ถือเป็นช่วงขวบปีที่คำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาถูกทำให้พองโตและบีบคั้นมากขึ้น ผ่านมุมมองของหนังที่ว่ากันว่าเป็น ‘นักเคลื่อนไหวหรือนักการเมือง’ ที่ทรงพลังที่สุด ไม่ว่าจะจากฝั่งเอเชียเองอย่าง ฉลาดเกมโกง หรือ Reach For The SKY ที่หนังโจมตีไปที่ระบบ และมีเด็กนักเรียนเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำ ขณะเดียวกัน The Graduation นั้นจะเป็นการนำพาคนดูข้ามไปยังโลกอีกใบ เป็นประตูอีกบานหนึ่งที่ถูกปิดเอาไว้เบืื้องหลังคะแนนสอบของนักเรียน

 

The Graduation หนังสารคดีฝรั่งเศสที่เล่าเรื่องราวออกมาในลักษณะเป็นผู้สังเกตการณ์การสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนใน Le Femis โรงเรียนทำหนังชื่อดังแดนน้ำหอม ตั้งแต่วันแรกของการสมัครเรียน กระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่หลักสูตรวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการหนัง เด็กต้องเจอโจทย์อย่างไรบ้างไปจนถึงการดีเบตต่าง ๆ ของครูผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 ชีวิตที่มานั่งเป็นคณะกรรมการการสอบ จวบจนสุดเส้นทางที่ใครจะได้รับคัดเลือกมาเรียน ซึ่งตัวหนังจะสังเกตการณ์ตัวคณะกรรมการแต่ละท่านเป็นหลักกับวิธีคิดของแต่ละคนที่จะให้คะแนนเด็ก

ความน่าสนใจของ Le Femis คือพวกเขาไม่ได้คัดเด็กจากประวัติการเรียน คุณเรียนอะไรมา จบสายไหนมา เรื่องของคุณ ที่นี่คัดคนโดยดูจาก ความรู้ในการทำหนัง มุมมอง ทัศนคติ ที่มีในตัวว่าคุณมีแววไปต่อ พัฒนาได้อีกไหม และตรงนี้แหละที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ให้คณะกรรมการมาดีเบตกัน ถึงตรงนี้ เราจะได้เห็นวิธีการคิดคะแนน ทำไมคณะกรรมการต้องถูกชะตากับเด็กคนนี้เป็นพิเศษ ทำไมถึงไม่ชอบคนนั้นคนนี้ ไปจนถึงการสร้างภาพในการเลือกเด็ก ให้หลากหลายที่ไปที่มา เชื้อชาติ ศาสนา เรียกว่าแม้ตัวเลือกที่มีจะไม่ได้เรื่อง แต่ก็ถูกเลือกมาเพราะต้องการภาพลักษณ์ในเรื่องของความเท่าเทียมกัน! ซึ่งจุดนี้ทำให้ผมมองว่าสารคดีเรื่องนี้มันเดินล้ำหน้าจากประเด็นการเลือกนักเรียนเข้าเรียนไปแล้ว และต่อจากนี้ไปมันเป็นเรื่องของระบบการคิด ตรรกะ อคติ ของคณะกรรมการแต่ละคนไปแล้ว และยิ่งดูผมก็รู้สึกว่าเด็กนักเรียนไม่ได้ต่อสู้กับโจทย์ข้อสอบอย่างเดียว หากแต่รวมถึงต้องผ่านเกณฑ์รสนิยมของคนให้คะแนนให้ได้ด้วย

 

ตลอดเวลาชั่วโมงกว่า ๆ The Graduation ไม่ได้สร้างความกดดันใด ๆ ให้คนดู การเดินเรื่องก็เป็นไปตามเหตุการณ์จริงคล้ายกับหนัง Final Score ของบ้านเราเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นสารคดีที่เป็นสารคดีจริง ๆ แทบไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ทั้งสิ้นในแง่ของการตัดต่อในแต่ละช่วงที่ผ่านไป หากแต่เพราะสาระสำคัญมันอยู่ที่การถกเถียงของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่มาทำหน้าที่คณะกรรมการให้คะแนน คัดเลือกเด็กนั่นแหละ จากจุดนี้ คนดูก็เหมือนจะต้องสวมบทบาทเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาเด็ก ๆ เหล่านี้ไปด้วย เราจะได้เห็นเด็กวัยรุ่นมากมายกับบุคลิกที่แตกต่าง มุมมอง ทัศนคติก่อนการก้าวกระโดดมาทำหนัง และจุดที่อ่อนไหวอย่างการตัดสินเด็กโดยใช้มาตรวัดที่แตกต่างกัน บางคนถนัดเขียน แต่ให้พูดเล่าเรื่องหรือพรีเซนต์ออกมากลับเปลี่ยนเป็นคนละคน บางคนพูดทุกสิ่งอย่างที่เหมือนจะดูมั่นใจจนน่าหมั่นไส้ แต่คณะกรรมการเหล่านั้นจะจัดการกับอคติและมองไปถึงแก่นแท้ของเด็กคนนั้นได้อย่างไร เพราะบอกตามตรงว่าบุคลิกมั่นใจแบบนั้น มันก็ช่างเย้ายวนอคติของคนที่มองเข้ามาเหลือเกิน มันน่าสนใจตรงที่ว่า ก่อนการให้คะแนน ก่อนการพิพากษา มันก็มีการถกเถียง เรียนรู้และสอนกันเองของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ เรียกว่าบรรยากาศตลบอบอวลไปด้วยอคติของแต่ละคนที่ล่องลอยไปมาอยู่ในห้องสัมภาษณ์นั้น

หากเราไม่ไปโฟกัสที่ความนวยนาบของสารคดีจนเกินไปและอาจกลายเป็นยานอนหลับชั้นดีของใครหลายคน เมสเซจที่ The Graduation ทิ้งไว้น่าสนใจคือ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ จะมองเห็นความคิดอ่านของฝั่งเด็กวัยรุ่นที่มีแต่ความทะเยอทะยานกระตือรือร้นและไฟปรารถนาที่ลุกโชน การตอบคำถามกับคณะกรรมการ การแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่มีในกองถ่าย สิ่งเหล่านี้สะท้อนตัวตนของเด็กคนนั้น ๆ ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งภาพที่เห็นกลับเชื่อมโยงย้อนกลับมาที่ตัวคนดูในเรื่องของการกลับไปนั่งถามหาตัวตนของตัวเองบ้าง สิ่งที่บอกว่าเด็กคนไหนยังมีของ มีศักยภาพที่พัฒนาต่อจากวันนี้ไปได้อีกคือทัศนคติและมุมมองที่เขามี เด็กบางคนก็ถูกอ่านจากทัศนคติว่าชีวิตจากนี้ของเขาหรือเธอคงไม่ได้ไปไกลกว่านี้แล้วแม้ว่าต่อให้อายุจะน้อย จะยังเหลือเวลามากกว่าคนอื่นหลายปีก็ตาม แต่ก็จะไม่มีวันไปไกลกว่านี้! ขณะที่บางคนนั้นแม้อายุมากกว่าแต่ก็ฉายแวว มองเห็นความรักที่มีต่ออาชีพในวงการหนังจริง ๆ ตรงนี้มันสอนเราคนดูให้ลองมองคนรอบตัวมากขึ้น มองให้ขาดว่าเขาเป็นใคร ความทะเยอทะยานมีแค่ไหน หากคุณอ่านออกว่าใครจะไปอยู่ตรงไหน คุณก็จะไม่เสียเวลากับคนที่ไม่ใช่นั่นเอง ขณะเดียวกันในมุมของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่กำอนาคตของคนมีความฝัน ก็เป็นเพียงมนุษย์ขี้เหม็นที่มีทั้งความลุ่มหลง อคติ จากประสบการณ์ การถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาตามแต่ละคนเช่นกััน มาตรฐานและระบบความเท่าเทียมถูกเซ็ตอัพขึ้นมา แต่ในโลกของความเป็นจริง มันไม่มีสิ่งใดเที่ยงตรงเสมอไปหากเครื่องมือชี้วัดนั้นยังทำด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตใจ’

สำหรับ The Graduation นั้นเข้าฉายที่ House RCA และ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนนี้ เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดและรอบฉายจาก Documentary Club

Play video