Flatliners เป็นหนังเก่าที่เคยโด่งดังมากในปี 1990 เพราะรวมพลังทีมทำงานไว้คับคั่ง ซึ่งหลายคนโด่งดังและมีผลงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งผู้กำกับ โจเอล ชูเมเกอร์ หรือจะเป็นเหล่าดารานำอย่าง คีเฟอร์ ซูเธอร์แลนด์, จูเลีย โรเบิร์ตส์, เควิน เบคอน, วิลเลี่ยม บาลด์วิน และโอลิเวอร์ แพลตต์ ก็ตาม
นอกจากนี้ความน่าสนใจของมันยังอยู่ที่พลอตไซไฟขายไอเดียแปลก โดยเป็นผลงานการเขียนบทของมือเขียนบทที่ผลงานไม่มากนักอย่าง ปีเตอร์ ฟิลาร์ดิ ว่าด้วยเรื่องของกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่แอบทดลองประสบการณ์หลังความตาย โดยทำการหยุดหัวใจของเพื่อนในกลุ่มแล้วค่อยทำการกู้ชีพขึ้นมา เพื่อหาคำตอบว่าหลังจากตายภาพที่เห็นนั้นเป็นสวรรค์นรกจริงหรือไม่ แล้วมันคืออะไรกันแน่ แต่แทนที่จะได้เห็นเพียงแสงปลายอุโมงก์ หรือภาพความทรงจำที่ตัดไว ๆ ตั้งแต่อดีต พวกเขากลับได้พบบางสื่งที่เขาพยายามลืมมันไปแล้ว และมันยังตามกลับมาหลอกหลอนในโลกความจริงหลังจากนั้นด้วย
มารอบนี้หนังได้ นีลส์ อาร์เดน ออพเลฟ ผู้กำกับ The Girl With The Dragon Tattoo (2009) ฉบับดั้งเดิมภาษาสวีเดน กลับมารีเมกโดยหวังว่าจะสานต่อความสำเร็จจากปี 1990 อีกครั้ง ซึ่งหน้าที่เขียนบทก็เป็นหน้าที่ของ เบน ริปลีย์ ที่มีผลงานในแนวไซไฟอย่าง Source Code (2011) ทั้ง 2 ภาค ส่วนดาราก็ดำเนินรอยตามหนังฉบับเดิมโดยเอาดาราวัยรุ่นที่ชื่อรอง ๆ มาเล่นเสียส่วนใหญ่ทั้ง ดีโก ลูนา, นินา โดเบรฟ, เจมส์ นอร์ตัน, เคอร์ซี เคลมอนส์ โดยดาราใหญ่สุดเห็นจะเป็น เอลเลน เพจ ในบทหัวหน้าก๊วน กับการมาเซอร์ไพรส์รับเชิญในบทอาจารย์หมอของ คีเฟอร์ ซูเธอร์แลนด์ นั่นเอง
ถ้าพูดกันแบบไม่อคติเลย ก็คงต้องบอกว่าเป็นหนังแนวไซไฟสยองที่ทำได้ดีปานกลาง ให้ความรู้สึกแนวหนังวัยรุ่นฆาตกรรม หรือเผชิญสิ่งเหนือธรรมชาติแบบโง่ ๆ ตามวัย เช่นเดียวกับหนังแนวนี้ที่โหมทำออกมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งถ้าไม่เคยดูฉบับเดิมเมื่อปี 1990 มาก่อนด้วยแล้ว นี่เป็นหนังที่มีอะไรให้ติดตามอยู่พอสมควรสำหรับคอหนังรุ่นเยาว์ที่เอาบันเทิงมากกว่าการครุ่นคิดจริงจัง เพราะตัวละครในเรื่องแทบไร้เหตุผลในการกระทำของตัวเองเกือบสิ้นเชิง
เอลเลน เพจ มารับบท คอร์ทนี่ย์ ต้นคิดในการดึงเพื่อนมาทดลองกับเธอ โดยเธอมีประสบการณ์เสียบุคคลใกล้ชิดไปในอดีต ซึ่งเปรียบไปก็คล้ายบทของซูเธอแลนด์ในเวอร์ชั่นเดิมที่ชักนำเพื่อนๆสู่การทดลองโดยไม่สนคำคัดค้านเพียงเพื่อต้องการล่วงรู้ความลับหลังความตายสไตล์นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ผสมกับบทของจูเลีย โรเบิร์ตส์ ที่ผ่านการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดและต้องการทดลองเพื่อรู้ว่าบุคคลนั้นได้จากไปสู่สิ่งที่ดีหรือไม่ ต่างกันแค่ว่าตัวละครของเพจ ไร้เหตุชัดเจนว่าทำไมเธอถึงคิดไอ้การทดลองนี้ขึ้นมาโดยขาดการอธิบายแบบทั้งของซูเธอแลนด์และจูเลีย โรเบิร์ตส์ นี่คือสิ่งแรกที่ทำให้เราไม่อินกับตัวละครและเรื่องการทดลองนี้
และยิ่งนานไปหนังก็เหมือนไม่ได้สร้างเหตุผลอะไรชัดเจนว่า มีคำคัดค้านมากมายที่สมควรหยุดการทดลองแต่ทำไมตัวละครยังดึงดันทำการทดลองต่อ โดยเฉพาะบทของดีโก ลูนา ที่ทำหน้าที่คัดค้านหรือเป็นสติของกลุ่มเช่นเดียวกับที่เควิน เบคอนเคยแสดงไว้ แต่บทของดีโกกลายเป็นความสับสนงงชีวิตที่สุด เพราะแม้ปากจะคัดค้านทุกอย่าง แต่การกระทำคือเขามาช่วยตลอด ทั้งยังไปร่วมฉลองความสำเร็จในแต่ละครั้งอยู่เป็นนิจเสียด้วย อะไรของมัน?
พอหนังพยายามผลักเรื่องไปตามพลอตที่วางไว้ โดยไม่สนใจการสร้างตัวละคร จึงเป็นความวินาศในการสร้างความผูกพันให้คนดูเอาใจช่วย หรือแม้แต่เชื่อว่าคนแบบนี้มีอยู่จริง เราเลยรู้สึกเมามันกับความเป็นหนังบันเทิงที่จับเอาวัยรุ่นหน้าตาดีมาไล่ฆ่าทิ้งเสียมากกว่า ซึ่งน่าเสียดายเพราะฉบับเดิมนั้นมีความเข้มแข็งในบทดราม่า มีเหตุผลและจุดยืนของตัวละครแต่ละตัวที่ดี ไม่ว่าจะหวังความสำเร็จด้านอาชีพ ต้องการชื่อเสียง ต้องการแก้ความสงสัยในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ยอมเสี่ยงทดลองเพื่อปกป้องคนที่รัก นั่นยังรวมไปถึงฉบับเดิมให้การคลี่คลายปมกรรมตามทันของแต่ละตัวละครได้กลมกล่อม และลงตัวได้ข้อคิดกว่ามาก ๆ ด้วย ซึ่งหาไม่ได้ในเวอร์ชั่นนี้
สิ่งเดียวที่หนังเวอร์ชั่นนี้ดีกว่าเดิมมาก คงเป็นเทคนิกภาพและซีจีต่าง ๆ รวมถึงการมีสาว ๆ ให้มองหลากหลายกว่าเท่านั้นเอง
ซึ่งที่ว่ามาก็มาจากการที่ดูเทียบกับฉบับเดิมทำให้มีข้อติงเยอะ แต่อย่างที่บอกหากคุณไม่เคยดูมันมาก่อนเลย และการดูหนังแนววัยรุ่นตายโง่ ๆ ถือเป็นความสนุก หนังเรื่องนี้คือความบันเทิงของคุณอีกเรื่องหนึ่งเลยครับ