สิ่งที่สิงคโปร์มีคือความหลากหลายของวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุดิบให้ผู้กำกับนำมาปรุงหนังให้ออกมาได้หลายรสชาติและมีเอกลักษณ์ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าผู้กำกับที่นี่ส่วนใหญ่ต้องดื้นรนออกไปโตนอกบ้านทั้งนั้น ด้วยความเข้มงวดของกองเซ็นเซอร์ที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วสารทิศ หรือไอ้การพยายามปิดกั้นเนื้อหาบนอุตสาหกรรมหนังจากรัฐบาลลอดช่องที่พยายามล้างสมองอยู่อ้อมๆ แถมหนังส่วนใหญ่ก็มีแต่เทรนด์กับคอนเท้นท์คับแคบเรียกได้ว่าทำกันเองดูกันเอง ขายเมืองนอกไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมเราถึงเห็นผู้กำกับหลายรายต้องไปหาพื้นที่ปล่อยของบนเวทีระดับนานาชาติ ไม่ก็ร่วมทุนทำหนังกับค่ายหนังต่างชาติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น In The Room หรือว่า To Singapore, with Love ที่คนสิงคโปร์ต้องนั่งเครื่องไปหาดูนอกเกาะ
สำหรับ Apprentice มันมาพร้อมกับหน้าหนังที่ค่อนข้างโดดเด่นเหมือนหนังอินดี้มีฟอร์มที่ทำท่าจะมีของ พร้อมคำชมอย่างล้นหลามไปขนาดว่ามันเป็นผลผลิตหนังแดนลอดช่องที่ทำให้อุตสากรรมหนังสิงคโปร์ตื่นตัวขึ้นมากในรอบหลายปี นอกจากนี้ประเด็นที่หนังเอามานำเสนอนั้นแม้จะแคบ แต่มันเป็นช่องว่างคำถามที่หลายคนสนใจ เลยกลายเป็นจุดเด่นที่สื่อสารออกมาชัด นอกจากนี้ยังมีชื่อของ ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อแถวหน้าของเมืองไทย ที่ได้รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจากงานเอเชียน ฟิล์ม อวอร์ดส์ จากหนังเรื่องนี้ ก็ทำให้สินค้าราคาหนังมันดูมียี่ห้อขึ้นมา โดยเฉพาะคอหนังนอกกระแสในบ้านเรา
Apprentice หรือชื่อไทย เพชฌฆาตร้องไห้เป็น มันเล่าเรื่องราวระหว่างพัศดีหนุ่ม ไอมาน (ฟีร์ดาอุส รามาน) กับ ราฮิม (วาน ฮานาฟี ซู) พัศดีอาวุโสผู้รับหน้าที่เป็นเพชฌฆาตประหารนักโทษในเรือนจำที่ชื่อ ลารางกัน ท่ามกลางบรรยากาศหม่นหมองในคุกแห่งนั้น ซูไฮลา พี่สาวของไอมาน รู้สึกสะอิดสะเอียนที่น้องชายของเธอยังทู่ซี๊ทำอาชีพ ‘แบบนี้’ อยู่ได้
วันหนึ่ง ราฮิม มีปัญหากับการหาเชือกมัดใหญ่ชุดใหม่มาใช้แขวนคอนักโทษ ซึ่งไอมานก็พาเขาไปซื้อ ระหว่างนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้ก็ค่อยๆ มีมากขึ้น ความรู้สึกที่ไอมานมองราฮิมเป็นเหมือนพ่อคนที่สองของเขา ผู้ที่จะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาด แต่แท้จริงเขากลับพบว่าชายแก่คนนี้คือผู้ที่ทำหน้าที่ประหารพ่อของเขาเอง ซึ่งนับตั้งแต่นี้ผู้กำกับ บูจุนเฟิง ก็ค่อยๆ นำเสนอให้เรามองเห็นและเรียนรู้โดยแยกเป็น 3 มุมมอง
ซูไฮลา พี่สาวที่สิ้นหวัง หลอกผัวฝรั่งหวังแต่งงานไปเสวยสุขเมืองนอก ภายใต้ปมที่อยากหลีกไปให้พ้นจากชีวิตเฉาๆ ที่เป็นอยู่ ไอมาน หนุ่มพัศดีวัย 28 ที่มีมุมมองต่ออาชีพเพชฌฆาตเหมือนคนนอกคุกทั่วไป ภาพจำที่ตั้งธงไว้ว่าคนทำหน้าที่นี้อย่าง ราฮิม คือคนบาป เลือดเย็น ไร้ความเป็นมนุษย์ และสุดท้ายหนังก็เล่าในมุมของ ราฮิม ที่มาเติมเต็มมุมมองทุกด้านของตัวละคร เมสเซจของหนังพยายามสื่อในเรื่องของความเป็นมนุษย์แบบไม่โลกสวย แต่มันเป็นการเรียนรู้ของ ไอมาน มันเป็น coming of age ของคนวัยใกล้ 30 ที่อยู่ในวัยจะตั้งคำถามลึกๆ กับสิ่งที่คน 50-60 ทำอยู่
สิ่งที่ชอบในหนังเรื่องนี้อย่างแรกเลยคือ การแคสตัวแสดง โดยเฉพาะคู่ ไอมาน และ ราฮิม ดูมีเคมีเข้ากันอย่างมาก ตัวละครที่เป็นมนุษย์เดินดินธรรมดาให้ความรู้สึกเรียลบนบทหนังที่ไร้พระนาง การใช้ symbolic มาสื่อให้คนดูไปคิดต่อทำได้ลงตัว เดินเรื่องกระชับ เป็นหนังอีกเรื่องที่มีความเป็น cinematography โดดเด่น องค์ประกอบภาพที่เล่นไปกับความสับสนของตัวละคร โทนของหนังที่หมองหม่นมืดมิด ทำให้ผมนึกถึง Moonlight เมื่อครั้งที่ชารอนสับสนและตั้งคำถามกับตัวตนในวัยหนุ่ม ความเงียบงันและการถ่ายแบบ long take ทำให้หนังทั้งสองเรื่องมีความน่าค้นหาและสร้างความกดดัน ในช่วงครึ่งหลังเห็นได้ชัดว่าหนังพยายามรุกและบีบคั้นคนดูไปกับการสำรวจจิตใจตัวละคร ซึ่งทำได้ดีประมาณหนึ่งเลย แม้ว่าปลายทางของ Apprentice นั้นเราพอจะเดาได้ว่ามันควรจะเดินไปถึงแค่ไหน แต่มันก็เป็นทางลงที่ปลอดภัยรัดกุมที่สุดที่ไม่ทำให้เชือกมัดใหญ่นั้นกลับมาผูกคอตัวเองจนตกม้าตายไปได้
Apprentice ไม่ใช่งานที่เหมาะกับคอหนังทุกคน สิ่งที่มันน่าชื่นชมคือการเล่าเรื่องลงลึกไปในรายละเอียดของคนกลุ่มนี้ ภายใต้ความหวาดกลัวของนักโทษก่อนถูกประหารตอนนั้นเขาคิดอะไร แล้วเพชฌฆาตล่ะเขาคิดอะไรอยู่ในวินาทีที่กำลังจะดึงคันโยกเหล็กเพื่อแขวนคอนักโทษ คนที่มีภาพจำอย่างหนึ่ง เมื่อถึงคราวกดดันถึงขีดสุดชนิดไม่ทำไม่ได้ เขาจะกล้าทำมันลงไปไหม แต่ที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้สรุปให้เราเรียนรู้ว่า ความเป็นมนุษย์ที่คนเรียกกัน แท้จริงแล้วมันคนละเรื่องกับการเป็น คนดีหรือไม่ดี ที่เหลือจากนี้คือความดัดจริตล้วนๆ