หากเปรียบกับคู่แข่งบนเวทีออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว Phantom Thread ดูจะเป็นวางตัวเองเป็นผู้ดีทำตัวไม่เอิกเกริก พูดจาจีบปากจีบคอ ทว่าไม่อาจซ่อนรัศมีความโดดเด่นของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งองค์ทรงเครื่อง ชื่อชั้นผู้กำกับ นักแสดงและทีมงาน แถมอลังการด้วยเพลงเปิดตัวเรียบหรูแต่ลูกเล่นแพรวพราวดั่งแฟชั่นโชว์ชุดฟินนาเล่ที่ผู้ชมไม่อาจวางตา ทั้งที่ตัวเองแทบไม่ได้ทำตัวเรียกร้องความสนใจเท่าหนังเรื่องอื่นๆด้วยซ้ำ
โดยโลกใน Phantom Thread แทบไม่หลุดวงโคจรของ เรย์โนลด์ วู๊ดคอก (แดเนียล เดย์ ลูอิส) ช่างผู้รังสรรค์อาภรณ์หญิงชั้นสูงแห่งลอนดอน จากชีวิตที่เคยมีเพียงแม่ผู้ล่วงลับและ ซีริล (เลสลีย์ แมนวิลล์) พี่สาวที่เป็นทั้งผู้จัดการธุรกิจและเป็นดั่งผู้ปกครองแห่ง เฮาส์ออฟวู๊ดคอก แต่หลังการก้าวเข้ามาของ อัลม่า (วิคกี้ ครีปส์) บริกรสาวผู้เข้ามาเขย่าโลกทั้งใบของ เรย์โนลด์ ด้วยความไร้เดียงสาแฝงสันดานขบถจนชีวิตที่พิถีพิถันระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ของเขาแทบไม่ต่างจากเสื้อผ้าที่ถูกรื้อแพทเทิร์นใหม่ ทว่าตะเข็บความเจ็บปวดในอดีตอาจทำให้ความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่ราบรื่นนัก
โดยเนื้อผ้าแล้ว Phantom Thread หาใช่หนังที่เรานิยามได้ดั่งเสื้อผ้าโหลว่ามันจะเป็นหนังคนสู้ชีวิต หนังรัก หรือหนังระทึกขวัญ เพราะท้ายที่สุดการตัดเย็บของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เองก็แทบไม่ต่างจากรื้อแพทเทิร์นเดิมๆของการเขียนบทหนังทั้งการปฏิเสธการเซ็ตอัพตัวละครในองก์หนึ่ง ไปเผชิญอุปสรรคในองก์สอง ปิดท้ายบทสรุปที่องก์สาม เพราะเอาเข้าจริงการท่องโลกของ Phantom Thread แทบไม่ต่างจากการเดินด้ายเสื้อผ้าระดับ โอต์ กูตูร์ (Haute Couture) ที่ทั้งพิศวงและน่าหลงใหลไปน่าตัว แม้หนังจะแทบไม่มีการ ‘หยิก’ คนดูด้วยสถานการณ์หรือจุดขัดแย้งแรงๆ แต่คนดูก็ไม่อาจวางตาหรือเอาใจออกห่างตัวละครหลักอันซับซ้อนด้วยปมจิตวิทยา แถมยังถักทอความสัมพันธ์ที่ทั้งหวานชื่นและเจ็บลึกสุดคาดเดา เป็นงานกำกับ-เขียนบท ของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่ทั้งแตกต่างเป็นเอกลักษณ์และเปิดประสบการณ์ผู้ชมให้กว้างไกล ฉายภาพแฟชั่นว่ามิได้มีเหลี่ยมมุมเพียงสวยงาม แต่ยังแฝงเร้นความเจ็บปวด ความริษยา การเรียกร้องที่ไม่เคยพอของมนุษย์ที่ถูกหย่อนไว้ใต้โครงเสื้อตามสันดานของแฟชั่น ดีไซน์เนอร์ที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบในเรื่องก็มิปาน
อีกสัมผัสสุดพิษวงที่คนดูแทบไม่เชื่อคือการทำให้ตัวละครอย่าง เรย์โนลด์ วู๊ดคอก แฟชั่นดีไซน์เนอร์ที่ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน อุปโลกน์ผ่านลมหายใจของ แดเนียล เดย์ ลิวอิส ยอดนักแสดงผู้ขอหักอกพวกเราด้วยการมอบปัจฉิมบทของยอดฝีมือเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ศิลปินผู้ถูกความรักเล่นงานจนไม่อาจหาสมดุลชีวิตที่คุ้นเคยได้อย่างหมดจดทั้งการจัดวางร่างกายเพื่อสื่อถึงคนที่ทำงานหนักสอดเข็มสนด้ายมาทั้งชีวิต การไล่อารมณ์หนักเบาแบบปราศจากความเสแสร้ง และดวงตาที่สื่อจิตวิญญาณทุกอย่างของตัวละครที่คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่าหากเป็นการอำลาเวที นี่ก็คือโชว์ที่ดีที่สุดของเขาจริงๆ และน่าจะทำให้สาขานักแสดงนำชายบนเวทีออสการ์ปีนี้ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบให้บทนายกอังกฤษของ แกรี่ โอลด์แมน อย่างที่หลายสำนักคาดเดาแน่ๆ
แต่อาภรณ์ที่ดีแม้ผ่านมือบุรุษแต่ความงดงามสมบูรณ์แบบจะขาดสตรีมิได้แน่นอน และ Phantom Thread ก็สร้างตัวละครหญิงที่มีพลังทำลายล้างสูงทั้งคู่ โดยเฉพาะบทคนรักอย่าง อัลม่า ของ วิคกี้ ครีปส์ และบท ซีรีล ของเลสลีย์ แมนวิลล์ สองสตรีผู้อยู่เบื้องหลังชีวิต ความสำเร็จและเจ็บปวดของชายชื่อ เรย์โนลด์ วู๊ดคอก เริ่มจากผู้เข้าชิงออสการ์อย่าง เลสลีย์ แมนวิลล์ นั้นเธอทำให้ความนิ่งงัน และน้ำเสียงทุ่มต่ำราบเรียบของ ซีรีล ทรงพลังแผ่อิทธิพลต่อทุกคนรอบข้างได้เอย่างน่าเชื่อถือตั้งแต่ฉากเล็กๆน้อยๆอย่างการสั่งงานลูกน้องให้แก้ชุดของเจ้าหญิงผู้ศักดิ์ศักดิ์ ไปจนถึงการปราบพยศของ เรย์โนลด์ ในฐานะพี่สาวผู้เป็นเหมือนโลกทั้งใบของเขา ส่วน วิคกี้ ครีปส์ แม้ชื่อของเธอยังไปไม่ถึงออสการ์แต่อย่าประมาทละเลยการแสดงที่นิ่งแต่ลึกสงบปากแต่พร้อมซุ่มจู่โจมของเธอ เพราะบท อัลม่า คือไฮไลต์ของเรื่องราวอย่างแท้จริง ทั้งพัฒนาการจากสาวเสิร์ฟแดนกันดาลก้าวสู่โลกอันดุเดือดแห่ง ‘กูตูร์’ ที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับดาวพระศุกร์หรือนางซินเดอเรลลาแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม..อัลม่าคือตัวละครที่พร้อมไหลลื่นไปตามคนรักอย่างเรย์โนลด์และยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้เขามาครอบครองที่ทั้งน่าเห็นใจในเปลือกนอกและไม่น่าไว้วางใจเมื่อเรื่องราวพัฒนาไปจนถึงจุดแตกหักของเรื่องราว
องค์ประกอบงานสร้างระดับเข้าชิงออสการ์ก็ไม่อาจละเลยได้ จนต้องขอถือวิสาสะคาดเดาผลออสการ์ไว้เลยล่วงหน้าว่าสาขาเครื่องแต่งกายไม่อาจยกให้ใครได้นอกจาก Phantom Thread จริงๆ ไม่เพียงความอุตสาหะของ มาร์ค บริดเจส ในการหาข้อมูลเครื่องแต่งกายในยุค 50 เท่านั้นแต่ยังรังสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ที่ทั้งสามารถบ่งบอกยุคสมัย และพูดแทนความรู้สึกไปจนถึงถักทออารมณ์ของเรื่องราวได้อย่างโดดเด่นเปี่ยมสุนทรียะ ส่วนงานประพันธ์สกอร์ของ จอนนี กรีนวูด แห่งวงเรดิโอเฮด สหายร่วมอุดมการณ์ด้านเสียงเพลงของผู้กำกับแอนเดอร์สัน ก็ช่วยส่งเสริมทั้งสุนทรียะด้านภาพและโดดเด่นพอในแง่ถ่ายทอดบุคลิกและอารมณ์ของสถานการณ์ได้อย่างสร้างสรรค์และไม่เหมือนใคร เรียกได้ว่าสมศักดิ์ศรีในทุกสาขาที่เข้าชิงจริงๆ
โดยรูปทรงแล้ว Phantom Thread ถือเป็นหนังของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ ชวนพิศวงแต่บันเทิงได้อย่างไร้ตำหนิ ทั้งการประชันบทบาทของยอดฝีมืออย่างแดเนียล เดย์ ลิวอิส, เลสลีย์ แมนวิลล์ และวิคกี้ ครีปส์ ที่มาปล่อยพลังกันจนเฮาส์ออฟวู๊ดคอกแทบลุกเป็นไฟ เสริมด้วยงานออกแบบเสื้อผ้าและดนตรีประกอบที่ทั้งเสริมส่งเรื่องราวและเปี่ยมสุนทรียะ เท่านี้คอหนังรางวัลและผู้กระหายการเสพย์ศิลปะจากภาพยนตร์ก็ไม่ควรปล่อยผ่านด้วยประการทังปวง
สาขาที่ Phantom Thread ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- ผู้กำกับยอดเยี่ยม พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson)
- นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม แดเนียล เดย์ ลิวอิส (Daniel Day –Lewis)
- นักแสดงสมบทหญิงยอดเยี่ยม เลสลีย์ แมนวิลล์ (Lesley Manville)
- ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม มาร์ค บริดเจส (Mark Bridges)
- ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม จอนนี กรีนวูด (Jonny Greenwood)