รถไฟเป็นภาพจำลองของชีวิต เป็นที่ที่คนแปลกหน้ามาพบกัน เส้นทางของเรามาซ้อนทับกันเมื่อเรามุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันแต่ต่างจุดหมาย สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (แฟนพันธุ์แท้ วอลท์ ดิสนีย์ และผู้กำกับสารคดีหมอนรถไฟ)
  • นี่คือหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับการจัดจำหน่ายจาก Documentary Club ที่คัดสรรหนังสารคดีดี ๆ จากทั่วโลกมาให้เราชมเสมอ แฟนหนังค่ายนี้จึงไม่ควรพลาด
  • นี่คือหนังที่ผู้กำกับใช้เวลากว่า 8 ปี จากอายุ 27 ปีจน 36 ปีเพื่อเฝ้าถ่ายชีวิตคนบนรถไฟล่องเหนือลงใต้ เรียกว่าส่วนหนึ่งของชีวิตวัยที่มีพลังมากที่สุด เขาใช้ทุ่มให้กับหนังเรื่องนี้ทีเดียว
  • คือหนังที่ได้รับคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลหนังนานาชาติทั้ง เทศกาลหนังนานาชาติปูซาน เทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน เทศกาลหนังนานาชาติบางกอก และเทศกาลหนังสารคดีนานาชาติศาลายา ด้วย

สมพจน์? ใคร? หมอนรถไฟ? หนังอะไร?

พูดชื่อ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ขึ้นมาคนดูหนังทั่วไปก็คงมีงง ๆ ครับ แต่ถ้าใครสายหนังทางเลือกหน่อยบอกว่าเขาคือ ผู้ช่วยให้เจ้าพ่อหนังอินดี้ไทยอย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็อาจจะเริ่มมีจุดอ้างอิงให้อ๋อมากขึ้น แต่ถ้าเอาให้ใกล้ชิดคนทั่วไปที่สุดเลยก็ต้องแนะนำว่าเขาคือ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้วอลท์ ดิสนีย์ ประจำปี 2001 นั่นเอง

หลังจากเป็นผู้ช่วยให้เจ้ยมาสักพักเขาก็เริ่มออกเดินทางในสายนักทำหนังของตนเอง โดยการไปเรียนต่อที่แคลิฟอร์เนีย และที่นี่เองหนังทีสิสที่เขาเลือกทำเพื่อจบ ความยาว 1 ชั่วโมง ชื่อเรื่อง Are We There Yet? “จะถึงหรือยัง” ที่ติดตามเล่าเรื่องชีวิตผู้คนบนรถไฟไทย ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้หลังจากนั้นเขาได้มาสานต่อให้กลายเป็นหนังสารคดีเรื่อง หมอนรถไฟ Railway Sleepers โดยเฝ้าถ่ายชีวิตผู้คนบนรถไฟตั้งแต่เหนือจรดใต้ต่อไปจนรวมเวลาทั้งสิ้นกว่า 8 ปีทีเดียว

ตรงนี้ก็ด้วยเพราะการเป็นแฟนพันธุ์แท้นี่เองที่ทำให้เขาพบ วราพงษ์ ทองจันทร์ แฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย ที่เป็นพนักงานของการรถไฟด้วย ช่วยเหลือประสานงานจนสามารถ่ายหนังลุล่วงสำเร็จได้

หนังเรื่องนี้คือความธรรมดาที่แสนพิเศษ

แม้สมพจน์จะตั้งใจให้หนังเรื่องนี้สะท้อนภาพเบื้องลึกของสังคมไทย อย่างเช่น ชนชั้นของสังคมที่ผ่านการแบ่งชั้นของรถไฟที่สะดวกสบายจนถึงตามยถากรรมสุด ๆ หรือความแตกต่างของผู้คนที่ขึ้น ๆ ลง ๆ มีกิจกรรมบนรถไฟแตกต่างกันตามภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในแต่ละภาคก็ตาม แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว หนังสารคดีเรื่องนี้ค่อนข้างปล่อยผู้ชมในการ คิดหรือเก็บเกี่ยว ความเข้าใจต่าง ๆ ด้วยตนเองเป็นส่วนมาก  เพราะหนังไม่มีบทบรรยายหรือโครงเรื่องใด ๆ ในการชี้นำเรานัก นอกจากภาพจากกล้องที่ถ่ายไปเรื่อย ๆ บนรถไฟ ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ จากเช้าจนค่ำจนเช้าอีกวัน จากตื่นจนหลับจนตื่นอีกครั้ง ผู้คนหลากหลายอาชีพ หลายวัย หลายเพศ หลายวัฒนธรรมต่างหมุนเวียนขึ้นมาเป็นตัวเอกให้กล้องหนังจ้องมองอย่างไม่ขวยเขินเอียงอาย ซึ่งก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สามารถบันทึกภาพที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ มาได้ ทั้งที่คนไทยค่อนข้างระแวงกล้องพอสมควร (ผู้กำกับบอกว่ามีเพียงครั้งเดียวที่เกือบมีเรื่อง เพราะเขาไปถ่ายเด็กหนุ่มที่กำลังจีบสาวอยู่)

ด้วยเหตุการเล่าเรื่องแบบนี้เองที่ทำให้หนังเรียกร้องสมาธิจากผู้ชมพอสมควร ใครอ่อนแอก็แพ้ไปครับ มีสิทธิ์หัวถึงหมอนหลับคาโรงได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว ตรงนี้คิดว่าผู้ชมต่างชาติน่าจะดูได้นานกว่าเพราะภาพต่าง ๆ บนรถไฟไทยนั้นมันแปลกประหลาดสุด ๆ เหมือนกันสำหรับคนที่ไม่เคยเห็น มันมีความหลากหลายแบบไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ มันเป็นทั้งที่นอน ที่กิน ที่ปาร์ตี้ หรือเวทีคอนเสิร์ตก็ยังได้ แต่สำหรับคนไทยอาจจะคุ้นชินอยู่แล้วทำให้ผลอยไปได้แบบไม่รู้ตัว ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดอะไรนะครับ

แต่ที่ไม่อยากให้พลาดก็คือฉากสุดท้ายในหนัง ที่เป็นการเล่าเรื่องแบบหนังทั่วไปครั้งแรกเลย ถึงจะบอกแบบนั้นแต่มันก็ไม่ได้ธรรมดาเลยนะครับ เพราะนักแสดงฝรั่งที่มาเล่นในช่วงท้ายนี้ พูดไทยชัดปร๋อ ที่สำคัญพูดราวกับเป็นบุคคลในสมัยรัชกาลที่ 5 มาคุยกับตัวผู้กำกับด้วย โดยสมพจน์ได้เล่าว่าเขาอิงตัวละครนี้มาจากบันทึกของบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงเป็นวิศวกรฝรั่งในสมัยนั้น เขาจงใจใส่มาเพื่อทำการตกผลึกสารบางอย่าง ตรงนี้ไม่ขอเล่าบทสนทนาในฉากนี้แล้วกันครับ อยากให้ไปค้นหาความหมายกันเอง แต่อยากบอกแค่ว่ามันพิเศษจริง ๆ ครับ

สรุป

นี่อาจไม่ใช่หนังที่ถูกโฉลกกับทุกคนนะครับ ต้องมีใจรักสนใจในเรื่องราว และเคยชินกับหนังที่เรียกร้องความคิดและสมาธิของผู้ชมพอสมควรเลย แต่ถ้าใครถนัดอะไรแบบนี้ก็บอกเลยว่าหนังเรื่องนี้มีความพิเศษหลายอย่างที่ไม่ได้จะเจอกันง่าย ๆ ทั้งในหนังสารคดีไทย หรือแม้แต่หนังสารคดีจากประเทศไหนก็ตาม

Play video