ณ.โรงเรียนแห่งนี้เหล่าสตรีกำลังทำสงครามเพื่อชิงหัวใจของเขา
ในช่วงสงครามกลางเมืองใกล้สะเด็ดน้ำ จอห์น แมคเบอร์นีย์ (โคลิน ฟาร์เรลล์) ทหารฝ่ายแยงกี้บาดเจ็บถูกพาตัวไปพักรักษาที่โรงเรียนกุลสตรีฟาร์นเวิร์ธ โดยได้รับการพยาบาลจาก ครูมาร์ธา (นิโคล คิดแมน) เจ้าของโรงเรียน และครูเอ็ดวีน่า มอร์โรว (เคิร์สเตน ดันสต์) พร้อมนักเรียนอีก 5 คน การมาถึงของเขาสร้างความสงสัยใคร่รู้และเสน่หาที่ยากจะยับยั้งให้แก่พวกเธอโดยเฉพาะครูเอ็ดวีน่า ที่เขาหวังสานสัมพันธ์เพื่อความอยู่รอด จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเขาอีกครั้ง ธาตุแท้สุดอันตรายของเขาเริ่มปรากฎจนพวกเธอต้องหาทางเอาชีวิตรอด
โซเฟีย คอปโปล่า กับงานรีเมคครั้งแรก
เดิมที The Beguiled นิยายของ โธมัส คัลลิแนน เคยสร้างเป็นหนังแล้วเมื่อปี 1971 โดยมี คลินต์ อีสท์วูด แสดงเป็น จอห์น แมคเบอร์นีย์ โดยคราวนี้ โซเฟีย คอปโปล่า อาศัยทั้งนิยายและบทหนังต้นฉบับในการดัดแปลงแต่แทนที่จะเดินตามของเดิมแบบทุกกระเบียดนิ้ว คนทำหนังอย่างเธอกลับใส่รายละเอียดหลายอย่างเพื่อซ่อนสารส่วนตัวในหนังของเธอโดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงกับศาสนาที่มักปรากฎในหนังของเธอมาตั้งแต่ The Virgin Suicide (1999)หนังสร้างชื่อของเธอ โดยในคราวนี้ โซเฟียใช้สถานการณ์ในหนังอย่างสงครามกลางเมืองสหรัฐ (1861-1865)มาเป็นตัวช่วยในการสร้างจุดขัดแย้งได้หลายระดับ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่ตอนแรกการรับ แมคเบอร์นีย์ เข้ามารักษาในโรงเรียนไม่ได้รับความเห็นชอบจากนักเรียนบางส่วนเนื่องจากการรับ “ศัตรู” เข้ามาในบ้านก็ไม่ต่างจากการชักศึกเข้าบ้าน แต่ก็ยอมช่วยเหลือด้วยคุณธรรมของความเป็น “คริสเตียน” ไม่เพียงเท่านั้น โซเฟียยังชาญฉลาดในการแคสติ้งนักแสดงหญิงที่มีวัยต่างกันเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบทั้งความไร้เดียงสา ความปรารถนา ความอยากรู้อยากเห็นของผู้หญิง ต่างจากหนังต้นฉบับที่เลือกให้เหล่านักเรียนหญิงอยู่ในวัยสาวสะพรั่งไปหมด ดังนั้นการมาถึงของ จอห์น แมคเบอร์นีย์เลยกลายเป็นการเปิดเปลือยความเป็นผู้หญิงในแต่ละช่วงวัย ทั้งวัยเด็กที่หวังเพียงมีเพื่อนหรือพี่ชาย วัยสาวแรกรุ่นอย่าง อลิเซีย (แอล แฟนนิ่ง)ที่อยากรู้อยากลอง และความปรารถนาความรักของ เอ็ดวีน่า และยิ่งสถานการณ์ความขัดแย้งภายนอกอย่างสงครามกลางเมืองใกล้ประชิดรั้วโรงเรียนมากขึ้นทุกที สงครามปรารถนาภายในบ้านเองก็คุกรุ่นขึ้นไม่ต่างกัน ซึ่งโซเฟียสามารถนำสองสถานการณ์มาใช้ยั่วล้อกันได้อย่างแยบคาย ภายใต้สัญลักษณ์ที่ผู้กำกับเจ้ารายละเอียดอย่างเธอได้แอบซ่อนไว้ในฉากมากมาย
สัญญะเพศในฉากชวนค้นหา
หากใครเป็นแฟนหนังของ โซเฟีย คอปโปล่า คงคุ้นเคยกับการใช้องค์ประกอบศิลป์มาสื่อความหมายให้หนังของเธอได้เป็นอย่างดี ทั้งสีเขียวที่สื่อถึงอันตรายในหนัง The Virgin Suicide (1999) หรือการปรากฏของสีช็อคกิ้งพิงค์ และรองเท้าคอนเวอร์สสีชมพู ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในศตวรรษที่ 17 เพื่อสื่อถึงความไร้เดียงสาของราชินีวัยสาวใน Marie Antoinette (2006) และแน่นอนกับ The Beguiled โซเฟีย คอปโปล่า ก็เล่นสนุกกับการใส่สัญญะทางเพศตั้งแต่ฉากการนำร่างจอห์นเข้าโรงเรียนที่ถูกถ่ายผ่านช่องว่างระหว่างต้นไม้กับตัวอาคารเพื่อให้ดูเหมือนช่องคลอด หรือประตูรั้วที่ลักษณะการโค้งของเหล็กดัดพาลให้นึกถึงรอยแยกระหว่างขาของสตรี และในทางกลับกัน การหาเห็ดของ เอมี่ (อูนา ลอเรนซ์)ก็เป็นต้นเหตุที่เด็กสาวได้พบจอห์น แมคเบอร์นีย์ จนถูกล้อว่าเธอเก็บผู้ชายมาพร้อมเห็ดซึ่งสามารถแทนอวัยวะเพศชายได้อย่างไม่ต้องสงสัย หรือแม้แต่ปืนที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่เหล่าบุรุษใช้ห้ำหั่นกันในสงครามเป็นต้น และยิ่งหนังดำเนินไปเราจะยิ่งสังเกตได้ถึงรายละเอียดมากมายที่ผู้กำกับแอบซ่อนเอาไว้ในฉาก แม้กระทั่งเพลง Aura Lee (ต่อมาเอลวิสนำมาดัดแปลงเป็นเพลง Love me tender) และ Lorena เพลงดังที่กำเนิดในยุคสงครามกลางเมืองจริงๆ ที่กล่าวถึงสตรีในความคิดคำนึงของเหล่าบุรุษในสงครามก็ยังสามารถนำมายั่วล้อกับสถานการณ์ในหนังได้อย่างแยบยล
เหล่าสาวๆผู้เป็นมากกว่าไม้ประดับและหนึ่งบุรุษท่ามกลางสงครามปรารถนา
หากเราจะกล่าวถึงสาวๆในเรื่อง คงเริ่มที่ใครไม่ได้นอกจาก เคิรส์เตน ดันส์ ดาราสาวเจ้าประจำของ โซเฟีย คอปโปล่า ตั้งแต่ The Virgin Suicide (1999) และ Marie Antoinette (2006) ซึ่งต่างก็พูดถึงความปรารถนาของสตรีได้อย่างโดดเด่น โดยการรับบท เอ็ดวีน่า ยังเป็นบทพิสูจน์ว่าแม้ความสวยของ ดันสต์ จะลดลงแต่ไม่ได้หมายความว่าฝืมือทางการแสดงของเธอจะอยู่ในกราฟที่ดิ่งลงเหวแต่อย่างใด เธอทำให้ตัวละครเอ็ดวีนาเต็มไปด้วยสเน่ห์และความน่าเห็นใจ เป็นรสหวานของความปราถนาท่ามกลางไฟสงครามได้อย่างน่าเชื่อถือ ส่วนนิโคล คิดแมน ในบทครู มาร์ธา ก็มีเป็นสาววัยกลางคนที่คงความสง่างามและสเน่ห์ที่แอบซ่อนในอารมณ์ปรารถนาของเธอได้อย่างลึกล้ำ ใครเลยจะปฏิเสธความเร่าร้อนในฉากเช็ดตัวชายหนุ่มของเธอที่ทำคนดูโดยเฉพาะสาวๆร้อนวูบวาบตามอย่างช่วยไม่ได้ และเลือดใหม่จอมขโมยซีนอย่าง แอล แฟนนิ่ง ในบท อลิเซีย ก็ทั้งเพิ่มอารมณ์ขันและทำให้เหล่าหนุ่มๆตาลุกวาวและเพ้อคลั่งได้ทุกเฟรมที่เธอปรากฏตัว ส่วนนักแสดงสมบทที่เป็นเหล่าเด็กสาวก็ได้รับคาแรกเตอร์โดดเด่นและน่าจดจำต่างๆกันไป ส่วนนักแสดงนำชายคนเดียวในเรื่องอย่าง โคลิน ฟาเรลล์ ก็พิสูจน์ฉายา คาสซาโนว่าฆ่าไม่ตาย ของจริงด้วยเสน่ห์แบบหนุ่มเถื่อนที่มีรูปร่างหน้าตาชวนฝันสำหรับสาวๆผนวกกับแอ็คติ้งที่น่าเชื่อถือทำให้บททหารหนุ่มบาดเจ็บของเขาดำรงอยู่ทั้งในฐานะบุรุษหนุ่มผู้เป็นที่ปรารถนาและซาตานที่จำแลงมาพิสูจน์ความเชื่อทางศาสนาของเหล่าสาวๆได้อย่างสมบูรณ์แบบ
อาจกล่าวได้ว่าในบรรดาหนังของ โซเฟีย คอปโปล่า The Beguiled คือหนังที่บันเทิงที่สุด ด้วยการกำกับที่ลื่นไหลสมศักดิ์ศรีรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด ด้วยการทดลองความแปลกใหม่โดยเฉพาะการใส่อารมณ์ขันในฉากบนโต๊ะอาหารที่เธอนำเสนอจริตจะก้านของผู้หญิงเวลาอยู่กับผู้ชายได้ประดักประเดิดแต่น่ารักจนคนดูกลั้นหัวเราะไว้ไม่ได้ รวมถึงเหล่านักแสดงที่ประชันฝีมือกันแบบไม่มีใครยอมใครไม่ว่ารุ่นใหญ่ อย่างนิโคล คิดแมน โคลิน ฟาเรลล์ กับ เคิร์สเตน ดันส์ หรือรุ่นใหม่น่าจับตามองอย่าง แอล แฟนนิ่ง แต่กลับไม่ทำให้นักแสดงสมบทคนอื่นถูกลืมเลือนแต่อย่างใด และทีละน้อยหนังก็ผสานทั้งความบันเทิงแบบหนังดราม่าพิศวาสระทึกขวัญใกล้เคียงละครหลังข่าวของไทยเข้ากับองค์ประกอบทางศิลปะในการถ่ายภาพและออกแบบงานสร้างที่ประณีตบรรจง ทำให้ The Beguiled คือหนังที่ต้องดูในโรงเพื่อเสพย์สุนทรียะทางภาพยนตร์ได้ครบทุกแง่มุม และที่สำคัญการได้ดูน้องแอล แฟนนิ่ง ทำตัวน่าหมั่นเขี้ยวในโรงหนังคือประสบการณ์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้