สรุปก่อนเลย เผื่อใครขี้เกียจอ่านยาว
โคตรร็อก! โคตรพังก์! นี่คือการกวนโอ๊ยบรรดาหนังอาชญากรรมรถซิ่ง ที่มีฉากไล่ล่าลุ้นจิกตีนเยี่ยมยอดที่สุดตลอดกาลแล้วล่ะ 555555
การกลับมาแบบนักดูหนังต้อนรับกันเต็มเหนี่ยว ของผู้กำกับขวัญใจวัยรุ่นสายเกรียนอย่าง เอ็ดการ์ ไรต์ ที่หลังสุดมีเครดิต (แบบมีดราม่า) จากการเขียนบทเรื่อง Ant-Man (2015) ส่วนด้านผลงานเต็มตัวทั้งกำกับทั้งเขียนบทที่สร้างชื่อให้เขามาตลอดนั้น อย่างเรื่องล่าสุด The World’s End (2013) ก็มาแบบค่อนข้างกระแสแผ่วมาก ๆ ต่างจากผลงานก่อนหน้าอย่างพวก Shaun of the Dead (2004), Scott Pilgrim vs. the World (2010) และผลงานที่ดีที่สุดของเขา (ในความเห็นส่วนตัว) อย่าง Hot Fuzz (2007) ไปมากทีเดียว ทำให้ Baby Driver นับเป็นการกลับมาคืนฟอร์มที่แจ่มว้าวสมการรอคอยของสาวกพันธุ์แท้เฮียไรต์ทีเดียว
หนังเล่าเรื่องของ เบบี้ (แอนเซล เอลกอร์ต) หนุ่มผู้มีแผลใจในวัยเด็กจากการสูญเสียพ่อและแม่ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีเขาอยู่ด้วย ซึ่งนอกจากการที่เขาต้องย้ายมาอยู่ในการอุปการะของ โจเซฟ (ซีเจ โจนส์) ชายผิวสีผู้เป็นใบ้แทนแล้ว เขายังต้องอยู่กับเสียงวิ้ง ๆ ในหูตลอดเวลาไปตลอดชีวิต ทำให้เขามักใส่หูฟังเพลงจากไอพอดเพื่อกลบเสียงนั้นอยู่เสมอ เพราะชีวิตที่ไม่ได้สวยหรูเขาติดหนี้ก้อนใหญ่กับ ด็อก (เควิน สเปซี่) ชายประวัติลึกลับผู้อยู่เบื้องหลังตำรวจชั่วและการวางแผนจ้างอาชญากรก่อเหตุปล้นใหญ่แทบทุกครั้งในเมืองแอตแลนต้า
ด็อกมองเห็นความสามารถของเบบี้ที่ขับรถความเร็วสูงหนีการไล่ล่าได้ทุกครั้งจนต้องใช้งานอยู่เสมอในการช่วยขับให้ทีมปล้นหลบหนีตำรวจ ตัวเบบี้แม้จะไม่อยากทำงานสกปรกนี้แต่หนี้ก้อนใหญ่ที่เขาติดกับด็อกก็บังคับให้เขาต้องอยู่ในวังวนนี้ตลอด แม้ว่าวันหนึ่งการเข้ามาของ เดโบร่า (ลิลี่ เจมส์) หญิงสาวสุดสวยที่เคมีเข้ากับเขาแทบจะทันทีที่พบกัน จะทำให้เขาอยากหนีจากชีวิตอาชญากรรมเต็มที แต่งานนี้ด็อกและเหล่าสุดแสบที่ถูกรวมตัวมาร่วมทีมปล้นครั้งใหญ่อย่าง ไอ้โรคจิตแบทส์ (เจมี่ ฟ็อกซ์) และคู่รักสุดโหดอย่าง บัดดี้ (จอน แฮมม์) กับดาร์ลิง (ไอซ่า กอนซาเลส) คงไม่ยอมปล่อยกุญแจสำคัญในแผนอย่างเบบี้ไปโดยง่ายแน่ ๆ
หนังเรื่องนี้ใช้เวลาฟูมฟักนานนนนมากกกก จนเหลือเชื่อเลยครับ ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ผู้กำกับปลุกปั้นหลังจากหมดภารกิจจาก Ant-Man เสียอีก เอาเข้าจริงไรต์น่าจะเริ่มเขียนบทตั้งแต่จบหนังเรื่องแรกของเขาตั้งแต่ปี 1995 นู้นนนน แต่กว่าบทจะลงตัวสมบูรณ์ก็มายันปี 2011 เลยทีเดียว และกว่าจะได้ถ่ายทำจริงจังก็ปีนี้นี่เองครับ โดยจากแรก ๆ ที่ไรต์เตรียมเพลงประกอบในการทำหนังแอ็คชันมิวสิคัลโพสต์โมเดิร์น (ศัพท์นี้ผู้กำกับแกนิยามเองนะ) ไว้ 10 เพลงก็ไหลมาจนถึง 30 เพลงจนได้
อาจเพราะหมักข้นได้ที่ขนาดนี้หนังเลยออกมาแซ่บไม่ธรรมดาเอามาก ๆ ครับ เพราะเป็นการผสมหนังหลายแนวหลากอารมณ์ให้มานัวอยู่ในเรื่องนี้ได้อย่างสนุกทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นหนังอาชญากรรมที่มีการวางแผนชิงไหวพริบของคนในทีมที่ไม่ได้สามัคคีอะไรกันนัก ตัวละครอย่าง ด็อก ก็ดูลึกลับจนยากหยั่งถึง ด้านความเป็นหนังธริลเลอร์ก็มีตัวร้ายอย่าง แบทส์ และคู่รักบัดดี้กับดาร์ลิง ที่กดดันคนดูจนแบนราบไปกับที่นั่ง ยิ่งตอนหลัง ๆ นี่มันจะตื้อจะโหดกว่าพวกหนังสยองขวัญฆ่าไม่ตายบางเรื่องเสียอีก โคตรลุ้นจริง ๆ เพราะพระเอกนอกจากฝีมือขับรถเทพแล้วพี่แกก็มนุษย์ธรรมดาท่ามกลางเหล่าสัตว์ประหลาดดี ๆ นี่เอง บทสนทนาเรื่องนี้ก็มีชั้นเชิงมากครับ หลายฉากนี่ฟาดฟันด้วยฉากพูดได้ลุ้นกว่าแอ็คชันเสียอีก บางช่วงนี่นึกว่าเควนตินมาเขียนให้เลยด้วยซ้ำ ส่วนพาร์ทความเป็นหนังแอ็คชันที่นอกจากการไล่ล่าด้วยรถแบบลุ้นตีนจิกแล้ว ก็ยังมีการใช้รถสู้ฟาดฟันกันแบบเหนือชั้นทีเดียว ด้วยพลังของการถ่ายขับจริงที่ไม่พึ่งพาซีจี กับพลังการตัดต่อที่หนังของไรต์ทำได้เหนือชั้นทุกเรื่อง นี่จึงเป็นหนังขับรถที่มีฉากไล่ล่าดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งเลยล่ะครับ
นอกจากนั้นทางฝั่งอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ ในหนัง อย่างความเป็นหนังรักก็ทำได้เชื่อแบบปลื้มปริ่ม อายม้วนต้วนกับฉากจีบและบทสนทนาเขิน ๆ ยิ่งพอความรักมีอุปสรรคเรายิ่งอินไปกับตัวละคร ต้องบอกว่านักแสดงอย่างแอนเซล กับลิลี่ นั้นสวยหล่อจนเคลิ้มแถมเคมีเข้ากันดีมากอีกต่างหาก จะฝั่งตลกก็มีให้พอยิ้ม ๆ ถึงจะไม่ฮาโปก แต่ก็พอดีกับตัวหนัง ซึ่งหนังก็ไม่ได้เน้นมาทางตลกคาเฟ่หนักอยู่แล้ว แต่จะเน้นบรรยากาศที่กวน ๆ ยิ่งถ้าใครชอบดูพวกหนังแอ็คชันหนังรถซิ่ง หรือคอหนังทุกแนว เชื่อเลยว่าจะต้องรู้สึกโคตรฟินกับการกวนโอ๊ยหนังชาวบ้านเขาไปทั่วแบบเนียน ๆ ของไรต์ แม้แต่หนัง Monster Inc. แอนิเมชั่นดิสนีย์ที่ไม่เคยถูกอนุญาตให้มาร่วมวงศ์ไพบูลย์กับหนังเรต R เลยในประวัติศาสตร์ ก็ยังถูกเอามาใช้ได้ตลกดี
และส่วนที่ฟ้าวสาดมาก ๆ ของหนังเรื่องนี้คือ ความเป็นมิวสิคัลโพสต์โมเดิร์น อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรกนั่นล่ะครับ ใครดูฉากลองเทคที่เบบี้เดินไปซื้อกาแฟ คงเอาไปเทียบกับหนังมิวสิคัลแท้ ๆ อย่างพวก La La Land แน่ ๆ (ซึ่งจริง ๆ เอ็มมา สโตน ก็เคยถูกทาบทามให้เล่นหนังเรื่องนี้ก่อนจะเซย์บายไปรับบทนำใน La La Land ล่ะนะ) แต่ความเหนือชั้นของไรต์ที่เพิ่มความเป็นโพสต์โมเดิร์นไปทำให้หนังแตกต่างไปเลยครับ เพราะเพลงในหนังและการเต้นรำไปตามท้องถนน มาจากบุคลิกกวน ๆ ของเบบี้ ที่ชอบฮัมเพลงและเต้นไปตามเสียงเพลงอย่างไม่คำนึงลุคเคร่งขรึมที่เห็นในตัวอย่างแม้แต่น้อย 555 คือจริง ๆ มันเกรียนเลยล่ะ แค่เก็กขรึมไปงั้นเอง ดังนั้นเพลงในหนังจึงเป็นเพลงที่ตัวละครเปิดฟังอยู่ในขณะนั้นจริง ๆ ไม่ใช่ซาวด์ประกอบ ขณะเดียวกันฉากที่ไม่มีการเปิดเพลง เราจะได้ยินเสียงวิ้ง ๆ เจืออยู่ในบรรยากาศ เป็นเสียงแบบที่เบบี้ได้ยินในหูเขาตลอดเวลาถ้าไม่ได้ฟังเพลงด้วยครับ
อันนี้เป็นฉากเปิดเรื่องซึ่งทางค่ายปล่อยมาให้ชมไปเลยว่าหนังมันจะมีลีลาแบบไหน เชื่อว่าดูแล้วคงเข้าใจสิ่งที่ผมพูดไปก่อนหน้าแน่ ๆ ว่าพระเอกมันเกรียน โดยในฉากนี้ได้ใช้เพลง Bellbottoms ของวง Jon Spencer Blues Explosion มาประกอบ ซึ่งจริง ๆ ฉากเปิดนี้ผู้กำกับเคยทดลองทำเอ็มวีให้วง Mint Royale ในเพลง Blue Song มาก่อนนานแล้ว ตั้งแต่โปรเจ็กต์หนังยังลุ่ม ๆ ดอน ๆคงอัดอั้นอยากปล่อยของเต็มทนครับ 555 ตัวเอ็มวีเพลงนั้นลองไปเสิร์ชดูในยูทูบ ดูเปรียบเทียบกันได้ครับ
จากฉากเปิดนี้นอกจากเราได้เห็นบุคลิกต่าง ๆ ของเบบี้แล้ว เรายังได้เห็นจังหวะการใช้เสียงเพลงกับการแสดงและการตัดต่อที่เจ๋ง ๆ รวมถึงภาพรวมของมู้ดในหนังทั้งความขบขัน อาชญากรรม และการไล่ล่าด้วยรถที่มันสะแด่วมาก ๆ ครับ
ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ในหนังก็เป็นเพลงยุค 1970s ที่ก่อกำเนิดวัฒนธรรมดนตรีใหม่ ๆ ไปทั่วโลก นั่นก็คือร็อกนั่นเอง มันเลยมีเพลงจากวงเจ๋ง ๆ จากฝั่งอังกฤษมาเป็นพะเรอเกวียนตั้งแต่ Queen, T. Rex, Beck, Blur, Jon Spencer Blues Explosion, The Damned เป็นอาทิ คือใครสายนี้คงอินมาก แต่แค่จังหวะหนังกับตัวเพลงนี่ก็ตัดต่อมาได้มันมาก ๆ แล้วครับขนาดว่าไม่รู้จักเพลงเหล่านั้นเลย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อเสียของหนังเหมือนกันเพราะหลาย ๆ มุกที่ผู้กำกับอยากกวนโอ๊ยนี่มาจากความพอดี๊พอดีของเนื้อเพลงกับบทสนทนาหรือสถานการณ์ในหนังด้วย แต่ในฉบับฉายไทยนี่น่าจะไม่ได้รับสิทธิ์แปลซับไทยเนื้อเพลงมาด้วย ทำให้ต้องคอยนั่งฟังเนื้อเพลงภาษาอังกฤษเอาเองครับ ก็เสียอรรถรสไปพอสมควร
หนังยังมีของให้คนตาไวมองหาซุกซ่อนอยู่ในตัวหนังเยอะมาก เอาว่าแค่ดูหาพวกนี้ก็เพลินแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลงที่ซ่อนในพวกกราฟิตี้ในฉาก เนื้อเพลงที่มาลงเป๊ะกับฉากในหนังที่ต้องคอหนังจริง ๆ ถึงจะเก็ตนกตัวอย่างฉากหนึ่งที่พวกโจรใช้หน้ากากออสติน พาวเวอร์ปิดบังใบหน้า แล้วเพลง Neat Neat Neat ของวง The Damned ก็ถูกเปิดท่อนที่ว่า Be a man, can a mystery man พอดี ตรงนี้ใครจำชื่อเต็มของหนังออสติน พาวเวอร์ภาคแรกได้คงฮาครับ เพราะมันมีชื่อว่า Austin Powers: International Man of Mystery (1997) นั่นเอง หรือพวกคำพูดตัวละครที่ถูกเอามาใช้ในอนาคตหรือแอบใบ้ฉากหลัง ๆ ไว้แบบเนียน ๆ คือต้องกราบใจฝ่ายศิลป์ วิสัยทัศน์ผู้กำกับและการเขียนบทที่วางไว้ละเอียดเป็นหนึ่งเดียวกันได้สมบูรณ์แบบขนาดนี้ครับ
หนังเริ่มฉายรอบพิเศษตั้งแต่พฤหัสนี้ไป และจะเข้าแบบปกติเต็มโปรแกรมทั้งวันในวันที่ 14 กันยายนนี้ครับ อันนี้เชียร์ครับ ถึงจะไม่ได้เว่อวังแบบหนังพี่ วิน ดีเซล แต่เรื่องนี้ก็เล่นกับความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาได้ ว้าว เบนซิน มากครับ 555