คำวา “Based of a Short Story by Philip K. Dick” เป็นเครื่องหมายการันตีความเป็นภาพยนตร์ไซไฟร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี ตามแนวทางของ ฟิลิป เค. ดิก (Philip K. Dick) นักเขียนเลื่องชื่อผู้ผสมผสานความเป็นไซไฟและมนุษย์ลงในงานเขียนของเขา
ฟิลิป เค. ดิก (Philip K. Dick) เป็นนักเขียนนิยายไซไฟชาวอเมริกัน ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่ง โดยผลงานเขียนของเขามักจะเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตนอกโลก หรือหุ่นยนต์ ไปพร้อมๆกับการลงลึกไปในจิตใจตัวละครที่เป็นมนุษย์ที่จับต้องได้ มากพอๆกับจินตนาการหลุดโลกของเขา และนั่นทำให้งานเขียนของเขามีอิทธิพลต่อการเขียนนิยายไซไฟในยุคหลังเป็นอย่างมาก รวมถึงการสร้างภาพยนตร์ไซไฟยุคใหม่ด้วย
ฟิลิป เค. ดิก เสียชีวิตในปี 1982 ด้วยวัย 53 ปี หลังจากต่อสู้กับความเจ็บป่วยทางจิต และการติดยาเสพติดมาอย่างยาวนาน
ในปี 2009 ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากผลงานเขียนของ ฟิลิป เค. ดิก นั้น ทำรายได้รวมกันได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญ และเหล่านี้คือภาพยนตร์ไซไฟยุคใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดและจินตนาการของ ฟิลิป เค. ดิก ทั้งสิ้น
Blade Runner (1982)
- ผู้กำกับการแสดง : ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott)
- ดัดแปลงมาจาก : นิยาย Do Androids Dream of Electric Sheep? ในปี 1968
กว่าจะกลายเป็นภาพยนตร์คัลท์ไซไฟในตำนาน บทภาพยนตร์ของ Blade Runner ถูกพัฒนาอยู่หลายปีก่อนที่ ริดลีย์ สก็อตต์ จะมากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดย ฟิลิป เค. ดิก ไม่พึงพอใจต่อบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างมาก แต่เมื่อเขาได้มีโอกาสชมฉากสเปเชียลเอฟเฟคของนคร Los Angeles ในปี 2019 เขาก็เกิดความประทับใจ และได้กล่าวว่า
“ตรงกับที่ผมได้จินตนาการเอาไว้จริงๆ”
แม้ว่า ริดลีย์ สก็อตต์ จะไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับของ ฟิลิป เค. ดิก เลย แต่เมื่อทั้ง 2 คนได้มาพูดคุยกันอย่างจริงจังในแง่มุมมองตัวละครและการตีความแก่นของเรื่อง ก็ทำให้ ฟิลิป เค. ดิก หันมาสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่า
“ชีวิตและผลงานสร้างสรรค์ของผมได้ถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์โดย Blade Runner”
น่าเสียดายที่ ฟิลิป เค. ดิก ได้เสียชีวิตในปี 1982 เพียง 4 เดือนก่อนที่ Blade Runner จะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์
Blade Runner บอกเล่าเรื่องราวของ เบลด รันเนอร์ (รับบทโดย แฮริสัน ฟอร์ด) ที่ต้องออกตามล่าและทำลายหุ่นแอนดรอยด์ Replicant ที่ขโมยยานอวกาศและกลับมายังโลกเพื่อค้นหาผู้สร้างของมัน
ทั้งนี้ Blade Runner จัดเป็นภาพยนตร์ไซไฟที่มาก่อนกาล มันเต็มไปด้วยความมืดหม่น บรรยากาศไม่น่าไว้วางใจ และปรัชญามากมาย ซึ่งไม่ใช่แนวทางภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น
Total Recall (1990)
- กำกับการแสดง : พอล เวอร์โฮเวน (Paul Verhoeven)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น “We Can Remember It for You Wholesale” ในปี 1966
Total Recall เต็มไปด้วยลายเซ็นของ ฟิลิป เค. ดิก อย่างชัดเจน ทั้งธีมที่เป็นแฟนตาซีผสมกับความเป็นจริง, เครื่องจักรพูดโต้ตอบกับมนุษย์ได้ และอัตลักษณ์บุคคลที่ทับซ้อนกัน โดยตัวละครหลัก คือ ดักกลาส เควส ได้ค้นพบความทรงจำเกี่ยวกับดาวอังคารที่ฝังอยู่ในสมอง และพบว่าโลกที่อาศัยอยู่นั้นเป็นสิ่งปรุ่งแต่งขึ้นมา เขาจึงออกเดินทางไปยังดาวอังคารเพื่อค้นหาความจริง
Total Recall ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ รวมถึงการนำเสนอฉากความรุนแรงสูงออกมาด้วยมุมกล้องที่แตกต่างออกไป ทำให้ Total Recall กลายเป็นภาพยนตร์ไซไฟเรท R เพียงไม่กี่เรื่องที่ประสบความสำเร็จในระดับนี้
Confessions d’un Barjo หรือ Barjo (1992)
- กำกับการแสดง : เจอโรม บอยวิน (Jérôme Boivin)
- ดัดแปลงจาก : นิยาย (ที่ไม่ใช่แนวไซไฟเพียงเรื่องเดียวของ ฟิลิป เค. ดิก) เรื่อง Confessions of a Crap Artist ในปี 1959
Confessions d’un Barjo เป็นภาพยนตร์ฝรั่งเศส (หรือชื่ออังกฤษ Barjo) ที่สะท้อนให้เห็นกระแสความนิยมและลุ่มหลงนิยายของ ฟิลิป เค. ดิก ในประเทศฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี
Screamers (1995)
- กำกับการแสดง : คริสเตียน ดูกาย (Christian Duguay)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น “Second Variety” ในปี 1953
Screamers บอกเล่าเรื่องราวบนดาว Sirius 6B ในปี 2078 ซึ่งมีการทำเหมือง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างอาวุธเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา เรียกว่า Screamers เพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตทุกอย่างนอกจากมนุษย์ แต่เครื่องจักรนี้กลับวิวัฒนาการตัวเอง และมีเป้าหมายทำลายทุกชีวิตบนดาวนี้
ฟิลิป เค. ดิก ต้องการเน้นถึงความอันตรายของสมองจักรกล (หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า AI) ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และผลกระทบจากนิวเคลียร์ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมายจนได้รับกระแสตอบรับในทางลบ ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ อีกทั้งภาคต่ออย่าง Screamers: The Hunting (2009) ก็ออกมาในรูปแบบ DVD อีกด้วย
Minority Report (2002)
- กำกับการแสดง : สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น “The Minority Report” ในปี 1956
Minority Report กล่าวถึงสังคมในอุดมคติของโลกอนาคตที่ไม่มีอาชญากรรม โดยมีนักพยากรณ์ 3 คน คอยทำนายการก่ออาชญากรรมล่วงหน้าอย่างแม่นยำ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด
ถึงแม้ว่า Minority Report ได้ทำลายประเด็นหลักของนิยาย ฟิลิป เค. ดิก ไปเสียเกือบหมด ทั้งในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับสงครามเย็น และเจตน์จำนงของเสรีชน แล้วใส่ความเป็นแอ็คชั่นผจญภัยลงไปแทน ตามสไตล์ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก และรัศมีดาราของ ทอม ครุยส์ ทั้งที่จริงๆแล้วโทนคล้ายกับ Blade Runner มากกว่า แต่ Minority Report ก็ยังประสบความสำเร็จด้านรายได้ และเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ดูสนุกมากเรื่องหนึ่ง
Imposter (2002)
- กำกับการแสดง : แกรี่ เฟลเดอร์ (Gary Fleder)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น Imposter ในปี 1953
Imposter บอกเล่าเรื่องราวในโลกอนาคต โดย สเปนเซอร์ โอลแฮม นักออกแบบอาวุธลับของรัฐบาล ได้ถูกจับข้อหาเป็นหุ่นยนต์สายลับที่เอเลี่ยนสร้างขึ้นเลียนแบบ สเปนเซอร์ ตัวจริง และเขาต้องพิสูจน์ตนเองว่าเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์
Imposter เต็มไปด้วยองค์ประกอบตามนิยายของ ฟิลิป เค. ดิก ทั้งในเรื่องของ AI, อัตลักษณ์บุคคลที่ซ้ำซ้อนกัน และการจับผิดฝาผิดตัว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เท่าที่ควร
Paycheck (2003)
- กำกับการแสดง : จอห์น วู (John Woo)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น “Paycheck” ในปี 1953
เบน แอฟเฟล็ก รับบทเป็นวิศวกรหนุ่มที่ถูกว่าจ้างให้ลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัทคู่แข่ง และถูกลบความทรงจำหลังงานเสร็จ แต่เขาก็ถูกตำรวจไล่ล่าจากสิ่งที่เขาจำไม่ได้
Paycheck ยังคงลายเซ็นจากนิยายของ ฟิลิป เค. ดิก ไว้ ทั้งความทรงจำซ้ำซ้อน และตัวบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนเอง และจริงๆแล้ว จอห์น วู ได้กำกับ Paycheck ออกมาได้สนุกมากทีเดียว ทั้งสไตล์แอ็คชั่นสโลโมชั่นอันเป็นเอกลักษณ์ และการเล่นกับทริคสิ่งของเล็กๆที่ช่วยชีวิตคนได้ ตามที่นิยายระบุไว้
A Scanner Darkly (2006)
- กำกับการแสดง : ริชาร์ด ลินเคลเตอร์ (Richard Linklater)
- ดัดแลงจาก : นิยาย A Scanner Darkly ในปี 1977
A Scanner Darkly เป็นการดัดแปลงนิยายของ ฟิลิป เค. ดิก ออกมาได้ลือลั่นที่สุด นับแต่ Blade Runner เป็นต้นมา โดย ค่ีอานู รีฟส์ รับบทเป็นขี้ยาและสายตำรวจที่มีชุดพิเศษที่ช่วยปิดบังรูปลักษณ์ที่แท้จริงของผู้สวมใส่ได้
เนื้อหาโดยรวมของ A Scanner Darkly เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเป็นการสะท้อนตัวตนของ ฟิลิป เค. ดิก ที่ต้องทรมานจากการติดยาเสพติดด้วยเช่นกัน
Next (2007)
- กำกับการแสดง : ลี ทามะโฮะริ (Lee Tamahori)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น “The Golden Man” ในปี 1954
Next บอกเล่าเรื่องราวของชายผู้ซึ่งเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า 2 นาที ก่อนจะเกิดเหตุขึ้นจริง และนั่นทำให้ FBI ต้องการตัวเขาเป็นอย่างมาก
ลี ทามะโฮะริ กำกับ Next ด้วยบทภาพยนตร์ที่ขาดแก่นของ ฟิลิป เค. ดิก ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า สัญชาตญาณสัตว์อยู่เหนือสติปัญญาของมนุษย์ และการที่สัตว์ก้าวขึ้นมาแทนที่มนุษย์นั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากเพียงไร ถึงแม้ว่าจะใส่ฉากแอ็คชั่นเข้ามาแทนที่ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้ตามต้องการ
The Adjustment Bureau (2011)
- กำกับการแสดง : จอร์จ โนลฟี (George Nolfi)
- ดัดแปลงจาก : เรื่องสั้น “Adjustment Team” ในปี 1954
The Adjustment Bureau เป็นเรื่องราวของชายที่ถูกชะตากำหนดให้พลัดพรากจากหญิงผู้เป็นที่รักเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่เขากลับเลือกที่จะฝืนชะตาและออกตามหาเธอผู้เป็นที่รัก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ตีความนิยายไซไฟของ ฟิลิป เค. ดิก ออกมาเป็นแนว แฟนตาซีโรแมนติก ได้อย่างน่าประหลาดใจไม่น้อย ทั้งที่นิยายดั้งเดิมวางโครงเรื่องให้เกี่ยวกับฝันร้ายอันโหดเหี้ยมและโลกในอนาคตที่พังพินาศ แต่ถึงกระนัน ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้คนดูมีความสุขไม่น้อยเลยทีเดียว