ถ้าจะว่ากันถึงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนสังคม มันก็มีหลายเรื่องที่เคยฉายในอดีต แล้วเป็นที่นิยมและเป็นที่วิพากษ์วิจารย์กันในวงกว้าง เช่น เขาชื่อกานต์, ทองพูน โคกโพ, น้ำพุ หรือเด็กเสเพล เป็นต้น
แต่ถ้าให้พูดถึงภาพยนตร์ที่สะท้อนจนเห็นภาพได้อย่างชัดเจนเรื่องหนึ่ง ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “เสียดาย” ซึ่งเป็นผลงานการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือที่เรารู้จักและเรียกกันในนาม “ท่านมุ้ย” นั่นเอง

ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล
ภาพยนตร์เรื่องเสียดาย จริงๆ แล้วมีถึง 2 ภาคด้วยกัน และแต่ละภาค ต่างมีเนื้อเรื่องที่เล่าแตกต่างกันออกไป อย่างภาคแรกที่เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นการเล่าถึงเรื่องราวของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนกัน แต่ต่างคนต่างมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และครอบครัว จนท้ายที่สุด ทั้งสี่คนเลือกที่จะหาทางออกจากเรื่องทั้งหมดด้วย “ยาเสพติด” และเมื่อมารู้ตัวเองอีกครั้ง ก็เสียดายเวลาที่สูญเสียไปกับเรื่องของยาเสพติดและเรื่องอื่นๆ จนอนาคตและความฝันต้องพังทลายลง รวมถึงชีวิตของตัวละครบางตัวในเรื่องนี้ที่ต้องจบลงเพราะยาเสพติด และการฆ่าตัวตาย

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “เสียดาย” เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2537
ส่วนภาคที่ 2 เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2539 คราวนี้เล่าอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของครอบครัวที่มีลูกสาวติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด ซึ่งเรื่องราวนี้ได้กระจายออกไปในวงกว้าง จนทำให้สังคมต่างไม่ยอมรับ ส่วนลูกสาว ก็สับสน และหาทางออกไม่ได้ เพราะว่าคนในครอบครัวต่างไม่ไว้ใจในตัวเธอ บวกกับกระแสสังคมที่ตราหน้าทั้งครอบครัวก่อนหน้านี้ จนจะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ยังเคราะห์ดี ที่ยังมีรุ่นพี่ที่ติดเชื้อ HIV แบบเดียวกับเธอ ที่คอยรับฟัง

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “เสียดาย 2” เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2539
เสียดาย ภาคแรก (2537)
ถ้าเล่าแบบลงลึกและแยกย่อยในแต่ละภาค จะพบว่า ภาคแรกที่เล่าถึงเรื่องราวของยาเสพติดนั้น เห็นภาพของความเป็นไปในสังคมได้ชัดกว่าภาคที่สอง ปัญหาเกิดขึ้นภายในครอบครัว ทั้งทะเลาะเบาะแว้ง ติดสุรา เสพยาเสพติด หรือแม้แต่เรื่องของการขายบริการและการถูกข่มขืน ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวที่ในปัจจุบันนี้ ยังมีให้เห็นตามหน้าจอทีวี และหน้าหนังสือพิมพ์ รวมถึงการเล่าเรื่องราวที่มาในรูปแบบของสารคดี ทำให้เราเข้าใจว่าเรื่องราวของแต่ละคนที่เกิดในเรื่องนี้ เป็นมาอย่างไรบ้าง
และอีกจุดที่นำเสนอออกมา ก็คือวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละครอบครัว ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง บางครั้งก็ถึงขั้นจับล็อคกับตะแกรง หรือพาไปวัดถ้ำกระบอกเพื่อเข้ารับการบำบัดเลยก็มี แต่ซีนที่ผู้เขียนดูแล้วรู้สึกสะเทือนใจที่สุด คงเป็นซีนที่พ่อแม่ของครอบครัวหนึ่ง จับลูกสาวถอดเสื้อผ้า แล้วอาบน้ำในห้องน้ำ เพื่อให้อาการอยากยาได้หายไป มันสะท้อนได้ว่า ต่อให้ลูกจะทำผิดถึงขั้นติดยาเสพติด คนที่ทุกข์ใจที่สุดและต้องดูแลในทุกๆ ครั้ง คือคนที่เป็นพ่อแม่นี่แหละ
เสียดาย 2 (2539)
ส่วนภาคสองที่เล่าถึงเรื่องของ HIV ดูเหมือนเรื่องที่เล่าจะไกลจากความเป็นจริง แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของ HIV อย่างเดียว ถือว่าเป็นเรื่องที่ตื่นตัวและรณรงค์มาในทุกยุคทุกสมัย แต่การติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือดนี่ โอกาสในการเกิดแทบจะน้อยครั้ง หากไม่มีการคัดกรองและตรวจเลือดก่อนบริจาคในทุกๆ ครั้ง แต่ความน่าติดตามของเรื่องนี้ (ในมุมของผู้เขียน) มีอยู่สองจุดด้วยกัน คือ “ครอบครัว” และ “นักข่าว”
ครอบครัวที่ปรากฎในภาคที่ 2 ของเสียดายนั้น เป็นครอบครัวของผู้ที่มีฐานะ มีความสุข แต่วันหนึ่งต้องมาทุกข์และเกิดความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะสาเหตุที่กล่าวไปในข้างต้น ส่วนนักข่าว เสมือนฟันเฟืองในการดำเนินเรื่อง โดยนำเสนอข้อเท็จจริงว่า เชื้อ HIV นั้นเป็นอย่างไร การติดต่อระหว่างบุคคลนั้นง่ายหรือยาก รวมถึงเป็นผู้ที่เข้าช่วยเหลือ และทำร้ายครอบครัวที่ปรากฎในเรื่องในเวลาเดียวกัน แต่ต้องบอกก่อนว่าบทนักข่าวที่ปรากฎในเสียดาย 2 นี้ ไม่ใช่จับนักแสดงมารับบทนี้นะ เขาเชิญนักข่าวและพิธีชื่อดังอย่าง “อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง” สลัดภาพพิธีกรรายการเด็ก มาสวมวิญญาณพิธีกรสาวที่ต้องลงไปตามล่าหาความจริง จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น และนำเสนอข้อเท็จจริง ให้ผู้ชม และผู้ที่ติดตามข่าว (ในภาพยนตร์นะ…) ได้รู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ชมที่รับชมในชีวิตจริง ก็ได้รับรู้ข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้ด้วย

อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจาเห็นภาพชัดเจน คือเรื่องของสังคมในช่วงเวลานั้น อย่างเสียดาย 2 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ HIV ก็สะท้อนได้ถึงการรับรู้ของคนทั่วๆ ไป ที่ยังไม่รู้ในข้อมูลของเชื้อดังกล่าว ซึ่งตัวละครในเรื่องก็แสดงอาการต่อต้าน รวมไปถึงความเข้าใจแบบผิดๆ ในเรื่องของการติดเชื้อระหว่างบุคคล อย่างการดื่มน้ำจากแก้วเดียวเดียวกันกับผู้ที่มีเชื้อ HIV เป็นต้น
ถามว่าทำไมต้องดู “เสียดาย” ก่อนที่จะเสียดาย ตามหัวข้อของ Article นี้ เพราะว่าเรื่องราวที่ปรากฎในภาพยนตร์ทั้งสองภาคนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่ทุกวี่ทุกวัน ถึงแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของผู้อ่านก็ตาม แต่อย่างน้อย การได้รับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้ ก็ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครอบครัว รวมไปถึงรู้จักกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแบบเห็นภาพได้ชัดเจน (ถึงแม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะปรากฎให้เห็นเป็นข่าวแทบทุกวี่ทุกวันก็ตาม…)
และจะดีกว่านี้ ถ้ารับชมพร้อมกันทั้งครอบครัว พร้อมทั้งชี้แนะ และอธิบายถึงเหตุและผลของเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วย เสมือนเป็นการสอนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะบุตร-หลาน ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยอยากรู้อยากลองนั่นเอง
โปรดดูเสียดาย ก่อนที่คุณจะเสียดาย…
ขอขอบคุณภาพประกอบส่วนหนึ่งจากกระทู้พันทิป “เสียดาย” เขียนโดย Cinephile (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล)