ใครๆ ก็รู้ว่าทุกวันนี้ งานโปรดักชันหนังฝั่งแดนมังกรมาตรฐานเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาพของความเป็นตลาดภาพยนตร์แถวหน้าของโลกเริ่มชัดเจนขึ้น ปมเรื่องรสนิยมของคนเสพหนังที่มีอคติ หรือมองศิลปะวัฒนธรรมจีนว่า ‘ไม่ใช่ทาง’ แต่ทุกวันนี้มันถูกทำให้ ‘ย่อยง่าย’ รองรับไปกับวัฒนธรรม ‘แดกด่วน’ ซึ่งค่ายหนังจีนยิ่งกว่ารู้งาน ปรับตัวกันได้อย่างรวดเร็วมาหลายปีแล้ว เรียกว่า research แล้ว คนตามหา อยากได้ content แบบไหน ใช้เวลาไม่นานก็เนรมิตออกมาให้เห็น เหมือนเล่นขายของอย่างไงอย่างงั้น
ย้อนกลับมามองแต่ละปีที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศชื่อหนังไทยที่ส่งออกไปฉายตามงานเทศกาลหนังเมืองนอก จะเห็นได้ว่าอย่างน้อย 20-30% ต้องมีหนังที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศติดสอยห้อยตามไปเสมอ และที่น่าสังเกตคือ หนังแนวนี้ผู้กำกับจะพยายามจัดสรร content ให้อยู่ในกลุ่ม หนังตลก หนังผี หรือบู๊แอ็คชันมาช่วยผลักดันหนัง ซึ่งมันจะเดินต่อได้ง่ายทั้งในเรื่องการทำการตลาดและการเข้าถึงเพื่อเรียกคนมาดู เช่นเดียวกับใน Kung Fu Yoga งานหนังบู๊แอ็คชันล่าสุดของเฉินหลง ที่เป็นงานผสมผสานความเป็นกังฟู และโยคะของฝั่งอินเดีย โดยได้ผู้กำกับคู่บุญอย่าง แสตนลีย์ ตง มานั่งแท่นกำกับ (อีกแล้ว)
เรื่องราวของ Kung Fu Yoga นั้นเป็นเรื่องของ แจ็ค (เฉินหลง) ศาสตราจารย์โบราณคดีชาวจีนฝีมือดี ที่ไปพบเบาะแสของสมบัติ Magadha โดยหนังจับผลัดจับผลูให้เขาต้องไปร่วมมือและผจญภัยกับ แอชมิตา (ทิชา พาตานี) ศาสตราจารย์สาวสุดเอ็กซ์ชาวอินเดีย และ ไคร่า (อามิรา ดัสตู) ผู้ช่วยของเธอ นอกจากนี้ยังมี โจนส์ ลี (อาริฟ ราห์มาน) และ แจ็ค มาร่วมทีมสืบหาสมบัติ ซึ่งพบว่าถูกซ่อนอยู่ที่ถ้ำน้ำแข็งแห่งหนึ่งในอินเดีย โดยเมื่อไปถึงที่แห่งนั้นพวกเขาได้พบกับซากกองทัพหลวงที่สูญหายไปพร้อมกับสมบัติ อย่างไรก็ตาม แรนดัล (โซนู ซูด) ลูกหลานของผู้นำทัพกบฏรุ่นปัจจุบัน ก็ต้องการที่จะตามหาและครอบครองสมบัติดังกล่าวเช่นกัน ทำให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงสมบัติขึ้น
ด้วยความที่ทั้งคู่ร่วมงานลุยอินเตอร์มานาน ทำให้ Kung Fu Yoga มีความเป็น mass มากกว่าหนังจีนจ๋าหลายเรื่อง ลดไดอะล็อกหรือบทพูดให้กระชับและง่าย ตัวละครไม่มีกำแพงภาษา เน้นไปที่บท สถานการณ์ มุขตลกสากลแบบใครก็เข้าใจ ผมว่า สแตนลีย์ ตง รู้อยู่แล้วว่าคนดูทุกวันนี้ต้องการอะไร และที่สำคัญเลยคือ รู้ว่าจะใช้ เฉิน หลง อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด หนังมันเลยเล่าเรื่องกระชับ ตัดไว ไม่เนือย ไม่มีการทิ้งซีนนี้ไว้เพื่อจงใจเก็บซีนนั้นทีหลังเหมือนหนังสมัยก่อนชอบทำ ไม่มีพื้นที่ให้คิดต่อ มีแต่ความบันเทิงตรงหน้า หากใครเข้าไปดูหนังเฉินหลงดูแล้วบอกว่าพล็อตเรื่องไม่ได้ความ ไม่สมเหตุสมผล โชว์ภูมิร้อยแปด ผมว่าคนนั้นคงคิดผิดตั้งแต่ตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไปแล้ว เพราะไอ้สิ่งเหล่านั้นมันไม่มี ‘ขาย’ มาตั้งนานนมแล้ว ขายงานบู๊ตลก สนุกตื่นเต้นตลอดเวลา ซึ่งหนังมันทำหน้าที่ครบถ้วนของมันเองแล้วเหมือนกัน
อีกจุดหนึ่งที่สังเกตคือ ตัวหนังสอดแทรก hidden agenda ในเรื่องของการแสดงความยิ่งใหญ่ของความเป็น ‘จีน’ ไว้อยู่รายทาง แน่นอนว่ามาสค็อตที่จะเปิดประตูชักจูง โน้มน้าวให้คนเชื่อใน potential ที่มีของหนังจีนนั้นคงไม่มีตัวเลือกไหนที่ดีไปกว่า เฉินหลง แล้ว ภาพของตี๋หมวยห้อยโหนโจนทะยานบนรถหรูแรงๆ ให้อารมณ์แบบ Fast & Furious ความทะมัดทะแมง หรูหราและเซ็กซี ในการต่อสู้ ทำให้นึกถึงคิวบู๊งานระดับฮอลลีวูด ที่ทำได้ใกล้เคียงไม่เคอะเขินเลย ในขณะเดียวกัน แง่คิดในเรื่องที่สอดแทรกมานั้นก็ถือว่าจับประเด็นได้โอเค ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็เหมือนเป็นหนังที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่าง จีน กับ อินเดีย ที่แน่นแฟ้นประทับใจ วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย
Kung Fu Yoga คือส่วนผสมที่ปั่นวัฒนธรรมจีนและอินเดียให้เข้ากันในรสชาติที่กำลังดี กลิ่นอายของวัฒนธรรมบอลลีวูดที่มีคนจีนไปเป็นตัวเดินเรื่อง สัมผัส และค้นพบ และที่น่าประทับใจคือการจำลองการสร้างสถานที่สำคัญหลายแห่งในอินเดียทำได้สมจริงและดูดี มีความอลังการงานสร้างสไตล์พี่จีน แม้ซีจีในบางช่วงบางตอนจะทำออกมาง่อยไปนิดหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วการแสดงของ เฉินหลง ในวัยนี้ต่างหากที่เป็นไฮไลต์ดึงความสนใจของคนดูไปเสียหมด หากในวงการฟุตบอลหลายคนจะบอกว่า โชคดีที่เกิดมาในยุคที่ทันดูเมสซีเล่น คนดูหนังอีกหลายคนก็จะบอกว่าเป็นโชคดีของเขาที่เกิดมาทันยุคที่ เฉินหลง ยังโลดแล่นและบู๊ไหวไม่สนกาลเวลาอยู่ทุกวันนี้เช่นกัน