และมันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเลย เช่นว่า ‘เราชอบหนังนะ’, ‘เราเกลียดหนังมาก’, ‘หนังนี่ห่วยแตกที่สุดเลย’ โอ้ ทอม…ฉันเห็นคุณในหนังด้วย ‘จริงเหรอครับ ?’ มันน่ารักมากเลยนะ ผมนี่คือแบบ…ตอนนั้นผมอยากจะพูดกับภรรยาว่า ‘ที่รัก คุณช่วยหยิบปืนลูกโม่ออกมาจากเก๊ะแล้วเอาไปซ่อนไว้ที่ไหนสักที่ได้ไหมเนี่ย'”
ก่อนที่แฮงส์จะเล่าถึงการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อหนังเรื่องนี้ ที่กลับเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา
“ผมขอพูดอะไรบางอย่างกับไอ้พวกหัวขวดเฮงซวยที่เขียนวิจารณ์หนังเรื่องนี้หน่อยได้ไหม ผมพูดเรื่องนี้ได้ไหม ? คือมีคนที่เขียนวิจารณ์หนังเรื่องนี้ เขาเขียนว่า ‘ทอม แฮงส์ คงต้องเลิกคบหาสมาคมกับดาราทีวียุคเก่า ๆ เสียที เพราะหนังเรื่องนี้ถ่ายทำออกมาอย่างกับหนังทีวีเลย หนังไม่มีอะไรที่พิเศษเลย'”
“แล้วคนคนเดียวกันนี่แหละที่เขียนบทความยกให้ ‘That Thing You Do!’ เป็นหนังคัลต์คลาสสิก คนคนนี้แหละที่เขียนว่า ‘บางครั้งคุณก็ต้องการเวลา 20 ปี ในการที่จะทำให้บางสิ่งมีความหมาย’ ซึ่งเอาเข้าจริง มันก็เป็นสิ่งที่ผมก็โอเคและเข้าใจได้กับสิ่งนี้นะครับ มันเป็นส่วนหนึ่งของงาน มันก็เหมือนกับการประกวด เหมือนการแข่งขันนั่นแหละ และผมเองก็ยอมรับได้”
‘That Thing You Do!’ คือหนังเปิดประเดิมของแฮงส์ในบทบาทผู้กำกับ เขียนบท และรับบทเป็น อามอส ไวต์ พนักงานค่ายเพลง Play-Tone Records ที่ได้เข้ามาเป็นผู้จัดการวงดนตรี ‘The Wonders’ วงดนตรีประจำเมืองอีรี รัฐเพนซิลเวเนียที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1964 ตัวหนังเล่าถึงช่วงที่ กาย แพตเตอร์สัน ลูกชายเจ้าของร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าผู้มีทักษะในการตีกลองแนวแจ๊ส ได้ถูกสมาชิกที่เหลือชักชวนเข้ามาร่วมวงเพื่อเข้าประกวด แต่ในระหว่างประกวด กายแอบเปลี่ยนทำนองเพลงบัลลาด “That Thing You Do!” จนถูกใจผู้ชมในงาน จนทำให้วงได้เซ็นสัญญาบันทึกเสียง มีอัลบั้มวางจำหน่าย และกลายเป็นวงที่มีชื่อเสียงในที่สุด
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดจากความทรงจำของแฮงส์ วัย 7 ขวบ ที่ได้มีโอกาสชมการแสดงของวงดนตรียอดฮิตในตำนานจากอังกฤษ The Beatles ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจุดกระแสให้ชาวอเมริกันรู้จักครั้งแรกในรายการ The Ed Sullivan Show และแฮงส์ก็กลายมาเป็นแฟนตัวยงของวงดนตรีวงนี้ จนกระทั่งในฤดูใบไม้ร่วงปี 1993 ในระหว่างถ่ายทำ ‘Forrest Gump’ (1994) แฮงส์จึงได้เริ่มหยิบเอาไอเดียนี้มาปัดฝุ่น และเริ่มต้นเขียนบทเรื่องราวการเดินบนเส้นทางของดนตรีโนเนมที่โด่งดังมีชื่อเสียงด้วยเพลงฮิตเพลงเดียว
จนกระทั่งในอีก 3 ปีต่อมา ช่วงเวลาที่แฮงส์กลายเป็นนักแสดงแถวหน้าผู้คว้ารางวัลออสการ์ 2 ครั้งติด บทที่เขามุ่งมั่นลงมือเขียนด้วยตัวเองก็เสร็จสิ้นและได้โอกาสสร้างเป็นหนังจริง ๆ แต่แทนที่เขาจะใช้ชื่อเสียงในการดึงเอานักแสดงหนุ่มสาวที่กำลังเป็นดาวรุ่งมาร่วมงาน เขากลับเชื่อมั่นในพลังของนักแสดงหน้าใหม่ในเวลานั้นที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก ไล่ไปตั้งแต่สมาชิกวง ‘The Wonders’ อาทิ ทอม เอเวอเร็ตต์ สก็อตต์ (Tom Everett Scott), โจนาธอน แช็ก (Johnathon Schaech), สตีฟ ซาห์น (Steve Zahn), อีธาน เอ็มบรี (Ethan Embry) รวมทั้งนักแสดงสาวที่กำลังจะเป็นดาวรุ่งทั้ง ลิฟ ไทเลอร์ (Liv Tyler) และ ชาร์ลิซ เธอรอน (Charlize Theron)
แม้จะมีชื่อของแฮงส์ในฐานะผู้กำกับและร่วมแสดง และหนังเรื่องนี้ก็ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จใน Box Office ทำรายได้ไปเพียง 34 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 26 ล้านเหรียญ แต่เพลงประกอบที่แต่งโดย อดัม ชเลซิงเกอร์ (Adam Schlesinger) โดยเฉพาะไตเติลแทร็ก “That Thing You Do!” กลับฮิตเกินคาด ตัวอัลบั้มสามารถขึ้นไปติดอันดับที่ 21 บนชาร์ต Billboard 200 ทำยอดขายในสหรัฐอเมริกาได้ในระดับ Platinum หรือมียอดขายเกิน 1,000,000 แผ่น นอกจากนี้ยังได้เข้าชิงสาขาเพลงประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยม จากทั้งเวทีออสการ์และลูกโลกทองคำอีกด้วย
ส่วนแฮงส์เองก็ได้นำชื่อค่ายเพลง Play-Tone มาใช้เป็นชื่อบริษัทโปรดักชัน The Playtone Company ของเขาที่ก่อตั้งในปี 1998 ที่เปิดประเดิมด้วยหนังดราม่าติดเกาะในตำนาน ‘Cast Away’ (2000) ร่วมผลิตมินิซีรีส์สงครามโลกครั้งที่ 2 ‘Band of Brothers’ (2001), ‘The Pacific’ (2010) และ ‘Masters of the Air’ กับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) รวมทั้งยังสปินออฟออกมาเป็นค่ายเพลงในเครือที่ใช้ชื่อว่า Playtone Records อีกด้วย
แฮงส์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อภาพยนตร์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา หนังที่เคยถูกวิจารณ์ถล่มยับในวันนี้ อาจกลายเป็นหนังขึ้นหิ้ง หรือหนังที่ถูกลืมในอนาคต และตัวเลขรายได้ Box Office หรือแม้แต่รางวัลก็กลายเป็นเพียงอดีตไปในที่สุด
“สำหรับหนัง แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องของการทำรายได้บน Box Office แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานมาก ๆ เรื่องพวกนั้นมันก็ไม่ได้สลักสำคัญอีกต่อไป และหนังก็จะยังคงอยู่ในฐานะของตัวมันเองโดยไม่เกี่ยวกับว่ามันจะเคยประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หรือไม่ว่าจะได้รับคำชมเชยหรือโดนตำหนิ และนั่นคือช่วงเวลาที่สิ่งเหล่านั้นมันจะย้อนกลับมา”
“สิ่งที่อาจจะไม่ได้ผลในตอนนั้น มันอาจจะได้ผลดีในตอนนี้ก็ได้ หรือในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เคยยิ่งใหญ่เมื่อในอดีต มันก็อาจกลายเป็นเพียงของสะสมในพิพิธภัณฑ์ และไม่ได้มีความหมายอะไรอีกต่อไป”