เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ผู้กำกับมือเก๋าเจ้าของผลงานการกำกับหนังหลากแนว อาทิ ‘Fight Club’ (1999), ‘The Curious Case of Benjamin Button’ (2008), ‘The Social Network (2010)’, ‘Gone Girl’ (2014) รวมถึงผลงานยุคหลังที่ทำกับ Netflix ทั้ง ‘Mank’ (2020) และ ‘The Killer’ (2023) ครั้งหนึ่งเกือบได้ลงไปลุยในหนังผจญภัยแฟนตาซีที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องดังจากปลายปากกาของ เจ. เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) แล้ว

ในวาระที่หนังทริลเลอร์สุดฮิตของเขา ‘Se7en’ (1995) มีอายุครบรอบ 30 ปี ฟินเชอร์ได้ให้สัมภาษณ์กับ Variety ซึ่งฟินเชอร์ได้เปิดเผยว่า เขาเคยถูกเรียกเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารของ Warner Bros. เพื่อรับหน้าที่กำกับหนังภาคปฐมบท ‘Harry Potter and the Sorcerer’s Stone’ (2001) เสียดายที่ไอเดียหนังพ่อมดน้อยสไตล์หม่นดาร์กแบบฟินเชอร์ถูกปัดตกไปเสียก่อน

“พวกเขาเชิญผมให้เข้าไปพูดคุยถึงไอเดียที่ผมจะทำหนัง ‘Harry Potter’ ผมจำได้ว่าผมบอกไปว่า ‘ผมไม่อยากทำหนังฮอลลีวูดแบบสะอาดสะอ้านน่ะ ผมอยากทำอะไรที่มันดูคล้ายกับ ‘Withnail and I’ (1987) มากกว่า และผมก็อยากให้มันมีความหลอน ๆ หน่อย'”

Rupert Grint, Daniel Radcliffe, Emma Watson Harry Potter and the Sorcerer's Stone

ฟินเชอร์กล่าวอ้างถึง ‘Withnail and I’ หนังคัลต์ตลกร้ายเรต R ของอังกฤษที่เล่าเรื่องของนักแสดงขี้เมาตกงาน 2 คนที่ตัดสินใจหลบลี้ชีวิตอันแร้นแค้นในเมืองหลวงไปอยู่ที่ชนบท แต่ทั้งคู่กลับพบกับความอลหม่านวายป่วง ซึ่ง 1 ในนักแสดงหนังเรื่องนี้คือ ริชาร์ด กริฟฟิธส์ (Richard Griffiths) นักแสดงชาวอังกฤษเจ้าของบท เวอร์นอน เดอร์สลีย์ ลุงของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในแฟรนไชส์ ‘Harry Potter’ นั่นเอง

ฟินเชอร์เล่าถึงความต้องการของผู้บริหารที่ตรงกันข้ามกับแนวทางชวนขนลุกของเขาแบบสิ้นเชิง ตั้งแต่วิธีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ในโรงเรียน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยาย ‘Tom Brown’s School Days’ และ ‘Oliver!’ ละครเวทีมิวสิคัลที่ว่าด้วยเรื่องของความยากลำบากในยุควิกตอเรียของเด็กกำพร้าชื่อโอลิเวอร์

“…พวกเขาบอกว่า ‘พวกเราต้องการเนื้อเรื่องแนว ‘Tom Brown’s School Days’ ผ่านสายตาของโอลิเวอร์ อะไรแบบนั้นมากกว่า'”

หลังจากที่ เดวิด เฮย์แมน (David Heyman) โปรดิวเซอร์หนังชาวอังกฤษ สามารถเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การสร้างหนัง ‘Harry Potter’ 4 ภาคจากโรว์ลิงได้สำเร็จด้วยมูลค่า 1 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กระบวนการคัดเลือกผู้กำกับก็เดินหน้าไปด้วย

ผู้กำกับคนแรกที่มีการเจรจาก็คือ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) แต่สปีลเบิร์กเองก็ไม่ได้สนใจจะกำกับ รวมทั้ง กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro), เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan), โจนาธาน เดมมี (Jonathan Demme), เทอร์รี กิลเลียม (Terry Gillam) และ ร็อบ ไรเนอร์ (Rob Reiner) ฯลฯ ที่ต่างก็เคยถูกเรียกเข้ามาเจรจาด้วยเช่นกัน

จนสุดท้าย Warner Bros. ก็เลือกให้ คริส โคลัมบัส (Chris Columbus) มากำกับ เพราะว่าเขาเคยเขียนบทและกำกับหนังเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวทั้ง ‘Home Alone’ (1990) และ ‘Mrs. Doubtfire’ (1993) ก่อนที่เขาจะส่งไม้ต่อให้ อัลฟอนโซ กัวรอน (Alfonso Cuarón) กำกับภาคที่ 3 ‘Harry Potter and the Prisoner of Azkaban’ (2004) และขึ้นไปนั่งแท่นโปรดิวเซอร์แทน

Rupert Grint, Daniel Radcliffe, Emma Watson Harry Potter and the Deathly Hallows Part 1

ตลอดระยะเวลา 35 ปีในอาชีพ นอกจากฟินเชอร์จะขึ้นชื่อการเป็นผู้กำกับจอมเฮี้ยบที่เนี้ยบในทุกรายละเอียดแล้ว เขายังเป็นผู้กำกับที่ปฏิเสธโปรเจกต์หลายตัว ตั้งแต่การปฏิเสธกำกับหนังซูเปอร์ฮีโร ‘Spider-Man’ (2001) เพราะเขาต้องการที่จะข้ามการเล่าเรื่องจุดกำเนิดของ Spider-Man และฉากที่ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ถูกแมงมุมกัด ไปเล่าเนื้อหาที่ดาร์กกว่าเดิม จนภายหลังได้ แซม ไรมี (Sam Raimi) มากำกับแทน รวมทั้งโปรเจกต์ภาคต่อหนังแอ็กชันสยองขวัญ ‘World War Z’ (2013) ที่ใช้ทุนสร้างมากเกินไป จนทำให้สตูดิโอตัดสินใจยกเลิกการสร้างไปในที่สุด

นอกจากการชวดกำกับหนัง ‘Harry Potter’ ฟินเชอร์ยังเผยถึงวิธีการคัดเลือกโปรเจกต์ของเขา ซึ่งหลาย ๆ โปรเจกต์ที่เขาเคยทำมักมาจากผลงาน เช่น หนังสือนิยายและหนังที่ได้รับความนิยม รวมทั้งโปรเจกต์ปัจจุบันที่เขากำลังทำให้กับ Netflix ทั้งการสร้างมินิซีรีส์ภาคต้นหนังนีโอ-นัวร์คลาสสิก ‘Chinatown’ (1974) และการดัดแปลงซีรีส์เกาหลีสุดฮิต ‘Squid Game’ ให้เป็นฉบับอเมริกัน

“หนังสือมีฐานแฟนอยู่แล้ว ยังไงมันก็เป็นงานของคนอื่นน่ะ หนังสือพวกนี้ถูกขายให้กับสตูดิโอหนังเพราะหนังสือพวกนี้ทำให้เห็นว่ามีฐานแฟนอยู่ ส่วนผมมักจะเข้ามาในกระบวนการหลังจากที่พวกเขาเคาะแล้วว่าสิ่งนี้น่าสนใจ แม้ว่า ‘Gone Girl’ จะเป็นหนังสือขายดี แต่ผมสนใจแนวคิดเกี่ยวกับผลพวงที่ตัวละครแสดงพฤติกรรมหลงตัวเองออกมาในความสัมพันธ์มากกว่า”

“หนังทุกเรื่องมีสิ่งพิเศษ มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณแตกต่างกันไป ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับหนังที่คุณชื่นชอบและแนวหนังที่คุณเคยทำ ผมไม่รู้หรอกว่าผมจะเลือกสิ่งที่มันเกี่ยวกับตัวผมได้ยังไง แต่ผมมักจะมีความรู้สึกที่ว่า ‘ผมอยากเห็นสิ่งนี้ และผมอยากจะเห็นมันเป็นแบบนี้’ ผมชอบแนวคิดที่ว่า คุณสามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าคุณจะทุ่มความพยายามไปที่ไหน สิ่งไหนที่คุณจะเน้นให้ชัด และสิ่งไหนที่คุณจะเอามันออกไป”