แอนดี้ เซอร์คิส (Andy Serkis) นักแสดงมากพรสวรรค์วัย 60 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากเว็บไซต์ ScreenRant ในงาน Fan Expo San Francisco โดยเขาได้อธิบายถึงความสำคัญของเทคโนโลยีโมชันแคปเจอร์ (Motion Capture) ว่าช่วยให้เขาได้แสดงบทบาทที่หลากหลายขึ้นได้อย่างไร

เซอร์คิสได้อธิบายถึงความแตกต่างของบท กอลลัม (Gollum) ในไตรภาค ‘The Lord of the Rings’ (2001, 2002, 2003) และ คิงคอง (King Kong) ใน ‘King Kong’ (2005) ของผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความล้ำหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เขากลายเป็นตัวละครใดในสถานที่แห่งใดก็ได้

ตอนที่เราเริ่มสร้าง 'The Lord of the Rings' จริง ๆ นั้น ผมได้เข้าฉากพร้อมชุดรัดรูปที่บางมาก ซึ่งตอนนี้ทุกคนรู้จักชุดนี้เป็นอย่างดีแล้ว ตอนนั้น ปีเตอร์ แจ็กสัน มองผมสวมบทเป็นกอลลัม แล้วคลานไปมารอบ ๆ ห้อง และเขาก็เกิดความคิดว่า "เราจะถ่ายการเคลื่อนไหวของแอนดี้" จากนั้นทีมแอนิเมเตอร์ก็จะลอกเลียนการเคลื่อนไหวเพื่อวาดภาพกราฟิกขึ้นมาซ้อนทับ

แต่ถ้าเป็นฉากที่ต้องโคลสอัปตัวละคร ผมต้องสวมชุดโมชันแคปเจอร์แล้วแสดงแบบเดิมซ้ำ 2 รอบ (นั่นคือ การแสดงคนเดียวเพื่อให้ทีมงานเก็บภาพการเคลื่อนไหว และการเข้าฉากร่วมกับนักแสดงคนอื่น ๆ) มันเป็นเทคโนโลยีใหม่มากในตอนนั้น เป็นการจับภาพการเคลื่อนไหวเบื้องต้น ซึ่งเรายังใช้งานมันไม่คล่องเลย

ผมมาดูฉากที่ถ่ายทำไปแล้วบนจอ ผมเห็นตัวเองกำลังยกมือ จากนั้นผมก็ได้เห็นกอลลัมกำลังยกมือ มันเหมือนกระจกวิเศษที่ผมต้องเรียนรู้การทำงาน ผมต้องเป็นทั้งหุ่นเชิดและคนควบคุมหุ่นเชิดไปพร้อมกัน เราค่อย ๆ พัฒนากระบวนการนี้ไปทีละขั้น จนกระทั่งในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องที่ 3 นั่นคือ 'The Return of the King' เราก็สามารถถ่ายทำโมชันแคปเจอร์บนฉากจริงไปพร้อมกันได้

The Return of the King
The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)

เขากล่าวเสริมว่า

หลังการถ่ายทำได้เสร็จสิ้นลง ผมคิดว่าต้องกลับไปแสดงบทเดิม ๆ ซ้ำต่อไป จากนั้น ปีเตอร์ แจ็กสัน ก็ติดต่อให้ผมไปแสดงเป็นคิงคอง ซึ่งผมคิดว่า "มันเหลือเชื่อมาก ผมได้แสดงเป็นผู้คลั่งแหวนที่มีส่วนสูงเพียง 3 ฟุตครึ่ง แล้วตอนนี้ผมก็จะได้เป็นกอริลลายักษ์ขนาด 25 ฟุต ซึ่งหมายความว่าผมไม่ต้องแสดงบทที่ซ้ำซากอย่างเช่นในอดีตอีกต่อไป มันเป็นโอกาสอันน่าเหลื่อเชื่อมากสำหรับผม

นี่คือเครื่องมือแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถทำให้นักแสดงกลายเป็นตัวละครใดก็ได้ และสร้างสรรค์ฉากให้กลายเป็นสถานที่แห่งใดก็ได้

King Kong
King Kong (2005)

ด้วยความสำเร็จอย่างมหาศาลของไตรภาค ‘The Lord of the Rings’ ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกรวมกันไปถึง 2,940 ล้านเหรียญ พร้อมคว้ารางวัลออสการ์รวมกันถึง 17 ตัว และ ‘King Kong’ ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกไป 550.5 ล้านเหรียญ และคว้ารางวัลออสการ์ 3 ตัว ทำให้เซอร์คิสซึ่งรับบทกอลลัมและคิงคอง ได้รับคำชื่นชมในด้านการแสดงที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันลึกซึ้ง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ

เขายังรับบทในชุดโมชันแคปเจอร์ในภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์อีกหลายเรื่อง เช่น ซีซาร์ (Caesar) ในไตรภาค ‘Planet of the Apes’ (2011, 2014, 2017) และ ผู้นำสูงสุดสโน๊ค (Supreme Leader Snoke) ใน ‘Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi’ (2017) เป็นต้น

นอกจากนี้ เซอร์คิสกำลังจะกลับมารับบทกอลลัมอีกครั้งใน ‘The Lord of the Rings: The Hunt for Gollum’ ซึ่งมีกำหนดฉายในปี 2026 และเป็นการกลับมาร่วมงานกับแจ็กสันอีกครั้ง

War for the Planet of the Apes
War for the Planet of the Apes (2017)
The Last Jedi
Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi (2017)