เมื่อแคมป์ปิ้งสุดหฤหรรษ์พลันเปลี่ยนเป็นเกมล่าสุดสยอง
ณ.อุทยานกลางป่าลึก แซม (แฮร์เรียต ไดเออร์) กับ เอียน (เอียน เอสจี มีโดวส์) คู่รักที่หวังฉลองปีใหม่ด้วยการตั้งแคมป์พลอดรักข้ามปี และครอบครัวของ ร็อบ (จูเลียน การ์เนอร์ ) กับ มาร์กาเร็ต (มายา สเตรนจ์) ก็พา เอ็ม (เทียร์เนียร์ คูปแลนด์)ลูกสาวที่เป็นโรคหวาดกลัว และทารกคนสุดท้องอย่าง ออลลี่ (เลียม พาร์คส์) มาตั้งแคมป์ผจญภัย แต่สิ่งที่พวกเขาไม่คาดคิดคือการมาถึงของนายพรานสุดคลั่งอย่าง ชุค (แอรอน กลีเนน)และ เจอร์แมน (แอรอน พีเดอร์สัน) ที่เห็นมนุษย์ไม่ต่างจากเหยื่อสำหรับเกมล่าโหด งานนี้พวกเขาจะรอดหรือไม่
เรื่องเล่าสุดยอกย้อน..และดิบเถื่อน
Killing Ground หนังไล่ฆ่าสุดโหดจาก ออสเตรเลีย ผลงานเขียนบทและกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ เดเมียน เพาเวอร์ อาศัยการเล่าสองเหตุการณ์ตัดสลับกัน และมีการวางปมเพื่อเชื่อมโยงสองเหตุการณ์เข้าด้วยกัน ทำให้หนังมีโครงเรื่องเหมือนหนังสืบสวนสอบสวนที่ไม่ลำดับเวลามากกว่าการเป็นเพียงแค่หนังสยองขวัญธรรมดา ซึ่งส่วนนี้ถือว่าหนังประสบความสำเร็จในการดึงคนดูให้อยากรู้ที่มาที่ไป หลังจากสร้างความสงสัยใคร่รู้ด้วยการให้ แซม กับ เอียน พาเราไปเจอแคมป์ที่ถูกตั้งทิ้งไว้และการพบหมวกเด็กทารกที่เขียนว่า ออลลี่ ก่อนที่ความไม่ชอบมาพากลที่หนังใส่มาจะเริ่มทำงานของมันด้วยการตัดสลับไปที่เหตุการณ์ของครอบครัวเจ้าของแคมป์เดิมที่มี เอ็ม เด็กสาววัยรุ่นเป็นจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์ ซึ่งนอกจากบทหนังแล้วยังต้องยกนิ้วให้การตัดต่อของ เคธี่ แฟลกซ์แมน ที่ไม่ต่างจากเกมทายคำอักษรไขว้ ทั้งร้อยเหตุการณ์ที่ไม่เพียงแค่เรื่องของเหยื่อ แต่ยังมีการบอกเล่าเหตุการณ์ของเหล่าฆาตกรเพื่อปูพื้นแบ็คกราวน์ตัวละครได้อย่างไม่มีสะดุดแถมยังพาอารมณ์คนดูค่อยๆไต่จากความสงสัยใคร่รู้ไปสู่ความหวาดระแวงได้อย่างแยบยล
จิตใจมนุษย์….ความน่ากลัวที่แท้จริง
แต่กระนั้นการที่หนังเลือกวิธีการเล่าเรื่องแบบปริศนาอักษรไขว้ โชว์ไอเดียแหวกแนวสุดโต่งของมันก็ทำให้หนังไม่สามารถปูพื้นหรือสร้างความเห็นใจให้ตัวละครได้มากพอให้คนดูเอาใจช่วยมากเท่าใดนัก ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกสงสารหรืออกสั่นขวัญแขวนยามตัวละครกำลังจะถูกฆ่า แต่ในทางกลับกันเมื่อหนังดำเนินเรื่องไปสู่บทสรุปของมัน คนดูก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าการที่หนังไม่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูและตัวละครก็เพื่อให้เราอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่เอาใจไปร่วมกับเหตุการณ์ และมองการกระทำของตัวละครในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่ยังมีสัญชาตญาณดิบในการเอาตัวรอด ซึ่งตรงนี้หนังชาญฉลาดในการสร้างคาแรกเตอร์ตัวละครนำ
ตั้งแต่เปิดเรื่องที่หนังใช้ฉากขับรถบนท้องถนนธรรมดาในการแนะนำ เอียน หมออนาคตไกลและสามารถตอบปัญหากายวิภาคศาสตร์ ขณะที่แซมกำลังเล่นเกมคำศัพท์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ และเธอก็ดูเป็นปลื้มกับความฉลาดของคุณหมอแฟนหนุ่มของเธอเป็นอย่างมาก และจากฉากเปิดเรื่องที่ดูไม่สำคัญนี้กลับเล่นกับความคาดหวังของคนดูต่อ เอียน ตลอดเวลา เพราะหากว่ากันตามจริง เอียน คือพระเอกแบบพิมพ์นิยมและถูกคาดหวังจากสังคมให้เป็นคนดี เป็นผู้ช่วยเหลือไม่ต่างจากฮีโร่ และพอถึงซีนตกลงแต่งงานแบบปุบปับของทั้งคู่ที่น้ำตก หนังก็เหมือนปริศนาอักษรไขว้ที่คนดูต้องหาคำตอบจากเหตุการณ์ประหลาดที่ทั้งคู่พบเจอ และทีละน้อยการมีอยู่ของตัวละครอย่าง ชุค และ เจอร์แมน สองนักล่าสุดโหดก็ไม่ต่างจากคำใบ้ที่ทั้งบอกเล่าเหตุการณ์ก่อนหน้าและการเผยสัญชาตญาณดิบของตัวละครทุกตัวที่หนังสามารถพาคนดูไปสู่จุดจบแบบชวนจุกอกที่สุด
Killing Ground อาจสร้างหน้าหนังให้ดูดิบเถื่อนชวนสยอง แต่โดยเนื้อแท้มันคือหนังเผยธาตุแท้ของมนุษย์และเล่นปริศนากับความคาดหวังของคนดูต่อตัวละครที่เรามักพบเห็นได้ทั่วไป แต่หนังสามารถเปิดเปลือยความเป็นมนุษย์ในตลอดรายทางของการไขปริศนาท่ามกลางบรรยากาศไม่น่าไว้วางใจที่หนังอาศัยป่าดงดิบของออสเตรเลียในการสร้างบรรยากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ