แรงปรารถนากำลังท้าทายศีลธรรมของเขาและเธอ
เมื่อสเน่หาพาให้ ยาน วอน ลูส (เดน เดอฮาน) ศิลปินหนุ่มมาตกหลุมรักโซเฟีย แซนด์วูร์ต (อลิเซีย วิแกนเดอร์)สาวกำพร้าที่จำใจวิวาห์กับเศรษฐี จากจุดเริ่มต้นที่ คอร์เนลิส แซนด์วูร์ต (คริสตอฟ วอล์ซ)พ่อค้าสามีเฒ่าของ โซเฟีย อยากได้ภาพวาด จนเป็นเหตุให้ทั้งคู่ลักลอบเล่นชู้กันลับๆ แต่เมื่อเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในสายตาของ มาเรีย (ฮอลิเดย์ เกรนเจอร์) คนใช้สาวที่ลอบตั้งครรภ์กับวิลเลม (แจค โอ คอนเนล) พ่อค้าปลาที่หวังพึ่งโชคจากการประมูลซื้อขายหัวทิวลิปมาหมั้นหมายคนรัก แต่เมื่อโชคชะตาพลิกผัน ทั้งลูกในครรภ์ของมาเรีย และกรรมสิทธิหัวทิวลิปหายากของวิลเลม จึงกลายเป็นความหวังสุดท้ายที่ยาน และ โซเฟีย จะได้ครองรักกัน
นิยายซับซ้อนสู่หนังซ่อนชู้หลายพลอต
เดิมที Tulip Fever เป็นนิยายของ เดบอราห์ ม็กกช ตั้งแต่ปี 1999 ด้วยความน่าสนใจของฉากหลังที่หยิบประวัติศาสตร์ยุคเดิมพันค้าหัวทิวลิปรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 17 ของประเทศดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์มาผูกโยงกับความรักต้องห้ามของศิลปินหนุ่มกับสาวกำพร้าที่จำใจเป็นเมียเศรษฐี เลยทำให้นิยายเป็นที่หมายปองของสตูดิโอสร้างหนัง โดยในตอนแรกโปรเจคต์หนัง Tulip Fever นี้อยู่ในมือของสตูดิโอดรีมเวิร์คในปี 2004 โดยได้ ทอม สตอปพาร์ด มาดัดแปลงบท และวางตัวผู้กำกับไว้คือ จอห์น แมดเดน จาก Shakespear In Love (1998) ส่วนบท โซเฟีย นั้นมีนักแสดงถึงสองคนที่ถูกเสนอชื่อให้รับบทนี้ได้แก่ เคียร่า ไนท์ลีย์ และ นาตาลี พอร์ตแมน ประกบกับ จูด ลอว์ ในบท ยาน วอน ลูส โดยมี จิม บรอดเบนต์ ในบท คอร์เนลีส ซึ่งทางดรีมเวิร์คได้ทุ่มทุนสร้างคลองอัมสเตอร์ดัมและปลูกดอกทิวลิปกว่า 12,000 ดอกที่อังกฤษ ก่อนจะยกเลิกโปรเจคต์ในเวลาเพียง 12 วันก่อนเปิดกล้องอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนนโยบายภาษีที่กระทบต่องานถ่ายทำในประเทศอังกฤษคล้อยหลัง 10 ปีหนังก็ได้มีชีวิตใหม่ภายใต้ชายคาของ The Weinstein Company โดยหนังยังคงถ่ายทำในประเทศอังกฤษและถ่ายทำเสร็จสิ้นมาตั้งแต่ปี 2014 แต่ก็เลื่อนวันฉายเรื่อยมาจนถึงปี 2017 ปีนี้ หนังได้ เดบอราห์ ม็กกช เจ้าของนิยายต้นฉบับมาร่วมดัดแปลงบทของ ทอม สตอปพาร์ด เดิมและหนังก็ได้ จัสติน แชดวิก จาก The Other Boleyn Girl (2008) มากำกับ
ซึ่งในความเป็นจริงการได้นักเขียนนิยายต้นฉบับมาดูแลบทหนังน่าจะเป็นผลดีเพราะสามารถคงเรื่องราวและหัวใจของนิยายได้ แต่ผลปรากฏว่าตัวหนังกลับสะเปะสะปะเพราะพยายามเชื่อมโยงพลอตเรื่องโรแมนซ์สองเรื่องทั้งโซเฟียกับยานชู้รักของเธอมาตัดสลับเล่าคู่ไปกับเรื่องราวของมาเรียกับวิลเลมคนใช้สาวกับชายขายปลา โดยที่หนังกลับเล่าเรื่องราวของคู่หลังที่ควรเป็นพลอตรองได้เด่นและมีสีสันกว่าพลอตหลักเสียอีก ทั้งที่ควรไปให้ความสำคัญกับเรื่องราวรักสามเศร้าระหว่าง โซเฟีย ยาน และ คอร์เนลีส เลยทำให้ปัญหาแรกของหนังคือบทหนังที่ไม่ได้มีการลำดับความสำคัญที่ดีพอโดยเฉพาะการปูเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ยาน และ โซเฟีย ที่หนังเล่าได้กระท่อนกระแท่นเหมือนอยู่ดีๆก็รักกันขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ปูความสัมพันธ์ตอนวาดภาพที่บ้านคอร์เนลีสมาก่อนว่า ยาน ได้ทำให้จิตใจอันแห้งเหี่ยวของ โซเฟีย ฟื้นชีพเหมือนดอกไม้ได้น้ำอย่างไร ไอ้ครั้นจะให้คนดูสรุปจากแค่ฉากที่คอร์เนลีสพยายามเอาขุนพลน้อยเข้าตีค่ายของโซเฟียทุกคืนกับที่โซเฟียถามมาเรียว่าได้”ยา”ดีมาจากไหนทำไมสดชื่นก็ดูหนังจะรวบรัดกับคนดูมากไปเสียหน่อยและที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือการกระทำของตัวละครทุกตัวดูจะโง่เขลาและตกอยู่ในความบังเอิญจนน่ารำคาญทั้งเรื่อง ทั้งวิลเลมเข้าใจผิดว่ามาเรียเป็นชู้กับยานเพราะโซเฟียใส่ผ้าคลุมคนใช้ลอบไปหาชายชู้หรือการที่โซเฟียมักรอดจากการถูกจับได้แบบหวุดหวิดซึ่งหนังคงจะทำให้คนดูลุ้นกว่านี้ ถ้าหากเพิ่มความร้ายกาจให้คอร์เนลีสเสียหน่อยแต่เปล่าไง..คอร์เนลีสในหนังก็เป็นแค่ตาเฒ่าเฉาๆที่เหมือนฉลาดในเรื่องการค้าแต่กลับถูกเมียหลอกด้วยอุบายแบบละครหลังข่าวของไทยนั่นคือหมอนยัดพุงแล้วหลอกว่าท้องหวังสมอ้างเอาลูกของมาเรียให้คอร์เนลีสได้สมใจ ซึ่งทั้งไม่น่าเชื่อถือและก่อความรำคาญแทนที่จะทำให้คนดูเห็นใจในชะตากรรมของรักต้องห้ามไปโดยปริยาย
สงครามทิวลิปประวัติศาสตร์ที่จมหาย(อย่างน่าเสียดาย)
ความโดดเด่นของนิยายคือการบรรยายถึงตลาดการค้าขายหัวดอกทิวลิปในศตวรรษที่ 17 โดยแอบจัดกันในโถงโรงแรมตอนค่ำที่เหล่าพ่อค้าสมัครเล่นนำเงินเก็บมาเดิมพันซื้อกรรมสิทธิแปลงดอกทิวลิปผ่านการประมูลอันดุเดือด เพื่อใช้เป็นทั้งฉากหลังและกิมมิกในการนำเสนอเรื่องราวความรักที่ต้องเดิมพันทั้งศีลธรรมและอาศัยจังหวะเวลาอันเหมาะสม แต่ด้วยฉากการประมูลทิวลิปที่ไม่ได้มีมากกว่า 3 ฉากและกว่าหนังจะบอกว่าโบสถ์ที่โซเฟียเติบโตมาเป็นแหล่งปลูกดอกทิวลิปราคาแพงก็ปาไปกลางองก์สองของหนังแล้วเลยทำให้จุดเด่นจากนิยายกลายเป็นฉากแถมที่แม้จะคงความสำคัญกับเนื้อเรื่องอยู่บ้างแต่ดันไม่สามารถช่วยเพิ่มปมขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่น่าจดจำใดๆให้กับหนังได้เลย
นักแสดงเด่นแต่ใช้อย่างเสียของ
จะว่าไปทีมนักแสดงของ Tulip Fever ถือได้ว่าคัดเอาตัวท็อปของวงการมาทั้งนั้นตั้งแต่ อลิเซีย วิกันเดอร์ ที่เพิ่งได้ออสการ์สมทบหญิงจาก The Danish Girl (2015)ที่มอบการแสดงที่น่าประทับใจแต่บทหนังไม่ได้สร้างสถานการณ์ที่นำพาความน่าเห็นใจให้เธอนักแถมยังให้เธอต้องเปลืองตัวโดยใช่เหตุ ส่วน คริสตอฟ วอล์ซ ดารา 2 ออสการ์สมทบชายจาก Inglourious Basterds (2009) และ Django Unchained (2012)ที่ภาพตอนโปรโมตเหมือนจะให้เป็นชายแก่ที่ฉลาดอารมณ์ร้ายและดูน่ากลัว แต่เอาเข้าจริงสถานการณ์ในหนังกลับทำให้ตัวละครคอร์เนลีสของเขากลายเป็นตาเฒ่าซื่อบื้อที่ถูกเมียหลอกอย่างง่ายดาย ส่วน เดน เดอฮาน ก็ยังไม่สามารถทำให้คนดูเชื่อได้สักบทบาททั้งในฐานะศิลปินและพ่อค้าสมัครเล่น หรือแม้กระทั่งบทบาทชู้รักเองเราก็ยังไม่เชื่อว่าสเน่ห์ของเขาจะมากพอให้เมียเศรษฐียอมทำเรื่องผิดบาปได้เท่าใดนัก ปิดท้ายที่ คาร่า เดอ ลาวีญ ที่…เอ่อ..ไม่รู้มาทำอะไรในหนังเรื่องนี้ เพราะนอกจากล้วงกระเป๋าและโผล่มาในงานประมูลแบบตัวประกอบแล้ว ตัวละครของเธอก็ไม่ได้มีความสำคัญกับเรื่องแต่อย่างใด
Tulip Fever กลายเป็นดอกไม้ที่ดูเหมือนสวยเมื่อมองแว่บแรกทั้งงานโปรดักชั่นหรือชื่อชั้นนักแสดง แต่มันทั้งไม่หอมหวนด้วยอารมณ์รักต้องห้ามวาบหวามแบบที่คนดูหวังไว้นัก แถมดูไปนานๆคนดูกลับได้ลำไยล้นสวนจากความโง่เขลาของตัวละครและความบังเอิญเกินเหตุของสถานการณ์มาแทนไปโดยปริยาย