ผลงานตามต่อความสำเร็จของตัวเองของ ยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับชาวกรีซ หลงจากที่ The Lobster (2015) หนังพลอตเรื่องสุดประหลาดกวาดรางวัลและเสียงชื่นชมไปมาก มาถึง The Killing Of a Sacred Deer ก็ยังคงแนวประหลาดเช่นเคยแต่ลดอารมณ์ขันลง และเพิ่มเติมความหนักให้กับเนื้อหามากขึ้น รอบนี้ไปหยิบเอาเทพนิยายปรัมปราของกรีกมาอ้างอิง เรื่องของพระเจ้าอะกาเมมนอนไปสังหารกวางตัวหนึ่งของเทพเจ้าอาร์เทมีส(เทวีแห่งการล่าสัตว์)เพื่ออวดอ้างความยะโส ทำให้อาร์เทมิสพิโรธ จึงสำแดงเดชให้คลื่นลมทะเลสงบ เทพเจ้าอะกาเมมนอนไม่สามารถนำทัพเรือออกไปค้นหากรุงทรอยได้ ทางเดียวคือพระเจ้าอะกาเมมนอนจะต้องสังหารพระนางอิฟิจีไนอาธิดาของพระองค์เองเพื่อการบูชายัญ อาร์เทมิสถึงจะยกโทษให้
จะว่าไป The Killing Of Sacred Deer เป็นหนังอีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการกล่าวถึงเนื้อหาของเรื่องให้มาก เอาสั้น ๆ แค่ว่า หมอสตีเวน เคยมีเคสผ่าตัดชายวัย 46 ที่เขาช่วยชีวิตไม่สำเร็จ สตีเวน รู้สึกผิดเลยชดเชยด้วยการตีสนิทกับมาร์ตินเด็กชายวัย 16 ลูกชายของเขา ด้วยการให้เงินใช้และซื้อนู่นนี่ให้ ความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากขึ้นเมื่อสตีเวนเริ่มพามาร์ตินไปทำความรู้จักกับครอบครัวเขา ที่มี แอนนา ภรรยา คิม ลูกสาววัย 14 และ บ็อบ ลูกชายวัย 10 ขวบ หนังเริ่มเรื่องแบบเรียบง่าย เล่าความสัมพันธ์ของสตีเวนและมาร์ตินที่สร้างความสงสัยให้คนดูในคราแรกแล้วค่อย ๆ เผยให้คนดูรู้จักความเกี่ยวข้องกันจากบทสนทนา ผ่านไปได้สัก 45 นาที หนังก็เริ่มเปลี่ยนโทนไปในแนวตึงเครียดทันทีเมื่อมาร์ตินเริ่มเปิดเผยตัวตนด้านมืดของเขา
บทภาพยนตร์ยังคงเป็นฝีมือการเขียนของยอร์กอสเองเช่นเคย ยังคงเอกลักษณ์เรื่องราวเหนือจริงหลุดโลก โดยไม่ต้องไม่มีคำอธิบายใด ๆ ถึงสาเหตุที่มาของเหตุการณ์เหล่านั้น ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อเกิดเรื่องราวอาเพศกับครอบครัวของหมอสตีเวน หนังก็ไม่แม้แต่จะพยายามอธิบายถึงสาเหตุ แต่เลือกที่จะลงลึกกับปฏิกิริยาตอบรับของสมาชิกในครอบครัวทั้ง 4 ที่ต่างกันไป ทั้งฟูมฟาย คลุ้มคลั่ง และลงเอยด้วยวิธีที่ชวนช็อคในฉากไคลแมกซ์ของหนัง ตลอดเรื่องเต็มไปด้วยรสชาติแปลกประหลาดที่สอดแทรกเข้ามาทำให้หนังสายรางวัลเรื่องนี้ดูน่าสนใจกว่าหนังในกลุ่มเดียวกัน ในขณะที่ภาพลักษณ์ของหนังในกลุ่มนี้มักจะโดนตัดสินเสียล่วงหน้าว่าน่าเบื่อ ดูยาก และขายได้ในกลุ่มผู้ชมเฉพาะทาง แต่ยอร์กอสก็เลือกที่จะมีไม้เด็ดที่เป็นเอกลัษณ์เฉพาะทำให้ผู้ชมเกาะติดไปกับหนังของเขาได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
The Killing Of Sacred Deer จึงเต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของยอร์กอสที่ดูแปลกในหลาย ๆ จุด
- มุกตลกประปรายที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ตลอดเรื่อง แต่เป็นมุกตลกที่มาบนความกระอักกระอ่วน ที่มนุษย์ปกติเขาไม่คุยกัน อย่างเช่นการเอ่ยปากขอดูขนรักแร้ บทสนทนาที่เกียวกับประจำเดือน
- ฉากอี๋แหยะที่ซัดกันตั้งแต่เปิดเรื่อง ด้วยการแช่ภาพหัวใจในช่องอกของผู้ป่วยในระหว่างผ่าตัด แช่นิ่งยาว ๆ หลายนาที เห็นหัวใจเต้นกระดุ๊บกระดุ๊บ ที่ต้องบอกกล่าวกันไว้ก่อนว่า ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมมันช่างเหมือนจริง เพราะยอร์กอสเอาภาพฟุตเตจจากเตียงผ่าตัดมาให้เราชมกันจริง ๆ ครับ ในหนังก็ยังมีฉากหวาดเสียวให้ชวนร้องยี้ หรือต้องเบินหน้าหนีกันอีกอยู่อีกฉาก สองฉาก
- ดนตรีประกอบ ที่ไม่แน่ใจว่าที่ได้ยินนั่นคือเสียงที่มาจากเครื่องดนตรีหรือไม่ เพราะมันประหลาดจนน่าจะเรียกว่า “เสียงประกอบ” มากกว่า และถูกนำมาใช้ถี่ ๆ ในครึ่งหลังกับทุกฉากที่สถานการณ์กำลังตึงเครียด ซึ่งไอ้เสียงนี้มันมีผลมากกับบรรยากาศหนังในฉากนั้น ๆ ฟังแล้วชวนให้เครียดมากขึ้นจริง ๆ
- ยอมรับว่ายอร์กอส โดดเด่นมากกับการเร่งเร้าตอกย้ำในแต่ละฉากตึงเครียดทั้งในดนตรีและงานภาพ การใช้มุมกล้องเพิ่มความรู้สึกกดดันอย่างในฉากที่บ็อบล้มลงขณะลงบันไดเลื่อน ก็ใช้ฉากมุมสูงตั้งฉาก แช่กล้องนิ่งให้ตัวละครทำหน้าที่ของตัวเองไป ดูแล้วรู้สึกถึงสถานการณ์ที่กำลังดิ่งลงเหวของครอบครัวนี้
- ฉากเซ็กส์ที่มาบ่อยครั้ง โชว์ให้เห็นรสนิยมเฉพาะทางของสตีเวนและแอนนา ส่งให้เห็นถึงนิสัยที่ชอบเป็นผู้ควบคุมของสตีเวน และเป็นอีกเรื่องที่นิโคล คิดแมน โชว์ร่างเปลือยให้เราดูกัน ก็ต้องชื่นชมนะครับว่าในวัย 50 ยังดูแลตัวเองได้ดี พอที่จะมาอวดโฉมบนหน้าจอได้แบบมั่นใจ หนังยังข้องแวะไปพูดถึงรสนิยมทางเพศของตัวละครอื่น ๆ อีก 2 ราย เห็นได้ว่ายอร์กอสอยากจะหยิบยกประเด็นเรื่องสันดานดิบของมนุษย์ในแต่ละสถานการณ์ออกมาพูดถึง มีทั้งผู้ที่เป็นฝ่ายเรียกร้องเซ็กส์ในการตอบแทนและผู้ที่เสนอตัวเพื่อเรียกร้องความสนใจจากอีกฝ่ายที่ตนสนใจ
ในรอบที่แล้วกับ The Lobster ได้โคลิน ฟาร์เรล มาเป็นดาราขายชื่อ แต่เมื่อหนังได้กระแสตอบรับดี ก็พลอยให้ชื่อของยอร์กอส เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลงานเรื่องถัดมาก็เลยได้นิโคล คิดแมน มาร่วมด้วยอีกคน และโคลิน ฟาร์เรล ก็ยังกลับมาร่วมงานอีกครั้ง และเป็นหนังเรื่องที่ 2 ในปีนี้ ที่โคลิน ฟาร์เรล กับ นิโคล คิดแมน ได้ร่วมงานกันในบทนำ ต่อจาก The Beguiled แต่จริง ๆ แล้วทั้งคู่แสดงในเรื่องนี้ด้วยกันก่อน พอปิดกล้องเรื่องนี้ก็ไปเจอกันต่อใน The Beguiled ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ถัดมา และหนังทั้ง 2 เรื่องนี้ก็ไปแข่งขันกันเองบนเวทีประกวดที่คานส์
โคลิน ฟาร์เรล ในเรื่องนี้มาในบทคุณหมอสูงวัยหนวดเครารุงรัง มาดสุขุมนิ่งดูผิดกับบทบาทที่ผ่าน ๆ มาของเขาพอควร บทของหมอสตีเวนเป็นหัวใจหลักของเรื่องในครึ่งแรกที่เป็นคนชักชวนมาร์ตินให้เข้ารู้จักกับครอบครัวของเขา และเมื่อวิกฤตการณ์เข้ามาในบ้าน แอนนาผู้เป็นแม่บทของนิโคล คิดแมน ก็แสดงให้เห็นถึงความนิ่งควบคุมสติได้ดีกว่า และครึ่งหลังก็เน้นหนักมาที่ตัวแอนนาในการแก้ไขสถานการณ์ของครอบครัว ทั้งนี้ก็มีมาร์ติน รับบทโดย แบร์รี่ โคแกน ดาราไอริชตาตี่จาก Dunkirk มาเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง แต่คนที่ชวนอึ้งสุดก็คืออลิเซีย ซิลเวอร์สโตน อดีตสาวใสในยุค 90s ที่ปรากฏตัวอีกครั้งในบทคุณแม่ของมาร์ติน ที่ชวนให้ปลงตกกับวันเวลาที่ช่างโหดร้ายเสียจริง
The Killing Of Sacred Deer เป็นหนังทางเลือกสายประกวด ที่ไม่ได้มีความชวนง่วงเหมือนอีกหลายเรื่องในแนวเดียวกัน แต่มาในรสชาติแปลกใหม่หลาย ๆ อย่างดังที่กล่าวมา บนพลอตที่เหนือจริงชวนให้ใช้สมองคิดตามขณะชม และทิ้งความหนักอึ้งไว้กับจิตใจในขณะที่เดินออกจากโรง เหมาะสำหรับผู้ชมที่อยากลิ้มลองความแปลกใหม่จากผู้กำกับที่กล้าคิดกล้าทำและได้รับการยอมรับในวงกว้าง