โดยหน้าหนังที่อาจทำให้เราเข้าใจ มะลิลา ในมิติแคบๆอย่างการเป็นหนังเกย์ที่สอดแทรกเรื่องราวความงามของการทำบายศรี แต่จากหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว แก่นแกนของ มะลิลา กลับเล่นท่ายากได้อย่างมั่นอกมั่นใจ ด้วยว่ารสมือของคนทำหนังถึงพร้อมในการปรุงแต่งรายละเอียดที่เข้าขั้นประดิษฐ์ประดอยบนพลอตเรียบน้อยได้อย่างงดงาม และตราตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง
โครงเรื่องอันเรียบง่ายของมะลิลา อย่างการบอกเล่าความสัมพันธ์ของสองหนุ่ม เชน (ศุกลวัฒน์ คณารศ) และ พิช (อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ) อดีตคนรักที่กลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้งในวันที่ฝ่ายแรกบอบช้ำจากการสูญเสียลูกสาว และฝ่ายหลังสูญเสียแม่และกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็ง หนังให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีทั้งความเร่าร้อนที่ต่างตักตวงจากร่างกายของกันและกันอย่างร้อนแรง และคำสัญญาอันหอมหวานที่ว่า พิช จะทำบายศรีอย่างสุดฝีมือให้ เชน ในวันบวช แต่แน่นอนว่าความรักและชีวิตอันงดงามก็มีเวลาที่จำกัดของมันไม่ต่างจากบายศรีที่ดอกมะลิลา จะโรยราเมื่อต้องลมแดดและการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา
ในยุคที่สื่อบันเทิงต่างบอกเล่าเรื่องราวของรักหลากเพศกันทั่วบ้านทั่วเมือง บ้างก็ทำมาเอาใจสาววายให้ได้จิ้น- ฟินกันไปเมื่อเห็นหนุ่มหล่อสองคนมีสัมพันธ์ลึกซึ้ง บ้างก็ทำมาตีตลาดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ หากคาดหวังความฟินจากการเห็นชายหนุ่มสองคนรักกัน หนังเรื่องนี้มีครับแต่นั่นแค่ 20% ของเรื่อง เพราะสิ่งที่อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับเลือกบอกเล่าคือการนำสัจธรรมของชีวิตมาตีแผ่โดยนำศิลปะการทำบายศรีมาเป็นกุศโลบาย (หรือที่ภาษาฝรั่งอาจเรียกเก๋ๆว่า กิมมิค) ในการสื่อถึงความจริงอันแสนเจ็บปวดที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญทั้งความสุขจากความรักที่เป็นดั่งดอกไม้สวยงามสดชื่น และความทุกข์จากการสูญเสียและการจากลา ดั่งบายศรีที่ถูกบรรจงร้อยมาลัยเย็บปักให้สวยงามอย่างยากลำบาก เพียงเพื่อรอเวลาเหี่ยวเฉาร่วงโรยเมื่อหมดวันหรือหมดหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมของมันได้อย่างคมคาย
อนุชา บุญยวรรธนะ เลือกบอกเล่าเรื่องราวด้วยจังหวะแช่มช้าทว่าอ่อนช้อยงดงามจนคนดูได้ซึมซับบรรยากาศทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งความสมบูรณ์แบบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนทำหนังดำเนินงานอย่างสุกเอาเผากิน โดยจากที่ได้ฟังช่วงตอบคำถามหลังหนังจบในรอบสื่อมวลชน อนุชา ยอมรับว่าเธอบรรจงเลือกสรรทุกสิ่งตั้งแต่สถานที่ถ่ายทำที่เธอเรียกร้องให้มีดอกไม้ทุกชนิดที่เธอจินตนาการไว้ในบทภาพยนตร์ งานถ่ายภาพที่อนุชา กำชับให้ผู้กำกับภาพจับแสงธรรมชาติเพื่อถ่ายทอดความงามของชีวิตและความน่าสะพรึงกลัวของความตายและการสูญเสีย สอดรับกับงานออกแบบเสียงที่เธอได้กลับมาร่วมงานกับ ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์ จาก วันคูลซาวด์ ที่เคยพาให้ อนธการ กลายเป็นมาสเตอร์พีซของงานเสียงในหนังไทยได้น่าจดจำมาแล้ว จนทำให้ภาษาภาพยนตร์ของ มะลิลา สามารถนำพาผู้ชมเข้าสู่บรรยากาศที่หนังโอมล้อมคนดูได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพจนเหมือนได้เดินเคียงข้างตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบก็มิปาน
รวมถึงนักแสดงที่ต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดทั้ง อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ที่สามารถถ่ายทอดความอ่อนช้อยในบทศิลปินนักทำบายศรีผู้ผ่านความเจ็บปวด ผิดหวังจากความรัก และความสูญเสียออกมาได้อย่างหมดจดแม้หนังแทบไม่มีฉากย้อนอดีตใดๆเลย สอดคล้องกับปากคำของผู้กำกับที่เลือกอนุชิต มาเพื่อถ่ายทอดความซับซ้อนทั้งเพศสภาพที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ ‘ออกสาว’ และจิตวิญญาณของนักทำบายศรีที่เลือกเยียวยาโรคภัยด้วยการรังสรรค์บายศรีอันสวยงามก่อนที่ความรักครั้งเก่าจะเข้ามาสะกิดแผลใจ จนเกิดวัฏสงสารแห่งชีวิตและความรักร่วมกันกับ เชน เจ้าของสวนมะลิอดีตคนรัก ซึ่งนักแสดงหนุ่มที่ทิ้งห่างจาก โหมโรง ภาพยนตร์ดนตรีไทยในตำนานไปร่วม 10 ปีก็กลับมาสร้างผลงานได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทุกความเคลื่อนไหวและภาษากายของอนุชิตคือความงามที่ควรค่าให้กล้องได้ถ่ายทอดออกมาทั้งมือที่บรรจงร้อยมาลัยได้อย่างชดช้อยงดงาม การงุ้มมือเก็บมะลิอย่างถนุถนอม ซึ่งกิริยาที่เหมือนไม่สำคัญกลับเปี่ยมความหมายอย่างมหาศาลเมื่อผ่านการถ่ายทอดของอนุชิต สพันธุ์พงษ์ จนน่าจะได้เข้าชิงรางวัลด้านการแสดงแน่ๆในปีหน้า
สำหรับ ศุกลวัฒน์ คณารศ ยอมรับเลยว่าหากมองผิวเผินนี่คือการเลือกนักแสดงบิ๊กเนมมาทำให้หนังน่าสนใจ เพราะจากผลงานที่ผ่านมาทั้งละครและโฆษณา เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความหล่อ ของเขาได้บดบัง จนฝีมือและทักษะการแสดงหลุดจากโฟกัสของผมไปพอสมควร และจากปากคำหลังหนังรอบสื่อที่ศุกลวัฒน์ บอกความรู้สึกหลังบทหนัง มะลิลา ถูกยื่นมาให้ก็คงต้องขอบคุณที่เขาเลือกตอบรับและเดินหน้าไปกับความท้าทายครั้งใหม่ ทั้งภาพลักษณ์ที่คนดูละคร ชาวบ้านร้านตลาดคงต้องเอาทาบอกว่า พี่เวียร์ของพวกเขามาเล่นหนังเกย์ และทั้งพื้นที่ใหม่ๆที่การแสดงของเขายังไม่เคยเดินทางไปถึง เชื่อว่าหลังแสงจากโปรเจคเตอร์ได้ฉายภาพชีวิตของ เชน เจ้าของสวนมะลิชีวิตแหลกเหลวที่กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับ พิช ศิลปินนักทำบายศรีคนรักเก่าจนชีวิตได้พานพบทั้งความผลิบานและร่วงโรยแล้ว ทุกสายตาคงเห็นพ้องต้องกันและพร้อมจะยกย่องในฝีมือของเขาได้อย่างปราศจากข้อกังขา ศุกลวัฒน์ สามารถสลัดความเป็น ‘ พี่เวียร์’ ของสาวๆกลายร่างเป็น เชน หนุ่มวัยกลางคนผู้ผุพังจากความสูญเสียที่ชีวิตต้องการใครสักคนมาแผ้วถางเพื่อพร้อมเพาะปลูกความสุขครั้งใหม่ และยิ่งหนังถูกออกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน การแสดงของศุกลวัฒน์ จึงไม่อาจหลีกหนีสปอตไลต์ได้เลย ทั้งบทบาทอันร้อนแรงและเจ็บปวดในเรื่องราวส่วนแรก และการเผชิญหน้ากับความน่าสะพรึงกลัวของความตายและเรียนรู้ที่จะปล่อยวางในครึ่งหลัง ที่เขาสามารถถ่ายทอดความซับซ้อนของตัวละคร และส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนของชะตากรรมตัวละครถึงคนดูได้อย่างสวยสดงดงามจนสมแล้วที่เขาได้เข้าชิงรางวัลด้านการแสดงระดับเอเซีย ซึ่งอาจยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำเมื่อพิจารณาถึงความ .’เวิร์ลคลาส’ ของผลงาน
ด้วยสิ่งละอันที่ประกอบสร้างมาทำให้ มะลิลา คือหนังที่เปี่ยมคุณค่าทางศิลปะทั้งในเชิงภาษาภาพยนตร์และการถ่ายทอดวัฒนธรรมได้อย่างคมคายไม่ยัดเยียด สอดรับทั้งการแสดงที่ลุ่มลึกและงานเทคนิคที่รับใช้เนื้อหาได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ จนอาจบันทึกไว้ได้เลยว่านี่คือหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังไทยที่เราได้มี มะลิลา เป็นสมบัติของชาติที่เราพร้อมประกาศก้องให้ชาวโลกได้ดูหนังไทยระดับมาสเตอร์พีซ ได้อย่างไม่อายใคร