Play video

กล่าวอย่างรวบรัดตัดตอน เนื้อเรื่องของ Wonderstruck จากนิยายของ ไบรอัน เซลซ์นิก (Brian Selznick )เสมือนบทบันทึกยุคสมัยสองเวลาอันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านคือปี 1927 อันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบไปสู่ยุดหนังเสียง อันส่งผลต่อ โรส (มิลลิเซนต์ ซิมมอนส์) สาวน้อยหูพิการแต่กำเนิด ผู้ผูกพันกับหนังเงียบเพราะดาราชื่อดัง  ลิเลียน เมย์ฮิว (จูลี่แอน มัวร์) จนหนีออกจากบ้านไปยังนิวยอร์คเพื่อตามหาเธอ  และปี 1977 ที่วิวัฒนาการด้านความรู้กำลังพลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญทั้งจากการสำรวจอวกาศและผลพวงจากสงครามเวียตนามส่งผลต่อวัฒนธรรมพ็อพมากมาย แต่กระนั้นสิ่งที่ เบน (โอ๊คส์  เฟ็กลีย์) หนุ่มน้อยผู้เคราะห์ร้ายถูกฟ้าผ่าจนสูญเสียการได้ยิน กำลังตามหาคือคำตอบว่าใครเป็นพ่อของเขาและจุดหมายปลายทางก็คือ นิวยอร์ค ที่เดียวกับ โรส แม้ต่างเวลาถึง 50 ปีแต่สายสัมพันธ์อันลึกลับบางอย่างกำลังผูกทั้งสองเข้าด้วยกัน



หากพิจารณาจากโครงเรื่องจะเห็นว่าตัวหนังถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนชัดเจน คือภารกิจของโรสในการตามหาแม่ และ ภารกิจตามหาพ่อของเบน แต่กระนั้นตัวหนังเองก็ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาเล่าการผจญภัยในเมืองใหญ่ของเด็กน้อยๆทั้งสองเป็นหลัก เนื่องจาก ไบรอัน เซลซ์นิก คนแต่งนิยายที่มาเขียนบทหนังได้พาเราเดินทอดน่องซึมซับกับบรรยากาศของยุคสมัยไปด้วยเลยทำให้งานโปรดักชั่นดีไซน์หรือการออกแบบงานสร้างของหนังโดดเด่นและถูกถ่ายทอดอย่างละเอียดละออจนหลายครั้งก็ทำให้เรื่องราวแทบจะไม่คืบหน้าไปไหนเลย ซึ่งอาจทำให้คนดูต้องใช้ความอดทนกับหนังมากเป็นพิเศษ



โดยในปี 1927 เราจะเห็นบรรยากาศของร้านหนังสือที่นิตยสารต่างๆมีรูปดารายุคหนังเงียบและโรงหนังที่ฉายหนังเงียบไปพร้อมคนเล่นเปียโนสร้างบรรยากาศแทนเสียง แล้วมาผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ทอดด์ เฮย์น ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศของหนังสามารถเก็บอารมณ์ร่วมของยุคสมัยได้แบบทุกเม็ดตั้งแต่การดีไซน์เสียงในเรื่องส่วนนี้ให้เหมือนหนังเงียบที่มีแต่เพลงบรรเลงควบคู่ไปกับภาพขาวดำ (แถมถ่ายด้วยฟิล์มนะ) ทำให้บรรยากาศกลิ่นอายวันวานของหนังเงียบในนิยายของเซลส์นิก เด่นชัดจนแทบดึงคนดูไปสัมผัสบรรยากาศสุดคลาสสิกได้ทุกอณู  แถมยังสามารถถ่ายทอดให้เห็นความแปลกแยกของ โรส เด็กสาวที่เป็นใบ้มาแต่กำเนิดได้อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งหัวใจของเรื่องในส่วนนี้ก็หนีไม่พ้น มิลลิเซนต์ ซิมมอนส์ สาวน้อยผู้พิการทางการได้ยินตัวจริงที่สามารถสื่อสารอารมณ์ตัวละครออกมาได้อย่างหมดจดงดงาม ส่วน จูลี่แอนน์ มัวร์ ก็สามารถสวมบทดารายุคหนังเงียบได้อย่างแนบเนียนถึงหนังจะให้เวลาเธอน้อยมากก็ตาม แต่น่าเสียดายที่เรื่องราวในส่วนนี้ดูเบาหวิวและอยู่ดีๆก็หายไปแบบแทบไม่ทิ้งบทสรุปให้ตามต่อจนคนดูแอบงงว่าเอ๊ะ แล้วยังไงต่อกันทั้งโรงก็เถอะนะ (ฮ่าาาาา)



ส่วนเรื่องราวที่ถือเป็นส่วนหลักของเรื่องคือปี 1977 น่าจะเป็นส่วนที่แสดงตัวตนของ ทอดด์ เฮย์น ผู้กำกับของเรื่องที่สุด เพราะนอกจากเพลง Space Oddity ของ เดวิด โบวี่ ที่ใช้ถ่ายทอดความแปลกแยกของตัวละครแล้วยังมีทั้งแฟชั่นและสีสันของยุคสมัยที่เรียกได้ว่าเป็นด้านตรงข้ามของสีขาวดำในยุค 1927 โดยสิ้นเชิง งานนี้ทั้งเสื้อผ้า ฉากหลัง การคุมบรรยากาศต่างๆหนังทำออกมาประหนึ่งตัวเองเป็นสารานุกรมงานสร้างนิวยอร์คยุค 70 ที่สมบูรณ์แบบจนน่าจะเป็นข้อมูลอ้างอิงให้หนังเรื่องอื่นได้เลย

โดยเราจะได้ติดตาม เบน เด็กหนุ่มกำพร้าที่ประสบอุบัติเหตุจนตนเองหูหนวกไปตามหาพ่อถึงนิวยอร์ค ได้สัมผัสบรรยากาศของผู้คนตามท้องถนนไปจนถึงพิพิธพันธ์ที่เป็นจุดพลิกผันของเรื่องราวสำคัญ และด้วยความที่เรื่องราวในส่วนนี้กินเวลากว่า 60% ของหนังทำให้มันถ่ายทอดบรรยากาศของยุคสมัยทั้งเพลง แฟชั่น และฉากหลังของนิวยอร์คอย่างเต็มที่จนแทบจะออกทะเลไปไกล เพราะกว่าหนังจะกลับมาสรุปประเด็นที่มันเปิดไว้ตอนต้นเรื่องก็ปาไป 15 นาทีสุดท้าย แต่หากใครสามารถอดทนจนถึงบทสรุป รับรองเลยว่างานสร้างที่ใช้เทคนิคสต็อปโมชั่นมาบอกเล่าความเป็นมาและสายสัมพันธ์ของเด็กสองคนในเรื่องทำได้เก๋ไก๋มากเลยทีเดียว

ส่วนเจ้าหนู โอ๊คส์ เฟ็กลี่ย์ ก็แบกรับเรื่องราวในส่วนนี้ได้อย่างไม่บกพร่องในหน้าที่ เราจะสัมผัสได้ทั้งความเจ็บปวด ความหวัง และรอยยิ้มเปื้อนน้ำตาที่เจ้าหนูส่งมาได้ทุกชั่วขณะที่เขาปรากฏบนจอ ส่วนบทของจูลี่แอนน์ มัวร์ นั้นเราไม่สามารถเปิดเผยหรือรีวิวอะไรได้นะครับเพราะเปิดเผยแม้แต่ชื่อตัวละครก็กลายเป็นการสปอยล์แล้วล่ะ (ซอรี่น้า)

กล่าวโดยสรุปแล้ว หากคุณคิดว่า Wonderstruck คือหนังไซไฟแฟนตาซีมีการย้อนเวลานู่นนี่นั่นก็ขอให้ข้ามโปรแกรมนี้ไปซะ แต่หากอยากปล่อยใจไปกับภาพสวยๆ เพลงประกอบเพราะๆพร้อมดูการแสดงจากเด็กๆที่ทำให้เราอิ่มเอมและใจสลายแล้วล่ะก็ Wonderstruck คือหนังของคุณครับ