เมื่อต้องจำใจกลายเป็นกูล เขาจึงต้องสู้! เพื่อปกป้องโลกทั้งสองใบ

Play video

ชีวิตอันสุขสงบของหนุ่มมหาลัยธรรมดาๆอย่าง คาเนกิ เคน (คุโบตะ มาซาทากะ) ต้องมีอันสั่นคลอนหลังถูก ริเสะ (อาโออิ ยู) หญิงสาวที่แอบชอบทำร้ายเพื่อหวังกินเนื้อของเขา แต่โชคชะตาก็พาให้เขารอดตายพร้อมได้รับการเปลี่ยนไตจากริเสะ แต่ต้องแลกด้วยการกลายเป็นครึ่งคนครึ่ง ‘กูล’ สิ่งมีชีวิตที่กินได้เฉพาะเนื้อมนุษย์เท่านั้น และในขณะที่ฝืนความหิวของตัวเอง เขาต้องร่วมกับ โทกะ (ฟุมิกะ ชิมิสึ) สาวเสริฟร้าน อันไทคุ ปกป้องกูลผู้บริสุทธิจาก เอม่อน (ซูซูกิ โนบูยูกิ) และ มาโดะ (โออิซุมิ โย) จากหน่วยปราบกูลนาม CCG ที่มาพร้อม เควนเก้ อาวุธสังหารที่ได้มาจากอวัยวะกูลที่พวกเขาปลิดชีพ  แล้วสงครามครั้งนี้ใครจะเป็นผู้รอดชีวิต

จากมังงะสุดคัลต์สู่หนังไลฟ์แอ็คชั่นสุดเยี่ยม

เดิมที Tokyo Ghoul เป็นมังงะที่ประพันธ์โดย ซูอิ อิชิดะ (Sui Ishida) ตีพิมพ์ในนิตยสาร วีคลี ยัง จัมพ์ ระหว่างปี 2011 – 2014 ด้วยเนื้อหาที่ประสานระหว่างความสยองกับดราม่าความแปลกแยกของชีวิตวัยรุ่นที่สะท้อนสังคมญี่ปุ่นได้อย่างถึงแก่นทำให้มังงะได้รับความนิยมจนเรื่องราวได้รับการต่อยอดเป็นมังงะภาคต่อ นิยายไลต์โนเวล และอนิเมะซีรีส์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน  และสำหรับฉบับหนังไลฟ์แอ็คชั่นก็ได้ผู้กำกับหนังสั้นและมินิซีรีส์อย่าง เคนทาโร่ ฮากิวาระมากุมบังเหียนเล่าเรื่องราวของปอบแห่งเมืองโตเกียวที่ต้องต่อสู้กับสงครามเผ่าระหว่างเผ่าพันธุ์

(ซ้าย) ซูซูกิ โนบูยูกิ ในบท เอม่อน (ขวา) โออิซุมิ โย ในบท มาโดะ

ต้องยอมรับว่าตัวหนังจริงค่อนข้างแตกต่างจากตัวอย่างหนังที่โปรโมตมาก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก เพราะในทางการตลาดหนังชูความเป็นแอ็คชั่นแบบฮีโร่พันธุ์สัตว์ประหลาดเพื่อให้เข้าถึงคนดูกลุ่มใหญ่ ทั้งที่เนื้อหาจริงๆ ของมันจะเดินตามรูปแบบการเล่าเรื่องของมังงะและอนิเมะซีรีส์ที่ไปเน้นเรื่องราวการเรียนรู้ชีวิตบทใหม่ของ คาเนกิ ที่ต้องเปลี่ยนจากมนุษย์ธรรมดามาเป็นกูล และไม่อาจทำใจกินเนื้อมนุษย์แม้จะเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวที่ช่วยประทังชีวิตของเขาได้ก็ตาม

ซึ่งนำมาสู่การพูดถึงธีมหลักของเรื่องคือ “เส้นแบ่ง”  ทั้งเขตแดนที่กูลฆ่าผู้บุกรุกพื้นที่หากินเพื่อประกาศอาณาเขต หรือหน่วย CCG ที่ถึงขั้นจะล้างเผ่าพันธุ์กูลเพราะเชื่อว่าโลกใบนี้ควรเป็นที่อยู่ของมนุษย์เท่านั้น แต่เส้นแบ่งที่กินพื้นที่เล็กที่สุดแต่กลับเป็นประเด็นหลักที่หนังเลือกมาพูดถึงคือเส้นแบ่งระหว่างความเป็นคนกับกูลในตัวของคาเนกิ ที่หนังเลือกเปิดให้ คนดีๆอย่าง คาเนกิ ได้เผชิญความโหดร้ายของกูลในรูปลักษณ์ของสาวสวยที่ตัวเองหลงรัก และยิ่งเขารอดชีวิตมาได้ด้วยอวัยวะของกูล เขาเลยกลายเป็นสิ่งที่ตัวเองขยะแขยงจนไม่สามารถ “เข้าพวก” ได้ไม่ว่ากับมนุษย์สังคมที่เขาคุ้นเคย หรือ กูล สังคมใหม่ที่เขาจำใจเป็นสมาชิก

ซึ่งคนดูก็สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวแฟนตาซีมืดๆ นี้กับชีวิตตัวเองได้ไม่ยาก โดยเฉพาะภาวะ ไม่เข้าพวกแบบคาเนกิ แต่ก็ใช่ว่าตัวหนังจะเต็มไปด้วยความฟูมฟายจนน่าเบื่อนะครับ ตรงกันข้ามเลยเพราะหนังโหดร้ายมากพอให้เราเห็นตัวละครผู้บริสุทธิ์ถูกทำร้ายและฆ่าตายอย่างสยดสยองทั้งมนุษย์ และกูล ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่อง “เส้นแบ่ง” ของหนังยิ่งหนักแน่นทรงพลังมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ชื่อร้านอาหารที่อุปการะ คาเนกิ นาม ‘อันไทคุ’ ยังหมายถึง สันติ และทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งโลกทั้งสองได้อย่างคมคาย

คุโบตะ มาซาทากะ ในบท คาเนกิ เคน

ฟุมิกะ ชิมิสึ ในบท โทกะ

ฉากสยองจัดเต็มแบบแฟนตาซีมืดๆ

อันนี้คือสิ่งที่ต้องเตือนสำหรับใครที่คิดจะเข้าไปดู Tokyo Ghoul นะครับ ถ้าคนคุ้นเคยกับฉบับอนิเมะซีรีส์หรือมังงะก็คงพอเดาทางได้ว่าหนังจะอุดมไปด้วยชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ เลือดพุ่งเป็นก๊อกน้ำแตกขนาดไหน ซึ่งส่วนนี้หนังทำเอฟเฟกต์หน้ากล้องหรือ Practical Effect ได้เป็นอย่างดี รวมถึงพรอพอาหารที่มีทั้งลูกกะตา ตับไต ไส้พุงมนุษย์ที่ใครยังไม่ทานข้าวแล้วเข้าโรงอาจเกิดภาวะเบื่ออาหารเฉียบพลันได้เลย

แต่กระนั้นก็ยังมีจุดบกพร่องเล็กๆ ในตอนท้ายของหนังคือฉากต่อสู้ในช่วงก่อน ไคลแม็กซ์ ที่หนังพยายามตัดสลับสองเหตุการณ์แต่ขาดความต่อเนื่องทำให้อารมณ์คนดูสะดุดไปไม่น้อยเหมือนกันและแม้เอฟเฟกต์หน้ากล้องจะทำได้ดี แต่เอฟเฟกต์ที่เป็นคอมพิวเตอร์กราฟิกต้องยอมรับว่ายังไม่แนบเนียนเท่าหนังฮอลลีวูดนัก กลายเป็นว่าเอฟเฟกต์ที่สร้างความสยองกลับโดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อาโออิ ยู ในบท คามิชิโระ ริเสะ

 จับดาราซีรีส์มาขึ้นจอใหญ่

ยอมรับว่าผมในฐานะคนดูทั่วไปตอนเห็นตัวอย่างครั้งแรกที่อยากดูเพราะหน้าน้อง อาโออิ ยู ล้วนๆ ครับแต่…ช็อคครับ แม้จะออกมานิดเดียวแต่เธอทำเราสะพรึงมาก น่ากลัวสุดในสามโลก และทำให้คำว่าอสุรกายออกมาจากการแสดงไม่ใช่หวังพึ่งแค่เอฟเฟกต์คอมพิวเตอร์

ส่วน คุโบตะ มาซาทากะ ในบท คาเนกิ พระเอกของเรื่องก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากหนุ่มติ๋มๆ ที่ต้องสู้กับความหิวกระหายสู่นักสู้ที่พยายามสร้างสมดุลให้โลกสองใบได้อย่างน่าเชื่อถือ ส่วน ฟุมิกะ ชิมิสึ ในบท โทกะ ก็ทิ้งการแสดงสุดท้ายก่อนเกษียณตัวเองจากวงการไปร่วมลัทธิ Happy Science ได้อย่างน่าจดจำทั้งฉากกินอวัยวะมนุษย์และบทบาทในส่วนของดราม่าก็ทำให้คนดูเชื่อจริงๆ ว่าเธอพร้อมปกป้องผู้บริสุทธิ์แม้ต้องแลกด้วยชีวิต แต่ที่โดดเด่นจริงๆคือ โออิซุมิ โย ในบท มาโดะ หัวหน้าหน่วย CCG ผู้โหดเหี้ยมทั้งการย้อมผมสีดอกเลา ดีไซน์การแสดงทั้งน้ำเสียงการพูดและเพิ่มคาแรกเตอร์เด่นอย่างการกัดโดนัทแล้วเปรียบเปรยชีวิตกูลที่มองมนุษย์เป็นอาหารทำให้นี่เป็นหนึ่งในตัวร้ายที่เท่ที่สุดบนจอหนังของปีนี้เลย

ข่าวฟูมิกะ ชิมิสึ เกษียนตัวเองไปร่วมลัทธิ Happy Science

ด้วยการตีความเรื่องที่เคารพต่อต้นฉบับทำให้ Tokyo Ghoul เป็นหนึ่งในหนังจากมังงะที่ไม่สะดุดขาตัวเอง ทั้งเล่าเรื่องสนุก การแคสติ้งนักแสดงที่ไม่ขัดแย้งกับจินตนาการผู้ชม รวมถึงความโหด สยองแบบจัดเต็มก็น่าจะทำให้แฟนๆมังงะสุดคัลต์เรื่องนี้และผู้ชมผู้พิศมัยลาบเลือดบนจอได้ ฟิน อึ้ง เสียว ตลอดเวลาร่วม 2 ชั่วโมงได้อย่างแน่นอน

Tokyo Ghoul คนพันธุ์กูล ฉาย 12 ตุลาคม 2560

ตัวอย่างเสียงไทย 

Play video