Reach for the SKY ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า เป็นสารคดีว่าด้วยสงครามการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่นักเรียน ม.ปลาย เครียดมากที่สุดในโลก ความยอดเยี่ยมของมันทำให้เรานึกถึงเรื่องราวของหนังไทยอย่าง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550) ผสมกับบรรยากาศเข้มข้นอึมครึม เท่ ๆ เทา ๆ อย่าง ฉลาดเกมโกง (2560) ซึ่งเป็นหนังของ GTH (หรือชื่อใหม่อย่าง GDH) ทั้งคู่เสียด้วย
หนังเป็นผลงานที่ออกฉายในปี 2015 ของผู้กำกับเบลเยี่ยมอย่าง สตีเฟน โดท์ ที่เคยมีผลงานอย่าง State of Play (2013) ที่ว่าด้วยเหล่าหนุ่มสาวเกาหลีใต้ที่หาเลี้ยงตัวเองโดยเล่นเกม StarCraft ในระดับอาชีพ มาครั้งนี้เขายังร่วมกับอีกหนึ่งผู้กำกับชาวเกาหลีใต้อย่าง ชอย อูยัง เพื่อเล่นใหญ่กว่าเดิมมาก กับการตั้งคำถามและสังเกตการณ์ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศเกาหลีใต้ ที่ขึ้นชื่อว่าเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี คล้ายระบบการสอบเอ็นทรานซ์ของบ้านเรา แต่ที่นั่นเรียกว่า ซูนึง (수능)
ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าชื่อหนัง Reach for the SKY ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ในคำว่า SKY ด้วย เพราะคำว่า SKY นี้คือตัวย่อของ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่ Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล), Korea University (โคแด) และ Yonsei University (ยอนเซ) ซึ่งในสังคมเกาหลีถือว่าเป็นหลักรับประกันความความสำเร็จของชีวิตในอนาคตภายภาคหน้า ไม่ต่างจากฟากฟ้า (Sky) แสนไกลจริง ๆ ซึ่งบ้านเราก็น่าจะเข้าใจอะไรแบบนี้ได้ดีเพราะแทบไม่ต่างกันเลย ยิ่งตลกที่กลับคล้ายกันมากเกินไปเสียด้วย เพราะมหาวิทยาลัยขวัญใจเด็กไทยอันดับหนึ่งก็คงไม่พ้นมหาวิทยาลัยชื่อคล้ายว่าวที่ลอยอยู่บนฟ้าเช่นกัน
จุดต่างของการสอบซูนึงกับการสอบของบ้านเรา นั่นคือแต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดวิชาที่ต้องใช้ยื่นคะแนนต่างกันไป คือเล็งที่ไหนไว้ต้องดูเลยว่าสอบอะไรบ้าง ถ้าจะเผื่อเลือกหลายที่ก็อาจหมายถึงต้องสอบหลายวิชาเพิ่มด้วย แต่ความโหดของมันก็อยู่ตรงที่ว่า มีวิชาที่บังคับสอบ 3 วิชา และวิชาที่ต้องเลือกสอบเพิ่มอีก 4 วิชา ซึ่งต้องนำไปใช้ยื่นคะแนน และทั้งหมดนั้นต้องสอบในวันเดียวจบ ดังนั้นไอ้สอบเผื่อเลือกสายนู้สายนี้นี่หมดสิทธิ์แน่ ๆ แล้วไหนจะต้องอ่าน 7 วิชาเพื่อสอบวันเดียวอีก โหหหหห
และความจริงจังนี้ก็ทำให้วันสอบซูนึง เป็นเหมือนวันสำคัญของประเทศวันหนึ่ง รถจะถูกสั้งห้ามวิ่งใกล้ที่จัดสอบ 200 เมตร เด็กสามารถนั่งรถตำรวจหรือแท็กซี่ฟรีเพื่อไปสอบให้ทันได้ หรือภาพที่ชัดกว่านั้นในช่วงเวลาที่มีการสอบฟังภาษาอังกฤษจะมีกฏห้ามสนามบินปล่อยเครื่องบินขึ้นลงเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง รถสาธารณะแม้แต่รถไฟต้องวิ่งให้ช้าลงเบาลงไม่ให้รบกวนการสอบ มันคือวาระแห่งชาติที่ทั้งสังคมร่วมสร้างความสำคัญ และสิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังที่สูงและความกดดันที่มากทวีคูณกับเด็ก
ปัญหาแรกที่เด็กบ้านเขาเจอ ถูกนำเสนอผ่านตัวเด็กเตรียมสอบ (Repeater) หรือภาษาบ้านเราคงเรียกว่า พวกรอซิ่ว สาวสวยอย่าง ฮยอนอา ปัญหานั้นก็คงคล้ายเด็กมัธยมปลายบ้านเรา คือเธอก็ยังไม่รู้ว่าอยากทำอาชีพหรือเป็นอะไรในอนาคตกันแน่ แต่เธอโดนบังคับให้เลือกอนาคตตั้งแต่การเลือกคณะที่จำกัดจำเขี่ยโอกาสนี้แล้ว
หนังจั่วหัวด้วยเงื่อนไขการเฝ้ามองสำคัญตั้งแต่เปิดเรื่องว่า กระบวนการศึกษาและสอบเข้าแบบนี้เปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มเข้ามากอบโกยหรือป่าว? และฮยอนอาก็ถูกเปิดตัวครั้งแรกด้วยการที่แม่ของเธอพาเธอไปหาแม่หมอ หรือหมอดูเพื่อทำนายว่าอาชีพใดจะเหมาะกับเธอฬและการสอบครั้งนี้เธอจะผ่านด้วยดีหรือไม่? ต้องทำอย่างไร? และหลังจากนั้นยิ่งใกล้วันสอบหนังก็ยิ่งย้ำภาพของพ่อแม่เกาหลีใต้หลายคนที่ทุ่มเทกับการสอบของลูกโดยการไปไหว้พระสวดมนต์ วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นทั้งพุทธ หรือคริสต์อย่างเอาเป็นเอาตายและยากลำบาก (บางคนตื่นแต่เช้ามืดไปกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ เดิน 3 ก้าว แล้วก้มลงกราบกับพื้นไหว้ทีหนึ่งจนถึงยอดเขา) เพื่อแสดงความรักต่อลูกของเขา ในขณะที่เมื่อคุยกับลูกตรง ๆ แทนที่จะให้กำลังใจ กลับเต็มไปด้วยคำพูดที่แข็งกร้าวกดดันว่าเด็กยังพยายามไม่พอ? ผมอยากจะทิ้งคำถามไว้ตรงนี้ว่า บ้านเรามีเรื่องแบบนี้ไหม? และเรามองเรื่องนี้ดูแปลก ๆ ไหม?
ฮเยอิน เด็กคนต่อมาเป็นตัวแทนของเด็ก ม.6 ที่ต้องสอบซูนึงเป็นครั้งแรก หรือที่ภาษาเกาหลีมีคำเรียกพวกเธอว่า โกซัม เธอต้องเผชิญการรับมือกับความคาดหวังของพ่อแม่มากที่สุดในกลุ่มตัวอย่างที่สารคดีไปตามถ่ายมา นอกจากปัญหาบ้าบออย่างระเบียบวิธีการสอบเข้าที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกปี ให้นักเรียนต้องคอยตามเข้าใจและเตรียมตัวใหม่ (คุ้น ๆ กับบางประเทศเช่นกัน) เธอยังมักถูกแม่ของเธอกดดันด้วยคำพูดอย่าง “ตอนเด็ก ๆ เธอหัวดีเป็นคนเรียนเก่งมาก ดังนั้นตอนนี้ถ้าพยายาม (แม่เธอทราบว่าตอนนี้เธอไม่ได้เรียนเก่งแบบนั้นแล้ว) เธอก็น่าจะเข้า SKY ได้แน่ ๆ” หรือแม้แต่ในคืนวันที่รอผลการสอบซึ่งเราคาดหวังว่ามื้ออาหารแสนอบอุ่นนี้ครอบครัวคงให้กำลังใจเธอก่อนจะรับฟังผลสอบ แต่แม่เธอก็โทรคุยกับเพื่อนโดยยกลูกชาวบ้านมากดลูกตัวเอง ทั้งที่ฮเยอินก็นั่งอยู่ตรงหน้าและเธอเองก็พยายามอย่างหนักกับการสอบมาทั้งปี บ้านเรามีเรื่องแบบนี้ไหม? และเรามองเรื่องนี้ว่าแปลก ๆ ไหม?
เด็กคนสุดท้าย มินจุน เป็นเด็กที่รอสอบใหม่อีกเช่นกัน แต่ต่างบริบทตรงที่เขาเลือกเข้าในโรงเรียนติววิชาซึ่งเป็นระบบโรงเรียนประจำอันแสนเข้มงวดราวกับคุกก็ไม่ปาน นักเรียนถูกตารางการฝึกทั้งร่างกายและการเรียนอย่างเคร่งครัด มีการเรียกตรวจความพร้อมกลางดึก มีการสร้างบรรทัดฐานว่าการอ่านหนังสือต่อหลังเที่ยงคืนคือความพยายามที่ดีเลิศ ครูใช้คำพูดสะกดจิตให้เด็กมีความเชื่อมั่นราวกับลัทธิสักอย่าง คำขวัญปลุกใจอย่างเช่น “สมองพวกเราเจ๋งที่สุด” “ฉันต้องทำได้” ถูกพวกเด็กเขียนอยู่ตามกำแพงราวกับเก็บกดจวนระเบิด
มินจุนยอมรับว่าเขาเล่นมากไปในช่วงม.ปลาย แต่การต้องมารอสอบใหม่เขาก็ใช้ความพยายามอย่างที่บอกว่ามากกว่า 3 ปี ในม.ปลายรวมกันเสียอีก เขาจริงจังกับมันจนทุกครั้งที่สอบจะเครียดจนเผลอกัดเล็บจนเป็นแผลเต็มไปหมด แต่ความเข้มข้นของโรงเรียนนี้ก็ไม่ปรานีปราศรัยกับเขาแต่อย่างใด แม้ครอบครัวจะดูเข้าใจ เมื่อผลการสอบจำลองออกมาครูก็พูดกับมินจุนด้วยสายตาเย็นชาได้อย่างเยือกเย็นที่สุดว่า ที่พยายามมาทั้งปีได้แค่นี้น่ะเหรอ? บ้านเรามีเรื่องแบบนี้ไหม? และเรามองเรื่องนี้ว่าแปลก ๆ ไหม?
จริง ๆ หนังยังพูดถึงบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ ติวเตอร์ภาษาอังกฤษชื่อดังที่ทุกตัวละครในเรื่องต่างก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่าง คิม คีฮุน จริง ๆ หนังแทบจะเปิดหัวและปิดท้ายด้วยเขาเสียด้วยซ้ำ ราวกับเขาคือกลไก หรือตัวบงการสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบนี้ไว้ หรืออาจเป็นพระผู้ปล่อยที่มาช่วยพวกเด็ก ก็ไม่อาจตีตราได้ชัดนัก ในระหว่างที่เขาเป็นนักกอบโกยสำคัญในธุรกิจนี้ เขาบอกทีมงานว่าห้องเรียนนี้มีปัญหาตรงรับเด็กได้น้อยไป (ซึ่งกระทบกับรายได้?) เมื่อคนจัดงานบรรยายบอกว่าเขามีเวลาบรรยายให้เด็กน้อยลงเขาก็บอกว่าจะพูดให้สั้นที่สุด ทั้งที่การพูดนานขึ้นเยอะขึ้นก็เป็นประโยชน์กับเด็กมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านเขาก็สร้างแรงบันดาลใจและเป็นกำลังสอนทริกต่าง ๆ ให้เด็กบรรลุหน้าที่และความกดดันทางสังคมนั้นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนในช่วงท้ายของหนังที่เด็กซึ่งสอบผ่านมาขอบคุณเขา
ทั้งพ่อแม่ที่รักลูกผ่านทางการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งการให้หมอดูกำหนดเส้นทางอาชีพ ทั้งการให้ลูกติวหนัก ๆ จนแทบไม่ได้เจอหน้า ทั้งเวลาชีวิตที่หายไปกับการเรียนจนแทบเรียกไม่ได้ว่าวัยรุ่น ทั้งผู้ช่วยเหลือที่เป็นผู้กอบโกย ความเป็นสีเทาของเรื่องราวทั้งหมดนี้เองทำให้เรากลับไปมองอีกครั้งว่า พวกพ่อแม่ หรือเด็กเอง หรือแม้แต่ทุกคนในสังคมนั้นจะไม่รู้ถึงความแปลกประหลาดทั้งหมดนี้ที่ผมถามไว้เชียวหรือ? แม้แต่ผมที่อยู่ในสังคมไทยที่คล้ายกันแบบเรียกว่าเข้าอกเข้าใจได้ดีก็ตาม ผมก็ยังรู้สึกแปลกใจ ไม่ต้องไปนับผู้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างสตีเฟน โดท์ ชาวเบลเยี่ยมที่คงเห็นอะไรก็ตื่นตาตื่นใจไปหมดแน่ ๆ
ตรงนี้จะเห็นว่าประเทศที่ใช้ระบบการสอบเข้าครั้งเดียวชี้เป็นตายแบบนี้นอกจากเกาหลี แล้วก็ยังมี เกาเข่า (高考 Gaokao) ของจีน และอีกหลาย ๆ ที่ โดยเฉพาะว่ามักเกิดในกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งเพิ่มความเครียดให้กับเด็กอย่างมาก แต่ก็ชี้ให้เห็นเรื่องหนึ่งคือ ค่านิยมทางสังคมเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ได้นั้น ถูกผูกติดกับการตีตราคุณค่าของคน ระดับชั้นทางสังคม ตลอดจนอนาคตของคนนั้นไว้อย่างไม่น่าเชื่อครับ ซึ่งนี่ต่างหากที่เป็นปัญหาจริงของระบบการสอบเข้า ไม่ใช่วิธีการสอบหรือแม้แต่ตัวข้อสอบเองแต่อย่างใด
ไอ้ระบบหรือสังคมที่จำต้องยอมรับความแปลกประหลาดของสิ่งนี้ไว้เพราะไม่รู้จะหาทางออกอื่นยังไง รู้ว่ามันแปลกกับการเรียนจนไม่มีเวลาพักแต่ก็ต้องทำเพราะทุกคนยอมรับกติกานี้ มันเป็นสังคมที่น่าสงสารขนาดไหน เด็กที่รู้สึกว่าการมีความฝันอาชีพของตนเองอย่างฮเยอินที่ดูมีความสุขกับการดูวีดีโอที่ตอนเด็กเธอเล่นเปียโน แต่กลับต้องพยายามเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ เพื่อตอบโจทย์ของพ่อแม่ และแม้จะทำคะแนนได้น่าพอใจเธอก็โยนให้เป็นเรื่องของความโชคดีมากกว่าพยายาม เพราะไม่มีใครให้ค่ากับความพยายามของเธอ ฮยองอาที่ไม่มีเป้าหมายอะไรชัดเจนจนยอมให้แม้แต่หมอดูกำหนดชีวิต แต่ก็ยอมเรียนจนแทบทิ้งชีวิตวัยรุ่นเพราะ “ทุกครั้งที่ฉันได้คะแนนดี ๆ ดูเหมือนแม่จะรักฉันเป็นพิเศษ” มินจุนที่แม้พ่อจะเห็นใจเข้าใจอยากให้เรียนอะไรก็ได้ไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีเลิศ แต่เขาก็ก้มหน้าก้มตารอซิ่วเพราะสังคมบอกว่ามันจำเป็น
ว่ากันตามตรงหนังสารคดีเรื่องนี้ใช้เทคนิคทั้งภาพ การตัดต่อ และเสียงได้อึกทึกราวกับหนังวิกฤตการณ์วินาศกรรมก็ไม่ปาน นี่จึงเป็นความรู้สึกว่ามันเล่นเราได้รุนแรงมากทั้งตัวเนื้อหาของมันก็หนักแน่นพออยู่แล้ว แต่พอการเล่ามันมีชั้นเชิง ทั้งภาพคุมโทนสีเขียวขาวฟ้าเทาจากไฟฟลูออเรสเซนต์ก็แสดงความอึมทึมกดดันและเย็นชาไร้ความอบอุ่นของสถาการณ์ได้อย่างมีนัยยะ ดนตรีที่ราวกับนาฬิกาที่เร่งรัดขมวดปมก่อนระเบิด ภาพสัญญะที่เปรบเปรยอย่างเฉียบแหลมอย่างแมลงกลางคืนที่ฉาบทับกับเด็กที่อ่านหนังสือหลังเที่ยงคืน นาฬิกานับถอยหลังสู่วันสอบซูนึงที่มาถึงเลขศูนย์ราวกับบอกว่าความกดดันทั้งหมดในเรื่องกำลังจบลง แต่แล้วก็เด้งไปที่ 364 วันอีกครั้งสำหรับการสอบในปีต่อไป ก็ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาไม่เคยคลี่คลายแค่เปลี่ยนบทผู้เล่นเข้ามาในวงกตเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนเรารู้สึกหดหู่
ที่ว่ามานี้จึงทำให้หนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าสารคดีสำหรับเรา มันคือหนังชั้นเยี่ยมดี ๆ เรื่องหนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้ดู