หนังแนวชีวิตตำรวจดับเพลิง เป็นแนวที่ฮอลลีวู้ดสร้างออกมาไม่บ่อยนัก ถ้าให้นึกออกเรื่องที่เด่น ๆ ตอนนี้ก็ Back Draft (1991) และ Ladder 49 (2004) ใน Only The Brave ย้อนไปหยิบเหตุการณ์จริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ของหน่วย “แกรนิต เมาเท่น ฮอตชอต” ที่ออกปฏิบัติภารกิจยับยั้งไฟป่ายาร์เนล ที่แรกเริ่มดูเหมือนจะเป็นงานง่าย ๆ แต่ไฟกลับลุกลามอย่างรวดเร็วเกินคาดและได้คร่าชีวิตทีมฮอตชอตไป 19 นายจากทั้งหมด 20 นาย นับเป็นโศกนาฏกรรมที่สูญเสียชีวิตนักผจญเพลิงชาวสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์รองจากเหตุ 9/11
หนังได้ เคน โนแลน มือเขียนบทจาก Black Hwak Down (2001) และ อีริค วอร์เรน ซิงเกอร์ จาก American Hustle (2013) มาร่วมกันดัดแปลงบทความ “No Exit” จากนิตยสารจีคิวออกมาเป็นบทภาพยนตร์ที่ลงตัวมาก เล่าเหตุการณ์ในเวลา 2 ชั่วโมงนิด ๆ ได้อย่างน่าติดตาม หนังพาเราไปรู้จักชีวิตของหน่วย “ฮอตชอต” กลุ่มบุคคลที่เราแทบไม่เคยรู้จักชีวิตของพวกเขา เพราะหน่วยฮอตชอตแตกต่างจากตำรวจดับเพลิงมาก ภาระหน้าที่ในการป้องกันไฟป่าต้องเสี่ยงภัยกว่าการดับเพลิงอาคารบ้านเรือนมากนัก พวกเขาต้องฝึกหนักอย่างน้อย 2 ปี ต้องแบกสัมภาระเดินทางขึ้นเขาเป็นระยะทางหลายกิโลต่อภารกิจแต่ละครั้ง บางงานต้องทำงานต่อเนื่องกว่า 12 ชั่วโมง งานของฮอตชอตไม่ใช้น้ำดับไฟ แต่ใช้ไฟดับไฟ ด้วยการเผาต้นไม้ใบหญ้าที่อยู่ในเส้นทางไฟเพื่อควบคุมการแพร่ขยายอาณาเขตของไฟป่า หนังเล่าสลับภารกิจหน้าที่ของหน่วยฮอตชอตกับชีวิตส่วนตัวของพวกเขา บทหนังเน้นตัวละครหลักแค่ 2 คน คือ อีริค มาร์ช บทของ จอช โบรลิน ในฐานะหัวหน้าหน่วยฮอตชอต และ เบรนดัน แม็คโดนาห์ บทของ ไมลส์ เทลเลอร์ อดีตขี้ยาที่มาสมัครเป็นฮอตชอต และได้รับโอกาสจากอีริค ที่อยู่ในสถานะตัวประกอบคือ คริสโตเฟอร์ แม็คเคนซี บทของ เทย์เลอร์ คิตช์ และ เจสซี่ สตีด บทของ เจมส์ แบดจ์ เดล ที่เหลือถูกวางตัวในสถานะตัวประกอบแท้จริง จนจบยังแทบไม่รู้จักชื่อและหน้าตาเลย
หนังยิบยกประเด็นต่าง ๆ มาพูดถึงอย่างมากมาย ทั้งเรื่องการเมืองระดับท้องถิ่นที่หน่วยเล็ก ๆ ของอีริค มาร์ช พยายามไต่เต้าหลายปีกว่าจะได้ขึ้นเป็น “ทีมฮอตชอต” ปัญหาครอบครัวของอีริค มาร์ช ที่ทุ่มเทกับงานจนแทบไม่มีเวลาให้เมียการเป็นเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งกัน และความพยามพลิกชีวิตของเบรดันจากขี้ยาไม่เอาไหนกลายมาเป็นคนเอาการเอางานเพื่อพิสูจน์สถานะว่าเขาสามารถเป็น”พ่อ”ที่ดีได้ รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ของ “โดนัท” และ “แมค” จากคู่กัดมาเป็นเพื่อนสนิท ด้วยเรื่องราวเหล่านี้กับเวลา 2 ชั่วโมงกว่า ที่เราได้เห็นชีวิตที่เสียสละทุ่มเทก็ทำให้รู้สึกผูกพันเห็นใจกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งล้วนไปส่งผลให้กับนาทีไคลแมกซ์ในช่วงท้ายเรื่อง ที่พาไปได้ถึงจุดซาบซึ้งกินใจได้โดยไม่ต้องพยายามบิลท์กันมากมาย ก็ต้องย้อนกลับไปชื่นชมฝีมือเขียนบทอีกทีที่สามารถเล่าเรื่องราวที่คนดูรู้ชะตากรรมของหน่วยฮอตชอตอยู่แล้ว แต่ก็ยังเล่านาทีวิกฤตออกมาได้ชวนลุ้นและเอาใจช่วยแม้ว่าจะรู้บทสรุปอยู่แล้ว แต่จุดที่ควรเก็บงำไว้ห้ามสปอยล์อย่างมากคือผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวของเรื่อง ที่เป็นอีกหนึ่งสีสันของเรื่องกับการดูไปเดาไปว่าใครคือผู้รอดชีวิตคนนั้น หนังไม่ได้ลงเอยให้รู้สึกว่า”เขา”คือผู้โชคดีที่รอดชีวิตแม้แต่น้อย แม้สายตาคนรอบข้างจะมองว่าเขาคือผู้โชคดี แต่ตัวเขาเองกลับไม่ยินดีกับโชคชะตานี้เลย หลังวิกฤตการณ์ ทุกครอบครัวยังไม่รู้ว่าใครคือผู้รอดชีวิต แล้วนาทีที่เขาปรากฏตัวออกมากลับเป็นความผิดหวังเสียใจของครอบครัวของเพื่อน ๆ ทั้ง 19 ที่ได้ข้อเฉลยว่าคนรอดชีวิตกลับไม่ใช่สามี , พ่อ หรือลูกของพวกเขา เขาต้องทนแบกรับสายตาเหยียดหยาม คำเสียดสีจากคนรอบข้างไปอีกนาน
โจเซฟ โคซินสกี ผู้กำกับจาก Tron:Leagacy (2010) และ Oblivion (2013) เคยกำกับมาแต่หนังไซไฟแล้วเปลี่ยนแนวมาทำหนังดราม่าที่ดูผิดแนวถนัดมาก แต่กลับทำผลงานออกมาได้น่าพอใจ ฉากดราม่าก็ทำได้ถึงจุดที่คนดูต้องเสียน้ำตาได้ พาร์ทแอ็คชั่นก็ทำได้สมจริง โจเซฟ กำกับไฟป่าได้ดังกับตัวละครฝ่ายร้ายของเรื่องที่มีพิษสงร้ายกาจ คาดเดาไม่ได้ และที่สำคัญมันเป็น”ผู้ชนะ” งานภาพถ่ายทอดภาพไฟป่าได้ทั้งสวยงามและน่ากลัว โดยเฉพาะฉากไคลแมกซ์ที่ดูแล้วรู้สึกถึงความร้อนไปด้วยเลย ภาพมุมสูงหลาย ๆ ชอตสวยงามมาก ภูเขาเต็มไปด้วยขี้เถ้าสีเทาตัดกับทีมฮอตชอตในชุดเหลืองดูสวยงาม
เป็นอีกเรื่องที่เลือกใช้ดาราขายฝีมือมากกว่าดาราขายชื่อเป็นงานหนักอีกเรื่องที่ ไมลส์ เทลเลอร์ สมควรได้รับคำชมต่อจาก Whiplash (2014) ,เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่ ในบท อแมนดา มาร์ช เมียของอีริค มาร์ช โดดเด่นและใช้พลังในการแสดงมากที่สุด เจนนิเฟอร์ ตั้งใจกับบทนี้มากถึงขนาดไปคลุกคลีกับอแมนดา ตัวจริง เพื่อศึกษาตัวตนของเธอ , อีกหนึ่งออสการ์คือ เจฟฟ์ บริดเจ็ส ในบท ดเวน สไตน์บริงค์ หัวหน้ากองดับเพลิงเพรสคอตต์ เป็นบทที่ไม่มีอะไรให้พูดถึงนะ บทแนวเจ้าหน้าที่ระดับผู้ใหญ่นี่งานถนัดของเจฟฟ์อยู่แล้ว หนังจบด้วยการสดุดีวีรชน ขึ้นภาพตัวแสดงในเรื่องเทียบกับตัวจริงให้เราดูทั้ง 19 คน ดูจบแล้วให้ความรู้สึกตื้นตัน ชื่นชมกับความกล้าความเสียสละจริง แถมได้ความรู้เรื่องไฟป่าว่าน่ากลัวกว่าที่คิดมาก เป็นหนังที่สมควรต้องดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้นครับ เพื่อสัมผัสกับสภาพไฟป่าที่ร้อนแรงและสมจริง หนังเยี่ยมยอดในทุก ๆ ด้าน บทภาพยนตร์ , การแสดง , งานภาพสวยงาม , งานซีจีที่สมจริง ไม่ควรพลาดครับ