ในยุคที่บรรดาหนังสั้นหนังยาวหนังโฆษณาเริ่มทยอยย้ายรังกันมาตั้งรกรากจากทีวีสู่สมาร์ทโฟน หนึ่งในสิ่งที่เริ่มเห็นกันมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มหันมาโฟกัส ‘การเล่าเรื่อง’ (Storytelling) ในทุกคลิปโฆษณาที่สอดแทรกการขาย เช่นเดียวชมรมหรือกลุ่มคนที่เคยทำตัวนอกกระแส แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะสาย niche หรือ mass ก็ตามล้วนอยู่บนสายธารการทำตลาดและรีแบรนดิ้งบนโซเชียลในแนวทางเดียวกันทั่งหมด ซึ่งจะว่าไปคอนเซ็ปต์เหล่านี้มันค่อย ๆ ปรากฏแจ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผมใช้เวลาละเลียดความสุขไปกับหนังสารคดี Alive and Kicking ที่จะว่าไปมันปรากฏตัวในโรงฉายได้ถูกเวลาอย่างยิ่ง กับโมงยามที่สภาพสังคมฟอนเฟะไปด้วยผลกระทบจาก ‘โรคซึมเศร้า’ ที่สั่นคลอนจิตใจอันแสนบอบบางของผู้คนในยุคนี้
หนังสารคดีเรื่องนี้คือการเข้าไปเปิดโลกเล็ก ๆ อีกใบที่ชื่อว่า ‘ลินดี้ฮอป’ หรือ เต้นสวิง ซึ่งหากแม้คนที่แทบไม่เคยอินเลยก็รู้สึกถึงความเป็นมิตรในการเดินเรื่องที่ย่อยง่ายตั้งแต่นาทีแรก คนดูรู้สึกฟีลกู้ด สบาย ๆ ไม่อึดอัดเหมือนอย่างที่เคยคิดไว้ก่อนเข้าโรง เรียกว่าหากให้ผมไปเปิดหนังสือนั่งอ่านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมัน ผมคงไม่แม้กระทั่งหยิบมันออกมาจากชั้นวาง แต่นี่พอมาเป็นสารคดีแล้ว การวางพลอตเรื่องที่อิงจากเหตุการณ์จริงของนักเต้นสวิง การตัดสลับบทสัมภาษณ์ของเหล่าบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการมันดูไหลลื่นลงตัว สอดไส้มุกตลกที่หยอดมาอย่างลงตัว เป็นธรรมชาติมาก และที่สำคัญเลยคือรู้สึกถึงอินเนอร์ของนักแสดง รู้สึกถึงพลังของการลุกขึ้นมาเต้นสวิง แต่ที่เหนือกว่านั้นคือการตั้งต้นจากจุดสตาร์ทด้วยคำถามที่ทรงพลังและฉลาดในการหยิบจับเทรนด์ใหม่มาโยง
ทำไมต้องเต้นสวิง?
ตัวหนังไม่มีการยัดเยียดให้คนดูต้องไปตามหา ไม่มีไท-อินโรงเรียนสอนเต้นที่ไหน แต่ ‘สร้าง’ ความอยากขึ้นมาเอง โดยการโยนคำถามไปถึงไลฟ์สไตล์ในชีวิตทุกวันนี้ ยุคที่สมาร์ทโฟนและหน้าจอโน๊ตบุ๊กเป็นยิ่งกว่าอวัยวะที่ 33 ของชีวิต และเป็นสิ่งที่คนเราใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด มากกว่าลูกเมีย มากกว่าเพื่อนฝูง ยุคที่คนเราตัดสินความเป็นมนุษย์กันผ่านข้อความที่อยู่บนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก แต่สารคดีเรื่องนี้กลับสอนคนดูว่า ปมดราม่าต่าง ๆ ที่ใครต่อใครเข้าไปแสดงความคิดเห็น อินกับมันในแต่ละวันในชุมชนที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กเคยฝันว่ามันจะเป็นทุ่งลาเวนเดอร์ของคนทั่วโลกมาวิ่งเล่นกันนั้น ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์คนไหนทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกันสิ่งที่คนเราจะทำความรู้จักกันจริง ๆ ก็คือ ‘การสัมผัส’ ซึ่งกันและกันต่างหาก ซึ่งการจับมือถือแขน โอบล้อมกันและกันจากการเต้นลินดี้ฮอป คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตและเรียนรู้กันและกันอย่างแท้จริง ประเด็นนี้ส่วนตัวชอบการจิกกัดเทรนด์สังคมก้มหน้าได้เด็ดขาดและกินใจอย่างมาก
แน่นอนว่า Alive and Kicking ไม่ได้เป็นสารคดีที่นำเสนอแต่มุมโลกสวยของการสังคมนักเต้นสวิง แต่มันยังได้พูดถึงความเจ็บปวดจากการฝึกซ้อมที่ผิดพลาดในระดับประสบการณ์เฉียดตายของนักเต้นสวิง รวมไปถึงโรคร้ายที่สวรรค์กลั่นแกล้งดูคล้ายจะทดสอบจิตใจ ซึ่งตรงนี้หนังก็เล่าออกมาได้ดูซึ้งและประทับใจ ยิ่งตอกย้ำว่าสังคมและกลุ่มคนเต้นสวิงนั้น รักกันเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก นี่ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่หนังพูดถึงบ่อยมาก กับอาชีพของครูสอนเต้นสวิงที่พวกเขามีเส้นทางการทำงานที่แตกต่างกับอาชีพทั่วไปตรงที่ต้องออกไปสอนและเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งการเต้นสวิงนั้นสามารถทลายกำแพงภาษาและเชื่อมต่อใครก็ได้ให้มารู้จักกัน
ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ใช้ไม่ได้กับการเต้นสวิง
หากมองย้อนไปช่วงยุคสงครามโลก คนในยุคนั้นแค่หาอะไรบางอย่างที่จะช่วยบำบัดเยียวยาตัวเองจากชีวิตเฮงซวย ด้วยการอดทนทำงานเก็บเงินแล้วออกไปแด๊นซ์แบบลืมโลก จุดเริ่มมันก็มาจากกลุ่มคนอเมริกัน-แอฟริกัน ตามย่านฮาเร็มในอเมริกา ที่ถูกซ้ำเติมจากการเหยียดผิว แบ่งแยกชนชั้น น่าสนใจว่าการเต้นสวิงนี่ก็คือมรดกของคนผิวสีเช่นเดียวกับเพลงบลูส์ เพลงแจ๊ส ที่กลายเป็นว่ากลุ่มคนผิวสียุคใหม่เริ่มหลงลืมมันไป จนกระทั่งอรุณเบิกฟ้าในยุค 1980 ชุมชนของการเต้นสวิงได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งและไม่เคยปล่อยมือกันนับจากนั้น
ประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาจากนักเต้นสวิงหนุ่มในสารคดีเรื่องนี้ ที่มีคนสัมภาษณ์เขาว่า การเต้นสวิงแบบถึงเนื้อถึงตัวแบบนี้ ไม่รู้สึกหวั่นไหวหรือตกหลุมรักคู่เต้นบ้างหรือ? เขาตอบว่าการเต้นสวิงมันเหมือนคุณได้ทำความรู้จักและร่วมรักกันไปแล้วในเวลาเพียง 3 นาที และหลังจากนั้น คุณก็มีโอกาสไปตกหลุมรักและทำความรู้จักผู้หญิงใหม่ๆ คนต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดใด ๆ ต่อลูกเมีย!
สารคดีเรื่องนี้ อาจจะมีแก่นเรื่องหลักอยู่ตรงที่มาที่ไปของการเต้นสวิง คล้ายกับเป็นการเปิดประตูบานใหม่ให้คนดูที่แทบไม่เคยรู้จักมันเลย แต่นอกจากนี้มันแนบเนียนในเรื่องของการสอดไส้เมสเซจในเรื่องปรัชญาชีวิตมากมายเข้ามาด้วย การเต้นสวิงคือสิ่งที่เยียวยาคนยุคนี้ให้หลุดพ้นจากโรคซึมเศร้า ที่แห่งนี้ ครอบครัวสวิงนี้มีแต่ความรักที่แท้จริงที่จะไม่มีความเจ็บปวดทางใจใด ๆ ต้องแลกมา ไม่มีการแบ่งแยก ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เนื้อตัวผิวสีอะไร ไม่สำคัญอีกต่อไป บรรยากาศดี ๆ ในตัวหนังทำให้นึกไปถึงหนังดนตรีหลาย ๆ เรื่องอย่าง Nodame Cantabile, Swing Girl, School of Rock หรือถ้าบ้านเราก็ Season Change กับเวลาเพียงชั่วโมงนิด ๆ ถือว่าลงตัวมากแล้ว เป็นสารคดีที่มีวิธีการนำเสนอได้อินเทรนด์ มีแทรก motion graphic เข้ามาช่วยเล่า ช่วยสร้างสีสันเหมือนกับสารคดียุคหลัง ๆ หันมาทำ มันก็ได้รสชาติที่กลมกล่อม เดินออกจากโรงไปหลายวันก็ยังนึกถึงหนังแรงบันดาลใจเรื่องนี้อยู่ในหัว
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ Documentary Club และ Bangkok Swing ที่อภินันทนาการตั๋วภาพยนตร์ และอยากบอกว่าชอบฟลอร์สวิงที่เป็นหนึ่งใน End Credit ที่สนุกสนานมากที่สุดในการดูหนังเลย