2024 นับเป็นปีที่สิ้นสุดจักรวาลภาคแยกของ Spider-Man ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Sony Pictures หรือ ‘Sony’s Spider-Man Universe’ (SSU) อย่างเป็นทางการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของจักรวาลนี้ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่า ‘Kraven the Hunter’ จะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของจักรวาล SSU ก่อนที่ Sony จะหันไปมุ่งเน้นการทำงานในโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับ Spider-Man เป็นหลักแทน
Variety ได้รายงานเจาะลึกเกี่ยวกับกระแสข่าวการสิ้นสุดของจักรวาล SSU ที่ประกอบไปด้วยคาแรกเตอร์ Venom, Morbius, Madame Web และ Kraven ที่ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2024 ที่มีหนังของ จักรวาล SSU เข้าฉายถึง 3 เรื่อง แต่กลับมีเพียง ‘Venom: The Last Dance’ เพียงเรื่องเดียวที่สามารถทำกำไร
ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า ‘Kraven the Hunter’ จะทำรายได้เปิดตัวช่วงสุดสัปดาห์แรกต่ำที่สุดในบรรดาหนังซูเปอร์ฮีโรของ Marvel และการคาดการณ์นั้นก็เกิดขึ้นจริง ‘Kraven the Hunter’ สามารถทำรายได้จากการเข้าฉายสุดสัปดาห์แรกในสหรัฐอเมริกาไปเพียง 11 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างประมาณ 110 -130 ล้านเหรียญ ซึ่งนับว่าต่ำกว่า ‘Madame Web’ ที่ทำรายได้สุดสัปดาห์แรก 15 ล้านเหรียญ (ปิดรายได้ที่ 100 ล้านเหรียญ)
นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ Sony Pictures ล้มเหลวในการพยายามสร้างภาพยนตร์ภาคแยกจากคาแรกเตอร์รองและวายร้ายของ Spider-Man ให้กลายเป็นแฟรนไชส์ ต่อจาก ‘Morbius’ (2022) และ ‘Madame Web’ ที่เข้าฉายเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความล้มเหลวบน Box Office อย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณแห่งการสิ้นสุดความพยายามนี้ของสตูดิโอ โดยแหล่งข่าววงในของ Sony รายหนึ่งชี้ว่า เรื่องนี้เกิดจาก ‘ความหมกมุ่นในหนังซูเปอร์ฮีโรจนเกินเหตุ’ ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลให้ความนิยมของหนังแนวนี้ ในฐานะตัวขับเคลื่อน Box Office โดยรวมลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวนี้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงจุดสิ้นสุดของจักรวาล Marvel ของ Sony หากพูดในแง่เทคนิค ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าจักรวาล Marvel ของ Sony หรือ Spider-Man ของ Sony หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการอื่น ๆ ที่เทียบเคียงได้กับ Marvel Cinematic Universe (MCU) หรือ DC Universe (DCU) ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่เลย
เพราะ Sony ไม่เคยมีจุดมุ่งหมายในการดัดแปลงคาแรกเตอร์จากหนังสือคอมิก ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความเชื่อมโยงของเนื้อเรื่องในแบบเดียวกับที่ MCU และ DCU พยายามทำ ดังจะเห็นได้จากคำเรียกที่ไม่เป็นทางการว่า ‘จักรวาลคาแรกเตอร์ Marvel ของ Sony’ อีกประการหนึ่ง Sony ยังคงมุ่งมั่นอย่างมากในการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Spider-Man ซึ่งเป็นตัวละครยอดนิยมของ Marvel ที่เริ่มต้นยุคสมัยหนังซูเปอร์ฮีโรด้วย ‘Spider-Man’ (2002) เวอร์ชันของ โทบีย์ แม็กไกวร์ (Tobey Maguire)
ในขณะที่ ณ เวลานี้ Sony กำลังให้ความสำคัญกับโปรเจกต์ ‘Spider-Man’ ภาคที่ 4 ของทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของ Sony และ Marvel Studios, หนังแอนิเมชันภาคที่ 3 ของ Miles Morales อย่าง ‘Spider-Man: Beyond the Spider-Verse’ ซึ่ง 2 ภาคก่อนหน้าประสบความสำเร็จอย่างสูงก็กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาเช่นกัน โดยมีข่าวว่าอาจจะเสร็จไม่ทันฉายภายในปี 2025 รวมทั้งซีรีส์ไลฟ์แอ็กชัน ‘Spider-Noir’ ของ Amazon Prime ที่นำแสดงโดย นิโคลัส เคจ (Nicolas Cage) ที่คาดว่าจะถ่ายทำเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025
นอกจากนี้ บุคคลวงในของ Sony ได้ออกมาปกป้องความสำเร็จของภาพยนตร์ Venom ทั้ง 3 ภาค ที่นำแสดงโดย ทอม ฮาร์ดี (Tom Hardy) ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกรวมทั้งหมด 1,800 ล้านเหรียญ โดยภาคล่าสุด ‘Venom: The Last Dance’ สามารถทำรายได้ 475 ล้านเหรียญ ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดของแฟรนไชส์ เมื่อเทียบกับ ‘Venom’ ภาคแรกที่เข้าฉายในปี 2018 ที่ทำรายได้ทั่วโลก 856 ล้านเหรียญ
แต่ด้วยความที่ภาค ‘The Last Dance’ ใช้ทุนสร้าง 120 ล้านเหรียญ ซึ่งนับว่าเป็นงบประมาณที่ต่ำมากสำหรับหนังซูเปอร์ฮีโร ทำให้หนังยังอยู่ในแดนกำไร รวมทั้งยังสามารถทำรายได้จากต่างประเทศได้มากกว่าภาค ‘Let There Be Carnage’ ที่เข้าฉายในปี 2021 (ซึ่งเป็นผลพวงจากโรคระบาด) อีกด้วย
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่ Sony จะหยุดการสร้างหนัง ‘Venom’ ภายในเร็ว ๆ นี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ‘Venom’ ถูกสร้างขึ้นจากคาแรกเตอร์ที่มีเอกลักษณ์ และได้รับความนิยมอย่างสูง ก็ทำให้ Sony มองเกมผิด คิดว่าผู้ชมจะหลั่งไหลมาชมหนังจากคาแรกเตอร์ในจักรวาล Spider-Man ตัวอื่น ๆ โดยไม่ต้องมี Spider-Man ปรากฏในเรื่องด้วย
เจฟฟ์ บ็อก (Jeff Bock) นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจบันเทิงและ Box Office จากบริษัท Exhibitor Relations ให้ทัศนะเกี่ยวกับจักรวาลภาคแยก Spider-Man ของ Sony เป็นเพราะการขาดคาแรกเตอร์ที่แข็งแรง
“ตัวละครทั้งหมดนี้ มีชื่อเสียงเพราะว่าพวกเขาเคยต่อกรกับ Spider-Man เป็นโชคร้ายสำหรับ Sony ที่พวกเขาได้ลิ้มรสความสำเร็จจาก ‘Venom’ และมันก็เหมือนเป็นการทำลายทุกอย่าง เพราะพวกเขาคิดว่าตัวละครทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างหนังเดี่ยวแยกออกมาได้ ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะตระหนักได้ว่า ‘Venom’ สามารถแบกแฟรนไชส์ได้ แต่ตัวละครอื่น ๆ ทำไม่ได้ การไม่มี Spider-Man อยู่ในหนังเหล่านี้คือจุดบกพร่องที่ร้ายแรง”
Sony ไม่ได้เป็นเพียงสตูดิโอเดียวที่พยายามจะขยายจักรวาลซูเปอร์ฮีโรของตัวเองในช่วงปลายทศวรรษ 2010s ก่อนจะต้องเผชิญกับซบเซา จากการลดลงทั้งในด้านคุณภาพ และความสนใจของผู้ชมในยุค 2020s แต่ Sony กลับติดอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง นั่นก็คือข้อตกลงระหว่างสตูดิโอระหว่าง Sony กับ Marvel Studios ของ Disney ในการยินยอมให้คาแรกเตอร์ Spider-Man เข้ามาใน MCU โดยเริ่มต้นจาก ‘Captain America: Civil War’ (2016) และ ‘Spider-Man: Homecoming’ (2017)
ความร่วมมือที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ซึ่งมี เควิน ไฟกี (Kevin Feige) ประธานของ Marvel Studios และ เอมี ปาสคาล (Amy Pascal) อดีตประธานของ Sony Pictures เป็นผู้ดูแลการผลิตหนัง Spider-Man เวอร์ชันของฮอลแลนด์ สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับ Sony ด้วยยอดรายได้รวมทั้ง 3 ภาคมากกว่า 3,920 ล้านเหรียญ แต่นั่นก็ทำให้ตัวละคร ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ของฮอลแลนด์ ถูกแยกออกจากโปรเจกต์อื่น ๆ ของ Sony ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ MCU ไปโดยปริยาย
ผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีประสบการณ์ในวงการซูเปอร์ฮีโรเผยว่า “ความซับซ้อนทางธุรกิจ เมื่อสตูดิโอต่าง ๆ พยายามจะทำงานร่วมกันนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก Sony ไม่มีความยืดหยุ่นเอาเสียเลย พวกเขาเหมือนติดอยู่ในกรง และพยายามจะทำแค่หนังที่ดีทีละเรื่อง ๆ เท่านั้น”
แหล่งข่าวของ Sony คนหนึ่งกล่าวว่า ในข้อตกลง Disney ไม่ได้ห้าม Sony ใช้ Spider-Man ในหนังที่ไม่ได้อ้างถึงโดยตรง ความหลากหลายของชื่อที่ปรากฏใน ‘Spider-Verse’ ที่มีทั้งตัวละครปีเตอร์ ปาร์กเกอร์, เกวน สเตซีย์ และเหล่า Spider-People ตัวอื่น ๆ ปรากฏอยู่เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดี
แต่กลับเป็นฝั่งของ Sony เองที่ไม่ยอมใช้ตัวละครนี้ในหนังภาคแยกของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ชมอาจไม่ยอมรับ Spider-Man ของฮอลแลนด์ที่ปรากฏตัวในจักรวาลอื่น ๆ นอกเหนือจาก MCU โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ใน ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) และ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ (2022) ที่สร้างขอบเขตชัดเจนให้กับมัลติเวิร์สของ Marvel เอาไว้แล้ว
สิ่งนี้ดูจะส่งผลกระทบต่อ ‘Morbius’ มากที่สุด ซึ่งแต่เดิมเคยมีกำหนดการฉายในเดือนกรกฎาคม ปี 2020 ก่อน ‘No Way Home‘ และ ‘Doctor Strange 2’ แต่เนื่องจากการมาของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนฉายไปหลังจากนั้น
ความล่าช้านี้บีบบังคับให้ Sony ต้องถ่ายทำใหม่เพื่ออธิบายว่า ทำไมตัวละครเอเดรียน ทูมส์ หรือ Vulture ที่แสดงโดย ไมเคิล คีตัน (Michael Keaton) ที่เปิดตัวในฐานะส่วนหนึ่งของ MCU แล้วใน ‘Homecoming’ ถึงมาอยู่ร่วมกับตัวละคร ดร. ไมเคิล มอร์เบียส ที่แสดงโดย จาเร็ต เลโต (Jared Leto) ซึ่งไม่ใช่ตัวละครของ MCU แนวคิดสนุก ๆ นี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่มันก็กลายเป็นปัญหาทันทีเมื่อมัลติเวิร์สกลายเป็นประเด็นสำคัญ
การพยายามจะหลบเลี่ยงและไม่ยอมนำคาแรกเตอร์ Spider-Man มาใช้ ยังส่งผลให้รู้สึกว่าบรรดาหนังเดี่ยวแยกเหล่านี้เป็นเพียงการฉวยโอกาสแสวงหาผลกำไรอย่างชัดแจ้ง โปรดิวเซอร์ผู้มีประสบการณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความไม่จริงใจของพวกเขาได้จากไกล ๆ พวกเขาแค่ต้องการจะผลิตหนังออกมาเรื่อย ๆ และมันก็ให้ความรู้สึกว่าแค่ทำเพื่อเงิน ไม่มีการควบคุมคุณภาพอะไรเลย”
คนวงในของ Sony ยอมรับอย่างเงียบ ๆ ว่าทั้ง ‘Kraven’, ‘Madame Web’ และ ‘Morbius’ นั้นเป็นผลงานที่ล้มเหลวทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และเสียงวิจารณ์ แม้พวกเขาจะยืนยันว่า รายได้ทั่วโลก 167.4 ล้านเหรียญของ ‘Morbius’ ยังคงมีกำไรอยู่ แต่พวกเขาย้ำว่า ต่อจากนี้ไป สตูดิโออาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้นว่าควรจะเลือกคาแรกเตอร์จากจักรวาลของ Spider-Man ตัวใดมาสร้างแฟรนไชส์หนังของตัวเอง
ในขณะที่บ็อกอธิบายว่า มันอาจยังมีความเป็นไปได้อื่น “บางทีอาจจะลองหา Spider-Man คนใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทอมก็ได้นะ”