Play video

ไม่ว่าคุณจะรู้จัก ‘เป็นเอก’ ในฐานะผู้กำกับสุดติสต์ หนังดูยาก ได้แต่รางวัล หนังขาดทุนทุกเรื่อง (โห…กล่าวมาเหมือนไม่มีอะไรดีเลย ฮ่าาา) แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการเป็นนักเล่าเรื่องที่ช่ำชองในการหยิบจับสิ่งละอัน พันละน้อยโดยเฉพาะสังคมไทยมาบอกเล่าได้อย่างเจ็บแสบและเปี่ยมอารมณ์ขัน และกับ ไม่มีสมุยสำหรับเธอ หรือ Samui Song เรื่องนี้ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นไทยในสายตาเป็นเอกที่ทั้ง ‘เหวอแตก’ และเจ็บจุกจนเราพร้อมจะเชื่อกับทิศทางที่หนังนำพาไปแม้จะเป็นพื้นที่ที่ผู้ชมคุ้นตาแต่กลับไม่สนิทใจก็ตาม



ไม่มีสมุยสำหรับเธอ บอกเล่าเรื่องราวผ่าน วิยะดา (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) นักแสดงสาวที่ชีวิตกำลังตกนรกทั้งเป็นหลัง เฌอโรม (สตีเฟน เชดนาอุย) สามีชาวฝรั่งเศสกำลังหลงงมงายในตัวท่านเจ้าคณะ (วิทยา ปานศรีงาม) และพยายามหว่านล้อมให้เธอร่วมศรัทธากับเขาจนเกิดปากเสียง ซ้ำร้ายยังเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางหลบหนี และที่โรงพยาบาลนั้นเองที่เธอได้พบ กาย สเปนเซอร์ (เดวิด อัศวนนท์) ที่อาสาทำให้ทุกข์ของเธอหมดไป แต่หลังแผนการไม่เป็นอย่างที่คิด วิยะดา กลับต้องเป็นฝ่ายหนีจากวงวนการฆาตกรรมและศรัทธาสีเลือดที่ไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยเช่นไร



หากมองโปรไฟล์หนัง เป็นเอก ตลอด 20 ปีจะพบจุดร่วมเรื่องการวิพากย์สังคมไทยปรากฎในผลงานของเขาเสมอโดยเฉพาะผลงานในยุคแรก ตั้งแต่ชะตากรรมชนชั้นกลางยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ยันต้มยำกุ้งใน ฝัน บ้า คาราโอเกะ และ เรื่องตลก 69  หรือจะเป็นอุดมคติของสังคมบ้านนอกที่ถูกครอบงำจากแสงสีของกรุงเทพใน มนต์รักทรานซิสเตอร์ หรือแม้แต่ผลงานวิพากย์การเมืองยุคหลังอย่าง ฝนตกขึ้นฟ้า หรือ ประชาธิปไทย ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป็นเอก รัตนเรือง คือนักเล่าเรื่องชั้นเซียนที่มองสังคมไทยทุกยุคสมัยได้อย่างเฉียบคม และใน ไม่มีสมุยสำหรับเธอ ก็เช่นกัน เป็นเอก ได้นำภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในสังคมไทย มาผสานจินตนาการตนเองได้อย่างสนุกสนาน



พิเคราะห์จากชื่อหนัง  ‘ไม่มีสมุยสำหรับเธอ’ ที่นอกจากการล้อกับชื่อหนังไทยอย่าง ‘ ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ’ แล้ว ยังเป็นชื่อหนังที่เย้ยหยันชะตาชีวิตของตัวละครได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะสมุยในหนังช่างห่างไกลกับสวรรค์ที่เรา ‘เชื่อ’ เสียเหลือเกิน ดังนั้นธีมหลักที่ผมรู้สึกว่ามันปกคลุมทั้งเรื่องเลยคือ ‘ความเชื่อ’ ในหลายๆระดับตั้งแต่เรื่องไร้สาระอย่าง ผู้จัดมักคิดว่าคนไทยชอบดูละครน้ำเน่าเพื่อปลดปล่อยผ่อนคลายมากกว่าเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆในกรณีของ วิยะดา  ระบบราชการที่ถูกแช่แข็งกับระบบเดิมๆในฉากห้องจ่ายยาของ กาย สเปนเซอร์  ไปจนถึงที่พึ่งทางใจอย่างศาสนาที่คนมักวาง ‘ศรัทธา’ ไว้ที่ตัวบุคคลและวิธีปฏิบัติมากกว่าพิจารณาด้วยปัญญาในกรณี เฌอโรม และทีละน้อยการรับมือกับความขัดแย้งของแต่ละคนก็กลับสะท้อนถึงการรับมือปัญหาบ้านเราที่ไม่พ้นภาวะจำทนและยอมจำนนต่อสถานการณ์ที่แม้น่าอึดอัดแต่ก็ยังทนฝืนหายใจกันต่อไป ซึ่งแน่นอนล่ะแม้ไม่ได้ระบุเป้าหมายแบบโจ่งแจ้งแต่มันกลับสะท้อนอารมณ์ร่วมของยุคสมัยภายใต้การปกครองแบบเผด็จการได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด



แต่…อ่านถึงตรงนี้อย่าพึ่งคิดว่าหนังจะเครียดหัวแตกนะครับ อย่าลืมว่าเป็นเอกมักมองความฟอนเฟะของสังคมด้วยสายตาเย้ยหยัน เสียดสีจนทำให้เกิดสถานการณ์ฮาแตกแต่อุดมด้วยความเจ็บแสบอัดแน่นไว้แทบทุกซีน ตั้งแต่การนำความเห็นคนดูที่ว่าหนังดูไม่รู้เรื่องมาใส่ไว้ในเรื่อง จนกระทั่งมีฉากเอาตัวเองไปสัมภาษณ์ท่านเจ้าคณะเรื่องหนังเจ๊งกับความศรัทธาไปใส่เพื่อล้อตัวเองเนียนๆไปกับเรื่อง ไล่ไปจนถึงการใส่ความขัดแย้งด้านคาแรกเตอร์ทั้ง ดาราสาวไทยที่มักรับบทตัวอิจฉาแต่กลับทนทุกข์กับสามีฝรั่งแบบไร้ปากเสียง มือปืนลูกครึ่งที่ชีวิตลำเค็ญแถมมีแม่ป่วยน่าเห็นใจขนาดมือปืนที่จะมาฆ่าตัวเองต้องยอมป้อนข้าวให้แม่แทน หรือแม้แต่ชาวต่างชาติรวยๆมีเมียสวยแต่นกเขาไม่ขันจนไม่อาจหาความสุขแท้จริงได้จนต้องพึ่งลัทธิประหลาดที่ผู้นำมักมากในกามกิเลส เหล่านี้แค่ส่วนหนึ่งของรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องที่ตอนดูเราอาจระเบิดเสียงหัวเราะ แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์กลับพบภาวะจำทนที่กักขังคนไทยมาช้านานจนชินชาและไม่กล้าเรียกร้องสิ่งใด โดยเป็นเอกก็ดันยืนยันภาวะดังกล่าวด้วยภาพฟรีซเฟรม หรือ ภาพนิ่ง ในฉากจบของหนังได้อย่างเฉียบคม

สรุปอย่างไม่ยืดเยื้อ ไม่มีสมุยสำหรับเธอ คือหนังเป็นเอก รัตนเรือง ที่เข้าใจง่าย ดูสนุก และเนื้อหาหนังก็ยังสะท้อนสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้เราได้มองเรื่องแย่ๆประหลาดๆในสังคมที่แม้แต่ละดอกจะ ‘หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ’ แต่กลับเป็นความจริงที่เราจะทนทุกข์กับมันได้อย่างรื่นรมย์ก่อนออกมาเผชิญความเจ็บปวดที่เราชาชินนอกโรงหลังหนังจบอีกครั้ง