สรุปก่อนเลย เผื่อใครขี้เกียจอ่านยาว
Tokyo Idols วิมานลอยแห่งเด็กสาวกับหนุ่มคราวพ่อ หนังให้มิติหลากหลาย และคำพูดแทงใจชวนสะดุดคิดหลายอย่าง ช่วงหนึ่งเราคือคนนอกที่มองพวกเขาด้วยสายตาประหลาด แต่โดยไม่รู้ตัว ตูก็ไปกระโดดเชียร์พร้อมกับแท่งไฟตอนไหนก็ไม่รู้ สำหรับใครที่ติดตามงานค่าย Documentary Club มาสม่ำเสมอ มันคือ We Are X และ Supersonic ฉบับไอดอลสาวจุ๊บุจุ๊บุจริง ๆ
วัฒนธรรมไอดอล วัฒนธรรมแห่งยุคนี้
หนังสารคดีของผู้กำกับสาวอย่าง มิยาเกะ เคียวโกะ นำพาเราไปสู่โลกของวัฒนธรรมป๊อปล่าสุดที่กำลังเกิดเป็นคลื่นความคลั่งไคล้จากญี่ปุ่นออกไปสู่ประเทศต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเราที่กำลังทำความรู้จักวัฒนธรรมนี้ผ่านวงอย่าง BNK48 ที่ถือเป็นไอดอลสัญชาติไทยที่เป็นลูกพี่ลูกน้องอย่างเป็นทางการกับวงไอคอนแห่งไอดอลทั้งปวงอย่าง AKB48 ของญี่ปุ่น ดังนั้นบอกเลยว่ามันใกล้ตัวเรากว่าที่คิดเยอะครับ
หนังพาเราไปพบกับแง่มุมต่าง ๆ ของวงการไอดอลญี่ปุ่น หรือพูดให้จำเพาะไปก็คือแวดวงไอดอลแห่งย่านอากิฮาบาระ ที่เป็นเหมือนเมืองหลวงของเหล่าผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นมังงะ อนิเมะ และแน่นอนเหล่าไอดอลด้วย โดยพวกเขาเหล่านี้ถูกเรียกว่า โอตาคุ (Otaku) บ้าง แทนตัวว่าแฟนเพลงหรือ โอตะ (Wotagei) บ้าง ซึ่งในตัวหนังเองพวกเขาก็บรรยายตัวเองไว้เหมือนกันว่าเป็นผู้ที่คลั่งไคล้และทุ่มเทชีวิตจิตใจให้สิ่งที่ชื่นชอบ แม้จะดูเหมือนผู้แพ้และหลีกนี้โลกความจริงบ้างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งการที่ผิดหวังจากความสัมพันธ์กับผู้หญิงจริง ๆ หรือแม้แต่ความผิดหวังในการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ มาก่อนก็ตาม
ไอดอลสาวกับโอตะคราวพ่อ
จากไอดอลสาวคนหนึ่ง สู่วงไอดอลที่มีทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ที่มีทั้งมีชื่อเสียงและตะกายสู้สู่เบื้องบนผิวน้ำอย่างสุดกำลัง หนังพาเราวิ่งไปสำรวจทั้งเหล่าไอดอลและเหล่าผู้สนับสนุนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดทีเดียว แต่แม้หนังจะเหมือนเดินทางไปจุดนู้นจุดนี้เป็นว่าเล่น แต่ก็มีแก่นกลางเป็นเรื่องราวของไอดอลสาววัย 20 ปีคนหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปก็คือช่วงปลายของชีวิตไอดอลที่จวนเจียนจะต้องเกษียณตัวเองแล้ว เธอมีนามว่า ริโอะ เธอกำลังไล่ตามฝันอย่างสุดกำลังมาก ๆ ไม่ใช่เพียงการเป็นไอดอลที่ได้รับความนิยม แต่เพื่อการได้รับการยอมรับในฐานะศิลปิน พร้อมกับเหล่าโอตะผู้สนับสนุนเธอในนาม ริโอะบราเธอร์ส โดยมี โคจิ หนุ่มใหญ่วัย 47 ปีเป็นเหมือนหัวหน้ากองเชียร์ ซึ่งทั้งริโอะและโคจินี้เองที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ไอดอลกับโอตะ ได้อย่างแจ่มแจ้งต่อไป
โดยนอกจากมุมมองของเหล่าโอตะเหล่านี้แล้ว เรายังจะได้ฟังแง่มุมจากนักวิเคราะห์สังคมหลากหลายศาสตร์ ทั้งนักข่าวสาวที่วิจารณ์วัฒนธรรมไอดอลในเรื่องกดขี่ทางเพศตรงเป้าจนแทบกระอักเลือดราวกับ คำ ผกา แห่งแดนอาทิตย์อุทัย นอกจากนั้นยังมีมุมมองเด็ด ๆ ของนักสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอดอลเองก็ตามมาให้ข้อมูลกันเต็มที่ จึงทำให้เรื่องราวทั้งหลายดูกลมกล่อมรอบด้านโดยไม่โฆษณาชวนเชื่อในทางใดกับผู้ชมเกินไปนัก
มุมมองแรง ๆ แต่ชวนให้สะดุดคิด
ไม่ว่าจะประเด็นเรื่อง เพศ ที่ถูกยกเป็นหัวเรื่องหนึ่ง ผ่านการวิจารณ์งานจับมือของไอดอลว่าเป็น การเบลอเส้นแบ่งระหว่างเรื่องชู้สาวในวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมให้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ของกลุ่ม จนมีวรรคทองของหนังอย่าง “สังคมญี่ปุ่นพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปรนเปรอฝันหวานของเหล่าผู้ชาย” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าวัฒนธรรมไอดอลส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ตกต่ำทั้งด้านการเงินและอัตราการเกิดที่ต่ำลง หรือการเปรียบให้เห็นว่าไอดอลเข้ามาฟื้นฟูความถดถอยทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ต่างจากวง Sex Pistols วงพังก์ร็อกของอังกฤษที่สร้างกระแสวัฒนธรรมใหม่ให้แก่ยุคซบเซาบนเกาะอังกฤษในยุค 1970 ได้ เป็นต้น และยังมีมุมมองทั้งสนับสนุนและไม่เห็นพ้องที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งทำให้เราได้ฉุกคิดว่าจริง ๆ แล้วมันมีเรื่องที่ลึกซึ้งมากกว่าวัฒนธรรมป๊อปจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ของคนยุคใหม่ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงบนโลกแห่งเทคโนโลยีไฮสปีดแบบนี้
แต่ถ้าคิดว่าคำพูดแรง ๆ จะมาจากฝั่งผู้ที่โจมตีวัฒนธรรมไอดอลอย่างเดียวล่ะก็ คำพูดจากเหล่าบุคคลที่เราเรียกว่า โอตาคุ กลับยิ่งน่าสนใจไม่น้อยไปกว่านั้นเลย ดีไม่ดีมันเปิดหัวใจและโลกทัศน์ของเราได้ยิ่งกว่านักวิชาการมากหน้าเหล่านั้นเสียอีก จริง ๆ อยากให้ไปรับชมกันเอง แต่ก็ขอยกส่วนหนึ่งมาเล่าซึ่งคิดว่าน่าสนใจมาก
เป็นที่น่าแปลกใจว่าท่ามกลางภาพที่คลุ้มคลั่งในคอนเสิร์ต หรือการทุ่มเงินทั้งเดือนเปย์ให้กับไอดอลของพวกเขา จนทำให้เราคนนอกวัฒนธรรมนี้คิดว่าพวกนี้มันเสียสติไปหมดแล้วแน่ ๆ ความจริงแสนฉาบฉวยบนหน้าจอจากประสบการณ์ของเราที่เข้าไปวัด แทบจะพูดได้เลยว่า ลวงหลอกและล่องลอยมาก ๆ เป็นวิมานลอยที่พร้อมแหลกสลายไปตามเวลา ไม่ว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ตาม ไอดอลอาจแก่เกินไปจนหมดความนิยมก่อนที่จะโด่งดังสมใจ หรือเหล่าโอตะอาจต้องสูญเสียทุกอย่างโดยที่สุดท้ายก็ไม่ได้ความสัมพันธ์จริง ๆ มาเลย เพลงของริโอะเพลงหนึ่งที่พูดถึงการเป็นโอตะไปจนวันตาย และสรวงสวรรค์ที่โอตาคุจะมีความสุขได้นามว่าอากิฮาบาระ เป็นอะไรที่ใกล้เคียงภาพสะท้อนความจริงเหล่านี้มาก ๆ
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง หนังได้เข้าไปสัมภาษณ์พวกเขา กลับพบว่าที่จริงแล้วพวกเขากลับมีสติและอยู่กับปัจจุบันได้จริงยิ่งกว่าพวกเราบางคนเสียอีก บางคนบอกเขารับรู้ว่าความสัมพันธ์กับไอดอลนั้นไม่อาจเป็นไปได้ไม่ใช่ไม่ทราบ บางคนร้องเพลงที่พูดถึงการเปย์ให้ไอดอลแบบสุดตัวโดยไม่ใช่หน้ามืดตามัวไม่คิดอะไร หลายคนไม่ใช่ผู้แพ้ในชีวิตจริงอย่างที่โดนปรามาสด้วยซ้ำเขามีการงานที่ดี มีความคิดความอ่านที่ดีกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ บางคนมองไอดอลเป็นกระจกเงาที่จะสร้างความกล้าให้ตนเองออกไปสู้กับโลกจริงอย่างที่เหล่าไอดอลพยายามสุดชีวิตเพื่อความฝัน นั่นจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจในการฟังความคิดพวกเขามากทีเดียวครับ
คือหนังที่เปลี่ยนความคิดคนดู
ผมเชื่อว่าเริ่มต้นเอง ผู้กำกับอย่างเคียวโกะก็มองวัฒนธรรมนี้แบบคนนอกมอง ด้วยความรู้สึกขนลุกขนพองกับภาพผู้ชายตัวใหญ่ ๆ รุ่นพ่อไปตะโกนไปเต้นเชียร์เด็กสาวที่บางคนแค่ 10 ขวบด้วยซ้ำ มองอย่างหยามเหยียดและสงสัยว่ามันไม่ได้บริสุทธิ์สวยงามอย่างที่คนกลุ่มนี้พยายามบอกสังคม หนังในครึ่งแรกแม้จะไม่ได้พูดตรงไปตรงมาอย่างที่ว่า แต่ประโยคอย่าง ขนลุก ผู้ชายพวกนี้ไม่สนใจจีบผู้หญิงในชีิวิตจริง พวกขี้แพ้ พวกต้องการความรักแบบง่าย ๆ หรือภาพที่เสนอโดยนัยยะ อย่างหมาที่หวาดกลัวโอตะรุ่นลุงคนหนึ่งระหว่างเดินสวนกัน ภาพคุณโคจิที่จ่ายเงินซื้อบะหมี่กับตู้อัตโนมัติในบริบทการสนทนาที่ว่าเหล่าโอตะต่างทุ่มเงินทุ่มตัวให้ไอดอลที่ตนพอใจเพียงซื้อความสุขให้กับตัวเองในปัจจุบันโดยไม่สนอนาคต และแม้แต่ดนตรีประกอบเองในช่วงครึ่งแรกที่แสนบีบคั้น โน้มนำผู้ชมไปเสมอว่ามันจะต้องเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นในบั้นปลายแน่ ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ใคร ๆ จะตัดสินแบบนั้น
แต่เมื่อเราเข้าไปใกล้พวกเขามากขึ้นสายตาที่เรามองพวกเขา หรือความอคติที่บดบังใจเราไว้ก็ค่อย ๆ คลายตัว ริโอะ ไม่ใช่เพียงผู้เรียกร้องการได้รับประโยชน์เพียงฝั่งเดียว เธอมีความฝันเธออยากเป็นศิลปิน เธอทุ่มเทอย่างยากลำบากไม่แพ้พวกนักกีฬาอาชีพที่ต้องฝึกฝน ตระเวนแข่งเลื่อนขั้น น้ำตาที่เสียเพราะผิดหวังไม่ใช่น้อย แต่เธอไม่ยอมและฝ่าฟันต่อด้วยสองขาของเธอ ในมุมหนึ่งเราเห็นพี่ตูนที่วิ่งเพื่อช่วยเหลือความฝันของคนนับล้านอยู่ในตัวริโอะเลยนะ และสำหรับ โคจิ คนที่ทิ้งความฝันในวัยหนุ่มทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนปล่อยให้แก่ตายไปกับเซฟโซน เขาได้รับความกล้าหาญจากสิ่งที่ริโอะทำ เขาลาออกจากงานและเริ่มธุรกิจของตนเอง จากคนที่ใครมองว่าขี้แพ้กลับมามีฝันต่อสู้รับผิดชอบตนเอง มันคือความสวยงามมาก ๆ ครับ
ตรงจุดที่เราเริ่มเห็นความฝันเดียวกัน เราเห็นน้ำตาหยดเดยวกัน เราเห็นหยาดเหงื่อชุ่มหน้าเหมือนกัน เรากลายเป็นคนที่ไปยืนอยู่ข้าง โคจิ และผองเพื่อนคอยถือแท่งไฟโยกตัวเชียร์ริโอะและเหล่าไอดอลทั้งหลายโดยไม่รู้ตัว เชื่อว่าทั้งผู้สร้างและคนดูต่างก็เรียนรู้หลายอย่างจากเรื่องนี้ ซึ่งอาจทำให้เราเปิดใจกับอคติเรื่องอื่น ๆ และเติบโตทางความคิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยครับ ตรงนี้เองเชื่อว่าใครที่เคยดูหนังอย่าง We Are X หรือ Oasis: Supersonic มาแล้วคงคิดคล้าย ๆ กันว่าสารคดีเรื่องนี้เปี่ยมไปด้วยพลัง และทำให้เรากลายเป็นโอตะไปได้โดยไม่รู้ตัว ไม่ต่างจากหนังคุณภาพสองเรื่องนั้นเลยล่ะ ดั่งว่า ในความลุ่มหลงอันแปร่งปร่า คือเหล่านักสู้ผู้สง่างาม ทั้งเหล่าไอดอลทั้งเหล่าโอตะเลยครับ
หนังเข้าฉายแบบจำกัดโรงในเครือ SF ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ลองเช็กโรงและรอบก่อนดูครับ