Play video

ชีวิตของ อาร์มาน (ดักลาส บูธ) ลูกชายนักเลงหัวไม้ของบุรุษไปรษณีย์กำลังจะเปลี่ยนไปจากภารกิจส่งจดหมายฉบับสุดท้ายของวินเซนต์ ฟาน กอห์ก ที่เจ้าตัวจำใจรับปากผู้เป็นพ่อที่ทำให้เขาต้องเดินทางสู่เมืองอาร์เลส์ (Arles) ที่ซึ่งเขาพบเงื่อนงำเบื้องหลังการตายของวินเซนต์จากผู้คนมากมายทั้ง หลุยส์ (เฮเลน แมคครอรี) แม่บ้านที่มองวินเซนต์ไม่ต่างจากปีศาจร้าย, เอดาไลน์ ราวูซ์ (อีเลนอ ทอมลินสัน) ลูกสาวเจ้าของโรงแรมที่ชื่นชมอัจฉริยะของวินเซนต์, มาเกอเรต กาเชต์ (เซียร์ชา โรแนน) ลูกสาวนายแพทย์ที่รักษาอาการของวินเซนต์ แต่บางทีคำตอบสุดท้ายที่จะไขปริศนาการตายคงหนีไม่พ้นปากคำของคุณหมอกาเชต์ (เจอโรม ฟลินน์) คุณหมอที่รักษาอาการของวินเซนต์และอยู่กับเขาจนวาระสุดท้าย



สานเรื่องราวจากภาพวาดของศิลปินนามอุโฆษ

ชีวิตของวินเซนต์ ฟาน กอห์ก ศิลปินชาวดัตช์ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปะแขนงต่างๆมากมายตั้งแต่การก่อกำเนิดลัทธิ เจอร์มันเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ วงการภาพยนตร์ที่นำภาพของท่านทั้งมาเป็นต้นแบบในการออกแบบภาพและนำชีวิตมาถ่ายทอด ไปจนถึงเพลงดังอย่าง Starry Starry Night ของ ดอน แมคลีน ที่ทุกคนรู้จักกันดี ดังนั้นความยากประการแรกของ Loving Vincent หาใช่เทคนิคการนำเสนอแต่คือการถ่ายทอดเรื่องราวที่คอศิลปะทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วมาถ่ายทอดให้แปลกใหม่และน่าประทับใจซึ่งจุดนี้ โดโรตา โคบีลา (ร่วมกำกับร่วมกับ ฮิวจ์ เวลช์แมน) ศิลปินสาวชาวโปแลนด์รู้ซึ้งดีจึงจับจุดจากจดหมายฉบับสุดท้ายที่วินเซนต์ ฟาน กอห์ก ตั้งใจส่งถึงน้องชายมาเป็นหัวใจของเรื่องและใช้ตัวละครจากภาพวาดอย่าง อาร์มาน รูแลง ลูกชายของ โจเซฟ รูแลง (คริส โอ ดาวด์) บุรุษไปรษณียที่มักปรากฏในภาพเขียนของวินเซนต์มาเป็นตัวละครนำ ซึ่งแม้ภาพของอาร์มานจะไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่าภาพของพ่อแต่ในแง่สัญญะแล้วถือเป็นการสร้างตัวละครที่ชาญฉลาดมาก

กล่าวคือการนำบุคคลที่เหมือนถูกลืมอย่างลูกชายบุรุษไปรษณีย์ที่ภาพของพ่อเขาดังกว่ามาเป็นตัวละครนำก็เหมือนการนำบุคคลที่โลกลืมมาเป็นสื่อกลางให้เรารู้จัก วินเซนต์ ฟาน กอห์ก ผ่านกลยุทธ์แบบหนังสืบสวนที่น่าตื่นตาตื่นใจจนทำให้เราได้รับรู้เรื่องราว ความคิด ชีวิตและการฟังฝ่าอุปสรรคของศิลปินเอกได้อย่างลึกซึ้ง และทีละน้อยที่วินเซนต์ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สร้างเป้าหมายให้นักเลงหัวไม้อย่าง อาร์มาน ไม่ต่างจากภาพเขียนของวินเซนต์ที่จรรโลงใจคอศิลปะมาหลายทศวรรษประกอบกับการนำเสนอผ่านภาพเขียนสีน้ำมันที่ใช้ศิลปินวาดและลงสีทุกเฟรมก็ยิ่งทำให้การชมอนิเมชั่นเรื่องนี้พิเศษกว่าทุกครั้งเพราะแต่ละเฟรมภาพเราจะได้เห็นร่องรอยการสโตรคภู่กันและแปรงจนแทบจะได้กลิ่นสีน้ำมันกันเลยทีเดียว


จากภาพนักแสดงที่ถูกถ่ายเป็นต้นฉบับทางซ้ายสู่การแปลงภาพด้วยเทคนิคสีน้ำมันตรงภาพกลาง เปรียบเทียบภาพวาดของวินเซนต์ ฟาน กอห์ก ด้านขวา


เบื้องหลังงานสร้างมหกรรมศิลปะเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์ 

Loving Vincent ถือเป็นอนิเมชั่นที่ไม่เหมือนใครตรงการผสมผสานเทคนิคทางภาพยนตร์เข้ากับศิลปะดั้งเดิมอย่างภาพวาดสีน้ำมัน โดยใช้เทคนิคโรโตสโคป (Rotoscope) โดยเริ่มจากถ่ายทำนักแสดงหน้ากรีนสกรีนแล้วพิมพ์เป็นภาพนิ่งทีละเฟรมเพื่อให้ศิลปินวาดภาพสีน้ำมันโดยแยกเลเยอร์ระหว่างตัวนักแสดงและฉาก ซึ่งด้วยความที่หนังต้องใช้ภาพสีน้ำมันถึง 66,960 ภาพ ทำให้ต้องใช้บริการจิตรกรถึง 80 คนจากทุกมุมโลกโดยมีงานเขียนชิ้นเอกของ วินเซนต์ ฟาน กอห์กถึง 94 ชิ้นเป็นต้นแบบจึงกล่าวได้ว่านี่คืองานบูชาครูอย่างฟาน กอห์กอย่างแท้จริง และผลลัพธ์ก็ไม่ทำให้สาวกของอัครศิลปินท่านนี้ต้องผิดหวังเพราะภาพวาดดังๆของท่านได้ถูกถ่ายทอดอย่างละเอียดละออตั้งแต่งานวาดภาพบุคคลหรือพอร์ตเทรต (Portrait) ที่กลายเป็นตัวละครเอกอย่างภาพ Young man with a cap (1888) ที่เป็นภาพตัวเองอย่าง อาร์มาน รูแลง ตัวเอกของเรื่อง, Marguerite Gahet at the Piano (1890) ภาพวาดของมากาเรต กาเชต์ รวมถึงงานชิ้นเอกที่คอศิลปะรู้จักกันดีอย่าง Portrait of Dr. Gachet (1890) ที่เป็นภาพวาดคุณหมอกาเชต์ และ Old Man With His Head In His Hands (1890) ที่ในหนังนำมาอุปโลกต์เป็นภาพนำเสนอตัวละครอย่างคุณหมอมาเซอรี่(บิล โธมัส) ตัวละครที่ถูกเขียนเพิ่มขึ้นใหม่ ตลอดจนภาพวาดแจกันดอกไม้และสิ่งของมากมายก็ถูกนำเสนอในฉากประหนึ่งสารลับหรืออีสเตอร์เอ๊ก (Easter Egg)ที่คอยเช็คความเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผู้ชมและที่ขาดไม่ได้คือภาพวาดทิวทัศน์ดังๆอย่าง The Fields (1890) ทุ่งรวงทองที่วินเซนต์ตัดสินใจปลิดชีพตนเอง และ Landscape with a Carriage and a Train (1890) ภาพคันนาที่มีรถไฟวิ่งอยู่ด้านหลังอันงดงามและเปี่ยมมิติ และที่ขาดไม่ได้คือ The Starry Night (1889) ภาพชิ้นเอกที่ใครๆก็ประทับใจก็ถูกนำมานำเสนอเป็นฉากเปิดเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ

รวมผลงานภาพวาดของ วินเซนต์ ฟาน กอห์ก


เบื้องหลังการถ่ายทำแบบโรโตสโคป

เซียร์ชา โรแนน ในบทมาร์เกอเรต กาเชต์ ถุกถ่ายทำหน้าฉากกรีนสกรีน

อีกภาพการถ่ายทำ เอเลนอ ทอมลินสัน และ โรเบิร์ต กูแลคซิค ในบท เอเดไลน์ ราวูซ์ และ วิินเซนต์ ฟาน กอห์ก หน้ากรีนสกรีน

ศิลปินวาดหน้าและลงสีภาพวาดนักแสดงจากภาพนิ่งที่พิมพ์มาจากถ่ายทำในขั้นตอนแรก

Play video

 


ท่วงทำนองสอดประสานเส้นสายและฝีแปรงได้อย่างลึกซึ้ง

       นอกจากเรื่องราวและเทคนิคการนำเสนออนิเมชั่นด้วยภาพวาดสีน้ำมันที่ทำให้เห็นถึงแรงศรัทธาต่อศิลปินอย่าง วินเซนต์ ฟาน กอห์ก แล้วหนังยังได้ คลินต์ แมนเซล ที่ถนัดงานหนังถ่ายทอดจิตใจอันบิดเบี้ยวตัวละครจาก Requiem for a dream (2000) และ Black Swan (2010) มาประพันธ์ดนตรีประกอบที่ทำให้คนดูเข้าใจและเข้าถึงชีวิตศิลปินผู้โดดเดี่ยวที่ต้องเผชิญวิบากกรรมทั้งอาการป่วยทางจิต การถูกขับไล่ และการจากไปท่ามกลางข้อครหาต่างๆได้อย่างเข้าถึงอารมณ์รวมถึงสามารถแบ่งอารมณ์ของตัวละครที่รู้จักวินเซนต์ในมุมมองที่แตกต่างกันได้อย่างคมคายและลึกซึ้งผ่านดนตรีสังเคราะห์ผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองของดัตช์ได้อย่างลงตัว และแน่นอนว่าเพลงเด่นอย่าง Starry Starry Night เพลงเก่าของ ดอน แมคลีน ก็ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านเสียงเศร้าของ ลีแอน ลา ฮาวาส ได้อย่างละมุนละไมและบาดลึกถึงขั้วหัวใจจริงๆ

Play video

คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า Loving Vincent คือปรากฏการณ์ที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นกับทั้งวงการภาพยนตร์และศิลปะ การได้เห็นภาพเขียนสีน้ำมันมีชีวิตด้วยวิธีการที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะดั้งเดิมไม่เพียงให้ผลทางด้านความตื่นตาตื่นใจเท่านั้นแต่มันยังเป็นช่องทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราเห็นคุณค่าของงานศิลปะที่คนไทยมักละเลยเพราะเห็นเป็นของสวยงามของชนชั้นสูง แท้ที่จริงแล้วการได้ยลโฉมภาพเขียนสักภาพด้วยมุมมองของมนุษย์ที่ต้องการเสพความงามก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือที่จะช่วยจรรโลงจิตใจและขัดเกลาให้มนุษย์คนหนึ่งเห็นถึงคุณค่าของชีวิต แม้จะต้องเผชิญวิบากกรรมไม่ต่างจากศิลปินอย่าง วินเซนต์ ฟาน กอห์ก ก็ตาม

ภาพเปรียบเทียบระหว่างการนำฉากหลังที่เป็นภาพวาดทิวทัศน์ของวินเซนต์ ฟาน กอห์ก มาทับกรีนสกรีน และหลังนำภาพวาด โรโตสโคปของนักแสดงมาซ้อนทับจนเสร็จสมบูรณ์

Loving Vincent ภาพสุดท้ายของแวนโก๊ะ ฉาย 21 ธันวาคม 2560