จริง ๆ การจะดูหนังเรื่องนี้ให้สนุกสมดั่งที่นักรีวิวเมืองนอก หรือแฟน ๆ เขารู้สึกกัน คือการไม่รู้อะไรก่อนไปดูเลย ไม่ควรรู้ว่าหนังจะมาสายตลก ไม่ควรรุู้ว่าหนังจะมีตัวละครนู้นนี้นั้นมาแจม แล้วไปรอรับสิ่งเหนือความคาดหมายจากหนังแบบเต็ม ๆ ดังนั้นใครอยากรู้สึกว้าวจริง ๆ ควรตรงไปโรงดูเลย อย่าเพิ่งไปอ่านรีวิวหรือสปอยล์ที่ไหนครับ แต่ถ้าใครไม่ได้แฟนพันธุ์สดขนาดนั้น อ่านรีวิวไปก่อนก็ทำให้รู้จักตัวหนังมากขึ้นครับ ไม่ผิดอันใด

Thor: Ragnarok หรือในคอมมิคก็คืออีเว้นท์ที่ทำลายล้างเหล่าเทพและแอสการ์ดจนพินาศ กลายเป็นหนังภาคที่ 3 ที่ดำเนินเรื่องโดย ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้าเป็นตัวหลัก ต่อจาก Thor (2011) และ Thor: The Dark World (2013) ที่จบด้วยการที่ตัวร้าย โลกิ ปลอมตัวเป็น โอดิน กษัตริย์แห่งแอสการ์ดโดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ และถ้าว่ากันตามไทม์ไลน์ของจักรวาลมาร์เวล หนังภาคนี้ก็เป็นการเดินหน้าต่อจาก Avengers: Age of Ultron (2015) ในส่วนของตัวละครหลักอย่าง ฮัลค์ ที่ขึ้นยานทะยานออกสู่อวกาศหลังอาละวาดจนมนุษย์โลกหวาดกลัวไปพร้อมกันด้วย

โลกินั่งบัลลังก์ของโอดิน

ฮัลค์ไม่อาจคุมตัวเองได้

Play video

ฉากความฝันของธอร์ใน Age of Ultron เมื่อธอร์ถูกเวทย์ของแวนด้าทำให้เห็นนิมิตร ซึ่งใบ้ถึงแร็กนาร็อกที่จะเกิดในหนังภาคสุดท้าย

หนังภาคนี้ว่าด้วย ธอร์ ที่ต้องกลับแอสการ์ดมากู้วิกฤตตามคำทำนายที่ชื่อว่า แร็กนาร็อก ซึ่งจะทำลายแอสการ์ดและเหล่าเทพจนสิ้น โดยภัยที่ว่ามาในรูปของราชินีแห่งความตายนามว่า เฮล่า ซึีงได้รับการปลดปล่อยจากคุมขังกลับมา นอกจากนั้นยังมีภัยข้างกายอย่างโลกิคอยแทงข้างหลังตลอดเวลาอีก ธอร์พลาดท่าถูกทำลายอาวุธประจำกายทั้งยังหลุดหายไปในกาลอวกาศจนไปโผล่ยังดาวซาคาร์ที่เป็นสนามกลาดิเอเตอร์จับเอเลี่ยนมาสู้กัน จนจับพลัดจับผลูต้องมาเผชิญหน้ากับสหายเก่าอย่างฮัลค์ที่ลืมเขาจนหมดสิ้น ธอร์จึงต้องหาทางกลับไปแอสการ์ดให้ทันเวลาก่อนทุกอย่างจะสายไป นั่นคือเท่าที่ตัวอย่างหนังบอกเราครับ

หนึ่งในไฮไลต์ของหนัง

ในภาคนี้ผู้กำกับและนักแสดงสายตลกอย่าง ไทก้า ไวทีตีิ ที่เคยมีผลงานผ่านตาเราอย่างสารคดีปลอมเอาฮาว่าด้วยเหล่าปีศาจที่ต้องปรับตัวในยุคปัจจุบันเรื่อง What We Do in the Shadows (2014) ก็ได้รับความไว้วางใจให้มาสานต่อเรื่องราวที่ว่าไปก็คือไตรภาคที่มักเป็นบทสรุปของตัวละครหลักของหนัง ในกรณีนี้คือ ธอร์ ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่เหมือนกัน เพราะสำหรับแฟนธอร์คงจำได้ว่าหนังธอร์นั้นค่อนข้างอยู่บนพลอตจักร ๆ วงศ์ ๆ ของเหล่าเทพที่แสนเชย พี่ชายน้องชายทะเลาะกันแย่งตำแหน่งว่าที่ราชาพระเอกถูกใส่ร้ายและลงทัณฑ์ให้ไร้พลังตกสู่โลกมนุษย์ และตกหลุมรักสาวมนุษย์ในภาคแรก ก่อนจะมาเพิ่มความดราม่าดุดันด้วยศัตรูที่แกร่งกล้าและทรงพลังขึ้นในภาคสอง แล้วก็มากลายเป็นหนังตลกในภาคสาม!!

หน้าเป็นหลุดๆของเทพธอร์สุดเก็กแบบนี้ คงไม่มีทางได้เห็นในหนังธอร์ภาคก่อนๆแน่

ว่าตามตรงหนังตระกูลธอร์ที่ผ่านมา ก็เป็นหนังมาร์เวลที่ดูไปให้มันเติมเต็มจักรวาลเท่านั้น มันไม่ได้สนุกที่สุดดีที่สุดแต่อย่างใด การปิดท้ายและลองของโดยโยนบรรยากาศที่คล้ายหนังฮิตอย่าง Guardians of the Galaxy ซึ่งเน้นในทีมหลากสไตล์หลายบุคลิกตัวละครที่แค่ขัดกันเองก็สนุกแล้ว บรรยากาศโลกที่สีสันฉูดฉาดแบบการ์ตูนจัดจ้าน มุกตลกยิงกระจายกันทั้งเรื่อง เพื่อมากู้อารมณ์อันแสนจืดชืดของธอร์ แล้วตัดทิ้งตัวละครฝั่งมนุษย์ที่น่าเบื่อทั้งหลายออกไปจนเหี้ยน (ขอโทษแฟน ๆ ของ นาตาลี พอร์ตแมน นางเอกภาคก่อนหน้ามา ณ ที่นี้) ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ Ragnarok รากฐานของตระกูลหนังธอร์เอามาก ๆ และต้องยอมรับว่าทำได้ค่อนข้างดีด้วย

ทีมจำเป็นแสนวุ่นวายไม่ต่างจาก Guardians of the Galaxy แต่มาในเวอร์ชั่น ฮัลค์ ธอร์ วัลคิวรี และโลกิ

แต่ตรงนี้ก็ต้องบอกไปเลยว่า พอเน้นเอาฮาเอารั่ว ทำให้หนังมันเพี้ยน ๆ ไปเยอะเหมือนกัน ตัวละครทั้งเก่าทั้งใหม่ถูกจับให้ได้ยิงมุกกันถ้วนหน้า จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคณะเชิญยิ้มกันเลยทีเดียว มันทำให้ความเชื่อในตัวละครที่ถูกสร้าง ๆ มาก่อนหน้าในภาคเก่าถูกทำลายลง มันไม่ค่อยกลมกลืนหรือลื่นไปกันดีนัก ยิ่งบางอย่างที่ภาคก่อนทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจที่โลกิกลายเป็นราชาของแอสการ์ด กลับถูกเอาไปใช้ในภาคนี้อย่างกับแมนดารินในไอออนแมนอย่างไรอย่างนั้น คืออะไรที่ดูจะซีเรียสเกินไปถูกถอดไปแทบหมดเลย และจากบทสัมภาษณ์ผู้กำกับว่ามีการใส่ฉากตลกเข้าไปทำให้จากเดิมหนังยาว 100 นาที กลายเป็น 130 นาทีในปัจจุบัน นั่นเท่ากับแค่มุกเสริมเรื่องอย่างเดียวก็ปาไป 30 นาทีแล้ว นี่น่าจะบอกอะไรได้หลายอย่างทีเดียว

การเปลี่ยนลุคของธอร์นับเป็นความกล้าหนึ่งของหนัง ยิ่งในช่วงฉากท้ายๆของหนังต้องตบเข่าฉาดกับความกล้าของทีมสร้าง

คือถ้าเอามาดูต่อกัน 3 ภาค ต้องสงสัยล่ะว่าพวกนี้ไปเมาปุ๊นอวกาศกันตอนไหน ซึ่งในแง่ความบันเทิงมันก็ให้คุ้มค่าตั๋วมาก ๆ ยิ่งมีเซอร์ไพร้สที่เอาตัวละครนู้นนี้ในมาร์เวลทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่มารับเชิญมาแจม ทั้งคนทำก็กล้าเปลี่ยนมู้ดอารมณ์ล้อเลียนตัวเองด้วย (ฉากละครจำลองเหตุการณ์ในภาคก่อนตลกมาก ยิ่งดารารับเชิญมาก็กวนส้นขั้นสุดเช่นกัน) มันยิ่งดูเจ๋งดูคูลสุด ๆ แต่พอมองในแง่ความเป็นหนังธอร์ภาคต่อมันก็ไม่ลงตัวนัก การที่รู้ไปก่อนว่าหนังจะตลกมาก เลยเหมือนเป็นการฆ่าตัวตายพอควร เพราะสร้างความคาดหวังเกินจำเป็นให้คนดู ซึ่งยากที่หนังจะเอาชนะความคาดหวังของคนดูได้

สิ่งที่ดีอื่น ๆ ของหนังเช่นฉากต่อสู้ งานซีจี การแสดงยังคงได้มาตรฐานแบบมาร์เวล คือสนุก โดยเฉพาะเหล่าตัวละครนั้นสร้างสีสันได้มาก และเหล่าตัวละครหญิงอย่าง วัลคิวรี และเฮล่า ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากกว่าหนังมาร์เวลเรื่องไหน ๆ น่าจะเป็นการปูทางสู่ยุคฮีโร่หญิงในหนังมาร์เวลเฟสถัดไปที่จะมี กัปตันมาร์เวล เป็นแกนกลางก็เป็นได้ ส่วนด้าน ฮัลค์ กับโลกิ ก็กลายเป็นวายร้ายที่ทั้งน่ารักน่าชังคือเกลียดไม่ลงรักไม่สุดไปได้อย่างมีมิติเช่นกัน ต้องยอมรับเรื่องการสร้างตัวละครของมาร์เวลจริง ๆ

 

สุดท้ายคือ Thor: Ragnarok ถือเป็นสุดยอดของหนังในตระกูลธอร์ที่ภาคอื่นน่าจะเทียบยาก ในแง่ความบันเทิงก็เป็นหนังมาร์เวลที่น่าจะบันเทิงที่สุดในขณะนี้ แต่ถามความน่าจดจำนั้นกลับต้องบอกว่า ไม่ค่อยมีอะไรเหลือให้ตกค้างเท่าไหร่นัก ยังคงเป็นหนังดูเติมเต็มจักรวาลมาร์เวลที่ดูสนุกกว่าเดิมเท่านั้นเองครับ แล้วถามว่าต้องดูมั้ย ต้องดูล่ะถ้าอยากจะตามเรื่องอื่นของมาร์เวลได้แบบไร้รอยต่อน่ะ

หนังมีฉากหลังเอนด์เครดิต 2 รอบ ครั้งแรกคือหลังกราฟิกชื่อตัวละครหลักจบลง อันนี้สำคัญต้องดูเลยเพราะส่งบทไป Avengers: Infinity War (2018) และหลังจากนั้นต้องนั่งรอเครดิตยาวจบ ก็จะเป็นฉากที่ 2 อันนี้ออกแนวเน้นฮาไม่ค่อยมีผลกับเรื่องมากเท่าไหร่ครับ

Play video