รีวิวนี้อาจยาวนิดเพราะอยากให้เห็นภาพรวมจุดอ่อนจุดแข็ง กับหนังเรื่องยิ่งใหญ่ความหวังใหม่แห่งพลพรรค DC ที่รวมเหล่าตัวเอกมาคับคั่ง ประหนึ่งอเวนเจอร์สของฝั่ง Marvel นั่นเลยครับ (ถ้ามีสปอยล์จะซ่อนในกล่องข้อความครับ)
เขาว่ายอดวีรบุรุษ/วีรสตรี ต้องมีอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่เสมอกันให้สร้างตำนานเล่าขาน เรื่องนี้ก็มีก้าวยากลำบากนามว่า ดราม่าในงานสร้าง มาให้ได้เป็นระยะ ๆ จนน่าเป็นห่วงคุณภาพหนังเลยทีเดียว แม้ว่าหนังจากวิสัยทัศน์ของ แซก ชไนเดอร์ ที่คุมทิศทางของเหล่าฮีโร่ให้ค่ายดีซี และวอร์เนอร์ มาถึงปัจจุบันจะสร้างเสียงทั้งชื่นชมและก่นด่าออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ก็ต้องยอมรับว่างานด้านภาพของชไนเดอร์นั้นโดดเด่นกว่าหนังฮีโร่จากอีกค่ายอยู่หลายช่วงตัว
รวมถึงแนวทางที่จะรักษาโทนมืดมนให้จักรวาลหนังก็เป็นอะไรที่ทำให้มันมีที่ยืนแตกต่างจากแนวการ์ตูนจ๋าวาไรตี้แบบอีกค่ายหนึ่งชัดเจนเช่นกัน แต่ในอีกทางหนึ่งนั้นการเล่าเรื่องที่กระท่อนกระแท่น รวมถึงบทที่มีวัตถุดิบปริมาณมากที่อยากให้นำมาใส่จนล้นเวลของหนังก็กลายเป็นตัวขัดขวางการเล่าเรื่องไปในตัวอีกด้วย แน่นอนว่าเหมือน เด็กเนิร์ดที่อยากเล่าเรื่องคอมมิคที่ชอบโดยไม่สนใจคนทั่วไปจะรู้เรื่องด้วยมั้ย
และอุปสรรคแรกของรวมทีมฮีโร่ดีซี ก็เกิดเมื่อชไนเดอร์มีปัญหาส่วนตัวจนประกาศถอนตัวจากหนังที่จะเรียกว่าเสร็จแล้วก็ว่าได้เหมือนกัน เปิดทางให้ จอส วีดอน ผู้เคยทำให้อเวนเจอร์สเป็นการรวมทีมฮีโร่ที่โคตรเจ๋งที่สุดของโลกภาพยนตร์มารับบทบาทต่อ แม้ทางค่ายจะพยายามพูดว่าไม่ได้มาจากประเด็นตัวหนังมีปัญหาและวีดอนจะมาสานต่อในแนวทางที่ชไนเดอร์สร้างไว้แน่นอน แต่ก็เลี่ยงยากเพราะคนต่างจับจ้องนินทาอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อหนังต้องทำการถ่ายเพิ่ม-ถ่ายซ่อมในหลายฉาก และที่สำคัญการปลด จังกี้ เอ็กแอล คนทำดนตรีคู่บุญของชไนเดอร์ออกแล้วนำ แดนนี่ เอลฟ์แมน คนทำดนตรีมือทองที่เคยร่วมงานกับวีดอนใน Avengers: Age of Ultron (2015) เข้ามาแทน ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าค่ายหนังพยายามรื้อหนังเดิมใหม่แบบเนียน ๆ หรือเปล่า
จากนั้นหนังยังมีดราม่าออกมาเรื่อย ๆ ทั้งประเด็น เบน แอฟเฟล็ก ที่น่าจะไปได้ไม่ค่อยดีกับค่ายวอร์เนอร์ รวมถึงก่อนหนังจะเข้าโรงก็มีข่าวลือถึงคะแนนรอบวิจารณ์ที่ไม่สู้ดีนัก และเมื่อคำวิจารณ์ชุดแรกออกมาก็เรียกว่าค่อนข้างก้ำกึ่งและค่อนเอียงไปทางไม่ชอบอยู่เยอะเหมือนกัน
แต่กับความเห็นส่วนตัวที่ไม่เคยชอบหนังค่ายดีซียุคหลังโนแลนเลยสักเรื่อง พอได้ดูเองก็คิดว่ากับคำถามอย่าง กลุ่มยอดฮีโร่กลุ่มนี้สามารถผ่านกำแพงหินที่ว่าหนังดีซีมักไม่สนุกได้มั้ย? คำตอบคิดว่านักวิจารณ์หลายสำนักใจร้ายกับตัวหนังมากไป และแม้จะไม่ได้สง่างาม แต่หนังก็ผ่านกำแพงนี้ได้สบาย ๆ ครับ
หนังมีจุดแข็งที่งานภาพที่ต้องยอมรับว่ามีความเป็นภาพยนตร์สูงมาก ทั้งมุมกล้อง การวางองค์ประกอบศิลป์ การจัดแสง นี่ยังรวมถึงการออกแบบการต่อสู้ที่ส่วนตัวให้ชนะฝั่งมาร์เวลนะ เพราะดูรุนแรงและเอาจริงเอาจังดูจะเจนในแนวแอคชั่นมากกว่า ซึ่งพัฒนาขึ้นจากหนังเรื่องเก่า ๆ อย่าง Man of Steel (2013) และ Batman v Superman: Dawn of Justice (2016) ที่แม้จะสวยจริงแต่ก็ยืดย้วยน่าเบื่อไปนิด มาในเรื่องนี้คิดว่ากำลังพอดี ๆ เลย พอฉากไม่ย้วยหนังเลยมีความยาวแค่ 2 ชั่วโมงได้ จากปกติหนังที่ผ่านมาจะอยู่ที่ราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ที่อาจนานเกินไปถ้าจะอัดความน่าเบื่อแบบ BVS มาอีก นับว่าดีที่รู้ตัวว่าเล่าเรื่องไม่สนุกได้แบบมาร์เวลก็อย่าไปฝืนเล่าให้เท่ากัน เน้นจุดที่ตัวเองเก่งพอ
ตัวเนื้อเรื่อง หลายคนบอกว่าเล่ากระชับเร็วไปมาก แต่หากมองในตัวเนื้อของมันจริง ๆ มันก็ไม่มีอะไรให้เล่าเยอะแยะอยู่แล้ว นี่ขนาดตัดแล้วตัดอีกจากตัวละครจำนวนมากและโลเกชั่นที่ต่างกันหลายเมืองแล้ว ก็ยังไม่พ้นมีฉากที่มันย้วยให้หาวอยู่เหมือนกันแต่น้อยลงกว่า BVS มากแล้วด้วย
หนังเล่าถึงการกลับมาของ สเตพเพนวูลฟ์ สิ่งมีชีวิตต่างดาวตัวร้ายที่หลายเผ่าพันธุ์บนโลกทั้ง อเมซอน แอตแลนติส และมนุษย์เคยร่วมมือกันขับไล่ไปเมื่อ 5,000 ปีก่อน โดยการทำลายกล่องพลังงานของสเตพเพรวูลฟ์จนแตกออกเป็น 3 ส่วน แล้วแบ่งกันเก็บรักษาไว้ใน 3 เผ่า (ฉากนี้นึกว่าดู The Lord of the Rings เลย 555) เพราะโลกได้ขาดเทพปกป้องอย่าง ซูเปอร์แมน ไปแล้วใน BVS ซึ่งการที่ แบทแมน กับ วันเดอร์วูแมน ล่วงรู้ถึงภัยร้ายใหม่นี้จึงได้ออกตามหาเหล่ายอดมนุษย์ในยุคปัจจุบันมาร่วมทีมกันต่อต้าน และทำให้ได้พบกับ เดอะแฟลช ที่เหมือนเด็กเกรียน อควาแมน ที่พยายามหลบสังคม และ ไซบอร์ก ที่เก็บตัวจิตตกกับร่างกายที่เขาเป็น
ส่วนที่น่าสนใจคือการสร้างตัวละครได้น่าสนใจดี แม้จะทำให้นึกถึงทีมอย่างอเวนเจอร์สอยู่บ้างแต่ก็ถือเป็นการหยิบยืมในทางที่ดี (ฉากที่เหล่าฮีโร่เถียงกันเองนี่มันอเวนเจอร์สแบบชัด ๆ เลย) แบทแมน มีปมในการเป็นหัวหน้าทีมที่ยังไม่ดีพอ และลึก ๆ เขารู้สึกผิดที่ทำให้โลกนี้ขาดซูเปอร์แมนไป (มีส่วนผสมของไอออนแมนกับกัปตันอเมริกา)
วันเดอร์วูแมน มีปมในเรื่องส่วนตัวกับการสูญเสียคนรักไปในอดีต (เทพก็ประมาณ ธอร์)
เดอะแฟลช มีปมเรื่องครอบครัวเมื่อพ่อของเขาถูกกล่าวหาว่าฆ่าแม่เขาเองและเขายังยึดติดกับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพ่อเขา (ความเกรียนความไม่มั่นใจในตัวเองประมาณ สไปเดอร์แมน ไม่แปลกเลยที่คนดูจะรักเขาสุด)
อควาแมน มีปมที่ถูกเผ่าแอตแลนติสทอดทิ้งให้เติบโตในครอบครัวมนุษย์จนเขาไม่อยากยุ่งกับสังคมโลกภายนอกหมู่บ้านที่เขาเกิด (มีความเป็นธอร์ที่ถูกขับจากแอสการ์ด)
และไซบอร์ก มีปมเรื่องร่างกายตัวเองที่ถูกดัดแปลงจากเทคโนโลยีต่างดาวเพื่อกู้ชีวิตจากอุบัติเหตุจนเขาคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนอีกแล้วและอาจเป็นอันตรายต่อโลกนี้ (มีความสามารถแบบ วิชั่น ที่มีปมแบบฮัลค์)
ส่วนที่เป็น จุดอ่อนของหนังอย่างจริงจัง คือ ซีจี กับงานซ่อมแก้หนังที่เห็นร่องรอยชัด จนทำให้คุณภาพงานสร้างหนังไม่เต็มร้อยนัก หลายฉากดูขัดเขินหลายฉากดูหลุด ๆ และหลายฉากที่ดูเผางาน แต่ถ้ามองภาพรวมของทั้งเรื่องมันไม่ได้ส่งผลจนหนังเป๋หนักอะไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าพวกมุกพวกจังหวะนั้นแป้กกว่าหนังมาร์เวลเยอะมาก หลายครั้งเรามองเราฟังแบบผ่าน ๆ ไม่คิดว่ามันต้องตลกจะรู้สึกดีกว่า เพราะจริง ๆ มุกเหมือนของแถมในความเป็นแอคชั่นมากกว่าที่จะเป็นองค์ประกอบจริงจังแบบในหนังมาร์เวล
สรุป อย่าไปตั้งความหวังสูง หนังสนุกแต่ก็มีแผลเยอะ มันคือหนังฮีโร่ที่ดูสนุกและถูกที่ถูกทางในแนวของตัวเอง และที่สำคัญช่วยแก้เลี่ยนความลั้นลาและเหลาะแหละจนเกินไปของหนังมาร์เวลอย่าง Thor: Ragnarok ได้อย่างดีเชียว