นับเป็นเรื่องวุ่น ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งแรงสะเทือนไปถึงวงการหนังไทยอีกครั้ง หลังจาก 16 ธันวาคมที่ผ่านมา เพจ Facebook ทางการของ Doc Club & Pub. โรงภาพยนตร์อิสระที่ให้บริการจัดฉายภาพยนตร์อิสระหลากรูปแบบ รวมทั้งคาเฟ บาร์ และสถานที่จัดกิจกรรมด้านศิลปะและภาพยนตร์ ได้โพสต์แจ้งข่าวแก่ผู้ใช้บริการว่า จำเป็นต้องทำการหยุดการให้บริการในส่วนของการฉายภาพยนตร์ โดยมีการระบุข้อชี้แจงที่เกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายในการจัดฉายภาพยนตร์ ทำให้ต้องมีการหยุดการฉายภาพยนตร์เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีความชัดเจน
ใจความสำคัญของโพสต์ดังกล่าว เป็นการอธิบายถึงข้อติดขัดทางกฎหมายที่บังคับใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยที่เมืองไทยยังไม่รู้จักคำว่าโรงภาพยนตร์อิสระ หรือคำว่า Micro Cinema ทำให้ Doc Club & Pub. ไม่เข้าข่าย และไม่สามารถขออนุญาตเป็น ‘โรงมหรสพ’ ได้ตามกฎหมาย ในขณะที่ Doc Club & Pub. มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดโรงภาพยนตร์ หรือพื้นที่ฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กที่ไม่สามารถรับชมได้ในโรงทั่วไป หรือที่เรียกว่าไมโครซีนีมา (Micro Cinema) ด้วยการจัดส่งหนังของตนเองไปฉายตาม Micro Cinema ที่มีการจัดขึ้นทั่วประเทศ
"อุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้ Micro Cinema เกิดขึ้นได้ยากนั้น ไม่ใช่เรื่องของโลเคชัน ทุน หรือแม้แต่คอนเทนต์ มากเท่ากับการที่ พรบ. ภาพยนตร์และกฎกระทรวงในปัจจุบันซึ่ง 'ใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด' ไม่ว่าจะเป็นโรงขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ หรือห้องฉายหนังเล็กจิ๋วในอาคารห้องแถว ทั้งเรื่องการกำหนดระยะทางเดิน ความกว้างของบันได ฯลฯ"
“หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายเรื่องอาคารและความปลอดภัยดังกล่าวเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มายาวนานตั้งแต่ยุคสมัยที่โรงหนังอิสระขนาดเล็กยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้อาคารที่เราตั้งอยู่และอาคารโดยทั่วไปส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นในประเทศนี้จะไม่สามารถได้รับอนุญาตให้เป็นที่ตั้งของห้องฉายหนังได้เลย สิ่งที่เรียกว่า ‘โรงหนังห้องแถว’ ไม่สามารถมีอยู่จริงได้ในบริบทนี้ และสำหรับประเทศของเรา โรงมหรสพจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะในอาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้น”
โพสต์ดังกล่าวได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดการปรับแก้กฎกระทรวงเพื่อให้ Doc Club & Pub. ดำเนินกิจการฉายภาพยนตร์ได้ต่อไปเท่านั้น แต่การปรับกฎหมายนี้จะสามารถเพิ่มความยืดหยุ่น เพื่อให้ สิ่งที่เรียกว่า Micro Cinema หรือโรงหนังห้องแถวที่จัดฉายหนังเล็ก ๆ สามารถจัดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องตายตัวกับคำว่า ‘โรงมหรสพ’ ที่มักเชื่อมโยงกับความเป็นอาคารขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อการสร้างวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ที่หลากหลายให้เกิดขึ้นในเมืองไทย
ในโพสต์ยังได้แจ้งว่า Doc Club & Pub. ได้รับจดหมายแจ้งจากกระทรวง เนื่องจากการเปิดกิจการฉายหนังโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนหนึ่ง หรือเลือกบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะแทนในกรณีที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทำให้ปัจจุบัน Doc Club & Pub. ได้หยุดให้บริการในส่วนของโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่การจัดจำหน่ายบัตรเข้าชม และการจัดฉายหนังตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมเป็นต้นไป โดยจะทำการคืนเงินให้แก่ผู้ที่จองบัตรล่วงหน้าทุกที่นั่ง แต่ในส่วนของคาเฟ และกิจกรรมต่าง ๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
"อย่างไรก็ตาม เรายังขอยืนยันว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้น จำเป็นที่สุดที่จะต้องถูกแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อให้พื้นที่ฉายหนังขนาดเล็กเกิดขึ้นได้อย่างเป็นอิสระ หรืออย่างน้อยก็อยู่ภายใต้กฎกติกา (โดยเฉพาะเรื่องอาคารและความปลอดภัย) ที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และจำนวนผู้ใช้บริการตามลักษณะของโรงนั้นตามจริง และที่สำคัญคือ กฎหมายควรมุ่งเน้นการส่งเสริม ไม่ใช่มุ่งปราบปรามทำลาย"
โพสต์ดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วทั้งวงการหนังไทยและผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่ล้าหลัง และเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ ให้สามารถทำได้เฉพาะโรงขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนในการผูกขาดวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ให้จำกัดแคบเฉพาะภาพยนตร์ขนาดใหญ่เท่านั้น
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางส่วนที่มองเรื่องข้อปฏิบัติเรื่องสถานที่ โดยเฉพาะข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย การป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรละเลย แต่หากไม่มีการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายฉบับเก่าที่อ้างอิงจากยุคสมัยที่มีแต่เฉพาะโรงหนัง Standalone หรือโรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่อยู่บนห้างสรรพสินค้าหรืออาคารขนาดใหญ่ ก็อาจทำให้การส่งเสริมวัฒนธรรมและความหลากหลายในการชมภาพยนตร์ลดน้อยถอยลง และนั่นก็กระทบไปถึงคนทำหนังนอกกระแสรายเล็ก ที่ไม่อาจมีที่ทางสำหรับการเผยแพร่ภาพยนตร์ของตนเองไปสู่ผู้ชมด้วย
ในเวลาใกล้เคียงกัน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชัน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวผ่านเพจ Facebook THACCA-Thailand Creative Culture Agency เพื่ออธิบายว่า ทางอนุกรรมการฯ ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวเป็นระยะ ๆ
และในร่าง พรบ. ภาพยนตร์ฯ ฉบับใหม่ที่จะมีการนำเสนอโดยพรรคการเมือง ก็คำนึงถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นสำคัญ โดยในเบื้องต้น มีการนัดคุยกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎกระทรวง ทั้งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 นี้ สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการแจ้งไปยังที่ปรึกษารัฐมนตรี และประสานงานกับอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมแล้ว
ในขณะเดียวกัน มีนักดูหนังบางส่วนได้สร้างแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org เพื่อรณรงค์ในการแก้ไขข้อกำหนดของ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้โรงมหรสพจำกัดเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ โดยอ้างถึงความปลอดภัย การแก้ไข พรบ. ดังกล่าวให้สอดคล้องกับบริบทยุคใหม่ จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย และเสริมสร้างการชมภาพยนตร์ในประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น ตามนโยบายส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาล
Doc Club & Pub. ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของอาคาร Woof Pack ศาลาแดงซอย 1 เริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยเป็นการใช้พื้นที่ต่อโรงภาพยนตร์อิสระ Bangkok Screening Room เดิมที่ปิดตัวลง โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนคาเฟ ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม โซนโรงภาพยนตร์ที่มีการนำเข้าและจัดฉายภาพยนตร์นอกกระแส, รวมทั้งภาพยนตร์สารคดีทั้งไทยและต่างประเทศ และมีการใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี และภาพยนตร์มาโดยตลอด
เงื่อนไขทางกฎหมาย ที่ทำให้ Doc Club & Pub. ไม่จัดเป็น ‘โรงมหรสพ’
หากลงลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ทำให้ Doc Club & Pub. ไม่สามารถดำเนินการฉายหนังได้ เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551, พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้ใช้อาคาร เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ. 2550
โดยรายละเอียดตามความที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ระบุเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ ระบุว่า
มาตรา 37 ห้ามผู้ใดประกอบกิจการโรงภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับโรงภาพยนตร์แต่ละโรง ยกเว้นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ตาม (2) ของบทนิยามคำว่า “โรงภาพยนตร์” ในมาตรา 4 ให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
โดยใน ‘ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์’ ฉบับใหม่ ที่จะมีการนำเสนอโดยพรรคการเมือง จะเสนอข้อยกเลิกกฎหมายฉบับปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งมีการจำกัดเสรีภาพเกินสมควร จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยมีการเพิ่มเติมข้อความตอนท้าย
“ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ผู้ที่ประสงค์ประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก มีหน้าที่จดแจ้งการประกอบกิจการต่อนายทะเบียน การจดแจ้งการประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กำหนดในกฎกระทรวง”
ในขณะที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หมวด 3 ทวิ ที่ว่าด้วยเรื่องของการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับโรงมหรสพ มีใจความสำคัญระบุไว้เกี่ยวกับการดำเนินการโรงมหรสพเอาไว้ว่า
มาตรา 39 เบญจ ห้ามมิให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคาร หรือส่วนใดของอาคารเป็นโรงมหรสพ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพจากคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาตามวรรคสอง แล้วแต่กรณี
ประเภทของโรงมหรสพ ระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายอันอาจเกิดขึ้นกับคนดู และจำนวน และระยะห่างของสิ่งของหรือส่วนต่าง ๆ ภายในและภายนอกอาคารที่ใช้เป็นโรงมหรสพ เช่น ห้องฉาย ทางเข้าออก ประตู ที่นั่งคนดู ทางเดิน เป็นต้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฏกระทรวง
และกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับก็คือ กฎกระทรวง ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้ใช้อาคาร เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ. 2550
ในรายละเอียด มีการระบุถึงหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตในการประกอบกิจการโรงมหรสพ ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องของอาคารและความปลอดภัย และการป้องกันอันตราย เช่น ระบบการจ่ายพลังงาน ไฟฟ้าสำรอง สายดิน ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เครื่องดับเพลิง รวมทั้งจำนวนและระยะห่างของสิ่งของ และส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกอาคารที่ใช้เป็นโรงมหรสพ ได้แก่ ระยะห่างที่นั่งของผู้ชม จำนวนทางออก ประตูทางออก ระยะห่างทางเดินจากประตูทางออกโรงมหรสพเพื่อไปยังบันไดหนีไฟ เครื่องหมายแสดงทางฉุกเฉิน ทางเดิน บันไดหนีไฟ ไฟส่องสว่างสำหรับทางเดิน ฯลฯ
ตามเกณฑ์ของกฎกระทรวง ได้มีการแบ่งโรงมหรสพออกเป็น 5 ประเภท โดยโรงภาพยนตร์ไม่ว่าจะ Doc Club & Pub. หรือโรงภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า จะถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่ 3 หรือโรงมหรสพประเภท ค ที่หมายความถึง ‘โรงมหรสพที่ตั้งอยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน ซึ่งมีการจัดที่นั่งคนดูในลักษณะยึดติดกับพื้น’
การแก้ปัญหาที่ Doc Club & Pub. เผชิญอยู่ และสิ่งที่จะเอื้อประโยชน์ให้ Micro Cinema ในเมืองไทยสามารถมีที่ทางของตัวเองได้ ไม่ใช่ตัวของกฎหมายเอง แต่เป็นเรื่องของความล้าสมัยและระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ที่เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยที่เมืองไทยยังมีเพียงโรงหนังแบบ Standalone หรือโรงหนังแบบ Multiplex ที่ตั้งอยู่บนตัวอาคารห้างสรรพสินค้า ด้วยการใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดในการให้อนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ
ทำให้โรงหนังขนาดเล็ก และอาคารโดยทั่วไปในประเทศไทย หรือที่เรียกว่าโรงหนังห้องแถว จะไม่ถือว่าเข้าข่าย และไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งเครื่องฉายหนัง หรืออธิบายอีกมุมหนึ่งก็คือ กฎหมายนี้ดูจะเอื้อต่อการให้อนุญาตสร้างโรงมหรสพได้เฉพาะในอาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้น
การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการประท้วงหรือละเมิดกฎหมาย เพียงแต่เป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยับเพดานให้ผู้ประกอบการโรงหนังขนาดเล็กสามารถดำเนินการจัดการฉายหนังได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก และเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่หลากหลายให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย โดยไม่ถูกจำกัดแค่เฉพาะเครือธุรกิจโรงหนังรายใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club และ Doc Club & Pub. ได้โพสต์ชี้แจงใน Facebook ส่วนตัวเพื่ออธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นการชี้แจงถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งเหตุผลที่ควรมีการสนับสนุนให้แก้กฎหมาย และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันต่อยุคสมัย เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม Micro Cinema ให้เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์
โดยการโพสต์ข้อความดังกล่าวไม่ใช่เหตุผลในเรื่องของการเมือง แลไม่ควรถูกดึงไปเป็นเรื่องของความขัดแย้งหรือขั้วทางการเมือง รวมทั้งไม่มีการโจมตีเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่รัฐบาลในการทำหรือไม่ทำสิ่งใด ๆ และไม่ควรนำเรื่องของการเมืองมาบดบังจนทำให้การแก้ไขกฎหมายไม่สามารถเกิดขึ้นได้
Micro Cinema คืออะไร ? แล้วทำไมเมืองไทยต้องมี
Micro Cinema หรือ Mini Theatre คือโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่มีการจัดฉายภาพยนตร์ในพื้นที่จำกัด ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมาเครื่องมือการผลิตและฉายหนังที่มีขนาดและราคาย่อมเยากว่าเดิม ตั้งแต่อุปกรณ์การถ่ายทำ สื่อบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งอุปกรณ์การฉายหนังที่เล็กลงกว่าเดิมมาก คนทำหนังสมัครเล่นสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายกว่าเดิม ทำให้วัฒนธรรมการสร้างภาพยนตร์แบบใหม่ ๆ ที่ไม่ขึ้นอยู่กับขนบ อิทธิพล และเงินทุนของสตูดิโอขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
รวมทั้งความนิยมของภาพยนตร์นอกกระแส, ภาพยนตร์คลาสสิกหาดูยาก ภาพยนตร์แนวทดลอง, สารคดี หรืองานวิดีโออาร์ตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Micro Cinema ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่หนังเหล่านี้ กลายเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนที่สนใจในภาพยนตร์ และคนทำหนังที่มีความหลากหลายได้มาพบเจอกัน บางกรณี คนทำหนังสามารถทำ Micro Cinema ด้วยการจัดฉายหนังผลงานของตัวเองได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องจัดฉายในโรงใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้เงินทุนสูงและมีเงื่อนไขด้านเทคนิค รวมทั้งการเงิน และการตลาดอีกหลายข้อ
ไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอนว่า Micro Cinema ควรมีกี่ที่นั่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีที่นั่งสำหรับการรับชมไม่เกิน 100 ที่นั่ง ไปจนถึงการจัดสถานที่มีมีผู้รับชมไม่ถึง 10 ที่นั่ง ก็นับว่าเป็น Micro Cinema ได้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่ Micro Cinema อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของโรงภาพยนตร์แบบที่คุ้นเคยเสมอไป แต่อาจเริ่มต้นจากห้องภายในบ้าน, สถานที่จัดแสดงศิลปะ, หอประชุม, โรงจอดรถ, ร้านขายของชำ, บาร์, ร้านกาแฟ, อาคารพาณิชย์, ห้องแถว, ดาดฟ้าอาคาร หรือถ้าตรงไหนสามารถกางจอ วางเครื่องฉาย จัดที่นั่งให้ผู้ชมเข้ามารับชมได้อย่างสะดวก ที่ไหนก็เป็น Micro Cinema ได้
ในขณะที่โรงหนังขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ฉายหนังที่ได้รับความนิยม โดยมีจุดมุ่งหมายในการหารายได้ Micro Cinema จึงกลายเป็นช่องทางและทางเลือกของการจัดฉายภาพยนตร์ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรม Micro Cinema ยังสร้างความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการรับชมภาพยนตร์ให้เกิดขึ้น เป็นสถานที่สำหรับทดลองเพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และมีส่วนช่วยทำให้วงการภาพยนตร์อิสระสามารถพัฒนาและอยู่ได้อย่างยั่งยืน การปกป้องโรงภาพยนตร์อิสระจึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อรายได้และความนิยมของตัว Doc Club & Pub. เอง แต่เป็นการปกป้องเพื่อให้ความหลากหลายทางระบบนิเวศในวัฒนธรรมภาพยนตร์ไทยให้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป