ลูซี่ (บริตทานี สโนว์)นักศึกษาสาวกับแฟนหนุ่มลงรถไฟที่สถานีบุชวิคเพื่อพบว่าเหตุจลาจลได้เปลี่ยนบ้านเกิดให้กลายเป็นขุมนรก และหลังจากหนีตายมาจากสถานีรถไฟเธอก็ได้พบกับ สตู๊ป (เดฟ บาติสตา) อดีตนาวิกโยธินที่มาช่วยชีวิตเธอจากเหล่าอันธพาล เมื่อมีเป้าหมายน่วมกันทั้งคู่จึงต้องฝ่าวงล้อมสงครามกลางเมืองใน บุชวิค เพื่อเดินทางไปกลับไปหาครอบครัวของพวกเขา
งานแนวคิดสุดโต่งแต่ไปไม่ถึง
ก่อนจะว่าถึงเทคนิคถ่ายทำแบบลองเทคอันเป็นจุดขายของหนัง ผมขอพูดถึงบทภาพยนตร์ของ Bushwick ที่มีแนวคิดน่าสนใจมากคือการใช้สงครามกลางเมืองในประวัติศาสตร์สหรัฐมาอ้างอิงเพื่อวิพากษ์สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วอเมริกาหลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นครองอำนาจ โดยในหนังถึงกับสร้างวิกฤติการณ์ของเรื่องให้เกิดสงครามกลางเมืองในลักษณะประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อคนชาติเดียวกันห้ำหั่นกันเอง แต่น่าเสียดายที่แนวคิดดังกล่าวกลับจมหายไปกับการพยายามยัดฉากแอ็คชั่นที่แทบหาความสมจริงไม่ได้ รวมถึงการที่หนังแทบไม่ให้เวลาคนดูได้รู้จักตัวละครเท่าไหร่ เราเลยไม่ผูกพันและเห็นใจพวกเขาสักนิด มิหนำซ้ำเมื่อหนังดำเนินไปสู่จุดแตกหัก (Point of no return) ความสมเหตุสมผลของเรื่องราวก็แทบไม่เหลือ
จากข้อผิดพลาดดังกล่าวส่งผลให้คนดูไม่มีทางเชื่อในการเปลี่ยนแปลงของตัวละครได้เลย อันเป็นผลมาจากหนังไม่ได้ให้ที่มาที่ไปมากพอนอกจากเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านปากตัวละครซึ่งก็ไม่ยากเกินคนดูคาดเดานัก โดยเฉพาะปมอดีตของตัวละคร สตู๊ปของ เดฟ บาติสตา ที่เป็นอดีตนาวิกโยธินผ่านสงครามอิรักแล้วได้เห็นความโหดร้ายของสงคราม ส่วน ลูซี่ คือเด็กกำพร้าที่ยายเลี้ยงดูมากับน้องสาวต่างสีผิวเพื่อแทนแนวคิดการอยู่ร่วมกันของประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในนิวยอร์ค ส่วนกองกำลังจากรัฐเท็กซัสก็แทบไม่มีเหตุผลรองรับในการบุกโจมตีบุชวิคนอกจากต้องการแบ่งแยกดินแดนและเลือกโจมตีเมืองที่มีคนหลายสีผิวอาศัยอยู่เพื่อแทนความชั่วร้ายของรัฐบาลสหรัฐปัจจุบัน เท่านั้น
เรียกง่ายๆว่าบทหนังของ นิค เดมีซี และ เกรแฮม เรซนิค แค่จับอารมณ์ร่วมของคนในชาติส่วนหนึ่งที่เกลียดโดนัลด์ ทรัมป์แล้วมาผูกโยงกับสงครามกลางเมืองแบบจับแพะชนแกะ แล้วคาดว่าจะทำให้เกิดหนังแอ็คชั่นวิพากษ์การเมืองดีๆสักเรื่องแต่ผลลัพธ์กลับผิดคาดแบบหนังคนละม้วนซึ่งอาจต้องดูอีกปัจจัยนั่นคืองานสร้างของหนัง
ลองเทค…โจทย์ที่กลายเป็นกับดัก
แครี เมอร์เนียน และ โจนาธาน มีลอต เลือกให้ Bushwick เป็นโปรเจคต์แบบแนวคิดสุดโต่งที่เน้นถ่ายทำแบบลองเทค หรือการถ่ายทำแบบ(ประหนึ่งว่า) ไม่มีการสั่งคัตเพื่อถ่ายเปลี่ยนมุมให้เหตุการณ์ดูสมจริงต่อเนื่องทั้งเรื่อง คล้าย Rope (1948) หนังอาชญากรรมระทึกขวัญของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อกซ์ ซึ่งคู่หูผู้กำกับได้ขอหยิบยืมวิธีการใช้กล้อง 2 ตัวสลับกันถ่ายมาใช้ แต่ความแนบเนียนในการเปลี่ยนกล้องเข้าขั้นหายนะ เพราะคนดูสามารถจับได้ทันทีเมื่อเฟรมภาพในหนังเริ่มเคลื่อนเข้าหาพื้นที่มืดและตัดไปเริ่มช็อตใหม่ที่หลังตัวละครเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องปลอมๆ ซึ่งในภาพรวมกลับส่งผลเสียมากกว่าเพราะนอกจากข้อจำกัดในการวางเฟรมภาพจนหนังเร้าอารมณ์คนดูไม่ขึ้นแล้ว ในฉากที่เป็นการสนทนากลับยิ่งทำให้รู้สึกเบื่อและอึดอัดกับการวางกล้องทิ้งไว้นิ่งๆดูตัวละครคุยกัน โดยเฉพาะในซีเควนซ์ท้ายเรื่องที่เราต้องนั่งฟังตัวละครของเดฟ บาติสตา พูดด้วยโทนเสียงทุ้มต่ำและการแสดงแบบหุ่นเรียกพ่อก็ทำเอาเกือบไปเฝ้าพระอินทร์หลายรอบอยู่เหมือนกัน
แอ็คติ้งเย็นยะเยือกประหนึ่งอยู่บนยอดเขาหิมาลัย
นอกจากลองเทคจะฉุดหนังให้ตกต่ำแล้ว การกำกับนักแสดงของ แครี เมอร์เนียน และ โจนาธาน มีลอต ก็เข้าขั้นต่ำตมไม่แพ้กัน ยิ่งได้ บริตทานี สโนว์ จากหนังชุด Pitch Perfect มาประกบคู่กับ เดฟ บาติสตา จาก Guardian of the galaxy แล้วสภาพเมืองหลังจลาจลกลับดูเรียบร้อยขึ้นทันทีเมื่อเทียบกับหายนะทางการแสดงของทั้งคู่ บทของ บริตทานี สโนว์ ไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากให้เธอแสดงความโง่ของตัวละครออกมาทั้งวิ่งออกไปตะโกนที่ถนนขณะเขายิงกันแทบเป็นแทบตาย และอยู่ดีๆก็ยิงปืนใส่อันธพาลที่กำลังทำร้ายคนอื่นทั้งที่ตัวเองยิงปืนไม่เป็น มิหนำซ้ำหลายฉากที่บนท้องถนนมีเสียงปืนยิงกันสนั่นหวั่นไหว แต่ยัยลูซี่ ตัวละครของเธอกลับเดินหลบประหนึ่งเล่นซ่อนแอบกับแก๊งแฟนฉันให้คนดูกุมขมับได้ตลอดเวลา ทางฝาก เดฟ บาติสตา ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเฉพาะร่างกายอย่างเดียว เพราะนอกจากท่าเดินที่เหมือนอุจจาระติดก้นตลอดเวลาแล้ว เรายังไม่ค่อยมั่นใจด้วยซ้ำว่าตัวละคร สตู๊ป ของเขานี่ย่อมาจาก สติวปิด (Stupid) หรือเปล่า เพราะทุกครั้งหลังบอกให้คนอื่นระวังตัวละครของเขามักทำอะไรไม่ยั้งคิดเสมอประกอบกับบทสนทนาที่ บาติสตา พูดเหมือนไม่อยากให้เราฟังรู้เรื่องก็ยิ่งเพิ่มความน่าเบื่อให้หนังไปอีกเท่าทวี จนท้ายสุดคนดูก็อยู่ในภาวะ โนสน โนแคร์ชะตากรรมตัวละครไปโดยปริยาย
อาจกล่าวได้ว่า Bushwick กลายเป็นหนังที่เทคนิคลองเทคย้อนมาเป็นกับดักให้ผู้กำกับไม่สามารถเล่าเรื่องและสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูได้อย่างที่หวัง อีกทั้งในแง่การกำกับและการแสดงยังไม่สามารถทำให้ตัวละครสร้างสัมพันกับคนดูจนสุดท้ายหนังที่แนวคิดสุดโต่งเรื่องนี้กลับสอบตกทั้งในแง่การสร้างความตื่นตาตื่นใจและการวิพากษ์การเมืองสหรัฐให้คมคายอย่างที่ควรจะเป็น