ชีวิตของ ไลท์ เทอร์เนอร์ (แนต วูลฟ์) ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังได้รับ เดธ โน๊ต สมุดโน๊ตมรณะที่เพียงเขียนชื่อเหยื่อขณะเห็นหน้า พญายมอย่าง รุค (วิลเลม เดโฟ)ก็ปลิดวิญญาณได้ทันที เขาและ มีอา ซัตตัน (มาร์กาเร็ต ควาลีย์) จึงใช้โอกาสนี้พิพากษาเหล่าอาชญากรทั่วโลกจนมีสาวกขนานนามไลท์ว่า คิระ แต่หลังมีคนตายไม่ทราบสาเหตุเพิ่มมากขึ้น ทางเอฟบีไอจึงต้องขอพึ่งนักสืบชื่อดังนาม แอล (ลาคีธ สแตนฟิลด์) ที่พุ่งเป้ามาที่ ไลท์ ในฐานะผู้ต้องสงสัย แม้จะต้องงัดข้อกับ เจมส์ เทอร์เนอร์ (ชีอา วิกแฮม) ตำรวจตงฉินพ่อของไลท์ก็ตาม
จาก Death Note มังงะชื่อดังของญี่ปุ่นสู่หนังฮอลลีวูดรีเมค
ก่อนจะโด่งดังไปทั่วโลกกับหนังไลฟ์แอ็คชั่น Death Note เคยเป็นมังงะชื่อดังของญี่ปุ่นเขียนโดย สึงุมิ โอบะ และได้ ทาเคชิ โอบาตะ วาดภาพ ด้วยความโด่งดังของมังงะทำให้เกิดการดัดแปลงเป็นสื่ออื่นทั้ง อนิเมะซีรีส์ เกม หรือแม้แต่หนังไลฟ์แอ็คชั่นก็มีการสร้างในฉบับหนังไลฟ์แอ็คชั่นญี่ปุ่นถึง 7 เรื่องได้แก่
- Death Note (2006)
- Death Note 2: The Last Name(2006)
- L: Change the World(2008)
- Death Note(2015) เป็น ทีวีซีรีส์
- Death Note: The Musical(2015)
- Death Note: New Generation(2016) ในรูปแบบ มินิซีรีส์
- Death Note: Light Up the New World(2016)
และสำหรับการดัดแปลงเป็นหนังอเมริกันก็มีการวางแผนเป็นเวลานาน ตั้งแต่การติดต่อเชน แบล็ค (Shane Black)ผู้ให้กำเนิดหนังชุด Lethal Weapon หรือ ริกส์ คนมหากาฬ เป็นผู้กำกับแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่ง เน็ตฟลิกซ์ เข้ามาดูแลโปรเจคต์ โดยมีอดัม วิงการ์ด ผู้กำกับหนังสยองขวัญเลือดใหม่ที่มีงานเด่นอย่าง You’re Next (2011)และ V/H/S (2012,2013) ทั้งสองภาคมากุมบังเหียนโปรเจคต์ เดธโน๊ต ฉบับอเมริกันนี้
ตัวละครที่คนดูรักกับการตีความใหม่
เทียบกันแค่ฉบับหนังไลฟ์แอ็คชั่น หลายคนคงสงสัยว่า Death Note ฉบับอเมริกันจะหยิบยกอะไรของญี่ปุ่นมาดัดแปลงบ้าง เราลองมาเริ่มที่คาแรกเตอร์ตัวละครแต่ละตัวกันก่อน ซึ่ง Death Note ฉบับเน็ตฟลิกซ์ เลือกเปิดเรื่องด้วยการแนะนำ ไลท์ เทอร์เนอร์ ให้เป็นเด็กเรียนที่มักโดนแกล้งโดนกลุ่มอันธพาลประจำโรงเรียน ซึ่งแตกต่างจากฉบับหนังไลฟ์แอ็คชั่นของญี่ปุ่นในปี 2006 ที่เลือกเปิดเรื่องโดยหยิบยกสถานการณ์เหยื่อของเดธโน้ตตายไม่ทราบสาเหตุ เพื่อปูที่มาของสมุดโน้ตมรณะอันนี้เสียก่อนทำให้เรารู้สึกว่าสมุดโน๊ตเล่มนี้เป็นตำนานลึกลับเหนือธรรมชาติ แล้วจึงตัดมาเล่าเรื่องการพบเดธโน๊ตของ ยางามิ ไลท์ ที่ปัจจุบันเป็นนักศึกษากฎหมาย เพื่อเพิ่มความขัดแย้งระหว่างการเป็นศาลเตี้ยในนาม คิระ กับ นักศึกษาที่กำลังจะจบเพื่อเป็นคนบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ฉบับอเมริกันจะไม่เพิ่มความหนักแน่นให้คาแรกเตอร์ของ ไลท์ นะครับ ในทางตรงข้ามเราจะได้รู้จัก ไลท์ เทอร์เนอร์ เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีปมกับความอยุติธรรมเพราะนอกจากการถูกรังแกที่โรงเรียนแล้ว ที่บ้านเองเขายังหมดศรัทธากับพ่อที่เป็นตำรวจแต่กลับไม่สามารถดำเนินคดีกับฆาตกรที่สังหารแม่ของเขาได้ ดังนั้นในส่วนคาแรกเตอร์ของ ไลท์ ต้องยอมรับว่าฉบับเน็ตฟลิกซ์ สร้างที่ทางให้ตัวเองได้อย่างโดดเด่น แถมมีบทโรแมนซ์กับ มีอา ซัตตัน หรือที่หลายคนอาจตีความว่านี่คือ มิสะ ในหนังฉบับนี้มาเพิ่มความหวานซ่อนอันตรายให้คนดูต้องคอยลุ้นกับชะตากรรมของไลท์ได้อย่างน่าตื่นเต้น
อีกหนึ่งตัวละครที่คนดูอยากเห็นที่สุดคงหนีไม่พ้น แอล ซึ่งในฉบับนี้ก็กล้าหาญถึงขั้นปรับให้เป็นคนแอฟริกัน อเมริกัน แต่ยังคงบุคลิกความฉลาดและเรื่องโปรดปรานของหวานไว้ แต่ที่น่าขัดใจที่สุดคงหนีไม่พ้นความครึ่งๆกลางๆระหว่างการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครใหม่กับการคงเอกลักษณ์บางอย่างจากต้นฉบับไว้ หลายครั้งเลยไม่เข้าใจว่าจะนั่งยองๆบนเก้าอี้ทำไม ทั้งที่ไม่ได้ปูบุคลิกเก็บตัวหรือเป็นโรคนอนไม่หลับและหมกมุ่นกับการสืบสวนเหมือนฉบับญี่ปุ่นที่คนดูคุ้นเคย แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า แอล เวอร์ชั้นนี้ให้ความรู้สึกกระฉับกระเฉงเป็นขาลุยมากกว่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมากทีเดียว
และที่ขาดไม่ได้คือ รุค หรือลูค ยมทูตผู้มากับเดธโน้ตที่เวอร์ชั่นนี้ได้ วิลเลม เดโฟ มาแสดงเป็นต้นแบบและให้เสียงพากษ์ที่ผสมผสานความเลือดเย็นและทีเล่นทีจริงแบบฉบับญี่ปุ่นไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญยมทูต รุค เวอร์ชั่นนี้อาจน่ากลัวกว่าและเดาทางไม่ได้หนักข้อกว่าเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเสียอีก
จากซูชิสู่เบอร์เกอร์ลาบเลือด
คอหนังที่คุ้นเคยกับเวอร์ชั่นญี่ปุ่นอาจคาดหวังเพียงการดำเนินเรื่องในแนวทางหนังสืบสวนสอบสวนชวนระทึก ผสมเรื่องราวเหนือธรรมชาติจากยมฑูต ลูค แต่สิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเวอร์ชั่น เน็ตฟลิกซ์ คือการจัดเต็มเรื่องความรุนแรงที่มีทั้งฉากหัวหลุด อวัยวะกระเด็น เลือดพุ่ง แบบไม่ให้เสียชื่อผู้กำกับหนังสยองขวัญของ อดัม วิงการ์ด เลยแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าสะใจขาโหดของหนังแนว ทรมานบันเทิง (Torture Porn) แน่นอน และถ้าใครเป็นแฟนหนังสยองขวัญก็จะแอบรู้สึกเล็กๆว่า บางฉากของหนังมีความคล้ายคลึงกับหนังชุด Final Destination อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
เหล่านักแสดงผู้ปลุกวิญญาณคาแรกเตอร์
สำหรับนักแสดงในฉบับหนังของเน็ตฟลิกซ์ก็คัดสรรค์มาเป็นอย่างดีทั้ง แน็ต วูลฟ์ พระเอก Paper Town (2015) ที่เพิ่มมิติให้ ไลท์ เทอร์เนอร์ เป็นเด็กมัธยมที่ยังมีปมกับการฆาตกรรมแม่ของเขาและมีแรงผลักดันจากการเป็นเหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนได้อย่างน่าเชื่อถือ ส่วน ลาคีธ สเตนฟิล์ด หนุ่มผิวสีอนาคตไกลจากหนังสยองขวัญสุดฮิต Get Out (2017) ก็พยายามสร้างสเน่ห์ใหม่ให้ แอล ด้วยท่าทางการขยับตัวที่กระฉับกระเฉง ความหลักแหลมเฉียบคมในการวิเคราะห์หลักฐาน พ่วงด้วยบทดราม่าที่เขาทำได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าจะยังมีกรอบอย่างการเป็นคนชอบขนม หรือบุคลิกชอบนั่งยองๆบนเก้าอี้ที่ส่วนตัวคิดว่า สเตนฟิล์ดไม่จำเป็นต้องลอกคาแรกเตอร์ของแอลในหนังญี่ปุ่นมาเลยด้วยซ้ำ ด้านมาร์กาเร็ต ควาลีย์ นักแสดงสาวเพียงคนเดียวในบทนำอย่าง มีอา ซัตตัน หรือ มิสะของเวอร์ชั่นญี่ปุ่นก็สามารถใช้สเน่ห์ทั้งความใบหน้าสวยๆดวงตากลมโตรูปร่างเซ็กซี่ในชุดชั้นนำสร้างสเน่ห์ให้คาแรกเตอร์ได้เป็นอย่างดี แต่เสียดายที่บทไม่ได้ปูพื้นเรื่องปมเกลียดอาชญากรของเธอมากนัก บางจังหวะของหนังเลยอาจดูไม่สมเหตุสมผลไปบ้าง
สรุปแล้ว Death Note ในเวอร์ชั่นของ เน็ตฟลิกซ์ ก็ยังคงจิตวิญญาณการเป็นหนังสืบสวนสอบสวนแต่เพิ่มองค์ประกอบของหนังระทึกขวัญแฟนตาซีที่จัดเต็มความรุนแรงและความสยองขวัญจนเวอร์ชั่นญี่ปุ่นกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปเลยครับ