American Pastoral เป็นชื่อนิยายรางวัลพูลิตเซอร์ ของ ฟิลิป รอธ เมื่อปี 1997 ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้กับผลงานสิ่งพิมพ์ที่ทรงคุณค่าสูงสุดของอเมริกาในแต่ละปี ซึ่งยังนับเป็นเรื่องแรกในไตรภาคชุดวิพากษ์ปัญหาสังคมอเมริกันของรอธ ที่ถูกขนานนามว่า American Trilogy โดยหลังจากเรื่องนี้ก็ยังมีนิยายอีกสองเรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์ใน I Married a Communist (1998) และอีกเรื่องพูดถึงปัญหาเรื่องผิวสีใน The Human Stain (2000) โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้เคยถูกถ่ายทอดเป็นหนังจากผลงานของผู้กำกับออสการ์อย่าง โรเบิร์ต เบนตัน และได้นักแสดงมากฝีมือทั้ง แอนโธนี ฮอปกินส์ และนิโคล คิดแมน แสดงนำในปี 2003 ด้วย คิดว่าคงมีบางคนเคยดู และหลาย ๆ คนเคยผ่านตามาแล้ว
นิยายไตรภาคนี้เล่าผ่านสายตาของตัวละครสำคัญ ซึ่งปรากฏในผลงานหลายเล่มของรอธ นามว่า เนธาน ซัคเกอร์แมน นักเขียนชื่อดังที่เป็นทั้งผู้เล่าเรื่องราวและผู้เฝ้าสังเกตกลุ่มคนในแต่ละเรื่อง เปรียบไปเนธานก็คือรอธที่โลดแล่นอยู่นิยายของตนเองนั่นล่ะครับ โดย American Trilogy อิงเวลาตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนามและการต่อต้านสงครามช่วงทศวรรษ 1960 ใน American Pastoral เรื่อยมาจนถึงปัญหาผิวสีที่กลับมามีประเด็นมากขึ้นช่วงปีทศวรรษ 1990 ใน The Human Stain
ก่อนหน้านี้ว่ากันว่าผลงานของเขาที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันกว่า 50 ปีนั้น ไม่สามารถจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ แต่หลังจาก The Human Stain ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ค่ายหนังจึงได้เริ่มโครงการหนัง American Pastoral ในปี 2006 แต่กว่าจะแล้วเสร็จจนคว้า ยวน แมคเกรเกอร์ มาเป็นผู้กำกับครั้งแรกและนักแสดงนำอย่างในปัจจุบันก็ล่วงเลยมาถึงปี 2015 เลยทีเดียว ซึ่งแม้คะแนนในเว็บต่างประเทศที่หนังเปิดตัวไปก่อนตั้งแต่กันยายนของปีก่อนแล้วจะออกมาค่อนข้างไปทาง กลาง ๆ และออกจะมีเสียงตำหนิอยู่ไม่น้อยที่เอาผลงานพูลิตเซอร์มาทำได้ไม่ถึง แต่ผมเองดูแล้วในฐานะคนชอบดูหนังที่ไม่ได้อ่านหนังสือมาก่อน ก็ต้องบอกว่า หนังไม่ได้แย่เลยครับ ค่อนข้างจะเฉียบคมและรักษาสาระของเรื่องไว้ได้อย่างพิถีพิถันเลยล่ะ
หนังเป็นผลงานเขียนบทดัดแปลงของ จอห์น โรมาโน ที่เคยเขียนหนังดราม่ากฎหมายเรื่อง The Lincoln Lawyer (2011) มาแล้ว โดยในเรื่องนี้จะเล่าเรื่องของ เซมัวร์ สวีด เลโวฟ (ยวน) นักธุรกิจยิวสัญชาติอเมริกันผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสืบทอดโรงงานผลิตถุงมือต่อจากพ่อ ทั้งได้แต่งงานกับ ดอว์น (เจนนิเฟอร์ คอนเนลี) อดีตนางงามของรัฐ แต่ชีวิตครอบครัวที่น่าจะสมบูรณ์พร้อมของเขาก็ต้องพังทลายลง เมื่อลูกสาววัยรุ่นอย่าง เมอร์รี (ดาโกตา แฟนนิง) เกิดฝักใฝ่ในฝั่งซ้ายหัวรุนแรง และได้หายตัวไปจากบ้าน หลังจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อการร้ายทางการเมืองที่คร่าชีวิตคนไป เป็นหน้าที่ของสวีดที่จะนำครอบครัวอันแตกสลายของเขากลับคืนมา
โดยทั้งเรื่องได้เล่าผ่านนักเขียนอย่าง เนธาน (เดวิด สเตรทธาร์น) ที่ตั้งใจกลับมาหาข้อมูลเขียนหนังสือจากงานรวมรุ่นศิษย์เก่า ซึ่งการได้พบกับเพื่อนเก่าอย่าง เจอร์รี (รูเพิร์ต อีแวนส์) ที่เป็นน้องชายของสวีดก็ทำให้เขาทราบโศกนาฏกรรมของอเมริกันดรีมตัวจริงอย่างสวีดด้วย (ในหนัง The Human Stain ตัวละครเนธานนี้รับบทโดย แกรี ซีนีส) ซึ่งวิธีการเล่านี้ก็เรียกว่าซื่อตรงกับหนังสือมากครับ คือมันไม่จำเป็นต้องเล่าผ่านเนธานเลยตัวเรื่องก็เล่าด้วยตัวเองสมบูรณ์ได้แล้ว แต่การมีตัวละครเนธานก็เหมือนการให้เกียรติรอธล่ะนะ ใครไม่ใช่แฟนนิยายก็ขอให้เข้าใจไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ ว่ามันมีเหตุผลอยู่
สิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นดาบสองคมของหนังเอง คือการเล่าโดยรักษาบรรยากาศแบบนิยายไว้ ทั้งชวนฝันสมชื่อเรื่องที่ Pastoral แปลว่าบทกลอนแห่งท้องทุ่งด้วย หนังเก็บเหตุการณ์สำคัญ ๆ ไว้ครบถ้วนในเวลาจำกัด จึงมีการข้ามช่วงเวลาแบบเป็นเดือน ๆ หรือ ปี ๆ อยู่บ่อยครั้งแบบไม่มีการบอกใบ้ใด ตรงนี้ทำให้ความลื่นไหลในการติดตามพัฒนาการของเรื่องและอารมณ์ตัวละครมันสะดุด ๆ นิดหน่อย รวมถึงบทพูดของเนธานบางช่วงที่จะชวนให้คิดตามแบบโควทคำนิยายมานั้น ดูแบบไว ๆ ในหนังคิดตามไม่ทันครับไม่รู้ว่ามันพูดอะไร ภาษาวรรณกรรมจ๋า งงมาก ถ้าเป็นหนังสือคงมีเวลาพินิจกลับไปกลับมาได้แล้วเข้าใจ แต่ถ้ามองข้ามพวกนี้ไปได้ หนังจัดว่าใช้ผลงานพูลิตเซอร์ได้คุ้มราคามากจริง ๆ มันทั้งชวนให้ฉุกคิด เข้าไปพัวพัน มีบทที่คมคาย น่าจดจำ และสุดท้ายเราก็ตรอมตรมไปกับตัวละครอย่างที่ว่า อเมริกันฝันสลายจริง ๆ
ฉากหนึ่งที่ผมชอบมากคือ สวีดและภรรยา เดินทางไปขอโทษภรรยาของเหยื่อรายหนึ่งที่อาจตายจากฝีมือลูกสาวของพวกเขา โดยยืนยันว่าเป็นความผิดจากการเลี้ยงดูของเขาเอง (ซึ่งเราดูมาก็ไม่ได้เลี้ยงผิดอะไรเลย) เหยื่อที่รู้จักกันดีรายนั้นไม่กล่าวโทษสวีดเลยแต่บอกว่า พวกสวีดเองก็เป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เหมือนกัน ต่างกันแค่ครอบครัวของเธอจะยังรักกันดังเดิมเหมือนก่อนสามีเธอตาย เพราะความทรงจำที่ครอบครัวรักกันดีนั้นไม่เปลี่ยนไป ต่างจากครอบครัวสวีด
อีกฉากที่ดีเช่นกันก็คือการปะทะคำพูดกันระหว่างสวีดที่ตามหาลูกสาว กับริต้าสาวตัวแทนกลุ่มใต้ดินที่เข้ามาติดต่อ ริต้าพยายามพูดว่าสวีดเป็นนายทุนเป็นเจ้าของโรงงาน กดขี่และเมินเฉยต่อความอยุติธรรมในโลกโดยเฉพาะกรณีเวียดนาม ซึ่งสวีดตอกกลับได้หมด แต่ริต้าเองก็ปักใจเชื่ออย่างนั้นอย่างไม่สั่นคลอนว่าการเป็นชนชั้นกลางแบบสวีดเป็นสิ่งเลวร้าย ตรงนี้อยากให้ไปชมฉากนี้เองครับจะเกิดคำถามย้อนกลับมาบ้านเราได้เหมือนกันว่าปัญหาทางการเมืองทำร้ายคนธรรมดา ครอบครัวธรรมดาอย่างสวีดมาแล้วเท่าไร และสิ่งที่ฝั่งหนึ่งปักใจเชื่อนั้นมันเป็นข้อเท็จจริงหรือเพียงมายาคติอย่างที่สวีดโดนกันแน่
อีกประเด็นที่หนังพูดตั้งแต่ต้น ๆ เลยทั้งยังส่งผลลูกโซ่บานปลายมาตลอดเรื่องเลย คือรุ่นพ่อแม่ที่แสนสมบูรณ์พร้อม สร้างความลำบากให้กับรุ่นลูกที่ต้องไล่ตามมากขนาดไหน ตรงนี้เหมือนเคยอ่านบทความนานมาแล้วที่วิเคราะห์ว่าคนยุคใหม่ตั้งแต่เจนวายลงมานั้น ต้องประสบความลำบากในการเติมเต็มด้านจิตใจจากการไม่อาจทำได้อย่างคนรุ่นก่อนหน้า เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนไปมากไม่เอื้อให้เกิดวีรกรรมบริสุทธิ์แบบยุคก่อน เช่นวีรบุรุษสงคราม หรือเศรษฐีแบบอเมริกันดรีมอีกแล้ว คิดว่านี่คงเป็นอีกหมุดหมายที่หนังวิพากษ์อยู่เช่นกันครับ
สรุป
นิยายที่เป็นต้นธารของเรื่องที่ดีเยี่ยม ประกอบกับโปรดักชั่นสุดสวย และการแสดงที่ไม่ธรรมดาของนักแสดงทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ นี่คืองานที่วิพากษ์สังคม ปัญหาการเมือง ได้อย่างเป็นสากล และชวนให้ไตร่ตรองตามหนังอย่างลุ้นระทึกสไตล์ดราม่า ชวนอึดอัดในการตวงชั่งทางเลือกของตัวละคร ซึ่งไม่ต่างจากพวกเราทุก ๆ คนเลย ใครชอบแนวดราม่า+ประวัติศาสตร์+การเมือง+วรรณกรรม คือห้ามพลาดเลยครับ