Play video

ดีกรีความน่าดูของ The Square มาพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณอย่างน้อย 2 เวที เริ่มจากสถานะผู้ครองรางวัลปาล์มทองคำ รางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 70 และผลสืบเนื่องก็ได้กลายเป็นตัวแทนเกียรติยศของประเทศสวีเดนเพื่อเข้าชิงชัยในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์หรืออะคาเดมี อวอร์ดในปีนี้ แต่พ้นจากโลโก้รางวัลและกิตติกรรมประกาศทั้งหลายสิ่งเดียวที่จะดึงดูดคอหนังบ้านเราได้เห็นจะเป็นสถานะหนังตลกที่มาพร้อมตัวอย่างหนังฮาๆข้างต้น แต่เอาเข้าจริงตัวหนังกลับมีลีลาตลกเสียดสีในแบบที่อาจต้องอาศัยประสบการณ์ร่วมและต้องรสนิยมในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมของผู้ชมจึงจะสามารถสนุกไปกับหนังได้



ว่ากันตามตรง เรื่องราวของ The Square ไม่อาจเขียนบอกเล่าได้เหมือนหนังปกติที่มีโครงเรื่องชัดเจน แต่เราอาจสรุปได้ว่ามันคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ ภัณฑรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ Royal – X นาม คริสเตียน  (เคลส แบงก์)  ที่ต้องพัวพันกับเรื่องวายป่วงมากมายหลังการมาถึงของ The Square งานศิลปะที่ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าหลอดไฟที่ถูกวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่พื้นพร้อมป้ายข้อความระบุว่า “จัตุรัสนี้คืออาศรมของความเชื่อมั่นและเกื้อกูล เราต่างเท่าเทียมกันด้วยสิทธิและหน้าที่” โดยเหตุการณ์ต่างๆจะสัมพันธ์กับแนวคิดของงานศิลปะดังกล่าว และในขณะเดียวกันมันก็จะสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมและทำให้เห็นว่าหากมองอีกด้าน วงการศิลปะก็คือธุรกิจที่เต็มไปด้วยความโลภ และพยายามขายแนวคิดกลวงๆให้คนชั้นสูงเข้าไปอวดฉลาดและเบ่งบารมีในอาคารหรูหรา โดยมีเหตุการณ์ย่อยที่น่าสนใจดังนี้

เหตุการณ์แรกนี้ตัวผู้กำกับ รูเบน ออสลันด์ ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง โดยให้คริสเตียนเป็นตัวแทนของเขาที่ถูกล้วงกระเป๋าในที่ชุมชนจากแผนอันแยบยลของขโมยที่ให้ผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนขอความช่วยเหลือแล้วเข้ามาประชิดตัวล้วงกระเป๋า แต่ในส่วนนี้เองที่ออสลันด์เติมแต่งเรื่องราวไปสู่การเขียนจดหมายขู่และกระจายส่งไปยังทุกห้องในแฟลตของคนจนเพื่อหวังได้ของคืน จนกระทั่งคริสเตียนได้พบกับเด็กชายที่ต้องการให้เขาขอโทษครอบครัวและยืนยันว่าตัวเด็กไม่ใช่ขโมยมิฉะนั้นเขาจะนำพาความยุ่งเหยิงมาสู่คริสเตียน ซึ่งออสลันด์ ใช้เรื่องราวส่วนนี้วิพากษ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมประเทศสวีเดนของตัวเองได้อย่างเจ็บแสบ

และทีละน้อยเมื่อนำไปพิจารณากับสัญญะที่หนังพยายามใส่เข้ามานั่นคือ ‘ขอทาน’ ซึ่งปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆที่ คริสเตียนเดินทางไปเสมอทั้งจัตุรัส สถานีรถไฟ และห้างสรรพสินค้า ไม่เพียงเท่านั้นตัวขอทานนี้ยังถูกนำไปต่อยอดกลายเป็นไวรัลคลิปสุดอื้อฉาวเพื่อโปรโมตผลงาน The Square ที่ได้รับความนิยมและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเกรียวกราวจนชีวิตของคริสเตียนเริ่มสั่นคลอน ซึ่งการใส่ ขอทาน เข้ามาในเรื่องเราจะเห็นความแยบยลในการซ่อน สารที่หนังต้องการสื่อนั่นคือ “ความช่วยเหลือ” เพราะตลอดเวลาภาพ ขอทาน ที่ปรากฏในหนังคือกลุ่มคนที่สังคมหลงลืม ไม่มีใครสนใจหยิบยื่นความช่วยเหลือ แต่พอนำขอทานไปเล่นในสื่อแล้วมีภาพโหดร้ายทารุณ สังคมก็พร้อมจะประณามคนสร้างงานซึ่งในที่นี้ทางคริสเตียนต้องรับผิดชอบในการตอบคำถามสื่อ ซึ่งสุดท้ายเขาก็เจอทางตันเมื่อฝ่ายหนึ่งไม่พอใจที่เสนอภาพขอทานเด็กผมบลอนด์ถูกระเบิด กับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหากคนสร้างงานเซ็นเซอร์ตัวเอง และไปๆมาๆก็ไม่ใช่เพียงแค่วงการศิลปะเท่านั้นแต่ออสลันด์กำลังวิพากษ์วิจารณ์สื่อโซเชียลมีเดียที่มาพร้อมกับความโลภของผู้จ้างวานและความไร้จรรยาบรรณของผู้ผลิตสื่อเองได้อย่างคมคาย



กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าการที่ ออสลันด์เองก็ไม่ได้หยุดแค่การวิพากษ์วิจารณ์วงการศิลปะและสื่อเท่านั้นแต่ยังนำเหตุการณ์ประหลาดๆจากข่าวจริงทั้งเรื่องผู้ป่วยทางจิตตะโกนด่านักข่าว หรือการนำชื่อศิลปินที่เคยเลียนแบบสุนัขและกัดคนจริงในสต็อกโฮล์มมาบอกเล่าใหม่ให้กลายเป็นคนเลียนแบบลิงก็กลายเป็นส่วนเกินที่ทำให้หนังเสียเวลานานกว่าจะพูดประเด็นสำคัญของเรื่อง ทั้งที่จริงตัวหนังเองก็มีหลายฉากย่อยที่แสดงให้เห็นการเสียดสีทั้งความไร้สาระของศิลปะและความเสแสร้งของคนทำงานด้านศิลปะอยู่แล้ว ดังนั้นฉากเสริมทั้งหลายเลยกลายเป็นการทำให้หนังยาวถึง 151 นาทีซึ่งนานเกินความจำเป็นและมีช่วงน่าเบื่อไปอย่างน่าเสียดาย



แต่ในทางกลับกัน ผมกลับชอบซับพลอตว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงระหว่างคริสเตียน กับ แอน (เอลิซาเบธ มอสส์) นักข่าวสาวชาวอเมริกันที่หวังจะสานสัมพันธ์ระยะยาวกับเขาหลังมีเซ็กส์แบบวันไนต์สแตนด์  แม้เรื่องราวในส่วนนี้จะใส่เรื่องการวิพากษ์แนวคิดเฟมินิสต์ได้เบาบางและไม่น่าเชื่อถือแต่กลับทำให้เห็นความสามารถของ เอลิซาเบธ มอสส์ (เพิ่งครองรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิงในซีรีส์ประเภทดราม่า)ที่สามารถทำให้ตัวละคร แอน มีทั้งความเซ็กซี่และวายป่วงได้อย่างมีเสน่ห์และเป็นเหมือนโอเอซิสท่ามกลางมุกเสียดสีและประเด็นสังคมหนักๆที่ทำให้โทนหนังดูมืดทึมและแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี

โดยภาพรวมแล้ว   The Square ถือเป็นหนังรางวัลที่เรียกร้องความอดทนจากผู้ชมมากพอสมควรทั้งความยาวของหนังและเนื้อหามากมายที่หนังพยายามวิพากษ์วิจารณ์สังคมซึ่งต้องแล้วแต่รสนิยมของผู้ชมแต่ไม่น่าเหมาะสำหรับผู้ชมที่หวังความบันเทิงจากหนังสักเรื่องแน่ๆ